19 เมษายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

                เนียวเบ็ง หรือ เนียวบอง เป็นพิธีกรรมโบราณที่สืบทอดกันมาของกลุ่มดายัค ผู้เป็นนักล่าหัวมนุษย์บนเกาะบอร์เนียว โดยเฉพาะในเขตกาลิมันตันของอินโดนีเซีย ซึ่งชนเผ่าเหล่านี้ยังทำพิธีกรรมของเผ่าตนเองได้อย่างเสรี พิธีกรรมดังกล่าวนี้ จัดขึ้นมาเพื่อแสดงความกตัญญูต่อนักสู้ นักล่าที่เสียชีวิตไปแล้ว อีกทั้งเพื่อความสงบสุขสันติภาพในชนเผ่า ไปจนถึงพิธีกรรมการเก็บเกี่ยวที่ดี

                พิธีกรรมเกี่ยวกับการอาบน้ำทำความสะอาดกะโหลกศีรษะของมนุษย์ที่เสียชีวิตไปแล้วนั้น เป็นพิธีกรรมของชนเผ่าดายัค ซึ่งจัดขึ้นโดยดายัค เนียวเบ็ง บิดายุเซบูจิต ที่หมู่บ้าน Hlibuei แถบ Bengkayang ในเขตกาลิมันตัน ตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1894 หลังจากที่มีการห้ามมิให้มีการล่าหัวมนุษย์อีกต่อไป

                ในอดีต เมื่อมีการล่าหัวมนุษย์เกิดขึ้นจะมีการตัดหัวมนุษย์และเก็บกะโหลกไว้เพื่อสร้างเสริมพลังให้กับนักล่าที่เป็นเจ้าของหัวมนุษย์นั้น ผู้เฒ่าผู้แก่จะเก็บกะโหลกที่ตนเองเคยล่าได้เมื่อสมัยหนุ่มๆ เอาไว้ในกล่องพร้อมสร้อยคอหมูป่า ชนเผ่าดายัคบิดายุจะถือว่าหัวเป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิตของมนุษย์ พวกเขาถือว่ากะโหลกศีรษะเป็นของขลังที่ทรงพลังที่สุดในโลก สามารถเพิ่มผลผลิตของพืชผลและป้องกันวิญญาณชั่วร้าย

                ครั้นเมื่อถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี ชนเผ่าดายัคก็จะจัดให้มีพิธีกรรมอาบน้ำชำระความสะอาดให้กับหัวกะโหลก ซึ่งมีพิธีเฉลิมฉลอง 3 วันในเดือนดังกล่าว โดยหมอผีของชนเผ่าจะเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมดังกล่าวนี้ เมื่อถึงวันทำพิธี ผู้คนจะมาร่วมชุมนุมกันในลานหมู่บ้าน เหล่านักรบก็จะแต่งตัวแบบดั้งเดิม พกเอาอาวุธของตนออกมาเต็มอัตรา ไม่ว่าจะเป็น หอก ดาบ หรือแม้กระทั่งปืน เมื่องานพิธีเริ่ม พวกเขาก็จะยิงปืนขึ้นฟ้าเป็นการบ่งบอกถึงสัญญาณการทำพิธี จากนั้นหมอผีก็จะโยนลูกสุนัขและไก่ขึ้นไปบนอากาศ ผู้คนที่มาร่วมงานก็จะใช้ดาบของตนฟันเพื่อเป็นการบูชายัญ หลังจากนั้นก็จะมีการโยนไข่ไปยังผู้ที่มาเยือนเพื่อทดสอบความจริงใจ โดยพิจารณาว่าไข่ที่ขว้างใส่แขกที่มาเยือนนั้นแตกหรือไม่ ถ้าใบใดที่ขว้างใส่ใครไม่แตก ทุกคนก็จะร้องออกมาอย่างดีใจ

                พิธีกรรมครั้งล่าสุดของการอาบน้ำหัวกะโหลกมนุษย์ที่จัดขึ้นมานั้น ชนเผ่าดายัคทั้งผู้ชายและผู้หญิงหลายร้อยคนในเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมที่ประดับประดาด้วยลูกปัดและกระดูกสัตว์ ออกเดินแถวมาต้อนรับผู้มาเยือน ทั้งจากต่างหมู่บ้าน ต่างถิ่น รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมพิธีกรรมที่พิสดารนี้ พวกเขาถือแมนโด (ดาบ) ท่อเป่าและปืนยาวเอาไว้ เมื่อแขกมาถึง ผู้เข้าร่วมพิธีก็จะเล็งปืนขึ้นไปบนฟ้าและยิงทักทาย ว่ากันว่าสิ่งเหล่านี้คือมารยาทในการต้อนรับผู้มาเยือนซึ่งมีมาช้านานก่อนที่จะมีการเริ่มอาบน้ำหัวกะโหลกมนุษย์

                ในขณะที่พิธีต้อนรับยังคงดำเนินต่อไป ข้าวขาวและเหลืองก็ถูกแจกจ่ายกระจัดกระจายไปตามการสวดมนต์ของผู้อาวุโสในชุมชน โดยมีผู้หญิงในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งคอยเสิร์ฟ tuak (ไวน์ปาล์ม) ก่อนที่แขกจะถูกนำไปที่ Rumah Balug ซึ่งเป็นบ้านดั้งเดิมที่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน

                พิธีกรรมสำคัญที่สุดของเนียวบอง ก็คือการอาบน้ำของกะโหลกศีรษะ ที่นำโดยนักล่าหัวมนุษย์ในอดีตที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้ร่วมงานที่สำคัญ ทั้งนี้ชนเผ่าดายัคเชื่อว่าร่างกายคนเรานั้น จากลำคอขึ้นไปเป็นสัญลักษณ์ตัวตนของบุคคล เชื่อกันว่ากะโหลกศีรษะมนุษย์ที่แห้งจะมีพลังเวทมนตร์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก แม้กระทั่งหัวหน้าหมู่บ้านที่ได้รับการกล่าวขานกันว่าสามารถช่วยหมู่บ้านจากโรคระบาดได้

                ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีการทำพิธีกรรมเพิ่มขึ้น กะโหลกก็ถือว่ามีประสิทธิภาพสำหรับการเชิญฝนเพิ่มการเก็บเกี่ยวและการขับไล่วิญญาณชั่วร้าย ยิ่งมีกะโหลกแห้งมากเท่าไรก็จะยิ่งมีพลังเหนือธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น ความเชื่อดังกล่าวนี้นำไปสู่การอาบน้ำแบบพิเศษเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและให้การปกป้องจากภูตผี รวมทั้งทำให้ผู้ร่วมพิธีมีโชคลาภ

                การล่าหัวมนุษย์ในกาลิมันตันได้เลิกราไป และการปล่อยให้หัวหน้าหมู่บ้านนำคนของตนออกไปล่าหัวมนุษย์ในหมู่บ้านอื่นถือว่ายุติลงอย่างเด็ดขาด ใครฝ่าฝืนถือว่าจะมีความผิดทางกฎหมาย ทำให้ดายัคเลิกล้มพิธีดังกล่าวไป รวมไปถึงการปฏิบัติตนของหัวหน้าเผ่าดายัคสิ้นสุดลงในปีพ.ศ. 2437 ในการประชุมสามัญของผู้อาวุโสชุมชนในตำบลตัมโบอาโนอิจังหวัดกาลิมันตันตอนกลาง ซึ่งก่อนหน้านี้ นักล่าหัวมนุษย์ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ และเป็นวิธีการที่จะช่วยชีวิตผู้คนจากโรคระบาด แต่นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ถ้าใครยังปฏิบัติอยู่จะถือว่าทำความผิดร้ายแรง

                แต่ถึงจะมีบทลงโทษอย่างเด็ดขาดรุนแรง ว่ากันว่าในกลุ่มนักล่าก็ยังมีคนแอบทำพิธีกรรมดังกล่าวอยู่ แม้กระทั่งทุกวันนี้ เนื่องจากในกาลิมันตันนั้นการเดินทางไปมาหาสู่กันยังลำบากมาก ผู้คนยังนิยมที่จะใช้เส้นทางของแม่น้ำล่องเรือไปหากันแทนที่จะใช้ถนนซึ่งตัดผ่านป่าดิบ และถือว่าอันตรายที่จะผ่านเข้าไปในถิ่นของคนแปลกหน้า

                เกาะบอร์เนียวแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน ด้านหนึ่งจะเป็นดินแดนของมาเลซีย ในขณะที่ทางตะวันออกและทางใต้ของเกาะจะเป็นดินแดนป่าดิบของอินโดนีเซีย ซึ่งจะมีหมู่บ้านและเมืองใหญ่อยู่ริมชายทะเล หากแต่ลึกเข้าไปก็จะเป็นที่อยู่ของชนเผ่าต่างๆ ซึ่งบางครั้งพวกเขาก็ยังไม่ซึมซับวัฒนธรรมใหม่ๆ ยังคงใช้วิถีชีวิตเดิมๆ

                หัวหน้าชุมชนเล่าว่า ประเพณีเนียวบองนี้ถือเป็นจารีตที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษของชาวบิดายุทุกคน ซึ่งจะต้องนำเอาหัวกะโหลกที่เก็บเอาไว้ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษในแต่ละบ้านออกมาทำความสะอาดอาบน้ำให้ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านไปนั้น หัวกะโหลกเหล่านี้จะถูกเจ้าของบ้านแขวนเอาไว้บนที่สูง ไม่ได้สนใจ จนบางครั้งทำให้หยากไย่ปกคลุมจนเต็ม

                ในการทำพิธี พวกเขาจะเอาหัวกะโหลกมนุษย์ที่มีมารวมกัน วางไว้บนหอสูงของบ้านที่ใช้สำหรับทำพิธี หรือที่เรียกกันว่า “รูมาห์ บาลัก” ซึ่งเป็นหอพิธีที่สร้างสูงกว่าบ้านปกติทั่วไปประมาณ 20 เมตร หัวกะโหลกจะถูกวางไว้อย่างเป็นระเบียบ ได้รับการดำเนินการโดยการอาบน้ำกะโหลกที่ถูกเก็บไว้ในบ้าน Balug

                ผู้ทำพิธีและแขกที่มาร่วมงานก็จะเดินแถวไปยังบ้านที่กลางหมู่บ้าน ซึ่งก่อนจะเข้าบ้านนั้นก็จะมีม่าน ผู้ทำพิธีจะกล่าวสักการะดวงวิญญาณบรรพบุรุษ แล้วทุกคนก็จะถอดรองเท้า เดินย่ำไปบนถาดน้ำมนต์ที่ใส่น้ำเอาไว้ แล้วมีสมุนไพรบางอย่างอยู่ในถาดนั้น ทุกคนจะย่ำไปบนถาด เดินเข้าสู่บ้านที่วางหัวกะโหลกเอาไว้

                ระหว่างนี้ เมื่อเข้าไปแล้ว หลายคนจะมีการโชว์ความสามารถต่างๆ แข่งขันกันเล่นกีฬาปีนเสาเพื่อชิงของเป็นที่สนุกสนาน ในขณะที่คนที่เข้าร่วมพิธีก็จะเดินไปบนสะพานไม้ที่สร้างขึ้นล้อมรอบรูมาห์ บาลักซึ่งเป็นหอสูงราว 20 เมตร เป็นที่วางหัวกะโหลก เหมือนคนไทยเราเดินเวียนโบสถ์ยังไงยังงั้น ระหว่างที่เดินไป เสียงดนตรีเสียงกลองก็จะบรรเลงเป็นจังหวะให้ทุกคนเดินย่างไปขยับตัวไป ปล่อยให้ผู้ทำพิธีและแขกที่ได้รับเชิญปีนบันไดไม้ขึ้นไปยังยอดสูงของหอคอยเพื่อทำพิธีต่อไป ตอนแรกที่เดินเข้าไปในบริเวณพิธีก็สงสัยว่าเสียงดนตรีดังมาจากไหน จนเมื่อปีนป่ายขึ้นไปบนยอดหอคอยแล้วจึงพบว่าข้างบนมีกลองและมีฆ้องขนาดใหญ่ที่ใช้ตีบรรเลงเพลงแขวนเป็นราวอยู่ มีผู้ร่วมพิธีบางคนนั่งตีดังมาจากบนนั้น ถ้าถามว่าเสียงจังหวะเป็นอย่างไร ก็คล้ายกลองยาวหรือว่ารำวงบ้านเรานั่นแหละ เดินไปขยับเท้าโยกตัวกันไป แม้กระทั่งคนทำพิธีเองก็เต้นไปเรื่อยๆ อยู่บนหอคอยข้างบนจนได้เวลา

                ถึงตอนนั้นเสียงกลอง เสียงฆ้องจะเร่งเร้าดังรัวขึ้น ข้างล่างผู้ร่วมพิธีก็จะชักดาบของตนเองขึ้นมาชู โห่ร้องดังก้อง บางคนก็เอาเลือดสดมาแต้มที่หน้าผากที่แก้ม หมูป่าตัวขนาดกลางที่ยังมีชีวิตอยู่จะถูกนำเอาเข้ามา แล้วทุกคนก็ร่วมกันใช้ดาบของตนฟันไปที่หมูจนตาย เลือดไหลนองเต็มพื้น จากนั้นมีการแจกจ่ายเลือดสดๆ เอามาแตะลิ้น เอามาชิมพอเป็นพิธี โดยมีนักล่าหัวมนุษย์บางคนหยิบเอาใบไม้ที่เหมือนใบไพลบ้านเรามารวมเป็นกำแล้วปัดกวาดไปตามตัวของผู้ที่เข้ามาร่วมงาน เป็นการปัดรังควาน ป้องกันภูตผี สิ่งที่ไม่ดีที่เกาะติดตามตัว

                บนหอคอยนั้นจะมีไหโบราณใบใหญ่มาก ข้างในใส่น้ำหรือเหล้าไม่ทราบได้วางอยู่ ผู้ทำพิธีจะช่วยกันเอามาวางที่ตรงกลางห้อง แล้วมีเครื่องเซ่นใส่จานเป็นไข่ต้ม และอะไรไม่รู้สองสามอย่างวางอยู่ในจาน ทุกคนจะเต้นไปรอบๆ ไห ก่อนที่จะใช้ใบไพลซึ่งแขวนห้อยเอาไว้ตรงกลางหอคอยมาปัดเป่าให้กันและกันขณะที่เต้นไปรอบๆ หมอผีผู้ทำพิธีถือถาดไม้เหมือนคล้ายทำมาจากกาบอะไรสักอย่าง วางใบไพลไว้ในนั้น ก่อนจะมีคนตักน้ำขึ้นมาจากไหใส่ในถาดที่เหมือนกาบหมากนั้น ให้น้ำไหลลงมา ใครอยากได้น้ำมนต์ก็เดินเข้าไปเอาศีรษะรองรับ วนเวียนกันไปจนทั่ว

                ในวันสุดท้ายของงานจะมีการเปิดให้ผู้ที่มาร่วมงานทุกคนขึ้นไปยังหอคอยด้านบนได้ หมอผีจะเริ่มงานพิธีด้วยการเชือดไก่ เอาเลือดมาเซ่นไหว้หัวกะโหลก วันนี้จะมีการก่อกองไฟเอาไว้ให้กลายเป็นถ่าน ผู้ทำพิธีเต้นรำไปรอบกองไฟ ไก่ที่ถูกเชือดก็จะถูกหิ้วไปตรงกลาง เอาเลือดไก่ราดบนกระดูกและเอากล่องใส่หัวกะโหลกออกมารับเลือดไก่เพื่อเซ่นไหว้

                แน่นอนว่าวันสุดท้ายนี้ จะมีหมูเป็นๆ อีกตัวหนึ่งมาเซ่นบัดพลีที่บนหอคอย เอาเลือดหมูไปบูชาหัวกะโหลกที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว กล่องใส่หัวกะโหลกที่บรรจุหญ้ารองเอาไว้ก็จะถูกกำจัดออกไปจนในกล่องนั้นไม่มีอะไร แล้วผู้ทำพิธีก็จะบรรจุหัวกะโหลกลงกล่อง ปิดด้วยฝาไม้ ทุกคนลุกขึ้นมาเต้นไปรอบๆ ส่งเสียงโห่ร้อง เป็นอันจบพิธีกรรม

                ในการจัดพิธีอาบน้ำหัวกะโหลกนี้ จะจัดขึ้นเป็นเวลาสามวันด้วยกัน ตลอดงานจะมีคนคอยพูด คอยเล่าเป็นภาษาชนเผ่าที่เรานักท่องเที่ยวฟังไม่เข้าใจ แต่ในทุกวันนี้ พิธีกรรมเนียวเบ็ง หรือเนียวบอง ของชนเผ่ากาลิมันตันได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบวิธีชีวิตของชนเผ่าเข้าไปร่วมงานเยอะมาก

                เช่นเดียวกับชาวบ้านในเขตต่างๆ ของกาลิมันตันที่จะเข้ามาร่วมงานเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองด้วย เพราะพวกเขาเชื่อว่าหมอผีผู้ทำพิธีนั้นจะช่วยส่งเสริมให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น หลังจากงานพิธีกรรมดังกล่าวนี้ผ่านไป เหมือนได้กำจัดสิ่งชั่วร้ายและปลุกพลังของบรรพบุรุษให้ลุกขึ้นมาปกป้องลูกหลานต่อไป

/

เรื่องโดย. ตะวัน สัญจร

ภาพโดย. www.Merdeka.com/Elyana Dasuki, www.yukepo.com, www.digitalnomadupdates.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •