30 เมษายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

                เรื่องราวของพระนางเนเฟอร์ตีติเป็นที่สนใจในอันดับต้นๆ ด้วยคำร่ำลือว่า พระนางมีพระสิริโฉมที่งดงามและยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยของพระนาง…

                ในตำนานได้กล่าวไว้ว่า อียิปต์ไม่เคยสร้างหญิงใดงามเท่าพระนางเนเฟอร์ตีติ ซึ่งเป็นผู้สมบูรณ์แบบด้วยพระสิริโฉมอันงดงาม สวมมงกุฎสูง ทว่าเรื่องราวของพระนางกลับถูกทำให้เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ ราวกับเป็นเรื่องเล่าขานที่ไม่เคยปรากฏอยู่จริง…

                หากใครเป็นผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ทางฟากอียิปต์ และติดตามข่าวการค้นพบสุสานและร่างของมัมมี่โบราณ 3 ร่างที่อยู่ในห้องลับภายในบริเวณหุบผากษัตริย์ คงพอจะทราบว่าหนึ่งในนั้นคือเนเฟอร์ตีติ โดยการยืนยันจากนักอียิปต์วิทยา

                เนเฟอร์ตีติ หญิงที่มีพระราชอำนาจสูงสุดพระองค์หนึ่งของประวัติศาสตร์อียิปต์ และเต็มไปด้วยเรื่องราวหลากหลาย ทั้งอำนาจ ความรัก การทรยศ เรื่อยมาถึงการฆาตกรรม พระนางถูกเรียกขานมากหลายชื่อ

                ที่วิหารคาร์นัค มีจารึกชื่อของพระนางว่าเป็นผู้สืบทอด, ที่สุดของผู้เป็นที่โปรดปราน, ชายาผู้อ่อนหวาน, ผู้เป็นที่รัก, ผู้ปลอบประโลมหัวใจขององค์ราชา, ผู้มีถ้อยคำอ่อนโยน, ชายาของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่, ผู้ที่กษัตริย์ทรงรัก และเนเฟอร์ตีติ…

                ไม่มีหลักฐานชิ้นไหนที่ระบุได้ว่าเนเฟอร์ตีติเป็นทายาทของใคร ต่างก็มีข้อสันนิษฐานไปต่างๆ นานา ชีวิตของพระนางยังคงเป็นปริศนา

                การค้นพบมัมมี่ของพระนางทำให้ผู้คนยุคปัจจุบันทราบว่า พระนางถูกตัดแขน และมีแผลถูกแทงข้างลำตัว รวมทั้งมีร่องรอยเสียหายบนใบหน้า…

                ด้วยคัมภีร์มรณะของอียิปต์กล่าวถึงคำสาปที่น่ากลัวไว้ว่า หากมัมมี่ถูกทำให้สูญเสียชิ้นส่วน เทพเจ้าจะไม่อาจจดจำได้ และทำให้ไม่สามารถก้าวสู่ชีวิตหลังความตาย วิญญาณจะตกค้างอยู่ระหว่างโลกของคนเป็นและคนตาย

                มีบางหลักฐานที่ระบุว่า เรื่องราวของพระนางเนเฟอร์ตีติอาจเริ่มต้นจากยุครุ่งเรืองในพระราชวังมัลกาต้าที่งดงามของอียิปต์โบราณ แน่นอนว่ามันคือที่ประทับของฟาโรห์ เนเฟอร์ตีติอาจเติบโตจากที่นั่น ท่ามกลางนางสนมกว่า 500 คน ที่ซึ่งพระมเหสีราชินีไทนี่เลือกหญิงสาวในฮาเร็มนั้นมาเป็นชายาให้กับโอรสของตน…

                และผู้ที่ถูกเลือกในครั้งนั้นก็คือเนเฟอร์ตีติ ย้อนกลับไปครั้งที่พระนางยังมีพระชนม์ชีพ พระนางคือผู้ฝักใฝ่ศาสนา นักวางแผน หลายคนมองว่าพระนางเป็นผู้เสียสละ และมากด้วยปริศนาและเวทมนตร์ และถือว่าพระนางเป็นราชินีที่สำคัญมากองค์หนึ่งของอียิปต์

                ด้วยว่าพระนางและพระสวามีฟาโรห์อเคนาเตน นำอียิปต์ไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ พวกเขาทิ้งเมืองธีปส์ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของอียิปต์มาหลายร้อยปี และนำพาไพร่พลอพยพจากเมืองเก่ามาสร้างเมืองใหม่ที่สวยงามกลางทะเลทราย

                ผู้คนนับพันหลั่งไหลมาพร้อมฟาโรห์และพระนางเนเฟอร์ตีติ ด้วยว่ามีฟาโรห์ที่ไหน พวกเขาเหล่านั้นก็จะมีงานทำและไม่อดตาย…

                หลังจากนั้น พวกเขาทั้งหมดก็ต้องหันมาบูชาเทพเจ้าองค์ใหม่ตามความศรัทธาของเนเฟอร์ตีติ ด้วยเพราะทุสโมซิสองค์รัชทายาทสิ้นพระชนม์เร็ว อเคนาเตนพระสวามีของเนเฟอร์ตีติจึงได้ครองบัลลังก์แทน

                และจากวันนั้น สงครามระหว่างขุนนางและนักบวชชั้นสูงกับเนเฟอร์ตีติก็เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ ด้วยว่าเนเฟอร์ตีติและพระสวามีมีจิตแน่วแน่ที่จะลิดรอนอำนาจของเหล่าชนชั้นสูงกลุ่มนั้น

                พวกเขาเริ่มต้นด้วยการสร้างอนุสาวรีย์ให้บดบังวิหารคาร์นัคของเหล่านักบวช ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดกฎที่ร้ายแรงที่สุด นอกจากนั้นเนเฟอร์ตีติยังสร้างวิหารแห่งดวงอาทิตย์ ถวายแด่เทพอาเตนที่พระนางศรัทธาเพียงองค์เดียว

                ก่อนที่เหล่าชนชั้นสูงและนักบวชเหล่านั้นจะวางแผนปลงพระชนม์ของเนเฟอร์ตีติและพระสวามี ทั้งสองก็รวบรวมไพร่พลอพยพย้ายเมือง นี่คือการสร้างฐานสำหรับการปฏิวัติ…และการกระทำครั้งนั้นส่งผลให้เนเฟอร์ตีติกลายเป็นผู้หญิงที่มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้น

                เมืองอะมาร์นา คือเมืองใหม่ที่ถูกวางโครงสร้างเพื่อบูชาดวงอาทิตย์…และทุกครั้งของการปรากฏตัวของเนเฟอร์ตีติ พระนางจะเคียงข้างพระสวามีเสมอ มิใช่เยี่ยงราชินี หากเป็นผู้ปกครองร่วมที่เสมอภาคกันต่างหาก หลังจากนั้นอีกสองปี เรื่องราวของพระนางเนเฟอร์ตีติก็หายไปจากบันทึก

                บางตำนานกล่าวว่า การกระทำของเนเฟอร์ตีติและฟาโรห์ผู้สวามีนั้นก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธาขึ้นในอียิปต์ เหตุเพราะพระนางได้ทำลายวิหารที่ถือเป็นศูนย์กลางศรัทธาของเมือง ทิ้งคนจำนวนมากให้ตกงาน และไม่มีใครกล้าวิจารณ์กษัตริย์…

                ฟาโรห์อเคนาเตนและเนเฟอร์ตีติได้ทำลายความเชื่อของผู้คน และทำให้อียิปต์ก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤติ เกิดความไม่สงบภายในบ้านเมือง กระทั่งบ้านเมืองก้าวเข้าสู่หายนะ…

                ทุกวันนี้ เรื่องราวของเนเฟอร์ตีติและยุคสมัยของพระนางยังคงเป็นปริศนา รอให้คนรุ่นใหม่ๆ มาไขความลับต่อไป…แม้ทุกวันนี้เราจะรู้จักพระนางมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ยังมีเรื่องราวอีกมากที่ยังคงเป็นปริศนาและรอให้คนรุ่นต่อไปมาไขความลับนั้น

                รูปปั้นเสมือนตัวแทนของเนเฟอร์ตีติที่โด่งดังกระทั่งมีการทำซ้ำ คือรูปปั้นท่อนบนที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเยอรมันในนครเบอร์ลิน แน่นอนว่าปริศนาของพระนางเนเฟอร์ตีติยังรอให้ใครอีกหลายคนค้นหาต่อไป

                ในปี ค.ศ. 2005 คณะนักโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยเทนเนสซี่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งนำโดยดร.ออตโต ซาเดน ได้พบปล่องทางลงสุสานแห่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครพบมาก่อนเลยในสุสานหลวงที่หุบผากษัตริย์ จึงมีการเรียกขานสุสานที่พบนี้ว่า KV63

                สุสานนี้ถูกเปิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 ท่ามกลางการรอคอยอย่างใจจดใจจ่อของนักโบราณคดีและสื่อมวลชน ว่าจะพบอะไรที่น่าสนใจภายในสุสานนี้บ้าง จะมีพระศพของราชวงศ์สตรีแห่งราชวงศ์ 18 ที่ยังไม่มีใครเคยพบอย่างพระนางเนเฟอร์ตีติ หรือเจ้าหญิงพระธิดาทั้งหกของพระนางที่เกิดกับฟาโรห์อเคนาเตนหรือไม่ หรือว่าจะมีมัมมี่ของใครบ้าง

                ทว่าสิ่งที่พบในสุสานนี้มีเพียงโลงไม้ว่างเปล่า 7 ใบ ที่ไม่มีจารึกว่าเป็นของใครบ้าง และมีโลงทองคำขนาดจิ๋ว 1 ใบ และโถอลาบาสเตอร์ 2 ใบ นอกจากนั้นยังมีหมอนเกลือนาตรอนที่ใช้ทำมัมมี่ และภาชนะดินเผาอีกจำนวนมาก

                ที่น่าสนใจก็คือรอยตราผนึกของสุสานนี้ตรงกันกับตราที่พบ ณ สุสานตุตันคามุนที่อยู่ห่างออกไปเพียง 50 ฟุต ซึ่งแสดงว่าเป็นสุสานร่วมสมัย

                อย่างไรก็ตาม แม้จะผิดหวังอยู่บ้างที่ไม่พบมัมมี่ของใครเลย แต่ก็ยังได้พบสิ่งที่น่าสนใจอยู่บ้าง นั่นคือโลงสามใบจากจำนวน 6 ใบ มีภาพคนที่ระบายสีใบหน้าด้วยสีเหลืองอยู่บนฝาโลง ซึ่งแม้จะมีการผุกร่อนจากการกัดกร่อนของปลวกบ้างก็ยังคงเห็นความงดงามของภาพได้ชัดเจน มีการเรียกโลงทั้งสามใบนี้ว่า “โลงหน้าเหลือง”

                สิ่งที่สร้างความงุนงงสงสัยให้กับนักโบราณคดีได้แก่ การที่ดวงตาของรูปหน้าบนโลงทั้งสามใบนี้ล้วนแต่มีลักษณะยาวรีคล้ายกับดวงตาของเนเฟอร์ตีติ ที่ปรากฏโดดเด่นในรูปปฏิมากรรมระบายสีที่มีการค้นพบในปี 1912

                ซึ่งหัวตาจิกลงเล็กน้อย เขียนขอบตาด้วยสีดำ จมูกโด่งเป็นสัน ริมฝีปากเต็มอิ่ม ดวงตาเป็นรูปรีแบบเมล็ดอัลมอนด์อย่างดวงตาของสาวชาวจีน หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏภาพดวงตาของเนเฟอร์ตีติก็คือศิลาจารึกสลักภาพราชกุลชิ้นหนึ่งที่พบที่เมืองอะมาร์นาที่สร้างขึ้นในรัชสมัยอเคนาเตน

                ซึ่งดวงตาของอเคนาเตน มีสภาพปกติเหมือนชาวไอยคุปต์ทั่วไป มีแต่ดวงตาของเนเฟอร์ตีติเท่านั้นที่มีลักษณะยาวรีแตกต่างจากคนอื่นๆ การที่ภาพสลักนี้ทำขึ้นในสมัยอเคนาเตน ลักษณะเช่นนี้จึงอาจเป็นศิลปะร่วมสมัยเนเฟอร์ตีติก็ได้

                ซึ่งศิลปะแนวนี้ยังอาจได้รับความนิยมอยู่ต่อมาจนถึงราชวงศ์ที่ 19 ดังที่ปรากฏในภาพวาดในสุสานของพระมเหสีของฟาโรห์รามิเซสที่ 2

                สำหรับค่านิยมในการทำดวงตาให้ยาวรีเหมือนเนเฟอร์ตีตินั้น ใช่ว่าจะได้รับความนิยมเฉพาะในพระราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น ยังกลายเป็นแฟชั่นยอดฮิตในวงสังคมของชนชั้นสูงอย่างกว้างขวาง

                มีการพยายามเลียนแบบดวงตาให้เหมือนเนเฟอร์ตีติกันอย่างเต็มที่ ซึ่งแม้ใครจะมีดวงตายาวรีเหมือนแล้ว ยังมีการพยายามทำให้หัวตาตวัดลงเล็กน้อยเหมือนต้นแบบอีกด้วย

                คนอียิปต์โบราณก็คงไม่แตกต่างจากคนสมัยนี้เท่าไรนัก ในเรื่องความสวยงามตามสมัยนิยม อะไรๆ ที่คิดว่าทำแล้วสวย ผู้หญิงไม่พลาดอยู่แล้ว ไม่ว่ายุคใดสมัยใด

                นักโบราณคดีบางท่านคิดยาวไกลไปถึงว่า เนเฟอร์ตีติคงคิดที่ว่าความงามของพระนางที่หยาดเยิ้ม ถึงขนาดที่มีการเรียกขานพระนามกันทั่วแผ่นดินว่าเนเฟอร์ตีติ หรือ “คนสวย” มาแล้ว นั้นน่าจะทำให้สวยกว่านี้ได้ จึงพยายามทำให้ความสวยเพิ่มมากขึ้นกว่านี้อีก ให้เป็นความสวยแบบที่ไม่เหมือนสาวอียิปต์โดยทั่วไป จึงมีการใช้ความพยายามทำศัลยกรรมตาให้ยาวรีและหัวตาตวัดลง โดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์มาช่วย ซึ่งเรื่องนี้ชาวอียิปต์ยุคหลายพันปี ไม่น้อยหน้าใครอยู่แล้ว แม้แต่ในปัจจุบันนี้ก็เถอะ

เรื่องโดย. ทิวากร สุวพานิช

ภาพโดย. Ai


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •