19 กันยายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

            ต้องขนลุกซู่เมื่อพูดถึงการเยือนเกาะลึกลับที่ไม่เคยเปิดให้ใครเข้าชม ด้วยเหตุว่ามีฝูงงูพิษยั้วเยี้ยเต็มไปหมดจนไม่มีใครกล้าเหยียบเข้าไปในเกาะนี้ เป็นสถานที่สุดอันตราย แทบไม่มีใครอยากเข้าใกล้ก็ว่าได้ กับเกาะ Iha da Queimada Grande หรือที่รู้จักกันในนามเกาะงูคลั่ง ตั้งอยู่ในประเทศบราซิล สถานที่แห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นเกาะที่มีงูพิษอาศัยเต็มไปหมด

            ภายในเกาะเงียบสงัดไร้เสียงใดๆ แม้แต่เสียงนกร้อง นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยหยากไย่ใยแมงมุมเกาะตามยอดไม้ ดูแล้วช่างน่ากลัวยิ่งนัก แต่ที่น่ากลัวไปมากกว่านั้นคือ ทุกๆ ตารางเมตรบนเกาะแห่งนี้จะพบงูพิษอย่างน้อย 5 ตัวซ่อนอยู่ตามพุ่มไม้ ซอกต่างๆ ของป่า โดยเฉพาะงูพิษสายพันธุ์งูสีทองหัวหอก (Golden Lancehead) ซึ่งพบมากที่สุดบนเกาะนี้ พิษของมันสามารถฆ่าชีวิตได้ทันที ยิ่งกว่านั้นในช่วงหน้าฝน บรรดางูทั้งหลายจะออกมาเพ่นพ่านเต็มไปหมด จึงไม่น่าแปลกใจที่สถานที่แห่งนี้ไม่ค่อยมีมนุษย์อยู่อาศัย

            หมายความว่า เคยมีมนุษย์อาศัยอยู่บ้าง จากความจำเป็นในหน้าที่การงาน แต่ก็เสียชีวิต กันยกครัว ดังเช่นกรณีของเจ้าหน้าที่ดูแลประภาคารบนเกาะนี้ แต่ถูกฝูงงูสีทองหัวหอกพันธุ์นี้กัดจนเสียชีวิตทั้งครอบครัว ทั้งๆ ที่มีการปิดประตูหน้าต่างตลอดเวลา แต่งูนี้ยังสามารถเจาะไชจุดเปราะบางของบ้านเข้าไปรุมกัดจนตาย จนไม่มีใครกล้าเข้าไปทำหน้าที่ดูแลประภาคารนี้อีกเลย กระทั่งรัฐบาลบราซิลต้องมอบหมายให้กองทัพเรือบราซิลเข้าไปซ่อมบำรุงปีละครั้ง และทุกครั้งที่ประภาคารมีปัญหา

            เกาะ Iha da Queimada Grande ถูกประกาศห้ามเข้าโดยเด็ดขาด แต่เว้นเฉพาะผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปสำรวจศึกษาเพียงเท่านั้น!

            สำหรับงูพิษสายพันธุ์งูสีทองหัวหอกที่อยู่เต็มพื้นที่ทุกตารางเมตรบนเกาะนี้ จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับงูจาราราค่า เป็นงูที่ไม่พบเห็นบนผืนแผ่นดินใดๆ ในโลก งูสายพันธุ์นี้จะมีอยู่ที่เกาะนี้แห่งเดียวเท่านั้น จัดเป็นงูที่มีพิษร้ายแรงกว่างูพิษใดๆ เมื่อถูกกัดจะตายทันที ชนิดที่หมอช่วยไม่ทัน แผลที่ถูกกัดจะเปื่อย กล้ามเนื้อจะละลายหายไปทันที เป็นแผลเหวอะหวะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยอย่างรวดเร็ว จะมีอาการเลือดตกใน และอวัยวะต่างๆ จะหยุดทำงานทันทีทุกส่วน งูพันธุ์นี้เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาว 70 เซนติเมตร แต่มีบางตัวที่ยาวถึงหนึ่งเมตร

            ความร้ายกาจของงูชนิดนี้ นอกจากสังหารหมู่เจ้าหน้าที่ดูแลประภาคารแล้ว ยังมีเรื่องเล่ากันว่ามี ชาวประมงนำเรือไปจับปลานอกฝั่งใกล้เกาะ โดยเชื่อว่าอยู่แต่ในทะเล ไม่ได้เหยียบขึ้นบนเกาะ คงจะรอดพ้นจากงูพิษร้ายนี้ได้ แต่ปรากฏว่ามีผู้พบศพนอนตายจมกองเลือดอยู่บนเรือ หลังจากที่ถูกงูสีทองหัวหอกฝูงใหญ่รุมกัดเอา

            เกาะงูคลั่ง (Quei mad Grande) จัดเป็นเกาะที่มีทัศนียภาพงดงามแห่งหนึ่งในบราซิล ตั้งอยู่ห่างจากนครเซาต์เปาโลประมาณ 90 ไมล์ ชาวบราซิลต่างทราบถึงกิตติศัพท์ความงามของเกาะนี้ดี แต่ก็ไม่มีใครอยากเหยียบย่างเข้าไปชมความงามของเกาะนี้เลย ประมาณว่าทุกพื้นที่หนึ่งตารางเมตรบนเกาะนี้จะมีงูพิษอยู่ 4-5 ตัว

            กล่าวกันว่างูพิษบนเกาะนี้มีพวกโจรสลัดนำไปปล่อยไว้เพื่อเฝ้าขุมทรัพย์ของตน แต่นักวิชาการมีข้อมูลว่างูพิษเหล่านี้แพร่พันธุ์อยู่บนเกาะนี้มาหลายพันปีแล้ว โดยไม่เคยมีมนุษย์เข้าไปรบกวน ข้อมูลทางธรณีวิทยาชี้ว่าประมาณ 11,000 ปีมาแล้ว ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนตัดขาดเกาะออกจากผืนแผ่นดินใหญ่ ทำให้มีงูพิษเกิดขึ้นบนเกาะนี้ คาดว่าน่าจะเป็นงูพิษสายพันธุ์จาราราค่า (Jararaca) ซึ่งมีวิวัฒนาการในรูปแบบของตนเองต่างจากสายพันธุ์หลักบนแผ่นดินใหญ่

            บรรดางูพิษบนเกาะนี้ไม่ได้ถูกรบกวน ทำให้มันสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ปัญหาอย่างเดียวที่งูพิษเหล่านี้ประสบอยู่ก็คือไม่มีเหยื่อให้จับกินเป็นอาหารได้ การหาอาหารจึงต้องทำโดยพยายามจับนกย้ายถิ่นตามฤดูกาลมาเป็นอาหาร การเลื้อยเงียบๆ เข้าใกล้เหยื่อแล้วพุ่งเข้ากัดนก รอจนกระทั่งพิษงูออกฤทธิ์แล้วติดตามไปจนเหยื่อสิ้นใจตาย ทว่างูสีทองหัวหอกไม่อาจติดตามนกที่ถูกมันกัดไปได้ไกล จึงค่อยๆ วิวัฒนาการพิษของมันให้เข้มข้นขึ้น ให้พิษรุนแรงขึ้นจนมากกว่าพิษงูบนผืนแผ่นดินใหญ่ 3-4 เท่า จนสามารถฆ่าเหยื่อให้ตายทันทีได้ และสามารถละลายเนื้อได้ในฉับพลัน

            พิษของงูสีทองหัวหอกร้ายแรงมาก นอกจากสามารถทำให้กล้ามเนื้อละลายแล้ว ยังทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน เซลล์กล้ามเนื้อตาย มีเลือดออกในสมอง และเลือดออกในลำไส้ จากความรุนแรงของพิษงูดังว่า ทำให้รัฐบาลบราซิลต้องจัดทีมแพทย์ไปกับคณะที่เดินทางไปเกาะ ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าไปปฏิบัติภารกิจสำคัญๆ เช่นการปฏิบัติการทางด้านงานวิจัยค้นคว้าของนักชีววิทยา  หรืองานวิจัยอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำการวิจัยเกี่ยวกับงูสีทองหัวหอก

            สถิติการถูกงูกัดของชาวบราซิล ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ถูกกัดโดยงูหัวหอก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใกล้ชิดกับงูสีทองหัวหอก ซึ่งต่างก็เป็นงูพันธุ์โบธอป (Bothop) ด้วยกัน นักชีววิทยาต่างก็คาดว่า การที่สามารถศึกษาหาความรู้เกี่ยวงูสีทองหัวหอกจนเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วจะทำให้สามารถเข้าใจ เรื่องของงูพันธุ์โบธอป (Bothop) ได้ ซึ่งจะทำให้สามารถรับมือกับอาการบาดเจ็บจากการถูกงูกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนักวิจัยคนหนึ่งแห่งสถาบันวิจัย บู แทน แทน ของบราซิล ชี้แจงว่าพิษที่ได้จากงูสีทองหัวหอกสามารถนำมาใช้รักษาโรคหัวใจและอาการเลือดคั่งได้ และพิษจากงูวงศ์อื่นของสายพันธุ์นี้สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ด้วย

            โดยความต้องการในตลาดมืดของพวกนักวิทยาศาสตร์ และนักสะสมสัตว์แปลก ทำให้กลุ่มผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าต่างก็ลักลอบเข้าไปในเกาะงูคลั่งโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วทำการดักจับงูบนเกาะนี้ นำมาจำหน่ายโดยช่องทางลับซึ่งทำเงินได้ดีมาก โดยเฉพาะงูสีทองหัวหอกสามารถทำเงินได้สูงถึงตัวละระหว่าง 10,000 ถึง 30,000 ดอลลาร์

            จำนวนงูพิษบนเกาะงูคลั่งค่อยๆ ลดลงจากการที่กองทัพเรือบราซิลแผ้วถางป่า และจากการเกิดโรคระบาดในงู ทำให้ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา จำนวนงูพิษบนเกาะลดลง 50 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ ทำให้อยู่ในข่ายสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หากเป็นเช่นนั้นจริง อีกไม่นานเกาะงูคลั่งคงไม่ใช่แผ่นดินสุดสยองอีกต่อไป

            เกาะงูคลั่งนี้อยู่ในเขตปกครองของจังหวัดอิทานเฮม แห่งเซาต์ เปาโล ประเทศบราซิล อยู่ห่างจากฝั่งแผ่นดินใหญ่ 8 กิโลเมตร มีประภาคารเพื่อการเดินเรือตั้งอยู่แห่งหนึ่ง เกาะนี้ไม่มีชายหาดและไม่มีน้ำจืดดื่มด้วย

            ต้นไม้บนเกาะนี้มีเพียงป่าละเมาะของไม้พุ่มเตี้ยๆ เท่านั้น ต่อมามีชาวประมงและผู้ที่เดินทางมาเกาะนี้ด้วยภารกิจต่างๆ รวมทั้งคนงานก่อสร้างประภาคารในศตวรรษที่ 20 ได้นำหญ้าเข้ามาปลูกและแพร่พันธุ์ไปทั่วเกาะ

            ที่ชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะมีซากเรือแตกสองลำ น้ำทะเลรอบๆ เกาะนี้ใสสะอาด สามารถมองเห็นได้ชัดถึงระดับความลึก 40 เมตรใต้ผิวทะเล ซึ่งชาวประมงและนักดำน้ำนิยมมาใช้ประโยชน์จากความใสสะอาดของน้ำทะเลรอบๆ เกาะ ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยปลาสายพันธุ์แปลกๆ ส่วนปลาที่มีขนาดใหญ่ มีชุกชุมทางปลายด้านใต้ของเกาะ ในระดับความลึกระหว่าง 3-30 เมตร จากการทำประมงรอบเกาะมีปัญหา จึงมีการเสนอให้มีการสร้างสมุทรอุทยานแห่งชาติ (National Marine Park) ขึ้นที่นี่

            ชื่อเกาะงูคลั่งนั้น เนื่องจากมีงูพิษร้ายแรงที่เรียกว่า “งูสีทองหัวหอก” ซึ่งมีขนาดใหญ่อยู่จำนวนมาก จึงมีคำสั่งห้ามไม่ให้ใครขึ้นเกาะ ซึ่งเกาะนี้แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ เมื่อน้ำทะเลเพิ่มระดับสูงขึ้น ทำให้แผ่นดินส่วนที่เป็นเกาะถูกตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่ กลายเป็นเกาะกลางทะเล นับจากนั้นมา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เคยมีอยู่ในบริเวณนี้ก็สูญพันธุ์ไป ทำให้บรรดางูพิษต่างๆ ที่เคยจับสัตว์เป็นอาหารต้องหันมาจับนกกินแทน

เรื่องโดย. ทิวากร สุวพานิช

ภาพโดย. www.thesun.ie, sworld.co.uk, livingnomads.com, smarley, Ai


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •