19 กันยายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

            เมื่อโครงการสำรวจอวกาศคืบหน้าไปมากถึงขั้นที่สามารถส่งยานสำรวจไปสำรวจถึงชายขอบจักรวาลแล้ว และยังก้าวหน้าไปถึงขนาดที่สามารถส่งมนุษย์อวกาศไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์

                ขั้นต่อไปยังมีการใช้ความพยายามที่จะส่งมนุษย์อวกาศไปเหยียบพื้นผิวดาวอังคารให้ได้ เพื่อดูว่าจะมีสิ่งมีชีวิตแบบเดียวกับที่อาศัยอยู่บนผิวโลกหรือไม่ และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงส่งดังที่เคยคาดการณ์กันไว้หรือไม่

                ระหว่างที่กำลังใช้ความพยายามกันอยู่นั้น ก็เกิดมีผู้มีความคิดที่จะนำมนุษย์ธรรมดาที่ไม่ใช่นักบินอวกาศออกไปท่องเที่ยวนอกโลก เพื่อดูความเป็นไปในจักรวาลให้ได้เห็นกับตาบ้าง

                จึงมีการสร้างโครงการ “ทัวร์จักรวาล” ขึ้น เพื่อนำมนุษย์โลกขึ้นไปชมทัศนียภาพในอวกาศหรือทั่วจักรวาล และมีความคิดก้าวไกลไปถึงขั้นที่จะพาขึ้นไปเดินเที่ยวชมดวงจันทร์ หรือดาวอังคารบ้าง หากนักบินอวกาศที่เดินทางไปเยือนดวงดาวเหล่านี้พบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะทำเช่นนั้น และพบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจน่าจะไปเที่ยวชม

                ดังนั้น โครงการท่องเที่ยวจักรวาลจึงเริ่มขึ้นโดยเริ่มจากการนำผู้ที่สนใจไปนั่งชมทิวทัศน์ของอวกาศและจักรวาล ตลอดจนไปนั่งชมโลกของเราจากวงโคจรรอบโลกดูบ้าง ก่อนจะออกบินตระเวนไปชมรอบๆ สุริยะจักรวาล

                ซึ่งก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการสามารถชมพื้นผิวโลกแบบเดินทางรอบโลกภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และจะสามารถชมซ้ำๆ ได้อีก เมื่อโลกหมุนครบรอบไปแล้ว และหมุนพื้นผิวโลกในส่วนต่างๆ กลับมาให้ชมอีก

                เป็นการไปนั่งชมอวกาศและจักรวาลในอีกมุมหนึ่งไปพลางๆ ก่อนที่โครงการสำรวจอวกาศจะสามารถค้นพบว่าการบินไปเยี่ยมชมผิวพื้นดวงดาวต่างๆ ในจักรวาลนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไม่ยากและปลอดภัย

                ระหว่างที่กำลังวางแผนนี้กันอย่างขะมักเขม้นอยู่ โครงการทัวร์นอกโลกก็ได้เริ่มขึ้น เมื่อมีผู้สนใจที่จะร่วมขบวนทัวร์นี้เสนอตัวเข้ามาจองซื้อรายการทัวร์นี้ทันที ตั้งแต่ยังไม่มีการประกาศขายทัวร์

                เริ่มจากนายเดนิส ตีโต้ มหาเศรษฐีชาวอเมริกันวัย 60 ปี ซึ่งในชั้นแรกเขาพยายามเดินทางไปกับยานอวกาศของนาซ่า แต่ได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากคนในนาซ่าเอง และนักการเมืองหลายคน จนทำให้แผนการที่จะให้ตีโต้ได้เดินทางไปกับยานของนาซ่าต้องล้มเลิกไป

                ตีโต้จึงหันไปเสนอซื้อรายการทัวร์นี้จากรัสเซีย ซึ่งก็ได้รับการสนองตอบสมความตั้งใจ โดยได้เดินทางไปพร้อมกับยานอวกาศ Soyuz TM-32 ของรัสเซีย ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ

                รวมตั้งแต่เริ่มเดินทางออกไป จนกลับสู่พื้นโลกเป็นเวลาเกือบ 8 วันเต็ม โดยมีมูลค่าในการซื้อทัวร์นี้ของเขาเป็นเงินถึง 20 ล้านดอลลาร์

                ในปีต่อมา นายมาร์ค ชัตเทิล เวิร์ท (Mark Shuttleworth) มหาเศรษฐีชาวแอฟริกาใต้ก็ทำแบบตีโต้ โดยมีการจ่ายค่าเดินทางไปเที่ยวนอกโลกในมูลค่าพอๆ กัน และตั้งแต่ ค.ศ. 2505 เป็นต้นมา ก็มีคนที่ไม่ใช่มนุษย์อวกาศเดินทางไปทัวร์อวกาศกันแทบทุกปี

                หลังความสำเร็จในการเดินทางไปทัวร์อวกาศของพลเรือนหลายคน ทำให้นักธุรกิจผู้มองการณ์ไกลหลายคนเห็นช่องทางในการทำเงินจากการพาคนธรรมดาที่อยากไปสัมผัสกับประสบการณ์ไร้แรงดึงดูดนอกโลกบ้าง จึงเกิดการตั้งบริษัททัวร์เอกชนหลายบริษัทขึ้นเพื่อทำธุรกิจด้านนี้โดยตรง

                มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการส่งยานอวกาศออกไปบิน ในแบบที่เรียกว่า Suborbital คือแค่บินไปแตะระดับที่ไร้น้ำหนักขึ้นในยาน

                ซึ่งโดยทั่วไปสำหรับการทดลอง ทางการบินหรือการทดสอบจรวดต่างๆ ของ Suborbital จะทำการบินที่ระดับสูงราวๆ 100 กม. เหนือน้ำทะเล แต่ไม่ครบวงโคจรรอบโลกในลักษณะการบินแบบที่พานักท่องเที่ยวขึ้นไป จึงไปในแนวค่อนข้างชันหรือแนวดิ่ง เพื่อให้นักบินกลับลงสนามบินหรือฐานที่ปล่อยยานได้

                ซึ่งโดยทั่วไปยานที่พานักท่องเที่ยวขึ้นไปแตะระดับ Suborbital ได้นั้น จะทำการดับเครื่องยนต์เมื่อใกล้จะถึงระดับสูงสุด

                จากนั้นก็จะปล่อยให้ยานค่อยๆ เคลื่อนไปเองในระดับที่สูงสุด ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศที่เบาบางมากในระยะเวลาไม่กี่นาที จากนั้นยานจะค่อยๆ กลับสู่โลกโดยแรงดึงดูดของโลกเอง

                ซึ่งในช่วงเวลานี้เอง ภายในยานจะเกิดภาวะไร้น้ำหนักขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวจะสัมผัสกับสิ่งที่คนบนโลกไม่เคยสัมผัสมาก่อน

                ต่อมาในปี ค.ศ. 2004 มีบริษัทเอกชนหลายแห่งเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อชิงรางวัล Anzari X Prize มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์

                โดยมีโจทย์ว่าผู้ที่ชนะจะต้องใช้ทุนสร้างยานส่วนตัวที่บังคับด้วยมนุษย์ โดยมีคนสองคนหรือมีน้ำหนักบรรทุกเท่ากับคนสองคนอยู่บนยานนั้นด้วย ให้ขึ้นไปสู่ระดับ 100 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล แล้วกลับลงมาได้เรียบร้อย แล้วให้ทำแบบเดิมด้วยยานลำเดิมซ้ำอีกครั้งภายในสองสัปดาห์ ซึ่งผู้ชนะในครั้งนั้นคือยาน Spaceship One ซึ่งออกแบบโดย Butt Rutan

                โดยเขามีผลงานในการออกแบบเครื่องบินชื่อ Voyager ที่สามารถบินรอบโลกได้ด้วยการเติมน้ำมันเพียงครั้งเดียว โดยได้รับทุนสนับสนุนในการสร้างครั้งนี้จาก Paul Allen ผู้มีส่วนในการก่อสร้างบริษัทไมโครซอฟต์คนหนึ่ง

                โดย Spaceship One นั้นถูกติดตั้งไปกับยานแม่ และยานแม่จะนำมันบินขึ้นไปจนถึงระดับ 47,000 ฟุตจากระดับน้ำทะเล ก่อนที่จะสลัดมันออกให้มันบินต่อไปเอง

                ในการบินสู่อวกาศครั้งแรก มันใช้เวลาอยู่ที่ระดับนั้นราว 3 นาทีก่อนที่จะร่อนลงสู่ผิวโลก จากนั้นมันก็สามารถทำได้สำเร็จอีกครั้งตามเงื่อนไข คือต้องบินขึ้นไปอีกในเวลาไม่เกินสองสัปดาห์

                ในเดือนตุลาคม 2004 ยาน Spaceship One สามารถทำลายสถิติการบินสู่ระดับที่สูงที่สุดที่ความสูง 114 กิโลเมตร ที่ยานเอ็กซ์-สิบห้าของนาซ่าทำไว้เมื่อหลายปีก่อน

                หลังความสำเร็จของ Spaceship One เจ้าของสายการบินเวอร์จินแอร์ไลน์ได้ขอซื้อลิขสิทธิ์ในการสร้างยาน และระบบการส่งขึ้นสู่อวกาศของ Spaceship One มาพัฒนาต่อไป เป็นการท่องเที่ยวอวกาศ

                โดยเขาตั้งบริษัทขึ้นใหม่เพื่อพัฒนายาน Spaceship One ขึ้นมาใหม่ในชื่อว่า VSS Enterprise ซึ่งสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ถึงเก้าคน โดยจะเป็นนักท่องเที่ยวหกคนที่จะได้มีเวลาสัมผัสกับประสบการณ์แรง G และสภาพไร้น้ำหนักราว 3.5 ชั่วโมง นับจากเวลาที่ยานถูกสลัดออกจากยานแม่จนถึงเมื่อกลับถึงพื้นโลกอีก

                ทั้งนี้ ขณะที่อยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก นักท่องเที่ยวจะได้มีโอกาสปลดตัวเองออกจากที่นั่ง และปล่อยให้ร่างกายลอยเป็นอิสระอยู่ในห้องผู้โดยสาร แต่จะมีเวลาประมาณ 6 นาทีเท่านั้น

                อย่างไรก็ตาม แม้ว่าช่วงนี้จะยังอยู่ในระหว่างการทดสอบเพื่อปรับปรุงระบบต่างๆ แต่บริษัทเวอร์จิน แกแลคติค ก็เปิดขายบัตรโดยสารแก่ผู้ที่สนใจแล้ว ราคาการออกไปท่องเที่ยวนอกโลกนี้มีมูลค่าคนละสองแสนดอลลาร์ โดยต้องมีการวางมัดจำสิบเปอร์เซ็นต์

                นอกจากบริษัทเวอร์จิน แกแลคติค แล้ว ยังมีบริษัทอื่นๆ อีกหลายบริษัทที่กำลังสร้างธุรกิจด้านการท่องเที่ยวนอกโลกขึ้นมาอย่างขมีขมัน ดังนี้

                บริษัทสเปส แอดเวนเจอร์ เป็นบริษัทอเมริกันที่ตั้งขึ้นในปี 1988 โดยระยะแรกตั้งขึ้นมาเพื่อการพาณิชย์ ต่อมา ได้มีการส่งมนุษย์อวกาศที่ไม่ใช่นักท่องเที่ยวไปยังสถานีอวกาศนานาชาติมาแล้วหลายคน

                ต่อมาได้มีการสร้างห้องที่มีสภาวะไร้น้ำหนักขึ้นมา และเป็นบริษัทแห่งเดียวที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์การบริหารจัดการด้านการบิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมเรื่องการบินในสหรัฐอเมริกา

                ห้องที่ว่านี้เปิดให้บริการสำหรับหน่วยงานที่ไม่ใช่ของรัฐด้วยเช่นกัน นอกจากให้บริการฝึกอบรมผู้ที่จะเดินทางออกไปทัวร์นอกโลกแล้ว บริษัทยังมีแผนงานเพื่อการท่องเที่ยวอวกาศที่ค่อนข้างหลากหลาย

                นับจากการออกไปเดินในอวกาศ หรือ Space Walk ไปจนถึงการนั่งยานโคจรรอบโลกหรือรอบดวงจันทร์ การใช้ชีวิตในสถานีอวกาศด้วย ซึ่งต้องคอยดูต่อไปว่าพวกเขาจะเปิดให้จองตั๋วโดยสารเมื่อไร ซึ่งคงจะไม่นานเกินรอ

                บริษัทต่อไปได้แก่บริษัทไบเกลโลว์ แอร์โรว์สเพส บริษัทนี้ก่อตั้งโดยนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจการโรงแรม ดังนั้น เป้าหมายของเขาจึงเป็นการสร้างที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวในอวกาศ

                โดยเป้าหมายแรกคือการส่งห้องพักแบบที่พองได้แฟบได้ขึ้นไปไว้ในอวกาศ ซึ่งผลิตด้วยวัสดุซึ่งเป็นเส้นใยแบบพิเศษ เมื่อขยายตัวออกมาแล้วจะมีลักษณะคล้ายแคปซูลขนาดใหญ่ โดยเปิดให้เช่าในเงื่อนไขต่างๆ เช่น ถ้าเช่าเป็นรายปีก็จะตกปีละ 88 ล้านดอลลาร์ ถ้าเช่าครึ่งปีก็ 54 ล้านดอลลาร์

                สำหรับการไปพักชั่วคราวโดยการเช่า 30 วัน ก็คิด 23 ล้านดอลลาร์ ซึ่งราคานี้จะรวมทุกอย่างแล้ว ทั้งค่าฝึกอบรมผู้ที่จะไปใช้ชีวิตที่นั่น ค่ายานที่จะพาเดินทางไปกลับ ค่าที่พักและอาหารทุกมื้อ

                เป้าหมายต่อไปนั้น พวกเขามีแผนที่จะสร้างสถานีอวกาศอเนกประสงค์ไว้นอกโลกด้วย โดยสถานีดังกล่าวจะประกอบด้วยแคปซูลขนาดใหญ่จำนวน 9 แคปซูล มีเนื้อที่ใช้สอยประมาณ 28,000 คิวบิกเมตร ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการในบางส่วนในเวลาอีกไม่นาน

                นอกจากสองบริษัทที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกหลายบริษัทที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง หรือบริษัทที่ร่วมมือกับบริษัทที่กล่าวมาแล้ว

                ต่อจากนี้ไปอีกไม่นาน คาดว่าเราอาจเห็นการโฆษณาขายทัวร์ไปเที่ยวนอกโลกกันมากมาย อย่างการขายทัวร์ทั่วไปในโลก เช่น “ทัวร์เกาหลีสุดคุ้ม” “ทัวร์ญี่ปุ่นชมซากุระบาน” หรือ “ทัวร์ยุโรปโรแมนติก” ตามร้านหนังสือในบ้านเรา ในราคาชิวๆ ก็เป็นได้

                        เมื่อสิบยี่สิบปีก่อนหน้านี้ หากพูดถึงเรื่องอวกาศหรือเรื่องนอกโลกแล้ว ต้องนึกถึงองค์การนาซ่าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเดี๋ยวนี้นาซ่าก็ยังคงอยู่ และทำงานแบบเดิมๆ

                ปัจจุบันนอกจากนาซ่าแล้ว ยังมีธุรกิจเอกชนเกิดขึ้นจำนวนมาก และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะทำธุรกิจเกี่ยวกับอวกาศและทัวร์นอกโลก โดยเฉพาะที่เน้นการพาณิชย์กับท่องเที่ยวโดยตรง

            เมื่อเป็นดังนี้แล้ว แทนที่จะทำให้องค์การนาซ่ามีงานน้อยลง เพราะเอกชนเข้ามาช่วยดูแลงานด้านนี้แล้ว แต่กลับจะทำให้นาซ่าต้องเหนื่อยหนักขึ้น กับการที่จะต้องมีผู้เรียกร้องแบบเคี่ยวเข็ญ ให้นาซ่าเปิดดวงจันทร์ ดาวอังคาร และดาวดวงอื่นในจักรวาลให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่สำหรับมนุษย์ให้เร็วขึ้น

เรื่องโดย. ครูฤทธิ์ ราชภัทร

ภาพโดย. Ai


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •