27 เมษายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

            บรรดาร่องรอยอันชวนพิศวงที่ชนโบราณได้เขียนหรือทำขึ้น มีอยู่หลายอย่าง เช่น ร่องรอยลึกลับที่นาซก้า หรือรูปม้าและมนุษย์ในอังกฤษ และภาพเขียนที่ถ้ำและเพิงผาหลายแห่งในโลก

            แต่ยังมีร่องรอยประหลาดอยู่แห่งหนึ่งที่เพิ่งค้นพบเมื่อปี ค.ศ.1981-1982 นี้เอง ที่มหัศจรรย์ไม่แพ้ที่อื่นๆ นั่นคือ การค้นพบการคำนวณวัน เดือน ปีของมนุษย์เมื่อพันปีมาแล้ว

            สถานที่ค้นพบนี้เป็นที่ที่มนุษย์อันไร้อารยธรรมและความศิวิไลซ์อาศัยอยู่ เพิ่งจะมีความเจริญไปปรากฏขึ้นเมื่อสามสี่ร้อยปีมานี้ คือทวีปอเมริกานั่นเอง

            ในปี ค.ศ.1981 คณะนักค้นคว้าทางธรรมชาติวิทยา มานุษยวิทยา และโบราณคดี ได้ทำการสำรวจครั้งใหญ่ที่บริเวณอุทยานป่าหินโบราณแห่งชาติที่รัฐอริโซน่า บริเวณที่เป็นทะเลทรายและหุบเขาอันสวยงาม ซึ่งเมื่อสี่ห้าร้อยปีมาแล้วบริเวณนี้เป็นที่พำนักของพวกอินเดียนแดง เผ่านาวาโฮอันดุร้ายนั่นเอง

            จากการสำรวจคราวนี้ได้พบถ้ำที่อยู่ของชนโบราณก่อนพวกอินเดียนแดง มีลักษณะเป็นเพิงหินธรรมชาติ มีภาพเขียนด้วยดินสีโบราณ เป็นรูปคนและเครื่องหมายแปลกๆ หลายแห่งทีเดียว

            เมื่อสำรวจอย่างถี่ถ้วนถึงรอยเขียนอันประหลาดนี้ ได้พบความฉงนว่าหลายแห่งเป็นดุจตารางบอกเวลา และวันเดือนปีอย่างอัศจรรย์ยิ่งนัก

            อย่างถ้ำแห่งหนึ่งอันเป็นเพิงหิน นักสำรวจได้ตั้งชื่อว่า “ถ้ำแห่งชีวิต” (Cave of life) ที่ก้นผนังถ้ำ มีภาพเขียนเป็นสัญลักษณ์ประหลาดรูปกากบาท 3 ชั้น ซึ่งนักสำรวจปักหลักสำรวจกันเป็นปีทีเดียว จึงได้พบว่า…

            ทุกๆ 45 วัน ภายหลังเที่ยง แสงอาทิตย์จะส่องลอดช่องว่างของหินอีกด้านหนึ่ง ส่องเป็นเส้นเล็กดุจดาบฉายพุ่งลงไปที่รูปเขียนวงกลมก้นหอยก่อน และจะชี้ผ่านเรื่อยๆ จากซ้ายไปขวาไปยังภาพอื่นๆ ผ่านไปยังภาพเขียนรูปกากบาท 3 ชั้น และเมื่อลำแสงชี้ไปถึงจุดกึ่งกลางของรูปกากบาทแล้วแสงจะหายไปทันที แสดงว่าดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว และแสงอาทิตย์จะฉายดังนี้

            ทุกๆ 45 วัน ซึ่งปีหนึ่งฉายเพียงแปดครั้ง เดือนของชนโบราณอาจมีเพียง 8 เดือน แต่เมื่อรวมแล้วก็ได้ 360 วัน ใกล้เคียงกับวันของหนึ่งปีในปัจจุบันอย่างน่าฉงน

            ส่วนอีกถ้ำนั้นลำแสงจะชี้บอกตำแหน่งของฤดู โดยเฉพาะฤดูใบไม้ผลิและฤดูฝน แสงจะส่องสว่างไปทั่ว แต่พอถึงฤดูร้อนกับฤดูหนาว แสงจะขึ้นเป็นเส้นไปที่เครื่องหมายอื่นทันที

            แต่เครื่องหมายบอกเวลาของชนโบราณเหล่านี้ มีอยู่แห่งหนึ่งที่คณะสำรวจค้นพบว่ามีความประหลาดที่สุด กล่าวคือตัวเครื่องหมายทำเป็นแบบภาพเขียนรูปวงก้นหอยเล็กมาก คือเล็กเพียง 4 นิ้ว

            ภาพเขียนนี้อยู่ด้านล่างของก้อนหินที่หักเฉียงลง ซึ่งนักสำรวจตั้งชื่อว่า ก้อนหินโฮบี เมสาซ (Hopi Mesas) มาจากภาษาอินเดียนแดง เพราะบริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่ของพวกอินเดียนแดงเผ่านิแมน แคทชิน่า (Niman Katchina) อยู่ทางเหนือสุดของป่าหิน

            เครื่องหมายเล็กๆ นี้เองที่นักสำรวจถือว่าเป็นเครื่องหมายบอกวันที่เก่าแก่และแปลกประหลาด คือชี้บอกวันที่ที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากโลกที่สุดในฤดูร้อน พวกเขาเรียกการเกิดปรากฏการณ์ที่เครื่องหมายนี้ว่า “ก้อนหินแห่งแสงไหล”

            สาเหตุที่เรียกอย่างนี้ก็เพราะเหตุที่ว่า…เมื่อพระอาทิตย์เริ่มขึ้น แสงอาทิตย์จะส่องไปกระทบหินด้านบนเป็นวงกว้าง แล้วแสงจะส่องย้อยเหมือนไหล คดเคี้ยวเป็นทางเส้นเล็กลงมา แสงจะส่องไหลลงมาเรื่อยๆ จากหินด้านบนมายังด้านล่างที่หักเฉียงเข้า แล้วไหลเรียงมาจนถึงจุดกึ่งกลางของเครื่องหมายพอดี อันเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ประกอบกับฝีมือมนุษย์โบราณที่แปลกประหลาด

            แสงจะมาหยุดที่เส้นวงใน และจะหยุดอยู่ ณ ที่นั้นในวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากโลกในฤดูร้อนนานถึง 15 นาทีทีเดียว แล้วแสงจะค่อยๆ หดสั้นขึ้นไปจนถึงขอบหินด้านบน กลายเป็นแสงสว่างธรรมดา

            ซึ่งคณะนักสำรวจถือว่าเป็นปฏิทินโบราณอันน่าอัศจรรย์โดยแท้ ถ้าไม่ใช่วันดังกล่าวแสงก็จะไหลลงมาบ้างแต่ไม่ถึงเครื่องหมาย

            และในวันดังกล่าวนี้ ในทางตอนใต้สุดของป่าหินโบราณ คนละทิศกับที่เล่ามาจะมีหินประหลาดอีกก้อนหนึ่ง หินก้อนนี้มีรอยถูกกะเทาะออกด้านหนึ่ง มีรูปวาดเป็นวงขดก้นหอยแปดชั้น คณะนักสำรวจเรียกหินก้อนนี้ว่า “ถอนเงากลับ” (Shadow Retracts)

            เมื่อพระอาทิตย์เริ่มขึ้น แสงจะส่องมาจับวงกลม โดยมีเงาของหินด้านซ้ายบังอยู่ เงาดำจะยื่นออกมาทีละน้อยๆ จนเงาเลื่อนมาตัดตรงอยู่กึ่งกลางวงกลมจะหยุดเป็นเส้นเกือบตรงอยู่ 10 นาที แล้วจะเริ่มถอยกลับไปยังที่เดิมจนเหมือนเดิมอีกครั้งหนึ่ง

            ซึ่งขีดทั้ง 8 ชั้นก็เท่ากับความหมายของเดือนของชนโบราณเหล่านั้น โดยถือว่าเป็นปฏิทินที่สมบูรณ์แบบที่มนุษย์โบราณผู้อาศัยเพิงผาเหล่านี้ได้ทำขึ้นไว้อย่างน่าทึ่ง

            ถ้าเป็นวันที่กลางวันและกลางคืนมีความยาวเท่ากัน คือวันที่ดวงอาทิตย์ข้ามเส้นศูนย์สูตร ที่ป่าหินโบราณจะมีที่บอกวันนี้เอาไว้เช่นกัน โดยมีแผ่นหินขนาดใหญ่ หน้าแบนราบ มีรอยสลักเส้นวงกลมขดแปดชั้นขนาดใหญ่ หินใหญ่หน้าแบนตั้งอยู่กลางทิวเขา

            แผ่นหินนี้จะทำหน้าที่ดุจกลไกในปีหนึ่งเพียงสองครั้งเท่านั้น คือแสงเป็นเส้นตรงจะฉายพุ่งจากทิวเขามาตกต้องที่เครื่องหมายนี้ในตอนเช้าและตอนเย็น วันอื่นไม่มี

            และในวันนี้เช่นกันที่ใกล้ลำน้ำอันตื้นเขินของป่าหิน มีหินที่มีขดก้นหอยนี้เช่นกัน ที่แสงจะส่องผ่านรอยแตกของหินที่บังอยู่สูง 25 ฟุต ส่องมาจับรอยสลักก้นหอยในวันฤดูใบไม้ผลิกับฤดูใบไม้ร่วง อันเป็นวันที่พระอาทิตย์ข้ามเส้นศูนย์สูตรกลางวันเท่ากับกลางคืนเท่านั้น เรียกหินใหญ่นี่ว่า “หินเชียร์คริฟ” (Sheer Cliff)

            ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ ณ หน้าผาแห่งหนึ่งอันสูงเกินกว่าใครจะตะกายขึ้นไปทำเครื่องหมายเอาไว้ได้ ก็ยังมีเครื่องหมายวงก้นหอยเอาไว้ด้วย และจะมีแสงส่องมาต้องเครื่องหมายนี้ 45 วันต่อหนึ่งครั้ง

            เจ้าเครื่องหมายนี้บอกเดือนของชนโบราณ แถมในถ้ำบางแห่งในตอนกลางคืนจะมองเห็นดาวพระศุกร์ทอแสงสกาวกลางช่องหินธรรมชาติให้มองเห็นได้พอดิบพอดี น่าพิศวงจริงๆ

            แม้ว่าบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของชนโบราณอันไร้อารยธรรมมาก่อนพวกอินเดียนแดงจะมาอยู่ภายหลัง แต่พวกเขารู้วันดังกล่าวต่างๆ ได้อย่างไรกัน เขียนลักษณะและรูปคนประหลาดเอาไว้ทำไม     เรื่องราวของวันดังกล่าวที่มีแสงส่องมาบอก พวกเขาค้นพบเองหรือว่ามีใครมาบอกให้ทำขึ้น

            ดร.โรเบอร์ท เปรสตัน หัวหน้าคณะสำรวจอธิบายว่า ประการแรก ทางที่จะเป็นไปได้ก็คือ พวกเขาอาจได้เห็นแสงส่องอย่างนั้นเป็นประจำจึงมาทำเครื่องหมายไว้

            แล้วหินบางแห่งที่ถูกกะเทาะทำขึ้นเล่า หรือชนิดนานๆ แสงจะส่องมาโดนเครื่องหมายนั่นล่ะ ชนโบราณจะนั่งเฝ้าดูเชียวหรือ

            ดร.โรเบอร์ท เปรสตัน ก็เลยอธิบายอย่างอ่อยๆ เอาไว้ว่า ประการที่สองก็คือ อาจมีใครสักคนมาบอกให้พวกเขาเขียนขึ้น ดอกเตอร์แกอ้อมแอ้มไว้อย่างนี้

            นับว่าน่าสงสัยว่านั่นคือใครกันแน่ ก็โคลัมบัสเพิ่งจะพบอเมริกามาไม่ถึง 500 ปีดีด้วยซ้ำไป มนุษย์ที่เจริญแล้วที่ไหนจะเข้าไปบอกชนโบราณพวกนี้ให้เขียนเครื่องหมายทำปฏิทินธรรมชาติไว้ในใจกลางทวีปอเมริกาได้ล่ะ

            แต่นั่นทำให้พวกนักสำรวจคณะนี้ต้องงุนงงต่อหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งที่ขุดพบ คือบริเวณใกล้ร่องน้ำดังที่กล่าวมาแล้ว พวกที่ร่วมทีมอันมีหน้าที่ค้นคว้าเกี่ยวกับซากหิน กระดูกสัตว์โบราณ ตลอดจนฟอสซิลต่างๆ ได้ขุดพบกะโหลกลึกลับที่บริเวณใต้พื้นทรายตรงที่เป็นร่องรอยของหนองโบราณ

            เป็นกะโหลกศีรษะที่มีขนาดโตเท่าศีรษะมนุษย์เรานี่เอง แต่ได้กลายเป็นหินไปแล้ว แต่ยังคงรูปลักษณะชัดเจนคล้ายศีรษะมนุษย์ มีดวงตาทั้งสองข้างเหมือนดวงตามนุษย์ แต่มีดวงตาอีกดวงหนึ่งอยู่ที่หน้าผาก ปากงุ้มคล้ายปากปลา แต่มีงาขนาดเล็กยื่นออกไปมากกว่ามนุษย์เรา

            คณะนักสำรวจได้นำเอากะโหลกศีรษะนี้ไปทำการสำรวจอายุ ปรากฏว่าอายุของหัวกะโหลกนี้ประมาณ 200 ล้านปี

            การขุดค้นในคราวนี้ได้ผลมากทีเดียว คือได้ผลที่ทำให้งงหนักเข้าไปอีก เป็นหัวมนุษย์ที่มาจากพิภพอื่นหรือ ทำไมจึงมีแต่กะโหลกศีรษะ เศษกระดูกของร่างกายหายไปไหน

            คณะขุดค้นพยายามขุดหาตลอดทั่วบริเวณที่ขุดพบกะโหลกศีรษะนี้ แต่ไม่พบเศษกระดูกอื่นๆ อีกเลย นับเป็นปริศนาอันยิ่งใหญ่อีกอย่างหนึ่ง

            คณะนักสำรวจพากันจนปัญญา ไม่รู้จะอธิบายว่ากระไร เพราะอายุของหัวกะโหลกที่เครื่องบอกอายุอันทันสมัยบ่งไว้ ได้บอกชัดเจนขัดกับหลักความจริงอันมีอยู่ว่า โลกเรานี้กำเนิดขึ้นเป็นดาวนพเคราะห์เมื่อสี่หรือห้าพันล้านปี และกำเนิดสิ่งที่จะเป็นอุปกรณ์ทำให้มีสิ่งที่มีชีวิต เช่น ก๊าซบางอย่างเมื่อพันห้าร้อยล้านปีเอง

            ถ้าอย่างนั้นหัวกะโหลกนี้ก็ไม่ใช่สัตว์เลื้อยคลาน แล้วจะเป็นหัวกะโหลกของใครกันล่ะ “มนุษย์ต่างดาว” อีกหลายคนอาจพูดอย่างงั้น

            ทีนี้ถ้าเป็นหัวมนุษย์ต่างดาวที่ลงมายังโลกมนุษย์ในสมัยนั้นจริง เขามาทำอะไร และทำไมจึงเสียชีวิตลง ร่างกายหายไปไหน

            ถ้าอย่างนั้นจะเป็นได้ไหมว่า สมัยเมื่อ 200 ล้านปีก่อน มนุษย์ต่างดาวได้เดินทางมาจากห้วงอวกาศ มายังบริเวณป่านี้ซึ่งในสมัย 200 ล้านปียังเป็นป่าไม้โบราณธรรมดาอยู่ และอาจเคยมายังที่นี้หลายต่อหลายครั้ง

            ครั้นเมื่อพันปีที่ผ่านมา พวกเขาได้กลับมาอีกและมาสั่งสอนพวกอินเดียนโบราณให้รู้เรื่องราวของวันและเดือนของโลกมนุษย์ หลังจากพวกเขาได้สำรวจไว้แล้ว และเป็นไปได้ไหมว่า เดือนที่โลกของมนุษย์ต่างดาวพวกนี้อาศัยอยู่มีเดือนเพียง 8 เดือนเท่านั้น

            พวกอินเดียนโบราณจึงทำปฏิทินหินและแสงแดดไว้เพียงแปดวง แล้วทำไมแสงอาทิตย์จึงส่องลงบนเครื่องหมายแต่ละแห่งเพียงปีละ 8 ครั้งในโลกมนุษย์เรานี้?

            ส่วนเรื่องที่บริเวณป่าหินโบราณ ซึ่งกลายจากป่าไม้ธรรมดาเป็นหินก็ดี มีร่องรอยที่แสดงว่าแถบนี้เคยจมอยู่ใต้ทะเลมาก่อน นักสำรวจอธิบายได้หมดทุกข้อ

            คือ เขาอธิบายว่า ตั้งแต่สมัยโบราณหลายร้อยล้านปีก่อน ดินแดนของทวีปอเมริกาส่วนนี้ยังจมอยู่ใต้ทะเลมาก่อน จากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ ดินแดนส่วนนี้จึงถูกดันให้โผล่ขึ้นมาในระดับที่พอดี

            หลังจากที่ฝนได้ชะความเค็มไปจนหมด ไม่รู้กินเวลากี่แสนปี ก็เกิดพืชเจริญงอกงามขึ้นในระยะสองร้อยล้านปี ดังมีซากของต้นไม้บอกอายุอยู่

            ต่อมาด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิศาสตร์เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ดินแดนส่วนนี้ถูกยกให้สูงขึ้น ทีนี้น้ำก็ไหลออกจากบริเวณนี้จนหมด ต้นไม้ก็ตายทับถมลง สัตว์ก็ตายตามลงไปด้วย

            จากนั้นจะด้วยความร้อนอันปะทุขึ้นมา เศษหินละลายก็ทับถมทำให้พืชเหล่านี้กลายเป็นหิน และจากแรงลมและฝนในตอนหลังก็กลับชะให้โผล่ขึ้นมาให้เห็นดังที่เป็นอยู่กระจายเกลื่อนไปทั่ว

            เขาอธิบายไว้อย่างนี้ แต่เรื่องหัวกะโหลกมนุษย์ต่างดาวหัวนี้กลับเงียบไม่พูดถึง แล้วเมื่อพันปีที่ผ่านมา เขามาช่วยสั่งสอนพวกอินเดียนโบราณทำปฏิทินหินหรือไม่ ลองคิดค้นสำรวจหาคำตอบด้วยตัวท่านดู ถ้าไม่พบก็ไม่เป็นไร

          แต่คิดว่าคำตอบนั้นมีอยู่แน่ แต่มีอยู่ใน “แดนสนธยา…การสำรวจ” เท่านั้นแหละ

เรื่องโดย. ทิวากร สุวพานิช

ภาพโดย. Ai


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •