8 พฤษภาคม 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินชื่อเมืองสีฟ้า และเมืองสุริยาในอินเดียมาบ้างแล้ว ทั้งสองชื่อเป็นฉายาของเมืองโยธาปุระ หรือที่คนอินเดียมักจะเรียกว่า จ๊อดปูร์ ซึ่งเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของรัฐราชสถาน

รัฐราชสถาน

เมืองโยธาปุระ เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของรัฐราชสถาน รองจากเมืองชัยปุระหรือไจปูร์ เมืองหลวงของรัฐ มีประชากรสี่ล้านคน ตั้งอยู่แถบจะกึ่งกลางของรัฐ อยู่ขอบๆ ของทะเลทรายธาร์ อากาศร้อนจัดหน้าร้อน หน้าหนาวก็หนาวใช้ได้ตามสภาพอากาศของทะเลทราย มีรายได้ส่วนใหญ่จากการขายสินค้าหัตถกรรมและการท่องเที่ยว  มีเหมืองยิปซั่มและเหมืองเกลือ เป็นตลาดสำคัญของสินค้าจากขนแกะและเกษตรกรรม

เนื่องจากทำเลที่ตั้งที่อยู่กึ่งกลางรัฐราชสถานนี่แหละ ที่ทำให้เมืองโยธาปุระเป็นเมืองศูนย์กลางของการค้าพาณิชย์และคมนาคมที่สำคัญแห่งหนึ่ง สนามบินของเมืองนี้ใช้ร่วมกันทั้งพลเรือนและทหารแบบเดียวกับดอนเมืองของเรา ฐานทัพอากาศของอินเดียที่นี่ขึ้นชื่อว่าเป็นฐานทัพที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ มีบทบาทสำคัญในสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกมาตลอด

มีหลักฐานที่บันทึกไว้บอกว่า ชาวอภิระ ซึ่งเป็นชนเผ่านักรบที่ชื่อมีความหมายตามตัวอยู่แล้วว่า “ ผู้กล้า” ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองเชื้อสายอินโด-อารยัน ที่อาศัยอยู่ตรงนี้มาแต่ดั้งเดิมโดยกระจายตัวอยู่ในพื้นที่กว้างๆ ภายใต้จักรวรรดิคุรชร-ประติหาร แปลว่า ผู้คุ้มครองประชาและพิฆาตศัตรู จนถึง ค.ศ. 1100 ก็อยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าเชื้อสายราชปุตที่ได้รับอิทธิพลพราหมณ์-มุสลิม จนกระทั่งผู้นำเจ้าราชปุตเผ่าราธอร์องค์ที่ 15 ชื่อ เรา โยธา (Rao Jodha) ได้สร้างเมืองโยธาปุระขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1459 (สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา) โดยใช้ชื่อของตัวเองเป็นชื่อเมืองนั่นเอง เมืองนี้ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มผู้นับถือศาสนาเชน ซึ่งได้บริจาคทรัพย์สินอัญมณีแก่มหาราชาแห่งโยธาปุระ และได้รับแต่งตั้งยศถาบรรดาศักดิ์เป็นการตอบแทน

ทะเลทรายธาร์

เจ้าเมืองโยธาปุระเป็นชาวเมืองมันดอร์ รบชนะเมืองย่อยต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียงแล้วรวบรวมก่อตั้งเป็นอาณาจักรมาร์วาร์ โดยมีเมืองมันดอร์ถิ่นเดิมเป็นเมืองหลวง แต่ต่อมาเจ้าเมืองโยธาปุระเห็นว่าป้อมเมืองมันดอร์ซึ่งมีอายุถึงพันปีไม่แข็งแรงพอที่จะปกป้องการรุกรานจากศัตรูได้อีกต่อไป จึงได้สร้างเมืองหลวงใหม่ขึ้นที่โยธาปุระ ห่างจากมันดอร์ 10 กิโล ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมกึ่งกลางระหว่างเดลีกับรัฐคุชราต ทำให้โยธาปุระรุ่งเรืองจากรายได้จากการค้า ซึ่งมีทั้งฝิ่น ทองแดง ผ้าไหม กาแฟ ผลอินทผาลัมและไม้จันทน์ เป็นสินค้ามาตรฐานในยุคโบราณทั้งสิ้น

ในระยะแรก อาณาจักรมาร์วาร์ มีฐานะเป็นรัฐภายใต้อารักขาของจักรวรรดิโมกุลอันยิ่งใหญ่ โดยส่งส่วยเป็นบรรณาการแลกกับอำนาจการปกครองตนเอง มาร์วาร์เป็นแหล่งผลิตนายทหารชั้นดี ที่ส่งไปร่วมทัพกับทัพโมกุลหลายคน เมื่อแม่ทัพนายกองเหล่านี้กลับบ้านเกิด ก็ได้นำอิทธิพลศิลปะและสถาปัตยกรรมของโมกุลมาด้วย  นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของพ่อค้าจากมาร์วาร์ในการขยายสาขา เสริมอิทธิพลและบทบาททางการค้าไปทั่วอินเดียเหนือที่สำคัญทางหนึ่ง

เมื่อ ค.ศ. 1679 (สมัยกลางกรุงศรีอยุธยา) พระเจ้าออรังเซบ จักรพรรดิองค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์โมกุล ได้ยึดอาณาจักรมาร์วาร์ แต่หลังจากสิ้นพระชนม์ 28 ปีต่อมา เจ้าทุรคาทาส ราธอร์ ได้สถาปนามหาราชาอะชิตสิงห์คืนสู่บัลลังก์มาร์วาร์อีกครั้ง เพราะว่าเผ่าราธอร์เป็นเชื้อสายที่มีความชอบธรรมในการปกครองอาณาจักรนี้มาแต่ต้นอยู่แล้ว

แม้จักรวรรดิโมกุลจะเริ่มเสื่อมอำนาจและอิทธิพลลงเรื่อยๆ แต่อาณาจักรมาร์วาร์กลับไม่สามารถฉวยโอกาสฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ได้อย่างที่น่าจะเป็น เพราะถูกรุมเร้าด้วยภาวะอดอยากแร้นแค้นอย่างแรงและถูกแทรกแซงโดยชาวมาระธาร์ ชนเผ่านักรบที่เข้มแข็งจากดินแดนที่เป็นรัฐมหาราษฏระในปัจจุบัน (เมืองมุมไบหรือบอมเบย์เดิมตั้งอยู่ในรัฐนี้) ซึ่งเข้ามาปกครองมาร์วาร์แทนที่ราชวงศ์โมกุล เลยเกิดภาวะสงครามสู้รับกันต่อเนื่องกว่า 50 ปี ทำให้อาณาจักรมาร์วาร์เริ่มเสื่อมถอยและยากจนลง จนกระทั่งผู้ปกครองตัดสินใจที่จะยอมศิโรราบเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิอังกฤษเมื่อ ค.ศ. 1818 (สมัยรัชกาลที่ 2)

โยธาปุระ (ยามค่ำคืน)

ด้วยเหตุนี้ ภายใต้จักรวรรดิอังกฤษที่รู้จักกันในชื่อ “บริติช ราช” เมืองโยธาปุระเป็นเมืองที่มีพื้นที่ใหญ่กว่าเมืองของเจ้าราชปุตใดๆ มีประชากรกว่า 4 ล้านคน เกิดชนชั้นพ่อค้าเชื้อสายมาร์วาร์ ที่เรียกว่า “มาร์วารี” มีอิทธิพลทางการค้าพาณิชย์ทั่วอินเดีย และเมื่ออินเดียได้เอกราชในปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) เมืองโยธาปุระจึงได้เป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับสองของรัฐราชสถานนั่นเอง

เล่ากันว่า ช่วงที่มีการแยกประเทศอินเดียกับปากีสถานนั้น เจ้าหันวันต์สิงห์ ราชาแห่งโยธาปุระในขณะนั้น ไม่ประสงค์ที่จะรวมกับอินเดีย (แต่ไม่ชัดเจนว่าอยากจะแยกประเทศหรือว่าจะไปรวมกับปากีสถาน) แต่ในที่สุดก็ยอมหลังจากเพื่อนๆ ราชาเมืองอื่นชักชวนจนสำเร็จ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐราชสถานในปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499)

กลางปี ค.ศ. 1459 เจ้าเมืองโยธาปุระได้เริ่มสร้างป้อมเมห์รังครห์ขึ้น บนเนินเขาหินสูงประมาณกว่า 100 เมตรรู้จักกันในนามของภูจีริยา (Bhaurcheeria) แปลว่าภูเขาวิหค และสามารถมองเห็นตัวเมืองโยธาปุระได้โดยรอบ สามารถมองเห็นทิศทางที่ข้าศึกจะรุกรานมาได้รอบทิศ มีกำแพงหนาล้อมรอบ มีพระที่นั่งวังเล็กวังน้อยและสนามอยู่ภายในหลายหลาก มีประตูเข้า 7 ประตู แต่มี 2 ประตูที่ขึ้นชื่อได้แก่ประตู “ชัยพล” (Jayapol) สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่มหาราชามันสิงห์มีชัย ในการรบเหนือกองทัพแห่งชัยปุระและภิคาเนอร์ และประตู “ฟัตเตห์พล” (Fattehpol) อนุสรณ์ที่มหาราชาอะชิตสิงห์มีชัยเหนือกองทัพโมกุล ชื่อประตูทั้งสองนี้มีความหมายเดียวกัน คือ “ชัยชนะ”

สำหรับชื่อเมห์รังครห์นั้น มีที่มาจากภาษาสันสกฤตสองคำคือ มิหิร์ (Mihir) แปลว่าพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ กับ ครห์ (Garh) แปลว่าป้อม แต่มีการกร่อนเสียงมาตามกาลเวลากลายเป็น Mehrangarh ในเวลาต่อมา ดังนั้น ชื่อป้อมจึงมีความหมายว่า ป้อมสุริยเทพ สันนิษฐานว่าเผ่าราธอร์นับถือสุริยเทพ ก็อยู่ในทะเลทราย เห็นแต่พระอาทิตย์ เลยเป็นที่มาของฉายา The Sun City อีกด้วย

ป้อมแห่งนี้มีกำแพงสูงจากพื้นดินถึง 36 เมตร มีทางเดินเชื่อมระหว่างป้อมเล็กแต่ละป้อม ด้วยความที่ป้อมมีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดี จึงสามารถรอดพ้นความเสียหายจากศึกสงครามมาได้ตลอด ปัจจุบันนี้ยังคงมีความสมบูรณ์อยู่มาก

มีตำนานเล่าขานกันว่า มีฤาษีตนหนึ่ง ชื่อจีริยานาถชิ (แปลว่าเจ้าแห่งนก) อาศัยอยู่ที่เชิงเขาแห่งนี้แต่เพียงผู้เดียว ครั้นเจ้าเมืองโยธาปุระจะสร้างป้อมก็จำต้องไล่ที่ฤาษีตนนี้ ทำให้ท่านเคืองยิ่งนัก ถึงกับสาปว่า “เจ้าเมืองโยธาปุระ ป้อมของเจ้าจะต้องแล้งน้ำตลอดไป!” เจ้าเมืองโยธาปุระตกใจ แต่ก็พยายามเอาใจฤาษี ด้วยการสร้างกุฏิและวัดให้ท่านอยู่ในป้อมเพื่อไถ่โทษ

นอกจากนี้ ก็ทำพิธีล้างอาถรรพณ์ ด้วยการฝังทั้งเป็นชายฉกรรจ์ชื่อ ราชยะ ภิมพิ ที่ต้องลงไปอยู่ในหลุมศิลาฤกษ์ของกำแพงเมือง โดยสัญญาว่าจะให้เผ่าราธอร์รุ่นหลังดูแลลูกหลานของราชยะตลอดไป เพื่อให้ดวงวิญญาณได้ปกปักรักษาเมืองแห่งนี้ไว้ ก็ไม่รู้ว่าเพราะปาฏิหาริย์นี้หรือไม่ ที่ทำให้เมืองแห่งนี้ไม่เคยถูกทำลาย จนกลายมาเป็นดินแดนที่มีเสน่ห์อีกเมืองหนึ่งของรัฐราชสถาน

เมื่อโยธาปุระเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของอาณาจักรมาร์วาร์ ย่อมมีพราหมณ์ประจำราชสำนักเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา เจ้าเมืองได้ยกพื้นที่ทางตอนเหนือของเมืองให้เป็นถิ่นพำนัก พราหมณ์เหล่านี้ก็ไปอยู่อาศัยกันจนรู้จักตำบลพื้นที่นี้กันว่า พราหมณ์บุรี (Brahmpuri) ต่อมาเมืองเติบโตขึ้น ชาวบ้านต่างชั้นวรรณะก็สร้างบ้านเรือนขยายไปจนถึงพราหมณ์บุรีแห่งนี้ ท่านพราหมณ์ทั้งหลายเห็นท่าไม่ได้การ ต้องแยกให้เห็นว่า ใครเป็นใคร เพราะในอินเดียนั้นถือเรื่องชนชั้นวรรณะกันมาก บรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย จึงได้ทาสีบ้านของพวกตนให้เป็นสีฟ้าเพื่อแตกต่างจากพวกวรรณะต่ำ

ต่อมาชาวบ้านเห็นว่า เออ เข้าท่าดี สีสวยสดใส จุดประกายให้สร้างสีสันให้สดชื่นเพราะเมืองอยู่ในพื้นที่ทะเลทรายแห้งแล้ง เลยแอบค่อยๆ ทาสีบ้านตัวเอง จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสาม ทีนี้ก็เลยทากันทั้งเมืองจนทำให้เป็นเอกลักษณ์ของเมืองโยธาปุระนับแต่นั้นมา…

เรื่องโดย. ตะวัน สัญจร

ภาพโดย. www.kcindjija.com, www.blesstraveler.wixsite.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •