25 เมษายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

เทศกาลโฮลีของอินเดีย เป็นเทศกาลสาดสีที่มีความสนุกสนาน แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า ความจริงแล้วที่มาของเทศกาลนี้ มันเป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นจากเหตุใด มันหาใช่เรื่องราวที่สนุกสนานเหมือนเทศกาลที่เขาเล่นกันเลย

ทั่วทิศพิศวงจะพาทุกท่านย้อนกลับไปในตำนานการเกิดพิธีกรรมดังกล่าวนี้ หรือที่เขาเรียกกันว่า “โหลิกาทหัน” หรือ “วันเผานางโหลิกา” เห็นหรือไม่ว่า แค่ชื่อก็สยดสยองแล้ว แต่ตำนานที่จะเล่าต่อไปนี้ สยองยิ่งกว่า….

เมื่อจะเล่าเรื่องนี้ ก็ต้องเล่าย้อนไปถึงเรื่องราวของ “นรสิงห์อวตาร” ในตำนานของฮินดู

นรสิงห์ เป็นภาคอวตารปางที่สี่ของพระนารายณ์ ตามเนื้อเรื่องในคัมภีร์ปุราณะ อุปนิษัท และคัมภีร์อื่นๆ ของศาสนาฮินดู โดยมีร่างกายท่อนล่างเป็นมนุษย์ และร่างกายท่อนบนเป็นสิงโต  ซึ่งสาเหตุที่พระนารายณ์ต้องทรงแบ่งภาคอวตารลงมาเป็นนรสิงห์นี้ เกิดมาจากยักษ์ตนหนึ่งนามว่า หิรัณยกศิปุ

นรสิงห์ปราบยักษ์หิรัณยกศิปุ

ในครั้งนั้น ยักษ์หิรัณยกศิปุ มีความปรารถนาจักเป็นใหญ่ จึงได้เริ่มต้นบำเพ็ญตบะทุกรกิริยาถวายต่อพระพรหม เพื่อขอพรให้ตนสมปรารถนา ซึ่งหลังจากที่หิรัณยกศิปุได้บำเพ็ญตบะมาเป็นเวลานาน ในที่สุดพระพรหมก็ทรงปรากฏองค์เพื่อประทานพรให้ โดยหิรัณยกศิปุได้ขอพรให้ตนเป็นผู้ที่ไม่อาจตายด้วยน้ำมือหรืออาวุธของมนุษย์ สัตว์ เทวดา ไม่ตายทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ไม่ตายทั้งในเรือนและนอกเรือน ไม่ตายบนพื้นดิน ท้องฟ้า หรือผืนน้ำ

ครั้นเมื่อได้รับพรจากพระพรหมแล้ว หิรัณยกศิปุก็เริ่มต้นแผ่ความยิ่งใหญ่ของตน โดยทำสงครามกับทั้งเหล่าเทพและมนุษย์จนเกิดความวุ่นวายไปทั้งสามโลก  จากนั้นหิรัณยกศิปุก็บังคับให้ชนทั้งปวงนับถือบูชาตนดุจดังพระเป็นเจ้า ผู้ใดที่ขัดขืนก็ถูกเข่นฆ่าทรมานอย่างเหี้ยมโหด 

ทว่า บุตรชายคนที่ห้าของหิรัณยกศิปุ ซึ่งมีนามว่า “ประหลาท” ผู้เป็นบุตรคนโปรด กลับปฏิเสธที่จะยอมรับว่าบิดาคือ พระผู้เป็นเจ้า โดยประหลาทนั้นมีใจศรัทธาเลื่อมใสพระนารายณ์ หรืออีกพระนามหนึ่งคือ พระวิษณุ เป็นอย่างยิ่ง และได้สวดมนต์บูชาสรรเสริญพระองค์โดยตลอด

หิรัณยกศิปุพยายามเกลี้ยกล่อมให้ประหลาทเลิกนับถือพระนารายณ์ ทว่าไร้ผล จอมอสูรโกรธจัดจนสั่งให้ทหารเอาตัวประหลาทไปกักขัง และลงทัณฑ์ทรมานเพื่อให้เลิกศรัทธาในพระนารายณ์ ทว่าในยามที่ถูกลงทัณฑ์นั้น  อำนาจเทวะแห่งพระนารายณ์ได้คอยคุ้มครองประหลาทให้รอดพ้นจากทัณฑ์ทรมานทั้งปวง

จนเมื่อความร้ายกาจของยักษ์หิรัณยกศิปุเหิมเกริมมากขึ้น พระนารายณ์จึงจำเป็นต้องอวตารเป็นนรสิงห์ลงมาฆ่า เพราะไม่เช่นนั้นทั้งโลกมนุษย์ เทวโลกก็จะเดือดร้อน เพราะพรของพระพรหมที่ให้ไว้ทำให้ใครก็ฆ่ายักษ์ตนนี้ไม่ได้

แต่ก่อนที่พระนารายณ์จะอวตารลงมาฆ่ายักษ์อหังการ์ตนนี้ ก็มีเรื่องตำนานการเผานางโหลิกาขึ้นมาช่วงนี้แหละ

ทำไมต้องเผานางโหลิกา ???

อย่างที่บอกเอาไว้แล้วว่า “ประหลาท” ผู้เป็นบุตรคนโปรดของหิรัณยกศิปุนั้น นับถือพระนารายณ์ ตัวพ่อก็เลยโกรธแค้น กล่อมลูกเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง ก่อนตายจึงสั่งให้นางโหลิกาผู้เป็นน้องสาวเอาไปฆ่าเสีย

แต่ทีนี้ ด้วยเหตุที่ประหลาทนับถือพระนารายณ์ ใครจะฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย รอดด้วยปาฏิหาริย์ ที่พระนารายณ์ท่านบันดาลให้เกิดขึ้น เดือดร้อนถึงน้าสาวนางโหลิกา (ไทยเรียกว่ายักษ์โฮลิกะ) รับอาสาจะฆ่าหลานด้วยตัวเอง เพราะตนเองก็ถือดีว่าได้รับพรมาจากพระพรหมเหมือนกัน (พระพรหมนี่ให้พรเขาไปทั่ว ที่เดือดร้อนกันก็เพราะพรของท่านทั้งนั้น) นั่นก็คือ ไม่มีไฟกองใดที่จะเผานางมอดไหม้ได้ นางโหลิกาก็เลยเชื่อมั่นว่า ถ้าจับเอาหลานขึ้นมานั่งบนตักไม่ให้หนีไปไหน แล้วเผาด้วยไฟ หลานก็จะตายแน่นอน

นางโหลิกาและประหลาท

ด้วยเหตุนี้ นางโหลิกาก็เลยจับหลานรักประหลาทมานั่งบนตักสั่งให้บริวารจุดไฟเผา ตั้งใจฆ่าหลานให้ตายไปในอ้อมกอดของนางเอง เมื่อไฟลุกขึ้นมา ประหลาทก็ภาวนาถึงองค์พระนารายณ์ด้วยความศรัทธา “โอม หริ วิษณุ” อยู่ตลอดเวลา

ผลปรากฏว่า ประหลาทรอดตาย แต่นางโหลิกากลับมอดไหม้กลายเป็นผุยผง

เล่ากันว่า สาเหตุที่พรของพระพรหมเสื่อมลงนั้น มาจากการที่นางโหลิกาประพฤติไม่ดี อีกทั้งการที่คิดฆ่าผู้ที่ศรัทธาต่อวิษณุเทพ หรือพระนารายณ์นั้นถือเป็นบาปมหันต์ นางคิดเผาเขา สุดท้ายไฟกลับมอดไหม้นางจนตายเสียเอง

เมื่อเห็นลูกไม่ตาย แต่น้องสาวตายซะเอง พญายักษ์หิรัณยกศิปุก็รู้สึกโกรธลูกชาย เรียกประหลาทมาหา จากที่เคยรักมากก็กลายเป็นความชังมาก จึงสั่งให้จัดการฆ่าโอรสของตนเสีย  แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใดๆ ก็ไม่สามารถฆ่าโอรสของตนได้ พญาหิรัณยกศิปุจึงถามโอรสตรงๆ ว่าพระนารายณ์มหาเทพนั้นมีจริงหรือไม่ ถ้ามีจริงและแน่จริงก็ปรากฏตัวออกมาเลย และทันใดในระหว่างนั้น เสาศิลากลางห้องท้องพระโรงก็แตกออกมาเป็นนรสิงห์

นรสิงห์ ซึ่งเป็นครึ่่งคนครึ่งสิงห์ ได้ปรากฏตัวขึ้นในเวลาสนธยา (โพล้เพล้) โดยแตกออกมาจากเสาศิลากลางห้องท้องพระโรงของหิรัณยกศิปุ ปราดเข้ามาจับตัวหิรัณยกศิปุ ลากออกไปอยู่บริเวณธรณีประตู (คืออยู่ในปราสาทครึ่งตัว อยู่นอกปราสาทครึ่งตัว) และนรสิงห์ผู้นั้นก็ถามพญายักษ์ว่า  ตนเป็นมนุษย์ เทวดา หรือสัตว์  พญายักษ์ตอบว่าไม่ใช่ทั้งมนุษย์ เทวดา และสัตว์

นรสิงห์ก็ถามต่อว่า เวลานี้ร่างของหิรัณยกศิปุอยู่นอกเรือนหรือในเรือน

พญายักษ์ตอบว่า ไม่ใช่ทั้งในเรือนและนอกเรือน

นรสิงห์ถามต่อไปอีกว่า เวลานี้เป็นกลางวันหรือกลางคืน

หิรัณยกศิปุตอบว่า มิใช่ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่เป็นเวลาโพล้เพล้

นรสิงห์ จึงชูมือกางกรงเล็บออกมา ถามพญายักษ์ว่า อันนี้คืออาวุธหรือไม่ พญายักษ์ก็ตอบว่าไม่ใช่

เท่านั้นเอง ก็เท่ากับยอมรับในสิ่งที่นรสิงห์เป็น จึงประกาศว่า พรทั้งหลายของพระพรหมธาดา ณ บัดนี้เป็นอันเสื่อมแล้ว และตัวพญาอสูรก็ตกอยู่ในภาวะอันนอกเหนือจากพรหมประกาศิตทุกประการ

กล่าวจบ นรสิงห์ก็จัดการสังหารหิรัณยกศิปุ ด้วยการใช้กรงเล็บฉีกกระชากอกพญายักษ์จนถึงท้องจนขาดใจตาย

เมื่อพญายักษ์ตัวร้ายตายไป ทั้งสามโลกก็สงบลง ผู้คนจึงได้ออกมาเฉลิมฉลองด้วยความยินดี โดยในคืนก่อนวันที่เล่นสาดสีกันนั้น ชาวอินเดียจะจัดพิธีกรรมชื่อว่า “โฮลิกาดาฮัน” หรือ “โหลิกาทหนะ” ซึ่งแปลตรงๆ ได้ว่าพิธีเผานางโฮลิกา (หรือนางโหลิกา)

เทศกาลโฮลี หรือเทศกาลแห่งสีสันในอินเดีย

ชาวอินเดียเชื่อกันว่า “เทศกาลโฮลีเป็นเทศกาลที่ระลึกถึงการที่ความดีชนะความชั่ว” ในวันก่อนวันสาดสี ชาวอินเดียจะเตรียมสุมกองไฟในบริเวณใกล้ๆ วัดฮินดูเพื่อจำลองการเผานางโฮลิกา ซึ่งเป็นอสูรร้ายในตำนานที่ถูกเพลิงเผาตายเพราะคิดร้ายกับผู้อื่น  ชาวฮินดูบางกลุ่มจะสวดภาวนารอบกองไฟ  บางคนอาจจะทำทีว่าปัดฝุ่นผงจากตัวลงเข้ากองไฟเพื่อให้ไฟเผา เปรียบได้กับการเอาสิ่งไม่ดีออกจากตัวเราไปเผาไฟให้หมด

เทศกาลโฮลีของทุกปี จะจัดขึ้น 2 วันในช่วงเดือนมีนาคม (แรม 1 ค่ำ เดือน 4) เทศกาลนี้เรียกอีกอย่างว่า “เทศกาลแห่งสีสัน” เนื่องจากผู้คนจะออกมาเฉลิมฉลองด้วยการสาดสีหรือป้ายสี ซึ่งเป็นฝุ่นผงใส่กัน ด้วยสีสันต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน ซึ่งการสาดสีใส่กันนี้สันนิษฐานว่า เป็นพื้นเพที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับมา และปรับเปลี่ยนเป็นการสาดน้ำใส่กันแทน คือ สงกรานต์

ฝุ่นผงสีที่ใช้สาดกันนั้น จะทำมาจากธรรมชาติ เช่น ดอกทองกวาว, บีทรูท, ขมิ้น อันเป็นนัยที่บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของฤดูหนาว และเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ มีขนมที่ทำเพื่อรับประทานโดยเฉพาะในเทศกาลนี้ ที่ทำมาจากนมและนมเปรี้ยวเป็นหลัก เชื่อกันว่าหากได้รับประทานขนมด้วยจิตใจเบิกบาน จะเป็นนิมิตหมายที่ดีของการเริ่มต้นปีใหม่

เรื่องโดย. นายตำนาน

ภาพโดย. www.naidunia.com, www.tapnewsindia.com, www.upasanatv.in, www.navbharattimes.indiatimes.com, www.prokerala.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •