คดีล่าแม่มดแห่งซาเลม (Salem witch trials) เป็นเหตุการณ์ล่าแม่มดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ คดีล่าแม่มดครั้งนี้เกิดขึ้นในหมู่บ้านซาเลม รัฐแมสซาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1692 (พ.ศ.2235) โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากเด็กหญิงวัย 9 ขวบ และ 11 ขวบ เกิดคลุ้มคลั่ง ร้องดังลั่น ขว้างปาข้าวของ เมื่อแพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุของอาการโรคแบบนี้ได้ก็พากันลงความเห็นว่าอาจเกิดจากเวทมนตร์ของแม่มด จึงทำให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต่างสืบสวนและค้นหาคนที่เป็นแม่มดอย่างเอาเป็นเอาตาย
พูดถึงแม่มด ผู้คนในยุคนี้อาจนึกไปถึงแม่มดสาวสวมผ้าคลุม ร่ายเวทมนตร์ด้วยไม้กายสิทธิ์ เสกคาถาทำอะไรได้สารพัดอย่าง แต่กับชาวอเมริกันแล้ว คำว่าแม่มดกลับจะทำให้หวนนึกถึงประวัติศาสตร์อันน่าหดหู่ใจมากที่สุดครั้งหนึ่ง ที่รู้จักกันในชื่อ “การไต่สวนคดีแม่มดแห่งซาเลม” (Salem Witch Trials) ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1692-1693 หรือเมื่อประมาณ 300 กว่าปีที่แล้ว
เมืองซาเลมตั้งอยู่ที่รัฐแมสสาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มผู้อพยพชาวพิวริแตนอังกฤษ พวกเขาปกครองตนเองโดยมีศูนย์กลางของชุมชนอยู่ที่โบสถ์ และดำเนินชีวิตด้วยความหวาดกลัวต่อสิ่งเหนือธรรมชาติต่างๆ ในแผ่นดินใหม่นี้
เหตุการณ์ไต่สวนครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีเด็กสาวในหมู่บ้าน เบตตี้ แพร์ริส เริ่มมีอาการชัก ส่งเสียงกรีดร้องโวยวายว่าถูกเข็มแทงและเจ็บตามร่างกาย ตามมาด้วยเด็กสาวอีก 2 คน อาบิเกล วิลเลียมส์ และแอน พัตแนม ทั้งหมดตะโกนคำพูดที่ฟังไม่ได้ศัพท์ออกมา บาทหลวงและหมอต่างพากันหวาดวิตก และด้วยผู้คนในสมัยนั้นยังมีความรู้ความเข้าใจด้านชีววิทยา การแพทย์ และจิตวิทยาในระดับพื้นฐานเท่านั้น จึงสรุปว่าเด็กทั้ง 3 นั้นโดนคำสาปของ “แม่มด”
ปฏิบัติการล่าแม่มดจึงเริ่มเปิดฉากขึ้น โดยให้เด็กๆ ชี้ตัวผู้ต้องสงสัย บ้างก็ว่าบาทหลวงใช้วิธีบีบบังคับให้กล่าวหาผู้หญิงที่เข้ากับคนในสังคมไม่ค่อยได้ เริ่มจาก “ซาราห์ กู้ด” ขอทานหญิงเร่ร่อน “ซาราห์ ออสเบิร์น” หญิงชราที่ป่วยจนไม่ค่อยไปโบสถ์ และ “ทิทูบา” ทาสหญิงผิวดำจากบาร์เบโดส ซึ่งถูกกล่าวหาว่าสอนวิชาแม่มดและใช้มนตร์ดำ
หลังจากนั้น เด็กๆ ก็เริ่มไล่ชื่อหญิงสาวในเมืองมาทีละคน ทีละคน เจ้าหน้าที่สอบสวนก็จะเริ่มไปเยือนบ้านทีละหลัง ชาวเมืองล้วนเกิดความหวาดกลัวและระแวงซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างพากันชี้ตัวแม่มดเพื่อให้ตนเองพ้นความผิด จนภายหลังผู้คนก็ใช้การล่าแม่มดเป็นเครื่องมือในการกล่าวหา และกำจัดคนที่แตกต่างจากพวกตน คนเร่ร่อนไปจนถึงคนที่เกลียดกันเอง สรุปทั้งสิ้นมีผู้ถูกจับข้อหาเป็นแม่มดทั้งหมดกว่าร้อยคน มีทั้งผู้หญิงและชายที่พวกเขาคิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องก็ไม่ละเว้น
มีการตั้งศาลพิเศษขึ้นมา ไว้สำหรับการไต่สวนในครั้งนี้โดยเฉพาะ โดยนำกฎหมายของอังกฤษที่บังคับใช้ในอาณานิคมนิวอิงแลนด์ บัญญัติให้การเป็นแม่มดเป็นความผิดร้ายแรงถึงประหารด้วยการแขวนคอ
การพิจารณาคดีแม่มดที่ซาเลม เป็นชุดการพิจารณาคดีและดำเนินคดีกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อมดแม่มด ในอ่าวแมสซาชูเซตส์ (Province of Massachusetts Bay) ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1692 ถึงพฤษภาคม ค.ศ. 1693 มีบุคคลมากกว่า 200 คนถูกกล่าวโทษ โดย 30 คนถูกตัดสินว่ามีความผิด 20 คน (แบ่งเป็นผู้หญิง 14 คน และผู้ชาย 6 คน) ถูกประหารชีวิต และเสียชีวิตในคุกอย่างน้อย 5 คน
การพิจารณาคดีแม่มดที่ซาเลมมีต้นตอมาจากปัญหาด้านความเชื่อ สังคม และเศรษฐกิจช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 กลุ่มพิวริตันที่เพิ่งผ่านการสู้รบกับฝรั่งเศส และการระบาดของโรคฝีดาษ จัดตั้งเมืองซาเลมวิลเลจขึ้น (ปัจจุบันคือเมืองแดนเวอร์) และปกครองตามความเชื่อของตนอย่างเคร่งครัด
เมืองนี้เป็นอริกับเมืองซาเลมทาวน์ (ปัจจุบันคือเมืองซาเลม) ซึ่งมั่งคั่งกว่า ขณะที่ในหมู่ชาวบ้านซาเลมวิลเลจเองก็มีความเห็นแตกแยกในเรื่องการปกครองของสาธุคุณซามูเอล แพร์ริส
ในปี ค.ศ. 1692 หมู่บ้านซาเลม ประสบกับฤดูหนาวอย่างหนัก จนพืชผลเสียหาย อาหารขาดแคลน หลังจากนั้นไม่นาน เบตตี้ แพร์ริสและแอบิเกล วิลเลียมส์ บุตรสาวและหลานสาวของสาธุคุณแพร์ริสป่วย และแสดงท่าทางประหลาด หลังตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติ แพทย์วินิจฉัยว่า ทั้งสองตกอยู่ใต้อำนาจชั่วร้าย ปัจจุบันมีการสันนิษฐานว่าความผิดปกติดังกล่าวอาจมาจากโรคไลม์ โรคลมชัก สมองอักเสบ หรือพิษจากราเออร์กอต
ต่อมา แอน พัตแนม และ อลิซาเบธ ฮับบาร์ด ก็เจ็บป่วยด้วยอาการคล้ายกัน นำไปสู่การจับกุมผู้หญิง 3 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดโดยไม่มีหลักฐาน การกล่าวหากันไปมาระหว่างชาวบ้านที่ตื่นตระหนกและเพื่อให้ตัวเองพ้นผิดทำให้มีการจับกุมเพิ่มอีกสิบกว่าคน
โดยส่วนใหญ่ผู้ถูกกล่าวหามักแต่งกายหรือประพฤติผิดไปจากหลักความเชื่อของคนส่วนใหญ่ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1692 วิลเลียม ฟิปส์ ผู้ว่าการอ่าวแมสซาชูเซตส์ สั่งให้จัดตั้งศาลพิเศษเพื่อไต่สวนและตัดสิน (Special Court of Oyer and Terminer)
ในช่วงเวลานี้ มีผู้ถูกคุมขังกว่า 60 คนระหว่างเดือนมิถุนายน–กันยายน มีผู้ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ 19 คน ส่วนชายอีกหนึ่งคนถูกประหารชีวิตด้วยการทับด้วยหินจนตายหลังภรรยาตนเองถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด
ต่อมามีการสั่งยุบศาลพิเศษ แล้วจัดตั้งศาลสูงใหม่เพื่อพิจารณาคดี โดยปฏิเสธหลักฐานความฝันและนิมิต (spectral evidence) ตัดสินให้ผู้ถูกกล่าวหาหลายคนพ้นผิด และอภัยโทษให้แก่ผู้ที่รอรับโทษ การพิจารณาคดีของศาลนี้สิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1693
การพิจารณาคดีแม่มดที่ซาเลมเป็นการล่าแม่มดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกาเหนือยุคอาณานิคม และเป็นหนึ่งในตัวอย่างอุปาทานหมู่ที่เลวร้ายอันเกิดจากแนวคิดแยกอยู่โดดเดี่ยว ความสุดโต่งทางศาสนา และความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม
ในปี ค.ศ. 1992 มีการสร้างสวนสาธารณะเพื่อรำลึกถึงเหยื่อการพิจารณาคดีตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา มีการประกาศให้ผู้ที่ถูกลงโทษหลายคนพ้นจากความผิด จนในที่สุดสภานิติบัญญัติของรัฐแมสซาชูเซตส์ผ่านรัฐบัญญัติที่ประกาศให้ผู้ที่ถูกลงโทษทุกคนพ้นจากความผิดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2001
เคหาสน์แม่มดซาเลม ซึ่งเป็นบ้านของผู้พิพากษาจอมแขวนคอ โจนาทาน คอร์วิน เป็นอาคารเพียงแห่งเดียวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การล่าแม่มดแห่งซาเลม ปี 1692 โดยตรงที่ยังหลงเหลืออยู่
การพิจารณาคดีดำเนินไปในลักษณะที่ว่า ใครยอมรับสารภาพและซัดทอดไปถึงคนอื่นว่าเป็นแม่มดก็จะได้รับโทษเพียงเล็กน้อย และถูกปล่อยตัวไป ส่วนใครที่ต้องการยืนยันตนว่าบริสุทธิ์ ไม่ซัดทอดคนอื่นแต่ไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ตัวเองได้นั้น…ปลายทางของพวกเธอคือวิธีการ “ทรมาน” นั่นเอง
วิธีการทรมานเพื่อให้เหยื่อเจ็บปวดจนต้องยอมรับสารภาพนั้นมีหลากหลายสารพัด หนึ่งในวิธีที่ผู้พิพากษาคอร์วินชื่นชอบมากที่สุดก็คือการรัดคอเหยื่อ ไล่มาตามตัวจนถึงข้อเท้าแล้วปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น จนกระทั่งเหยื่อเริ่มเลือดออกจากจมูกจนทนไม่ได้
อีกหนึ่งวิธีทรมานอันน่าสยองก็คือ การจับคนมานอนแล้วค่อยๆ วางก้อนหินทับบนอกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะไจลส์ คอรีย์ เศรษฐีชาวไร่ที่ถูกตัดสินประหารด้วยวิธีนี้ เพราะเขาปฏิเสธที่จะรับสารภาพว่าใช้เวทมนตร์ร่วมกับภรรยา ซึ่งสุดท้ายเขาก็เสียชีวิต ส่วนภรรยาก็ถูกนำตัวมาแขวนคอตายเช่นกัน หลังจากนั้นทรัพย์สินมหาศาลของคอรีย์ก็ถูกยึด และแบ่งส่วนกันในหมู่ลูกขุนและตุลาการของเมือง
รวมทั้งหมด 19 คนที่ถูกตัดสินว่าเป็นแม่มด และประหารชีวิตโดยนำตัวไปแขวนคอที่เนินเขาแกลโลว์สฮิลล์ มีผู้ถูกคุมขัง 5 คน รวมทั้งเด็กทารกหนึ่งคนเสียชีวิตลงในคุก ยังไม่รวมผู้ที่ถูกทรมานจนตายอีกหลายชีวิต
เมื่อเรื่องไปถึงผู้ว่าการรัฐ วิลเลียม ฟิปส์ เขาจึงสั่งระงับศาลพิเศษและตั้งศาลสูงสุด (Supreme Court of Judicature) แห่งใหม่ขึ้นมาแทน และยังห้ามไม่ให้นำหลักฐานที่เรียกว่าหลักฐานความฝันและนิมิต (Spectral Evidence) มาใช้ ศาลสูงสุดตัดสินลงโทษจำเลยเพียง 3 คน จาก 56 คน ซึ่งฟิปส์ก็อภัยโทษให้ทั้ง 3 คน พร้อมนักโทษอีก 5 คนที่กำลังรอการประหารชีวิต
กระทั่งเดือนพฤษภาคม ปี 1693 ผู้ถูกไต่สวนทุกคนได้รับการตัดสินว่าไม่มีความผิดและถูกปล่อยตัวไป จนสิ้นเดือนมีนาคม ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดก็ไม่มีใครถูกคุมขังแล้ว การไต่สวนล่าแม่มดแห่งซาเลมจึงปิดฉากลงในที่สุด
ในเวลาต่อมาก็ได้มีการรื้อฟื้นและแก้ต่างให้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีแม่มดซาเลม จนปี 1706 “แอน พัตแนม” หนึ่งในสามของเด็กหญิงที่กล่าวหาผู้คนมากมายตั้งแต่ต้น ก็ยอมรับสารภาพว่าตนเองโกหกและเป็นพยานเท็จ โดยอ้างว่าทั้งหมดเป็นการล่อลวงจากซาตาน
ปี 1711 รัฐบาลแมสซาชูเส็ตต์ก็ผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม และยกเลิกผลของการดำเนินคดีไต่สวนแม่มดที่เคยเกิดขึ้นในปี 1692 สภานิติบัญญัติจึงผ่านรัฐบัญญัติให้ลบล้างมลทินผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดและได้รับโทษประหาร อีกทั้งจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกหลานของคนเหล่านั้นทั้งหมด
ปัจจุบันเมืองซาเลมกลับมามีชีวิตชีวา เป็นแหล่งศูนย์รวมของผู้ที่ชื่นชอบเรื่องไสยศาสตร์ลี้ลับ เวทมนตร์ต่างๆ กลายเป็นว่าเมืองที่เคยล่าแม่มดในอดีตนั้นกลับเฟื่องฟูกลายเป็นเมืองแม่มดจริงๆ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะที่สุสานของเมืองซึ่งมีอนุสรณ์สถานการล่าแม่มดแห่งปี 1692 เป็นลานหญ้าปลูกต้นไม้ 19 ต้น และแท่นผู้ที่ถูกประหารด้วยการแขวนคออยู่ข้างสุสาน
ชาวเมืองและพ่อค้าแม่ค้าที่นี่ต่างก็สวมชุดแต่งกายย้อนยุคให้เข้ากับบรรยากาศ มีทัวร์เล่าเรื่องผียามค่ำคืนให้ผู้สนใจเดินไปตามสุสาน ลานประหารเก่า และมีงานเทศกาลแม่มดจัดอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงฮาโลวีนอีกด้วย
เรื่องโดย. ทิวากร สุวพานิช
ภาพโดย. Ai