9 พฤษภาคม 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ไอยคุปต์ จักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ มีอำนาจและอิทธิพลของชาวอียิปต์ในยุคหลายพันปีก่อน  จัดว่ามีความเจริญสูงสุดทั้งในด้านศิลป์ วิทยาการต่างๆ เหนืออาณาจักรใดๆ ในยุคเดียวกัน  ศิลปวิทยาการหลายอย่าง ที่แม้ในโลกยุคปัจจุบันยังไม่เข้าใจ ยังไม่สามารถต่อยอดมาทำต่อได้  ยังมีปัญหาคาใจกันอยู่ว่าชาวไอยคุปต์ทำอย่างนั้นได้อย่างไร

นักโบราณคดีด้านอียิปต์วิทยาบางราย ถึงกับชี้ลงไปว่าสิ่งที่ทำขึ้นนั้น น่าจะไม่ใช่ฝีมือและความคิดอ่านของชาวไอยคุปต์เอง  น่าจะเรียนรู้มาจากมนุษย์ต่างดาว  ที่อาจมาเยือนโลกในช่วงเวลานั้นก็ได้  มีหลักฐานปรากฏเห็นกันได้ง่ายๆ ชัดเจนมาจนปัจจุบัน ได้แก่ มหาพีระมิดอันเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่  ที่แม้แต่มนุษย์ในโลกปัจจุบัน ที่มีเครื่องมือเครื่องทุ่นแรงพร้อมมูล ยังไม่อาจสร้างได้ง่ายๆ แต่ในยุคนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีความรู้ทางวิทยาการใดๆ หรือมีเครื่องทุ่นแรงช่วยในการก่อสร้างอยู่เลย

ยิ่งกว่านั้น ปรากฏในจารึกต่างๆ ที่ค้นพบว่า  การสร้างพีระมิดเหล่านั้นไม่ได้ใช้แรงงานทาสอะไรเลย  มีการใช้ชาวไอยคุปต์ล้วนๆ จำนวนไม่มากนัก  สร้างด้วยมือและแรงงานมนุษย์แทบทั้งหมด  ยังมีการอธิบายในรายละเอียดการก่อสร้างว่า  หินที่นำมาสร้างนั้นไปสกัดเอามาจากภูเขาหินที่อยู่ไกลออกไปเกือบร้อยกิโลเมตร สกัดได้แล้วก็ใช้คานงัด  ให้เลื่อนไปบนท่อนซุงจำนวนมากที่รองอยู่ข้างล่าง  จนถึงแม่น้ำไนล์ก็จะมีการล่องไปตามลำน้ำด้วยแพที่ทำด้วยไม้จนถึงท่าที่อยู่ใกล้ๆ หัวงานก่อสร้าง  จากนั้นก็ใช้วิธีงัดให้เลื่อนไปบนท่อนซุง  ที่รองอยู่ข้างล่างจนถึงหัวงานก่อสร้างก็เท่านั้น ส่วนปัญหาที่ว่า แล้วการยกหินก้อนใหญ่ๆ หนักหลายตันขึ้นไปวางซ้อนๆ กัน  เมื่องานก่อสร้างมีระดับสูงขึ้นไป จนถึงยอดพีระมิดทำกันอย่างไร มีปั้นจั่นยักษ์ยกขึ้นไปหรืออย่างไร

พีระมิด

เรื่องนี้เหมือนกับว่าปราชญ์ชาวไอยคุปต์จะรู้ว่าจะต้องมีคำถามอย่างนี้ตามมา จึงตอบคำถามไว้ล่วงหน้าเลยว่า ก็แค่ทำทางลาดสูงขึ้นไปตามระดับความสูงไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง  เหมือนจะรู้ว่าจะต้องมีคนสงสัยว่าที่ทำอย่างนี้มิต้องใช้แรงงานนับล้านคนหรือ  มีการตอบไว้ในจารึกอักษรภาพไว้ว่า  ไม่เห็นต้องใช้คนมากเท่าไรนัก  ใช้คนงานไม่ถึงแสน แถมยังมีการทำงานเป็นผลัดๆ อีกด้วย  เช่นชุดนี้ ทำงานไปแล้วเท่านั้นเท่านี้เดือน ก็จะให้พักกลับไปทำมาหากินที่บ้านได้  ให้ผลัดต่อมาทำต่อไป จนกระทั่งถึงกำหนดที่ผลัดของตนต้องทำงาน จึงค่อยกลับมาทำงานต่อ

แถมยังบอกไว้ในจารึกว่า ไม่ได้สร้างใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปีอย่างที่คิดกันเลย  เพียงระยะเวลาสิบๆ ปีเท่านั้นก็เสร็จ  เช่นพีระมิดองค์ไหน สร้างในรัชสมัยฟาโรห์พระองค์ใด ก็เสร็จในรัชสมัยนั้นเลย ไม่มีการเหลือไว้ให้ฟาโรห์องค์ต่อไปมาสร้างต่อ  ฟาโรห์องค์ต่อๆ ไปก็สร้างพีระมิดของตนต่อไปเรื่อยๆ 

ถึงปราชญ์ไอยคุปต์จะรอบคอบ อธิบายไว้อย่างละเอียดในจารึกนั้นก็ตาม  นักอียิปต์วิทยายังไม่สิ้นสงสัย  เห็นว่าเรื่องที่ว่าทั้งหลายทั้งปวงก็พอจะรับฟังได้อยู่หรอก  แต่ยังมีข้อที่ยังไม่สิ้นสงสัยว่า แล้วการจะสกัดขัดเกลาให้หินยักษ์หลายสิบตันให้เรียบ จนวางซ้อนกันเข้ากันสนิท แทบจะดูเป็นเนื้อเดียวกันล่ะทำอย่างไร แล้วเอาเครื่องคำนวณอะไรมาคำนวณให้ว่าต้องใช้หินกี่ก้อน ก้อนละกี่เมตรมาวางเรียงกัน  จึงจะได้อาคารรูปพีระมิดเป็นมุมลาด  ขึ้นไปจนถึงยอดไม่บิดเบี้ยว  มีคอมพิวเตอร์หรือเครื่องคิดเลขมาช่วยคำนวณให้หรืออย่างไร เสียดายที่ปราชญ์ไอยคุปต์ไม่ทันคิดเรื่องนี้  จึงไม่ได้อธิบายไว้ล่วงหน้า

จึงทำให้ยังสงสัยกันอยู่ว่า  น่าจะต้องมีมนุษย์ต่างดาวมาลงแรง ลงความคิดเห็นช่วยแน่ๆ ซึ่งนักอียิปต์วิทยายังคงศึกษา  และวิจัยกันต่อเพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนให้ได้  ซึ่งไม่ใช่แต่เรื่องนี้ แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังคงทำการศึกษาค้นคว้าต่อไป ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่ได้คำตอบมาอย่างชัดเจน ดังนี้

เส้นทางการค้าในสมัยราชอาณาจักรเก่า และราชอาณาจักรกลาง อย่างที่ทราบกันดีว่า ประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณที่เราออกจะคุ้นเคยกันที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นประวัติศาสตร์ช่วงราชอาณาจักรใหม่  ที่เหล่าฟาโรห์อย่างตุตันคาเมน (Tutan khamun) หรือรามเสสที่ 2 (Ramses II) ออกมาโลดแล่นกันจนชินตา  มีการค้าขายและรบพุ่งกับดินแดนต่างชาติมากมายรอบทิศทาง ด้วยมีบันทึกไว้ในม้วนกระดาษปาปิรุส  และจารึกบนผนังวิหารเป็นข้อมูลอย่างดี  ให้ทราบว่าชาวไอยุปต์ในยุคราชอาณาจักรใหม่  ทำการติดต่อค้าขายกับดินแดนใดบ้าง

ภาพจำลองฟาโรห์ตุตันคาเมน

แต่ถ้ามองย้อนกลับไปถึงช่วงราชอาณาจักรเก่า  และราชอาณาจักรกลางบ้างว่า มีหลักฐานที่ชัดเจน ดังเช่น สมัยราชอาณาจักรใหม่บ้างหรือไม่  คำตอบก็คือ “มีแต่คลุมเครือมากๆ” ทำให้เราทราบว่าชาวไอยคุปต์  ทำสงครามกับลิเบียทางตะวันตก อีกทั้งยังมีการกรีธาทัพไปยังดินแดนต่างๆ ทั้งนูเบียและเอเชีย นักอียิปต์วิทยาค้นพบโบราณวัตถุมากมาย  ที่ดูแล้วไม่น่าจะใช่ศิลปะไอยคุปต์ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า พวกเขาได้มาจากดินแดนอื่น แต่คำถามที่ยากที่จะให้คำตอบได้อย่างแน่ชัดก็คือ โบราณวัตถุเหล่านี้ ชาวไอยคุปต์ทำการค้า และแลกเปลี่ยนมาหรือไปปล้นสะดมจากเขามากันแน่! นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายคำถามสำคัญ อย่างเช่น พวกเขาเริ่มค้าขายไม้สนซีดาร์ (Cedar) กับไบบลอส (Byblos) ตั้งแต่เมื่อใดกัน

สำหรับเรื่องของชาวฮิคซอส ชนเผ่าจากทางเอเชีย ที่รู้จักกันในนาม “ฮิคซอส” (Hyksos) เป็นคำที่มาจากภาษาอียิปต์โบราณว่า “เฮคา-คาซูท” (Heqa-Khasut) แปลว่า “ประมุขจากต่างแดน” เป็นกลุ่มชนที่เข้ามาปกครองไอยคุปต์ ในราชวงศ์ที่ 15 และ 16 ช่วงรอยต่อระยะที่ 2 (2nd Intermediate Period) หรือเมื่อประมาณ 1,600 ปี ก่อนคริสตกาล ถึงแม้ว่าแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่  ชี้ว่าชนเผ่าฮิคซอสเป็น “เอเชียติค” หรือชาวเอเชีย  แต่นั่นก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่า พวกเขาเป็นใครและมาจากไหนกันแน่  อียิปต์ล่าง (ทางตอนเหนือ) เท่านั้น

ภาพชาวฮิคซอสบนผนังสุสานที่เบนิ ฮาสซัน

หลักฐานที่พอจะมีเกี่ยวกับชาวฮิคซอส  ก็คือภาพการอพยพเข้ามาในอียิปต์  ดังที่ได้รับการบันทึกเอาไว้ บนผนังสุสานที่เบนิ ฮาสซัน (Beni Hassan) ทางตอนกลางของประเทศอียิปต์ มีการพบด้วงสการับ (Scarab) จารึกพระนามของกษัตริย์ชาวฮิคซอส  ในคาร์ทูชมากมายหลายชิ้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวของการรบพุ่งกัน  ระหว่างฟาโรห์แห่งอียิปต์ในสมัยราชวงศ์ที่ 17 อย่างคาโมส (Kamose) จารึกเอาไว้บนศิลา 2 แผ่น  ที่รู้จักกันในนาม “ศิลาจารึกคาโมส” (Kamose Stela) แต่ก็แน่นอนว่า  การที่จะบันทึกถึงเรื่องราวของศัตรูทันที ใครเขาจะเขียนให้ดูดีมีชาติตระกูลล่ะครับ  ข้อมูลในบันทึกของคาโมส  ย่อมต้องถูกจารึกอย่างมีอคติ ทั้งนี้ เพราะฟาโรห์องค์ก่อน ซึ่งก็คือทาโอที่ 2 (Tao II) ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดในสงคราม ดังนั้น นักอียิปต์วิทยาจึงมิอาจเชื่อทุกสิ่งทุกอย่าง จากเพียงแค่จารึกของคาโมส

ศิลาจารึกคาโมส

นั่นทำให้ยังมีปัญหาคาใจมากมาย  เกี่ยวกับกับฮิคซอส ว่าพวกเขาคือใคร และชาวไอยคุปต์มีความเป็นอยู่กันอย่างไร  ในช่วงการปกครองของเหล่าฟาโรห์ ชาวฮิคซอส พวกเขาคือกลุ่มชนที่นำเอาอาวุธสุดล้ำสมัย  อย่างรถม้าเข้ามาเป็นต้นแบบให้ชาวอียิปต์โบราณด้วย

ต่อมา คือความสัมพันธ์พิศวงระหว่างไอยคุปต์และมิโนอัน อารยธรรมก่อนกรีกโบราณ อย่างมิโนอันบนเกาะครีต (Crete) เคยมีการติดต่อกับชาวไอยคุปต์มาก่อน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะว่านักอียิปต์วิทยาค้นพบภาพ “นักกระโดดข้ามวัว” ซึ่งเป็นศิลปะแบบมิโนอัน ปรากฏในดินแดนไอยคุปต์ด้วย ภาพศิลปครีตันแบบนี้  ค้นพบในช่วงต้นราชวงศ์ที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงต้นราชอาณาจักรใหม่  ในนครอวาริส (Avaris) ซึ่งเป็นนครหลวงของฟาโรห์ชาวฮิคซอสที่ได้กล่าวถึงไปในหัวข้อที่แล้ว

เมื่อฟาโรห์อาโมส (Ahmose) ปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรใหม่  สามารถขับไล่ชนเผ่าฮิคซอสออกไปจากแผ่นดินไอยคุปต์ได้สำเร็จ  พระองค์ก็สร้างป้อมปราการทับลงไปบนนครอวาริสเดิม นักอียิปต์วิทยาค้นพบภาพศิลปะครีตันอันโด่งดังจากนครแห่งนี้  ซึ่งแสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า ชาวไอยคุปต์ต้องมีความสัมพันธ์กับชาวมิโนอันบนเกาะครีตเป็นแน่ แต่ด้วยหลักฐานที่พอจะบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่ว่านี้ได้มีน้อยมาก นักอียิปต์วิทยาก็เลยมืดแปดด้านกันต่อไปในเรื่องของการติดต่อกันระหว่างสองอารยธรรมนี้ บางตำราก็บอกว่าฟาโรห์อาโมสมีการอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงจากเกาะครีตด้วย

สำหรับเรื่องสตรีไอยคุปต์ในหลากหลายอารยธรรมโบราณ  เราจะพบว่าสิทธิของสตรีเพศนั้นค่อนข้างจะเสียเปรียบบุรุษเพศอยู่พอสมควรเลยทีเดียว แต่จากหลักฐานที่เราค้นพบในอียิปต์โบราณก็พอจะบอกได้ว่าสิทธิของพวกนางดีกว่าสตรีจากอารยธรรมอื่นอยู่มากโข ด้วยว่านางสามารถฟ้องหย่าร้างได้ อีกทั้งยังสามารถย้ายออกจากบ้านของสามีมายังบ้านตนเองได้เลย โดยที่ฝ่ายชายจะต้องมอบทรัพย์สิน 1 ใน 3 ของตนให้กับฝ่ายหญิงอีกด้วย

แค่ตัวอย่างนี้ ก็คงพอจะชัดเจนแล้วว่า สตรีชาวไอยคุปต์จะไม่ถูกเอาเปรียบโดยบุรุษอย่างเช่นอารยธรรมอื่น อีกทั้งยังพบเห็นการขึ้นครองราชย์ของฟาโรห์หญิงมากมาย ตลอดประวัติศาสตร์สามพันปี ถึงแม้ว่าฮัตเชปซุต (Hatshepsut) จะไม่ใช่ฟาโรห์หญิงเพียงองค์เดียวในอียิปต์โบราณ  แต่พระนางก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด  ที่ทำให้ได้เห็นว่าบทบาทหน้าที่ของสตรีไอยคุปต์ก็มีความสำคัญเทียบชั้นบุรุษเช่นกัน แต่ถึงอย่างนั้น บทบาทอีกหลายอย่างในสังคมสตรีไอยคุปต์ก็ยังคงเป็นปริศนา เราทราบว่าในไอยคุปต์มีนักบวชหญิงด้วย

ส่วนเรื่องอมาร์น่าและการปฏิรูปศาสนา ยุคแห่งการปฏิรูปศาสนาโดยฟาโรห์นอกรีตอัคเคนาเตน (Akhenaten) หรือที่เรียกกันว่ายุคอมาร์น่า (Amarna) ในปีที่ 5 ของการครองราชย์  ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 4 (Amen hotep IV) เปลี่ยนพระนามของตัวเองเป็นอัคเคนาเตนให้สอดคล้องกับ “อเตน” เทพเจ้าเพียงองค์เดียว  ที่พระองค์สั่งให้ประชาชนนับถือ อีกทั้งยังย้ายเมืองหลวงแบบกะทันหันไปยังนครอมาร์น่า หรืออาเคตาเตน (Akhetaten) อีกด้วย   ถึงแม้ว่าเราจะมีหลักฐานเกี่ยวกับยุคสมัยอมาร์น่ามากมาย ทั้งจารึกและซากนคร แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจยุคสมัยแห่งการปฏิรูปศาสนานี้ดีเท่าใดเลย

นักอียิปต์วิทยายังคงขุดค้นต่อไปในนครอมาร์น่า  เพื่อหาคำตอบว่าทำไมฟาโรห์อัคเคนาเตนถึงปฏิรูปศาสนา วิถีชีวิตของชาวอมาร์น่าเป็นอย่างไร เมื่อต้องหันมานับถือเทพเจ้าเพียงองค์เดียว จะมีการสนับสนุนหรือต่อต้านมากน้อยแค่ไหน  อมาร์น่าและยุคแห่งการปฏิรูปศาสนา ทำให้เห็นว่ายิ่งค้นพบหลักฐานมากขึ้นเท่าใด มันยิ่งกลับก่อให้เกิดคำถาม เกี่ยวกับนครแห่งนี้มากขึ้นเท่านั้น ยังไงก็คงต้องเอาใจช่วยนักอียิปต์วิทยากันต่อไป

สำหรับเรื่องวิทยาการไอยคุปต์ รวมทั้งวิทยาศาสตร์และการแพทย์แผนไอยคุปต์ แฟนๆ ที่ติดตามเรื่องราวของไอยคุปต์มาอย่างต่อเนื่องคงจะได้อ่านเรื่องราวของการแพทย์แผนไอยคุปต์กันไปบ้างแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่า ชาวไอยคุปต์มีความรู้ทางด้านการแพทย์ที่ยอดเยี่ยม พวกเขารู้จักการศัลยกรรมผ่าตัดเบื้องต้น มีการใช้สมุนไพรช่วยในการรักษาโรคมากมาย  ถึงแม้ว่าตัวยาบางสูตร อาจจะฟังดูแปลกหูแปลกตาไปบ้าง  อย่างการใช้มูลจระเข้แห้งช่วยในการคุมกำเนิด แต่ความแปลกประหลาดนี้ อาจมาจากการตีความที่ผิดพลาดของนักอียิปต์วิทยาก็เป็นไปได้

นอกจากความรู้ ความสามารถทางด้านการแพทย์แล้ว ศาสตร์ด้านอื่นๆ ของพวกเขาก็น่าทึ่งไม่แพ้กัน ที่เห็นชัดที่สุดแบบไม่ต้องสาธยายเพิ่มก็คงหนีไม่พ้น “วิศวกรรมศาสตร์” ที่พวกเขาสามารถรังสรรค์มหาพีระมิด  และวิหารขนาดมหึมาขึ้นมาได้  โดยใช้เพียงแค่เครื่องมือง่ายๆ ที่ทำจากทองแดงเท่านั้น จะว่าไปแล้วชาวไอยคุปต์ก็มีความช่างสังเกตเป็นที่หนึ่ง พวกเขาเฝ้าดูเส้นทางการโคจรของดวงดาว  จนสามารถสร้างระบบดาราศาสตร์ที่ซับซ้อนได้ พวกเขาโยงการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ รวมทั้งการไหลบ่าของน้ำในแม่น้ำไนล์ทุกปี  เข้ากับการฟื้นคืนชีพและชีวิตหลังความตาย ทำให้พวกเขาคิดค้นการทำมัมมี่ขึ้นมาได้สำเร็จ แต่สิ่งเหล่านี้ก็นำมาซึ่งคำถามอีกมากมาย เช่นว่าชาวไอยคุปต์นำเอาศาสตร์ความรู้แขนงต่างๆ เหล่านี้มาจากไหน พวกเขามีความรู้ที่ก้าวหน้าทางด้านการแพทย์และการทำมัมมี่ได้อย่างไร

ฟาโรห์อัคเคนาเตน

ไอยคุปต์กับเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิล อีกหนึ่งซึ่งมีคำถามสำคัญที่นักวิชาการให้ความสนใจเป็นอย่างมาก  ก็คือ เรื่องของชาวไอยคุปต์  กับพระคัมภีร์ไบเบิล เนื่องด้วยชาวไอยคุปต์เคยนับถือ พระเจ้าองค์เดียว ในสมัยการปกครองของฟาโรห์อัคเคนาเตน  ถึงแม้ว่าพระนามของเทพเจ้าอเตน  และพระยะโฮวาห์ ของชาวยิว  จะไม่ได้สอดคล้องกันมากพอ ที่จะโยงเข้ามาเป็นเรื่องเดียวกันได้ แต่ก็มีนักวิชาการส่วนหนึ่ง  ที่เสนอแนวคิดว่าศาสนายูดาห์  อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากการนับถือพระเจ้าองค์เดียวในสมัยของอัคเคนาเตนเช่นกัน

อีกทั้งฉากที่โมเสส (Moses) พาชาวยิวอพยพออกนอกอียิปต์  ผ่านทางทะเลแดงนั้นนักวิชาการส่วนหนึ่ง  ก็เสนอว่าเหตุการณ์นี้น่าจะเกิดขึ้นในรัชสมัยของฟาโรห์รามเสสที่ 2 แต่ถึงอย่างนั้นจารึกชิ้นแรกที่กล่าวถึงคำว่า “อิสราเอล” ในจารึกของชาวไอยคุปต์  กลับปรากฏขึ้นในรัชสมัยของฟาโรห์เมเรนพทาห์ (Merenptah) พระโอรสของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ยิ่งไปกว่านั้น  ในอียิปต์โบราณยังไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการอพยพของชาวยิวออกจากไอยคุปต์อีกด้วย  หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของไอยคุปต์กับพระคัมภีร์ไบเบิล ก็คือ ภาพบนผนังวิหารคาร์นัค (Karnak) แสดงชัยชนะของฟาโรห์ชีชองค์ที่ 1 (Sheshonq I) เหนือดินแดนปาเลสไตน์  ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวการบุกปล้นสะดม กรุงเยรูซาเล็มโดยกษัตริย์ชีชัค (Shishak) ที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิล แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องบอกว่าความสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่างไอยคุปต์ และพระคัมภีร์ไบเบิลยังไม่มีใครเข้าใจอย่างถ่องแท้

วิหารคาร์นัค

ทหารรับจ้างในไอยคุปต์ มีมาตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรกลางเป็นต้นมา ชาวไอยคุปต์มีการเกณฑ์ชนต่างชาติเข้ามาเป็นทหารรับจ้าง ดังจะเห็นได้ชัดจากรูปสลักทหารราบ  และพลธนูผิวดำชาวนูเบีย (Nubia) ที่ได้รับการจัดแสดงเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ไคโร ซึ่งหลังจากนั้นในยุครอยต่อระยะที่ 3 (3rd Intermediate Period) ชนต่างชาติเริ่มเข้ามามีบทบาทในไอยคุปต์มากขึ้น

ถึงแม้ว่ากษัตริย์ต่างถิ่นที่เข้ามายึดครองอียิปต์โบราณ จะยังคงประเพณีการบูชาเทพเจ้าเอาไว้เช่นเดิม แต่ฐานบัญชาการจริงๆ กลับไม่ใช่นครในไอยคุปต์  เพราะเหล่ากษัตริย์ต่างแดน ล้วนปกครองไอยคุปต์จากเมืองหลวงของตนเอง ช่วงเวลานี้ชนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามายังอียิปต์โบราณอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ถือว่าเป็นดินแดนที่มีชนต่างชาติเข้ามามากที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นบริเวณที่ติดต่อกับหลากหลายอาณาจักร ทั้งทางเอเชียและกรีกโบราณ ทหารรับจ้างหลายชนเผ่าเข้ามามีบทบาทในไอยคุปต์  ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับชนชั้นและบทบาททางสังคมของทหารเหล่านี้ในดินแดนอียิปต์โบราณ  ที่มาจากต่างชาติต่างศาสนากันว่ามีความเป็นอยู่เช่นไร เรียกได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่นักอียิปต์วิทยาปวดเศียรเวียนเกล้ากันเป็นอย่างมากเลย

ผลงานของช่างฝีมือแห่งไอยคุปต์  สำหรับหัวข้อสุดท้ายนี้ จริงๆ แล้วดูเหมือนจะไม่มีปริศนาอะไร แต่จริงๆ แล้วกลับเต็มไปด้วยคำถามคาใจ ที่นักอียิปต์วิทยายังไม่สามารถหาคำตอบได้อย่างแน่ชัด เราทราบกันดีว่า ผลงานต่างๆ ทั้งเครื่องปั้นดินเผา รูปปั้น รูปสลัก หรือแม้แต่ภาพวาดบนผนังของชาวไอยคุปต์  ล้วนแล้วแต่ได้รับการรังสรรค์มาอย่างวิจิตรบรรจงโดยช่างศิลป์ฝีมือเยี่ยม  ทำให้ทราบว่าพวกเขามีการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการให้ช่างมือฝึกหัด ทดลองงานจริงด้วยการลงสีแดงบนผนัง ก่อนที่ช่างฝีมือผู้ชำนาญการจะมาลงสีดำทับลงไปเพื่อแก้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

แต่ถึงอย่างนั้น  คำถามที่นักอียิปต์วิทยายังหาคำตอบไม่ได้แน่ชัดก็คือ เรื่องต้นกำเนิดของความสามารถทางศิลปะของช่างฝีมือแห่งไอยคุปต์  ซึ่งเมื่อดูอย่างจานสีของนาร์เมอร์ (Narmer Palette) ที่มีอายุเก่าแก่ถึงกว่าห้าพันปี เราจะเห็นภาพของเซอร์โพพาร์ด (Serpopard) ซึ่งเป็นครึ่งอสรพิษ ครึ่งเสือดาวศิลปะเมโสโปเตเมีย ปรากฏอยู่อย่างเด่นชัด นั่นหมายความว่าชาวไอยคุปต์  และดินแดนเมโสโปเตเมียจะต้องมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันในยุคก่อนราชวงศ์อย่างแน่นอน   

เรื่องโดย. ทิวากร สุวพานิช

ภาพโดย. www.worldhistory.org, www.artstation.com, www.toursfromhurghada.com, www.asor.org, www.mummipedia.fandom.com, www.heygo.com, www.reddit.com, www.history.com, wallspic.com, www.nicepng.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •