27 กรกฎาคม 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

                ถ้าพูดถึงแหล่งอารยธรรมโบราณบนโลกเรานี้ หลายคนคงนึกถึงอียิปต์ กรีซ เม็กซิโก เปรู ฯลฯ ซึ่งแต่ละที่เต็มไปด้วยโบราณสถานเก่าแก่ ทั้งแบบที่ยังสมบูรณ์หรือไม่ก็เหลือแต่ซากปรักพังให้เราได้จินตนาการถึงวันแห่งความยิ่งใหญ่ในอดีต

                และอีกหนึ่งในชนชาติโบราณที่ขึ้นชื่อเรื่องการก่อสร้าง เห็นทีไรอึ้งทุกทีอย่างชาวอินคา ก็มีซากสิ่งก่อสร้างปริศนาอย่างเช่นหินทรงตัว H ที่พูมาพันกู (Puma Punku) ในโบลิเวีย ซึ่งแม้ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ยังหาคำตอบไม่ได้อยู่เหมือนกัน ถึงขั้นที่บางคนเชื่อว่า มันถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยกว่าที่มนุษย์ยุคนั้นจะมีด้วยซ้ำ ราวกับว่าเป็นฝีมือมนุษย์ต่างดาว

                ที่พูมาพันกู ซากปรักหักพังของกำแพงขนาดใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิหารขนาดมหึมา ติวานากู (Tiwanaku) ในประเทศโบลิเวีย คาดกันว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยของกษัตริย์ไอมารา (Aymara) ก่อสร้างเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของอาณาจักรอินคา

                พูมาพันกู มีความหมายว่าประตูแห่งเสือพูม่า เป็นแนวกำแพงหินขนาดใหญ่ ลักษณะการสร้างคือใช้หินบล็อกมาวางต่อๆ กัน กำแพงฝั่งทิศเหนือ-ใต้ มีความยาว 167.36 เมตร ฝั่งทิศตะวันออก-ตะวันตก ยาว 116.7 เมตร หินแต่ละก้อนไม่มีชิ้นไหนหนักน้อยกว่า 1 ตัน ก้อนที่ใหญ่ที่สุดมีน้ำหนักถึง 131 ตันเลยทีเดียว

งานตัดที่แม่นยำ

                ทีนี้ลองซูมเข้าไปดูใกล้ๆ กับก้อนหินทรงตัว H ดูบ้าง จะเห็นได้ว่ารอยตัดนั้นช่างราบเรียบ ราวกับถูกตัดด้วยของมีคม ไม่มีกระทั่งรอยแตกรอยร้าวสักนิดเดียว เหมือนเอาเส้นด้ายไปตัดก้อนเต้าหู้ยังไงยังงั้น ยังไม่รวมถึงการวางสลักหินแต่ละก้อนที่เข้ากันได้แม่นยำราวจับวาง

                เคยมีการทดลองตัดหินให้เรียบได้เหมือนกันนี้ขึ้น ด้วยการใช้ความร้อนและน้ำ ก็พบว่ารอยตัดที่ทำได้ก็ยังไม่เรียบเนียนเท่ากับที่ชาวอินคาทำไว้เลย นักวิทยาศาสตร์ได้แต่ลงความเห็นว่าคงต้องใช้เทคโนโลยีเลเซอร์เท่านั้นถึงจะตัดหินได้เนี้ยบ และสัดส่วนเที่ยงตรงได้ขนาดนี้ (แต่ก็ไม่แน่ คนสมัยก่อนอาจจะมีวิธีที่ฉลาดกว่านี้ก็เป็นได้) ทีนี้เลยเข้าทางเหล่านักทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับเรื่องมนุษย์ต่างดาวที่อาจนำวิทยาการที่ทันสมัยมาช่วยคนโบราณสร้างมันขึ้นมาก็เป็นได้

                สุดท้ายแล้วก็ยังไม่มีผู้ใดทราบได้ว่าหินเหล่านี้สร้างยังไง ขนมาจัดวางได้อย่างไร วัตถุประสงค์คืออะไร มีการรวมข้อเท็จจริง 8 ข้อ เอาไว้ให้คุณผู้อ่านได้ตัดสินใจเองว่า พูมาพันกูน่าจะสร้างโดยชาวอินคา หรือมนุษย์ต่างดาวจริงๆ ดังนี้

                1. พูมาพันกูเป็นอารยธรรมโบราณที่สร้างความฉงนให้นักโบราณคดีมากที่สุด เพราะแทบจะหาคำตอบอะไรไม่ได้สักอย่าง แม้แต่ขนาดที่มหึมาอย่างมหาพีระมิดแห่งกิซาเองก็ยังพอจะบอกได้ว่าสร้างมาเพื่ออะไร สร้างอย่างไร

                2. ถ้าลองมองดูการแกะสลักลวดลายเข้าไปในหินแต่ละก้อน จะเห็นว่าทำได้เนียนเหมือนมีแม่พิมพ์ออกมาจากบล็อกเดียวกัน ซึ่งดูดีเกินกว่าจะใช้การแกะสลักทั่วๆ ไป

                3. หินส่วนใหญ่ถูกตัดออกมาจากเหมืองที่อยู่ห่างจากวิหารไปราว 60 ไมล์ เทียบเป็นกิโลเมตรจะเท่ากับ 96 กิโลเมตร ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าขนกันมาด้วยวิธีไหน

                4. พูมาพันกูนั้นอยู่บนพื้นที่สูง 12,800 ฟุต ไม่มีต้นไม้ใหญ่ในแถบนั้นที่จะถูกตัดเพื่อเอามาทำล้อเลื่อนในการขนย้ายก้อนหินได้เลย

เมืองโบราณเทียฮัวนาโค (Tiahuanaco)

                5. นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เมืองโบราณเทียฮัวนาโค (Tiahuanaco) ที่อยู่ห่างออกไปจากพูมาพันกูไม่ไกลนัก น่าจะเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมในแถบนี้ มีประชากรราว 40,000 คน

                6. จากการขุดสำรวจโครงกระดูกของชาวเทียฮัวนาโค พบว่าสภาพกะโหลกนั้นมีหลายรูปแบบ อาจเป็นของคนหลากหลายเชื้อชาติมารวมกัน ทั้งกะโหลกที่มีผ้าโพกหัว กะโหลกแบบที่มีความยาวมากกว่าปกติ แบบที่มีโครงจมูกกว้าง แบบที่มีจมูกบาง และแบบที่มีปากหนา เป็นต้น

                7. วัตถุโบราณอีกชนิดที่พบในเทียฮัวนาโคและพูมาพันกูก็คือชามโบราณ Fuente Magna ที่มีตัวอักษรรูปลิ่ม หรือคูนิฟอร์ม ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ถูกใช้มาตั้งแต่สมัยเมโสโปเตเมียในยุคหลายพันปีก่อนคริสตกาล

                8. พูมาพันกูเป็นหนึ่งใน Megalith ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Megalith เป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งก่อสร้างด้วยก้อนหินขนาดใหญ่ เช่น สโตนเฮนจ์ ประเทศอังกฤษ, โมอาย เกาะอีสเตอร์, หรือ นาบตา พลายา อียิปต์ เป็นต้น

                พูมาพันกูเป็นซากโบราณสถานที่สำคัญ เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิหารทิวานากูที่มีขนาดใหญ่โต โดยอยู่ในเขตเมืองโบราณเทียฮัวนาโคใกล้กับทะเลสาบติติคาคาในประเทศโบลิเวีย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเชื่อกันว่าเป็นแหล่งอารยธรรมของชาวอินคา ลักษณะที่โดดเด่นของพูมาพันกูคือเป็นแนวกำแพงหินในลักษณะเป็นบล็อกเรียบเนียนวางต่อเนื่องกัน โดยมีความยาวถึง 167.36 เมตร และกว้าง 116.7 เมตร สำหรับแผ่นหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีความยาวถึง 7.81 กว้าง 5.17 และมีความหนาเฉลี่ย 1.07 เมตร โดยมีน้ำหนักถึง 131 ตัน

                สิ่งที่น่าสนใจและดูเหมือนจะเป็นเรื่องลึกลับเรื่องแรกก็คือ หินก้อนมหึมาเหล่านี้ถูกขนย้ายขึ้นไปบนภูเขาสูงที่เป็นพื้นที่ตั้งของวิหารทิวานากูได้อย่างไร มนุษย์โบราณในยุคนั้นใช้วิธีอะไรในการขนย้ายหินที่หนักเฉลี่ยหลายสิบตันขึ้นไปบนเขาสูงหลายพันฟุตได้ ทั้งๆ ที่อารยธรรมของชาวอินคาไม่เคยคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ทุ่นแรงอย่างล้อเลื่อนมาก่อนเลย และสิ่งที่ชวนให้เป็นปริศนามากที่สุดก็คือ หินแกะสลักที่เป็นรูปตัว H และรูปต่างๆ ที่คล้ายกัน หินเหล่านี้มีกรรมวิธีในการก่อสร้างอย่างไรให้มีความเรียบเนียนราวกับการใช้เลเซอร์ตัดได้ขนาดนั้น โดยเฉพาะเหลี่ยมมุมต่างๆ ที่ค่อนข้างเป๊ะเข้ากันได้พอดิบพอดี ราวกับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการคำนวณ นี่ยังไม่รวมรอยกรีดลงไปในหินที่มีความลึกราว 1 เซนติเมตรที่เรียบเสมอกัน ซึ่งไม่มีทางที่เครื่องมือของคนโบราณสมัยก่อนจะสามารถทำได้เนียนสวยขนาดนี้

                นี่จึงเป็นปริศนาที่นักโบราณคดี รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ยังมึนงงว่า หินเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร รวมไปถึงการสันนิษฐานของนักทฤษฎีสมคบคิดว่า อาจจะมีสิ่งมีชีวิตที่มีภูมิปัญญาที่สูงกว่ามนุษย์ยุคปัจจุบัน มาช่วยคนโบราณสมัยก่อนสร้างมันขึ้นมาก็เป็นได้

ลายเส้นนาซก้า

                อีริค ฟอน ดานิเก้น คือหนึ่งในนักสมคบคิดผู้สนับสนุนทฤษฎีพระเจ้าจากอวกาศ เขาเป็นนักเขียนที่โด่งดังจากการเขียนหนังสือเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว เช่นเรื่อง “ราชรถของพระเจ้า” (Chariouts of the Gods) ที่พยายามเชื่อมโยงโบราณวัตถุแปลกๆ ของโลก เช่น พีระมิดในอียิปต์ หรือลายเส้นนาซก้าในเปรู เข้ากับการมีส่วนร่วมของมนุษย์ต่างดาว ทว่าแนวคิดเรื่องนี้ของดานิเก้นไม่เป็นที่ยอมรับของนักโบราณคดี

                ทว่าไม่ว่าหลักฐานทางโบราณคดีจะเป็นอย่างไร แต่หากพิจารณาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมาอย่างนี้ สำหรับคนดึกดำบรรพ์ไม่มีความรู้ทางเทคโนโลยี และขาดเครื่องทุ่นแรงที่ทันสมัยอย่างในปัจจุบัน สำหรับนักโบราณคดีก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องใช้แง่ทฤษฎีและหลักฐานทางโบราณคดีเป็นหลัก จึงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาไม่จบสิ้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างมีหลักฐานมาอ้างอิงชวนให้เชื่อถือได้ทั้งสองฝ่าย ทางด้านดานิเก้นที่อ้างเหตุผลว่ามนุษย์ต่างดาวน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานนี้ก็น่าเชื่อถือ

                นักวิชาการเชื่อว่าที่นี่น่าจะเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และเหมืองหินที่ใช้ในการก่อสร้างน่าจะอยู่ห่างออกไปประมาณสิบกิโลเมตร ส่วนหินก้อนเล็กๆ ที่ใช้ในการแกะสลักน่าจะนำมาจากอีกแหล่งหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปเก้าสิบกิโลเมตร ซึ่งเข้าใจว่าขนมาทางน้ำด้วยเรือที่สร้างขึ้นจากต้นกก เมื่อเรือมาถึงฝั่งแล้วจึงมีการชักลากขึ้นฝั่งด้วยเชือกที่ทำจากขนลามะ แต่ปัญหาที่นักโบราณคดียังหาคำตอบไม่ได้ก็คือ หินก้อนใหญ่บางก้อนมีน้ำหนักถึงถึง 131 ตัน เขาขนกันมาได้อย่างไร ถึงตอนนี้ก็คงคิดถึงมนุษย์ต่างดาวกันอีกตามเคย

                เมื่อพิจารณามาถึงจุดนี้แล้ว นักโบราณคดีถึงกับอึ้งกันหมด เพราะไม่รู้จะหาหลักฐานอะไรมาหักล้าง เรื่องมนุษย์โบราณที่มีเพียงสองมือสองเท้าจะสกัดหินขนาดนับร้อยๆ ตันจากเหมืองหินที่อยู่ห่างออกไปเกือบร้อยกิโล แล้วขนมายังไซต์งานได้อย่างไร หากจะอ้างเหมือนที่เคยอ้างว่าก็ขนมาทางน้ำ ซึ่งก็อาจทำได้ แต่เมื่อต้องขนขึ้นเนินเขาไปยังสถานที่ก่อสร้างล่ะ มีทางน้ำให้เรือขนหินขึ้นได้ไหม นี่ยังไม่นับงานเจียระไนหินให้ได้เหลี่ยมมุมที่คมชัดอย่างที่เห็นว่าเขาทำกันยังไง ถึงขั้นนี้นักวิชาการทั้งหลายก็เปลี่ยนอาการจากอึ้งกิมกี่ไปเป็นอาการใบ้กิน เพราะพากันนั่งยันนอนยันว่ามนุษย์ต่างดาวไม่เกี่ยว เพราะไม่เคยมีมนุษย์ต่างดาวมาป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้เลย

                กองเชียร์มนุษย์ต่างดาวก็เลยอ้างภาพเขียนฝาผนังโบราณในถ้ำที่เรียกกันว่านาซก้า เป็นรูปมนุษย์ที่สวมชุดเสื้อผ้าพร้อมหมวกเหมือนชุดมนุษย์อวกาศ และบนฟ้าในภาพนั้นมีภาพยานที่กลมๆ เหมือนจานบินอยู่เกลื่อนกลาดนั่นน่ะเป็นภาพอะไร ถ้าไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว เพราะภาพนี้นักโบราณคดีเคยประสานเสียงกันพร้อมเพรียงว่าเป็นภาพเขียนโบราณหลายพันปีมาแล้ว

            แล้วปฏิมากรรมที่พูมาพันกูนั้นจะว่ายังไง มนุษย์ต่างดาวไม่มีเอี่ยวบ้างเลยเหรอ ทางด้านนักโบราณคดีก็ไม่ได้ว่ายังไงนอกจากบ่นอุบอิบว่าถึงยังไง มนุษย์ต่างดาวก็ไม่เกี่ยวแน่นอน

/

เรื่องโดย. โรเจอร์

ภาพโดย. ภาพโดย. www.ancient-origins.net, consciousenterprise.com, www.livescience.com, mini in www.pinterest.com, www.reddit.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •