25 เมษายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

มีตำนานความเชื่อของชนเผ่าในอินเดียว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อนางสีดา ภรรยาของพระราม ได้มาสรงน้ำที่ในลำธารนั้น นางสีดาได้เปลือยร่างลงไปในน้ำ จึงทำให้ผู้หญิงชนเผ่าหนึ่งซึ่งอยู่ในป่านั้นดันมาเห็นเข้า จึงหัวเราะขำด้วยความสงสัย จนทำให้นางสีดาขุ่นเคืองใจ ก็เลยสาปแช่งเอาไว้ว่า ผู้หญิงในเผ่านี้จะไม่สามารถสวมใส่เสื้อผ้าได้ ถ้าหากผู้หญิงคนไหนสวมใส่อาภรณ์เมื่อใด ก็ขอให้มีอันเป็นไป

ด้วยคำสาปแช่ง จึงทำให้ผู้หญิงในชนเผ่าดังกล่าว ต้องแก้ผ้า หรือว่าเปลือยอกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าวัฒนธรรมของโลกจะเปลี่ยนไป ผู้หญิงในชนเผ่านี้ พยายามที่จะนุ่งผ้า แต่ทว่าก็ยังไม่กล้าสวมใส่เสื้อผ้าทั้งหมด ยังคงกึ่งสวม กึ่งเปลือยเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

และนี่คือความเชื่อของชนเผ่า “บอนโด” หรือ “บอนดา” ซึ่งเป็นชนเผ่าที่ค่อนข้างปลีกตัว แปลกแยก ไม่คบค้าสมาคมกับโลกภายนอกเท่าใดนักถ้าหากไม่จำเป็น ชนเผ่านี้ไม่ค่อยไว้ใจคนแปลกหน้า และจะไม่อนุญาตให้เข้าไปในเขตถิ่นที่อยู่ของตน

เผ่าบอนโด (Bondo) หรือ บอนดา (Bonda) เป็นหนึ่งในชนเผ่าที่เก่าแก่มากที่สุด และมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมน้อยที่สุด ที่หลงเหลืออยู่ในอินเดีย ชาวบอนโดอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงบนเขาหรือบริเวณลาดเขาที่มีความสูงประมาณ 1,000 เมตร ในพื้นที่ป่าผลัดใบทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐโอริสสา โดยเฉพาะในเขตอำเภอมาลกันคีรี (Malkangiri)

ชาวบอนโด

โดยสัณฐานแล้วชาวบอนโดมีรูปร่างเตี้ย จมูกกว้าง หน้ากลม พวกเขาเรียกตนเองว่า เรโม (Remo) และภาษาที่ใช้ก็เรียกว่า ภาษาเรโม เป็นภาษาในกลุ่มมุนดา (Munda) ซึ่งเป็นภาษาย่อยในตระกูลออสโตรเอเชียติก แต่คนภายนอกเรียกพวกเขาว่า บอนโด ตามชื่อของภูเขา จากการสำรวจของนักมานุษยวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอานธระ พบว่ามีชาวบอนโดหลงเหลืออยู่ประมาณ 5,300 คน กระจายอยู่ในชุมชน 35 แห่ง

ผู้คนในเผ่านี้ มีลักษณะนิสัยค่อนข้างก้าวร้าว ดุร้าย ไม่ชอบยุ่งกับใคร ไปไหนมาไหนจะมีอาวุธติดกายเพื่อเอาไว้ป้องกันตัว พวกผู้หญิงจะสวมเสื้อผ้าน้อยชิ้น แต่จะมีเครื่องประดับประเภทลูกปัดสวมใส่ทับลงไปแทนเสื้อผ้า ชนเผ่านี้ชอบแยกตัวอยู่สันโดษ ประชากรหญิงมีมากกว่าชาย และผู้หญิงจะนิยมแต่งงานกับผู้ชายที่มีอายุน้อยกว่า ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในสังคมเผ่า

เมื่อถามว่า ทำไมต้องแต่งงานกับผู้ชายที่อายุน้อยกว่า พวกเธอบอกว่า เพราะพวกเขาจะได้ตายช้ากว่า เป็นหลักประกันได้ว่าตนเองจะได้รับการเลี้ยงดูจากสามีจนวันตาย

เหล้ากลั่น

ผู้ชายบอนโดนิยมดื่มเหล้าที่กลั่นเองจากดอกไม้ป่าชนิดหนึ่ง และอาจส่งผลต่อนิสัยก้าวร้าว ดุดัน และชอบใช้ความรุนแรง

ความเชื่อของชาวบอนโดมีลักษณะผสมระหว่างศาสนาฮินดูและความเชื่อในเรื่องวิญญาณ ที่เรียกว่า เซเรม พวกเขาเชื่อว่าภายหลังที่เสียชีวิตแล้ววิญญาณจะไปสู่เทพเจ้าแห่งดาบ ที่สถิตอยู่ที่ต้นไทร บนยอดเขาใกล้หมู่บ้าน และวิญญาณนั้นจะกลับมาเกิดใหม่เป็นคนหรือเป็นสัตว์ในวันหน้า

พวกเขาจึงจัดพิธีศพเพื่อความพอใจวิญญาณ จึงต้องบูชายัญด้วยเลือดสัตว์และตั้งอนุสาวรีย์หินที่เรียกว่า ดอลเมน (Dolmen) เพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้ตาย และเชื่อว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามวิญญาณอาจสร้างความเจ็บป่วยให้สมาชิกในครอบครัว และอาจทำอันตรายต่อพืชผลและสัตว์เลี้ยง

วิถีชีวิตชาวบอนโด

ชาวบอนโดดำรงชีพด้วยการทำไร่เลื่อนลอย เก็บหาของป่า ล่าสัตว์ และบ้างก็ทำเกษตรกรรมถาวร ปลูกข้าวฟ่าง ข้าว ผักและผลไม้ต่างๆ ส่วนสัตว์ที่เลี้ยงก็มี วัว แพะ แกะ หมู เป็ดไก่ เป็นต้น พวกเขาค่อนข้างแยกตัว ไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า และจะไม่อนุญาตให้เข้าไปในเขตถิ่นที่อยู่ของตน การเดินทางเข้าไปยังถิ่นที่อยู่ของพวกเขานั้นอาจไม่ปลอดภัย เราจึงจะพบเห็นชาวบอนโดได้เวลาที่พวกเขาลงจากเขานำสินค้ามาขายในตลาด

ในด้านการแต่งกายชายชาวบอนโดนุ่งห่มเสื้อผ้าน้อยชิ้น และปกคลุมเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศเท่านั้น ผ้านุ่งของผู้ชายเรียกว่า โกสี (Gosi) เป็นผ้ายาวประมาณ 3 ฟุต และกว่าง 1.5 ฟุต

ส่วนผู้หญิงชาวบอนโดจะโกนศีรษะ และคาดรอบศีรษะด้วยแถบลูกปัดเป็นเครื่องประดับ ทั้งยังนิยมสวมสร้อยลูกปัดขนาดยาวจำนวนมากที่คอและยาวตกลงมาถึงหน้าท้อง ปิดคลุมส่วนหน้าอก สวมห่วงคอขนาดใหญ่ และต่างหู ที่ทำด้วยทองเหลืองหรือเงิน ส่วนล่างมีผ้าผืนสั้นทอมือจากเส้นใยไม้ในป่าที่เรียกว่า ริงกา (ringa) สวมใส่คล้ายกระโปรงสั้น และยังมีผ้าสี่เหลี่ยมชิ้นใหญ่คลุมไหล่โดยมัดเป็นปมที่ด้านหน้า

การแต่งกายของหญิงบอนโด

ด้วยลักษณะนิสัยที่แยกตัวสันโดษและอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลบนเขาสูง ทำให้ชาวบอนโดสามารถอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของตนไว้ได้ อีกทั้งชนเผ่าบอนโดได้ถูกจัดให้เป็นกลุ่มชนเผ่า (Scheduled Tribes) ตามกฎหมายมาตรา 342 แห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย ที่รัฐจะต้องให้การสนับสนุนและพัฒนาด้านต่างๆ รวมทั้งการปกป้องคุ้มครองเป็นพิเศษ

ไม่เพียงเฉพาะที่รัฐโอริสาเท่านั้นที่เป็นพื้นที่ของชนเผ่า รัฐซึ่งอยู่ติดกันอย่าง “ฉัตตีสครห์” (Chattisgarh) พบว่ามีชุมชนเล็กๆ อันเงียบสงบและร่มรื่นของชนเผ่าไบสันฮอนมาเรีย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มย่อยของเผ่าบอนโด และภูมิหลังเป็นชนเผ่านักล่าสัตว์และเก็บของป่า

ไบสันฮอน (เครื่องประดับเขากระทิง)

เมื่อมีพิธีกรรมโกยามาตา ประกอบขึ้นทั้งในช่วงการแต่งงานและงานศพ พวกชนเผ่าจะแต่งกายเต็มยศในชุดประจำเผ่าเผยให้เห็นถึงความสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะ “ไบสันฮอน” หรือเขากระทิงที่ถูกนำมาทำเป็นเครื่องประดับบนศีรษะของชายหนุ่ม

หากใครได้ไปที่ตลาดอนูกาเดลลี ซึ่งเป็นสถานที่จับจ่ายซื้อขายของชาวบ้านและเหล่าชนเผ่าในเขตโกราปุด (Koraput District) แม้สถานที่แห่งนี้จะแสนจอแจเพียงใด แต่ความโดดเด่นหญิงสาวเผ่าบอนโด ก็จะสามารถดึงดูดสายตาทุกคู่ให้จับจ้องไปที่เธอแทบไม่วางตา

เพราะไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน อย่างไร หากแต่หญิงสาวบอนโดก็ยังนิยมเปลือยอกช่วงบนสวมเพียงแผงสร้อยลูกปัดห่มคลุม และพันผ้าทอบริเวณสะโพก ทั้งนี้เพราะมีตำนานความเชื่อของชนเผ่าที่เกี่ยวข้องกับนางสีดาในรามเกียรติ์ดังที่เล่ามาแล้วข้างต้นนั้นนั่นเอง

เรื่องโดย. ตะวัน สัญจร

ภาพโดย. en.wikipedia.org, www.thisbeadifulworld.tumblr.com, www.fotojoys.com, www.placepass.com, www.htoindia.com, www.alternativetoursindia.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •