27 เมษายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ชนเผ่าที่เรียกว่า เป็นผู้ที่มีอารมณ์สุนทรี มีดนตรี คีตกวีในเผ่ามากมาย ก็คือชาว “จีนั่ว” ซึ่งเป็นคำเรียกที่เผ่านี้เรียกตัวเอง หมายความว่า “ทายาทของลุง” หรือ “ชนเผ่าที่เคารพลุง” คนเผ่านี้อาศัยอยู่บริเวณบ้านจีนั่ว ในเขตปกครองตนเองเผ่าไตสิบสองปันนาของมณฑลยูนนาน และมีบางส่วนกระจายอาศัยอยู่บริเวณหุบเขา ทุกคนพูดภาษาจีนั่ว ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบตและสาขาทิเบต – พม่า แขนงภาษาอี๋ แต่ไม่มีตัวอักษร

หมู่บ้านชาวจีนั่ว

หมู่บ้านชาวจีนั่ว เดิมเรียกว่า “เขาจีนั่ว” ในพงศาวดารราชวงศ์ชิงเรียกชุมชนดังกล่าวว่า “โยวเล่อซาน” เป็นชื่อที่ได้มาจากคำที่ชาวจีนั่วเรียกตัวเองนั่นเอง แสดงให้เห็นว่าชาวจีนั่วเป็นชนเผ่าที่อยู่ติดดินแดนมาแต่โบราณกาลแล้ว เอกสารบันทึกภาษาจีนที่เกี่ยวข้องกับชาวจีนั่วที่เก่าแก่ที่สุดสามารถสืบค้นได้คือในสมัยศตวรรษที่ 18 ตรงกับช่วงปลายสมัยราชวงศ์หมิงต่อไปถึงต้นสมัยราชวงศ์ชิง ชาวฮั่นขยายพื้นที่การปลูกชาเข้าไปในบริเวณเขาเล่อซานและได้เผยแพร่วิธีการปลูกชาผูเอ่อร์ให้กับชาวจีนั่วซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนเขาเล่อซาน

ในปี 1729 ตรงกับยุคสมัยของจักรพรรดิยงเจิงปีที่ 7 ได้สร้างป้อมปราการขึ้นที่บริเวณเขาจีนั่ว และส่งกำลังทหาร 500 คนไปประจำการ และยกฐานะให้เป็นเขตยุทธศาสตร์สำคัญ แต่เมืองยุทธศาสตร์แห่งนี้ล่มสลายไปใน 6 ปีต่อมาด้วยภัยระบาดของโรคมาลาเรีย จากนั้นมาจึงมอบหมายให้ชาวจีนั่วเป็นผู้ปกครองและดูแลบริเวณเมืองโยวเล่อแห่งนี้ ต่อมาชนชั้นศักดินาของชาวไตเข้มแข็งขึ้นและได้เข้าครอบครองบริเวณเขาจีนั่ว เข้าสู่ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน กว๋อหมินตั่งแต่งตั้งหัวหน้าผู้ดูแลเขาจีนั่ว หัวหน้าผู้ดูแลได้จัดการให้ชาวไตและชาวจีนั่วร่วมกันรับผิดชอบในการดูแลและใช้พื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งร่วมกันรับผิดชอบในการจัดเก็บภาษีส่งให้กับรัฐ ต่อมา ในปี 1941 ชาวจีนั่วรวมตัวกันกับชาวฮานี ชาวเหยา และชาวฮั่นต่อต้านการขูดรีดภาษีของรัฐบาลกว๋อหมินตั่ง ท้ายที่สุดสามารถขับไล่ผู้ว่าการมณฑลยูนนานได้สำเร็จ 3 ปีต่อมารัฐบาลก็ได้ยกเลิกการเก็บภาษีจากชนเผ่าต่างๆในพื้นที่ดังกล่าว

หนุ่มสาวชาวจีนั่ว

ช่วงก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน สังคมของชาวจีนั่วเป็นยุคปลายของระบบสังคมแบบบุพกาล ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมดั้งเดิม เช่น มีการแต่งงานในสายตระกูลเดียวกัน แม้กระทั่งในสายเลือดเดียวกันก็สามารถแต่งงานกันได้ ในสมัยนั้นยังสืบสายตระกูลสายแม่ ดังนั้นพิธีการสำคัญต่างๆ ญาติสายตระกูลฝ่ายแม่เท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์กระทำได้ เช่น การเชือดไก่บูชาผีเพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ การขึ้นบ้านใหม่ ผู้ที่นำทางในการขึ้นบ้าน และนำทางเปิดประตู จุดไฟ ต้องเป็นผู้อาวุโสที่สุดฝ่ายหญิง ผู้ใหญ่บ้านหรือหัวหน้าเผ่าแม้จะยอมให้เพศชายเป็นได้ แต่คำเรียกตำแหน่งหัวหน้าเผ่ากลับเป็นคำเรียกที่หมายถึงเพศหญิง คือ “โย่วหมี่โหยวข่า” หมายความว่า “ย่าใหญ่” ระบบสังคมแบบสืบสายตระกูลสายพ่อที่เข้ามาแทนที่การสืบสายตระกูลสายแม่เริ่มเกิดขึ้นเมื่อ 300 ปีมานี้ ชาวจีนั่วเริ่มอาศัยอยู่ในบ้านไม้ไผ่รวมเป็นครอบครัวใหญ่ โดยการสืบสายตระกูลสายพ่อ ครอบครัวเล็กๆ ที่อยู่รวมกันในบ้านจะแบ่งห้องอยู่กันเป็นสัดส่วน การทำมาหากินและผลผลิตที่ได้จะเข้าสู่ครอบครัวเล็กๆ ของตนเท่านั้น ไม่ได้เข้าสู่กองกลางของครอบครัวใหญ่แต่อย่างใด รูปแบบสังคมเช่นนี้เป็นลักษณะของสังคมบุพกาลยุคปลาย ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของชนเผ่าจีนั่วอย่างหนึ่ง

ชุมชนหนึ่งๆ ของชาวจีนั่ว ประกอบด้วยสมาชิกต่างสายตระกูลกันรวมกันอยู่เป็นหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านมีสิทธิ์บนที่ดินในเขตของตน สมาชิกในหมู่บ้านสามารถทำมาหากินและใช้พื้นที่ในเขตหมู่บ้านของตนได้ แต่จะไม่รุกล้ำเขตพื้นที่ของหมู่บ้านอื่นโดยเด็ดขาด การแบ่งที่ดินในหมู่บ้านแบ่งออกเป็นสามส่วน คือส่วนที่หนึ่งเป็นที่ดินสาธารณะ ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ ส่วนที่สองเป็นที่ดินของตระกูล สมาชิกในวงศ์ตระกูลใช้ประโยชน์ร่วมกัน และส่วนที่สามเป็นที่ดินส่วนบุคคลที่พ่อแม่แบ่งให้เมื่อแต่งงานสร้างครอบครัวใหม่ของตน ในยุคนี้เริ่มมีการเช่าที่ดิน การเช่าเครื่องมือและการจ้างแรงงานเกิดขึ้นแล้ว แต่ทุกคนอยู่ในชนชั้นทำงานเหมือนกันหมด ไม่มีชนชั้นที่มีอำนาจเหนือกว่ามากดขี่แรงงานผู้อื่น แต่ละหมู่บ้านมีผู้อาวุโสที่สุดทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนในทุกๆด้าน

ปลูกชาเป็นอาชีพ

ชาวจีนั่วใช้วิธีทำการเกษตรโดยใช้เครื่องมือและใช้ไฟเผา เครื่องมือการเกษตรที่ใช้เป็นเครื่องมือที่ทำด้วยเหล็ก เช่น พร้า เสียม เป็นต้น พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด สำลี กล้วย มะละกอ และผลไม้เมืองร้อนอื่น ๆ นอกจากนี้ “เขาจีนั่ว” ที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีนั่วนี้ เป็นหนึ่งในหกหุบเขาปลูกชาเลื่องชื่อของจีน การเลี้ยงสัตว์ทุ่งหญ้านิยมเลี้ยงวัว ควาย แต่ชาวจีนั่วไม่ได้ใช้วัวและควายไว้ใช้ในการทำการเกษตร หากแต่เลี้ยงไว้ใช้ในพิธีบูชาตามหลักความเชื่อ และใช้เป็นอาหารอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้การผลิตยาสมุนไพรและการปลูกใบชา โดยเฉพาะการปลูกชาเพื่อผลิตและบรรจุขายทั่วไปสร้างรายได้ให้กับชาวจีนั่วเป็นกอบเป็นกำ ส่งผลให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก นอกจากนี้อาชีพทางงานหัถตกรรมของชาวจีนั่วก็สามารถส่งขายสร้างรายได้เป็นอย่างดีเช่นกัน เช่น การปักผ้า การสานไม้ไผ่ กลั่นเหล้า งานไม้ และการตีเหล็ก

หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน กว๋อหมินตั่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ทางการเข้าไปในชุมชนชาวจีนั่วเพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐเกี่ยวกับการปกครองและการดูแลชนกลุ่มน้อย ภายใต้ความช่วยเหลือของรัฐบาล ชุมชนจีนั่วจึงเริ่มเปลี่ยนจากระบบสังคมบุพกาลก้าวกระโดดมาเป็นแบบสังคมนิยม เริ่มดำเนินกิจการเกี่ยวกับการค้าขายผลิตผลของชุมชน ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีรายได้ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีการสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นชลประทาน ไฟฟ้า ชุมชนจีนั่วมีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรก มีการทำการเกษตรด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย มีการพัฒนาระบบสาธารณสุข การศึกษา ทำให้ประชาชนชาวจีนั่วมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีความรู้ในการประกอบอาชีพ และสามารถพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้ากว่าเดิมมาก

ชาวจีนั่วมีวรรณกรรมประจำเผ่ามากมาย เช่น ตำนาน เทพนิยาย นิทาน และเพลง มีกลอนภาษาจีนั่วที่เป็นที่นิยมมากได้แก่ ผลงานชื่อ  “หม่าเฮยกับหม่านิว” กับ “ท่านย่าเหยาป๋ายผู้สร้างโลก” เรื่องแรกเป็นนิทานเกี่ยวกับชนเผ่าจีนั่วผู้สร้างโลก อุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ และการแต่งงานของพี่ชายกับน้องสาว เรื่องที่สองเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับท่านย่าเหยาป๋ายสร้างโลกขึ้นสำเร็จ แล้วได้โปรยเมล็ดชาลงบนเขาจีนั่ว จากนั้นชาวจีนั่วก็มีอาชีพปลูกชาเพื่อดำรงชีวิตสืบต่อมา

วิถีชีวิตของชาวจีนั่ว

นอกจากนี้ยังมีนิทานพื้นบ้านอีกหลายเรื่องที่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนั่ว เช่น เรื่อง  “สองหนุ่ม” กล่าวถึงเรื่องราวของบาปบุญคุณโทษ นอกจากนี้ยังมีนิทานปรัมปราที่เล่าสืบทอดกันมาแต่โบราณอีกมากมาย เช่น เรื่อง “มีดล้ำค่ากับขลุ่ยไม้ไผ่” และ “มนุษย์กับวานร”  “พี่สาวกับน้องสี่” เป็นต้น

ชาวจีนั่วมีฝีมือในการถักสานไม้ไผ่ หญิงสาวช่ำชองในการปักผ้าลวดลายงดงาม นำมาตัดเย็บเครื่องแต่งกาย ชาวจีนั่วนิยมสวมเสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยผ้าทอมือ สะพายกระเป๋าผ้า มีผ้าเช็ดหน้าเหน็บอยู่ที่เอว ในสมัยก่อนหนุ่มสาวจะมอบผ้าเช็ดหน้านี้ให้กับคนที่ถูกตาต้องใจกัน

สำหรับการแต่งกายของชาวจีนั่ว ชายสวมเสื้อผ่าอกสีขาวไม่มีปก ด้านหลังปักลวดลายวงกลมมีประกายรัศมีรอบวง สวมกางเกงขากว้างที่ตัดด้วยผ้าฝ้าย ส่วนหญิงชาวจีนั่วสวมหมวกทรงเหลี่ยมสูง สวมเสื้อผ่าอกไม่มีปก ปักลวดลายหลากสี สวมกระโปรงสั้นลายทางขาวดำ

บ้านไม้ไผ่

ชาวจีนั่วกินข้าวเป็นอาหารหลัก การจัดเตรียมหุงหาอาหารเป็นหน้าที่ของผู้หญิง อาหารจำพวกผักเก็บมาจากป่า หรือผักที่ปลูกขึ้นเอง ส่วนอาหารพวกเนื้อผู้ชายจะเป็นฝ่ายเข้าป่าล่าสัตว์ เนื้อที่ล่ามาเป็นอาหารได้แก่ เนื้อวัว หมูป่า สุนัข ไก่ เป็นต้น

ชาวจีนั่วอาศัยอยู่ในกระท่อมชั้นเดียวติดพื้น สร้างด้วยไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็ง หลังจากที่สภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เปลี่ยนมาสร้างบ้านแบบอิฐผสมไม้ เพราะปลอดภัยและแข็งแรงกว่า   

การแต่งกายของชาวจีนั่ว

ในอดีตชาวจีนั่วมีการแต่งงานแบบชายหนึ่งกับหญิงหลายคน แต่ปัจจุบันเป็นแบบมีสามีภรรยาคนเดียว หนุ่มสาวมีอิสระในการเลือกคู่ เมื่อแต่งงานกันแล้วจะไม่หย่าร้างกัน หนุ่มสาวชาวจีนั่วจะมีพิธีการเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ หลังจากนั้นจึงจะมีสิทธิ์ในการเลือกคู่ครองได้ การเกี้ยวพาราสีเกิดขึ้นในระหว่างการทำไร่ไถนา โดยการร้องเพลงตอบโต้กันไปมา แล้วใช้ใบไม้เป็นจดหมายเพื่อบอกความนัยว่าจะนัดพบกันที่ไหน เวลาใด เมื่อทั้งสองฝ่ายรักชอบพอกัน ก็ จะตกลงอยู่ร่วมกัน แต่ยังไม่มีพิธีแต่งงาน จนกว่าจะให้กำเนิดลูกคนแรกเสียก่อน ประเพณีการแต่งงานต้องให้ผู้อาวุโสเป็นผู้สู่ขอ หลังจากแต่งงานแล้ว เจ้าสาวจะกลับไปอยู่ที่บ้านเกิดตัวเองห้าวัน จากนั้นจึงกลับมาอยู่ที่บ้านสามี

สำหรับพิธีศพของชาวจีนั่วทำโดยการฝังในสุสานเฉพาะของชนเผ่า โลกศพใช้วิธีขุดท่อนไม้ต้นใหญ่ให้เป็นโพรงเพื่อใช้บรรจุศพก่อนฝัง สิ่งของเครื่องใช้ที่ผู้ตายเคยใช้ในระหว่างมีชีวิตอยู่จะฝังลงไปพร้อมกับผู้ตายด้วยเพื่อให้ผู้ตายได้นำไปใช้ในภพหน้า เมื่อฝังศพแล้วจะไม่ตั้งป้ายบูชาใดๆ แต่จะสร้างกระท่อมเล็กๆไว้ที่หลุมศพ ญาติผู้ตายจะเอาอาหารไปส่งให้ผู้ตายวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 1 – 3 ปี จากนั้นก็รื้อกระท่อมนั้นทิ้ง แต่ผู้ที่เสียชีวิตในขณะตั้งครรภ์หรือศพของคนวิกลจริต จะประกอบพิธีศพโดยการเผา และจะไม่ฝังศพสามีภรรยาไว้ด้วยกัน

เกี่ยวกับความเชื่อนั้น ชาวจีนั่วนับถือบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ มีความเชื่อในวิญญาณของทุกสรรพสิ่ง มีหมอผีประจำเผ่า เมื่อมีภัยพิบัติจะเชิญหมอผีมาทำพิธีเชือดวัว หมู ไก่ และหมาเพื่อบูชาเทพเจ้า

ส่วนเทศกาลสำคัญของชาวจีนั่วมีมากมาย ที่สำคัญมีเทศกาลบูชามังกร เทศกาลคบเพลิง เทศกาลรับขวัญข้าวใหม่ และเทศกาลปีใหม่ ช่วงเวลาที่จะมีเทศกาลต่างๆ ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับหัวหน้าเผ่า เมื่อหัวหน้าเผ่าลั่นกลอง เป็นสัญญาณการเริ่มต้นของเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ

ภาพเรื่องโดย. ตะวัน สัญจร


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •