2 พฤษภาคม 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

                ครั้งนี้ที่มาขึ้นป่าเบญจพรรณที่เชียงรายเพราะเพื่อนผู้เขียนติดใจในสภาพป่า และสนใจเรื่องป่าถูกทำลาย เราเห็นภาพภูเขาหัวโล้นอยู่มากหลายลูก ไม่น่าเชื่อว่าต้นไม้บนภูเขาทั้งหมดจะถูกคนถากถางทำลายลงจนหมดสิ้น จากภูเขาที่เคยเขียวขจีกลับกลายสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น มองเห็นแต่ดินแดง และต้นไม้ต้นเล็กๆ ขึ้นอยู่หย็อมๆ แหย็มๆ

                ใครจะเชื่อว่าต้นไม้ที่รกทึบบนภูเขาทั้งลูก และไม่ใช่เพียงภูเขาลูกเดียว แต่เป็นสิบๆ ลูกกลับถูกทำลายด้วยฝีมือผู้คน เพราะแค่จะถากถางที่เพื่อปลูกผักปลูกพืชเท่านั้น มันคุ้มกันมากแล้วหรือกับการลงทุนทำลายภูเขา สัตว์ป่า และต้นไม้บนเขาเป็นสิบๆ ลูกเพื่อแลกกับการเก็บเกี่ยวพืชผลที่ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง…ถ้าท่านผู้อ่านได้เห็นคงรู้สึกอนาถใจไม่แพ้ผู้เขียนเหมือนกัน

                พูดเรื่องภูเขาหัวโล้นและป่าที่ถูกทำลายแล้ว มันช่างหดหู่และอดสูใจเหลือเกิน ถ้าสภาพภูเขาแบบนี้อยู่ในประเทศที่เป็นเขตทะเลทรายร้อนระอุ ผู้เขียนจะไม่รู้สึกอะไรเลย แต่นี่มันอยู่ในบ้านเรา ในป่าทางภาคเหนือที่ได้ชื่อว่าเคยเป็นป่าไม้ที่เขียวชอุ่มและหนาวเย็น ทั้งอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งในช่วงเวลาหนึ่ง อย่าลืมว่าสมัยนั้นเราเคยส่งไม้สักออกขายด้วยนะครับ แต่มาบัดนี้เรื่องอย่างนั้น คงเหลือเพียงแต่ความทรงจำแค่นั้นเอง…ช่างน่าอเนจอนาถใจเหลือเกิน สักวันหนึ่งในภายภาคหน้ารับรองได้เลยว่า…ประเทศจะไม่มีป่าไม้ให้เห็นอีกอย่างแน่นอน

                เอาละครับ พูดเรื่องนี้แล้วหัวใจห่อเหี่ยว อย่ากระนั้นเลย เข้าเรื่องดีกว่า หลังจากคราวก่อนผู้เขียนไปเข้าป่าที่เขาพะเนินทุ่งมาแล้ว คราวนี้มาลองป่าที่เชียงรายกันดูบ้าง…แต่เห็นว่าชื่อป่าคราวนี้ ชาวบ้านย่านถิ่นนั้นเรียกกันว่า “พะหริ่งผี”

                ทีแรกที่ผู้เขียนได้ยินคำว่าพะหริ่งผีก็รู้สึกไม่สู้ดีนัก มีคำว่าผีนี่ไม่ดีแน่ แต่ครั้นลองไถ่ถามคนเก่าคนแก่ ในย่านถิ่นนั้นดูกลับได้พบเรื่องแปลกๆ เพราะคำว่า “พะหริ่งผี” นั้นเป็นคำเรียกของคนโบราณ คำว่าพะหริ่งผี หมายถึง เขตป่าที่ผีป่าเป็นผู้ดูแล มีเรื่องเล่าเก่าๆ เล่าว่า ป่าและที่ทางแถบนี้เดิมทีเป็นป่ารกทึบ ไม่ใคร่จะมีใครกล้ามาเดินป่าเพราะความรกทึบและความน่ากลัวของป่านั่นเอง

                ว่ากันว่าพรานที่เจนทางที่สุดก็ไม่กล้าเข้าป่าพะหริ่งผี เพราะหนึ่ง พวกพรานนั้นต่างกลัวผีป่าเจ้าของที่ จะออกมาหลอกมาหลอน และกลัวว่าป่านั้นจะมีอะไรบางอย่างซุกซ่อนอยู่ เลยทำให้ผู้คนขยาดไม่กล้าเข้าไป

                ท้ายที่สุดแล้วป่าพะหริ่ง หรือพะหริ่งผี ก็เป็นป่าที่รกทึบยากแก่การเดิน คนเก่าคนแก่ต่างครั่นคร้าม หากไม่มีเหตุจำเป็นที่สำคัญอย่างยิ่งจริงๆ ก็มักจะไม่มีใครยอมเดินผ่านป่าแห่งนี้ หรือหากจำเป็นต้องเดิน ก็จำต้องยกขบวนกันไปเป็นจำนวนมาก เพราะจำนวนคนที่มากย่อมเป็นขวัญและกำลังใจ มีเหตุอะไรก็ช่วยกันได้ทันท่วงที

                ป่านี้ เขาว่าเมื่อก่อนมีถ้ำผีพะหร่องด้วย หมายถึงว่าเดิมทีมีถ้ำที่มีผีป่าอาศัยอยู่เพื่อดูแลป่า ดังนั้นจึงไม่มีพรานหรือใครกล้าล่วงละเมิดเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต คนเก่าคนแก่บอกว่าพรานป่าที่เจนทาง หากมีความจำเป็นต้องเข้าป่าพะหริ่งผีก็มักจะทำพิธีบวงสรวงไหว้เจ้าที่เจ้าทางและเซ่นไหว้เจ้าป่าเจ้าเขาก่อนเสมอ และที่นี่ก็นับเป็นป่าใหญ่อีกแห่งหนึ่งในภาคเหนือที่พรานและคนเก่าแก่ในภูมิภาคนี้ครั่นคร้าม และไม่อยากจะย่างกรายเข้าไปตอแยใกล้ๆ เลย

                “โอ๊ย…แต่เดี๋ยวนี้ ป่าพะหริ่งอย่างสมัยก่อนมันไม่มีอีกแล้วล่ะคู้ณณ” คุณลุงท่านหนึ่งที่ท่านเคยเป็นพรานป่าเล่าให้ผู้เขียนและคณะฟัง “…พะหริ่งผีมันถูกทำลายและถูกลอบตัดไม้จนพรุนไปหมด สภาพป่าเหมือนก่อนนั้นมันหายไปจนหมดแล้ว เดี๋ยวนี้คุณไปดูได้ มันก็แค่ป่าโปร่งธรรมดาๆ นี่แหละ แถมภูเขาด้านหลังยังถูกชาวบ้านทำลายหมดจนไม่มีเหลือ กลายเป็นเขาหัวโล้นให้เห็นอย่างทุกวันนี้นั่นแหละ”

                เราได้รับการบอกเล่ามาอย่างนั้น แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังอยากจะไปดูตำนานและสภาพป่าพะหริ่งผีที่คนเก่าคนแก่ที่นี่ว่า ดังนั้นเมื่อดูทุกอย่างและทำความเข้าใจในแผนที่อย่างดีแล้ว เราก็เดินไปยังป่าพะหริ่งผีซึ่งเดิมทีเป็นป่าที่ไม่มีใครอยากมายุ่งมากนัก

                เราเข้าป่ากันมาราวชั่วโมงเศษๆ แต่กระนั้นสภาพป่าที่ว่าเป็นป่ารกทึบรกเรื้อที่น่ากลัว เราก็ยังไม่เห็นสภาพอย่างนั้นสักที รอบๆ ตัวเราเป็นเพียงป่าโปร่งขนาดใหญ่ มองขึ้นไปเหนือศีรษะเห็นแค่ยอดไม้ที่สูงลิบเลยหัว ประสานกิ่งกันไปมาเพียงเท่านั้น ไม่ได้เป็นป่ารกทึบที่มองไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวันอย่างที่ปู่ย่าตาทวดเล่ากล่าวกันไว้เลย

                ปัจจุบันสภาพป่าเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว มีทางเดินเท้าที่สามารถนำรถ 4WD ขับแล่นเข้ามาได้ เราอาศัยว่าใช้รถขับเข้าไปส่วนหนึ่งที่สามารถนำรถเข้ามาได้โดยไม่กระทบกระเทือนกับสภาพและระบบนิเวศน์ของป่า ครั้นมาได้สุดทางรถแล้ว…เราลงเดินเท้าอีกส่วน และบุกบั่นไปตามทางเดินที่พรานป่าและชาวบ้านใช้เดินกันอย่างสม่ำเสมอ เวลานี้ในป่าพะหริ่งผีไม่ได้มีสภาพที่น่ากลัวอย่างในอดีตอีกแล้ว

                ตลอดทางเดินเท้า เราเห็นพันธุ์ไม้แปลกตาแทรกตัวอยู่ทั่วไป ไม้ส่วนใหญ่ผลัดใบเพราะเข้าฤดูหนาว ดังนั้นตลอดทางจึงมีแต่เศษใบไม้แห้งสีน้ำตาลไหม้ สีเหลืองทอง ที่ร่วงลงคลุมพื้นดินไว้จนแทบหมดสิ้น เดินต่ออีกหน่อยเราพบผลไม้ป่าบางประเภทที่มีลักษณะผลคล้ายส้ม เราถามดูได้ความว่านั่นคือลูกกำมะรวก เป็นผลไม้ป่าอย่างหนึ่ง เมื่อแก่คล้ายๆ มะตูม แต่ไม่ได้ขึ้นริมน้ำอย่างต้นมะตูม

                เราเดินผ่านป่าเชิงเขาและเริ่มสูงชันขึ้นไปเรื่อยๆ จนขึ้นไปถึงส่วนที่สูงที่สุดของสันเขา พอมองลงมาก็เห็นทิวป่าใหญ่น้อยอยู่เบื้องล่าง ไม่น่าเชื่อว่าหากมองจากมุมนี้จะเห็นป่าไม้ที่รกทึบและเขียวขจีได้อยู่ แต่กระนั้น การบุกป่าเข้าไปในดงที่รกทึบนั้นอาจจะไม่ใช่ผลดีนักก็ได้

                เราเดินทางกันต่อ ก็พบทางลงเขาและมีเส้นทางสัญจรตัดผ่านป่าเป็นถนนดินแดง เชื่อว่าเส้นทางเส้นนี้ เดิมทีคงเป็นทางเดินธรรมดาๆ แต่ภายหลังเมื่อชาวบ้านและพรานมีรถราใช้ก็ขับรถเข้ามาจนทางเดินเล็กๆ กลายเป็นทางรถไปได้

                ถัดลงมาที่ส่วนเชิงเขาด้านทิศตะวันตก บริเวณนี้และบริเวณโดยรอบเป็นป่าเบญจพรรณที่มีพันธุ์พืชต่างๆ ขึ้นอยู่เรียงราย สันเขาอยู่ลึกเข้าไป บางส่วนเป็นผาขาด แต่บริเวณรายรอบก็ยังเป็นป่าสันเขาอยู่ เราลองบุกบั่นเข้าไปอีกก็พบว่าเป็นสันเขาขาด มองทะลุออกไปเห็นเขาหัวโล้นอยู่ข้างล่าง ถัดจากสันเขาขาดและป่าเชิงเขาเป็นดงสนป่า บริเวณนี้มีใบสนที่หล่นทับถมกันจนหนาและลึก เดินลุยเข้าไปก็ได้ แต่พอย่างเท้าเราก็จมลึกลงไปในกองใบสน

                ผู้เขียนเองเดินไปแหยงไป เพราะมันไพล่ไปคิดถึงตัวตะบองพลำ หากตัวตะบองพลำยังมีหลงเหลือมาในสมัยนี้ มันคงจะขึ้นมาเล่นงานเราแน่ๆ เราเดินกันต่อไปอีกหน่อยก็พบสถานที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดไฟป่าขึ้น ปรากฏว่าป่าที่เดิมเคยเป็นป่ารกทึบ พอไฟป่าผ่านพ้นไป หลังจากทำลายทุกอย่างลงสิ้น ป่าที่รกทึบก็เลยแปรสภาพเป็นป่าโปร่งที่โปร่งกว่าป่าธรรมดาๆ เสียด้วยซ้ำ

                “ไฟป่านี่เกิดเองหรือครับ?” ผู้เขียนถามเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่ง เขาบอกว่า “ไม่ใช่หรอกครับคุณ ไฟป่าที่นี่ไม่ได้เกิดเองตามธรรมชาติเสียทั้งหมด ส่วนหนึ่งมาจากความมักง่ายของพราน ของไกด์นำเที่ยวและคณะทัวร์ของกรุ๊ปทัวร์ ทั้งของคนในพื้นที่…”

                ผู้เขียนถามว่าเพราะอะไร เขาว่าเพราะคนพวกนี้สูบบุหรี่ และมักจะทิ้งก้นบุหรี่โดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ป่าพะหริ่งผีในฤดูหน้าหนาวต่อหน้าร้อน บนพื้นจะมีใบไม้แห้งตกทับถมกันมาก…เขาว่า “ก้นบุหรี่มันตกลงไปกลางดงกลางกองใบไม้แห้งนั่นแหละ เลยทำให้เกิดไฟป่าขึ้น” เขาว่าไฟป่าที่เกิดตามธรรมชาติ ถ้าไม่ร้อนไม่แล้งจริงๆ ก็ไม่เกิดหรอก แต่กับก้นบุหรี่ของคนนี่ หน้าไหนฤดูไหนก็เกิดขึ้นได้

                วันนั้นผู้เขียนเดินรุก บุกป่าพะหริ่งผีอยู่นานจนได้เวลาก็กลับ ตลอดทางผู้เขียนรู้สึกว่าป่าทางเหนือมันเปลี่ยนไปจนหมดแล้วจริงๆ แค่สิบกว่าปีก่อน ป่าที่ผู้เขียนมาผจญครั้งแรกมันยังไม่เปลี่ยนแปลงไปถึงขนาดนี้เลย สุดท้าย…ท้ายที่สุดแล้ว ป่าพะหริ่งผี ป่าทึบที่น่ากลัวเมื่อวันวานในสมัยนี้ก็มีสภาพไม่ต่างอะไรกับป่าเบญจพรรณพื้นๆ เลย

                หากเป็นอย่างนี้ วันข้างหน้าป่าพะหริ่งผีคงจะเหลือแต่ชื่อ หรือไม่ผู้คนก็พากันลืมไปหมดแล้วก็เป็นได้

/

เรื่องโดย. จุติ จันทร์คณา

ภาพโดย. จุติ จันทร์คณา, www.theseforeignroads.com, freedomnewskh.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •