28 มีนาคม 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

                อินคาเป็นชนเผ่าที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ใน คัซโค (Cuzco) ประเทศเปรู เริ่มกล้าแข็งในดินแดนแห่งนี้ราว ค.ศ. 1471 ก่อนจะถูกสเปนยึดครองในปี ค.ศ. 1532 ชาวอินคามีประชากรราว 12 ล้านคน ภายใต้วัฒนธรรมที่ต่างกันถึง 100 ชนเผ่า ใช้ภาษาพูดต่างๆ อย่างน้อย 20 ภาษา ชาวอินคามีวัฒนธรรมในการแสดงความยกย่องเทพเจ้า มีอำนาจกล้าแข็งด้วยการมอบหอกและผ้าสวยๆ ให้เป็นของขวัญ

                เมื่อมีอำนาจเหนือแคว้นใดก็ยังให้ผู้ปกครองเดิมมีอำนาจปกครองตนเองต่อได้อีก แต่ต้องให้ลูกชายไปเป็นตัวประกันที่กรุงคัซโค อินคาจะยกย่องเทพและศาสนาของชาวถิ่นอื่น แต่ต้องปรับให้เข้ากับพิธีกรรมของชาวอินคา การบูชายัญเด็กเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมนั้น โดยชาวอินคาจะออกตระเวนหาเด็กในแคว้นต่างๆ ที่อยู่ใต้อำนาจของตน แล้วจะมอบตำแหน่งหน้าที่การงานและทรัพย์สินมีค่าเป็นเครื่องตอบแทน โดยจะนำเด็กที่จะทำการบูชายัญ ไปประกอบพิธีกรรมบูชายัญ ที่กรุงคุซโคก่อน แล้วจึงจะจัดขบวนแห่เดินทางไกลไปประกอบการบนเทือกเขาแอนดีส

                สำหรับชาวอินคาแล้ว การบูชายัญมีขึ้นไม่มากนัก จัดเป็นสิ่งสังเวยแก่เทพเจ้า ด้วยเหตุผลที่ว่าเด็กนั้นสะอาดและบริสุทธิ์กว่าผู้ใหญ่ เด็กจึงถูกเลือกเป็นตัวแทนของมนุษย์เพื่อที่จะถูกส่งเป็นตัวแทนไปรับใช้เทพเจ้าไปชั่วนิรันดร์

                การบูชายัญจะมีขึ้นราวเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนของทวีปอเมริกาใต้ อากาศไม่หนาวนักและหิมะก็มีน้อยกว่า ถึงแม้การบูชายัญจะมีขึ้นในเขตชิลีปัจจุบัน แต่ชิ้นผ้าอาภรณ์ รูปสลัก และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ กลับเป็นของที่มาจากเปรู ชาวอินคาเชื่อกันว่า ภูเขานั้นเป็นผู้ควบคุมสภาพอากาศ ตลอดจนผลผลิตปศุสัตว์ และความอุดมสมบูรณ์ของพืชผักต่างๆ ซึ่งนี่ก็จัดเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ยังมีการแสดงความเคารพบูชายอดภูเขานี้มาจนถึงทุกวันนี้

                ผู้นำของเผ่าอินคา เชื่อว่าการบูชาแสดงความเคารพต่อภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นการรวมเทพเข้ากับอาณาจักร เพื่อให้อาณาจักรมีอำนาจในการควบคุมประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตแดนห่างไกล ไม่ให้มีความกระด้างกระเดื่องต่ออาณาจักร

                จดหมายเหตุและหลักฐานต่างๆ ในยุคที่สเปนเข้ายึดครอง ได้กล่าวถึงการบูชาเทพเจ้ายาวนานนับเดือน บ้างก็มีการจารึกชื่อของเด็กที่ถูกเลือกเพื่อการบูชายัญไว้ด้วย บางครั้งก็พบว่า พ่อแม่ของเด็กเองกลับเป็นผู้เสนอตัวลูกของตนเพื่อการบูชายัญเสียเองและยังช่วยนำเด็กไปส่งให้แก่ผู้ประกอบพิธีอีกด้วย คนท้องถิ่นก็เข้าร่วม ช่วยอำนวยความสะดวกแก่พระผู้ประกอบพิธีโดยการเต้นรำบูชาเทพเจ้า การดื่มกินเฉลิมฉลองจนกระทั่งเสร็จสิ้นพิธี

                นักโบราณคดี โยฮัน เรนฮาร์ดและคณะ ได้เดินทางออกสำรวจเทือกเขาในเปรู พวกเขาใช้เวลา 5 วันในการปรับตัวให้เคยชินกับสภาพอากาศ ย้ายแคมป์พักแรมจากความสูงที่น้อยกว่าไปยังจุดที่สูงกว่า ที่ความสูง 19,200 ฟุต คณะของโยฮันได้ตั้งแคมป์ ณ บริเวณหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นบ่อน้ำใหญ่ที่ชาวอินคาละลายมาจากน้ำแข็งและหิมะเพื่อใช้สำหรับดื่ม เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาน้ำดื่มในที่สูงขนาดนี้

ยอดเขา เซอโร –ยู-ไย-ยาโก Cero Llullaillaco

                เด็กชายที่ถูกบูชายัญได้ถูกพบในสภาพสมบูรณ์ ซึ่งยังคงสภาพเดิม ด้วยอากาศที่หนาวเย็นบนยอดเขา เซอโร –ยู-ไย-ยาโก (Cero Llullaillaco) แห่งเทือกเขาแอนดีส ห่อหุ้มด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์อันหนาแน่น แต่ก็งดงามสมอารยธรรม มีตุ๊กตารูปตัวลามะ 2 ตัว ทำจากโลหะเงินและเปลือกหอยนางรมชนิดหนึ่ง ตุ๊กตารูปตัวลามะนี้เป็นเสมือนคำร้องขอของชาวอินคาในการเซ่นสังเวย สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของเหล่าฝูงสัตว์ที่ชาวอินคาเลี้ยงไว้ ส่วนหอยนางรมก็เป็นตัวแทนในการร้องขอต่อเทพแห่งมหาสมุทรที่เป็นเจ้าแห่งการประทานน้ำแก่พวกเขานั่นเอง

                นอกจากนี้แล้ว ยังมีรูปสลักผู้ชายอีก 2 รูปซึ่งทำมาจากเปลือกหอยนางรมเช่นกัน ส่วนอีกรูปทำจากทองคำ รูปสลักผู้ชายนี้อาจเป็นตัวแทนของเทพเจ้า ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์แห่งการปศุสัตว์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเจ้าแห่งขุนเขา หรืออาจเป็นขุนนางชั้นสูงของเผ่าอินคาซึ่งเป็นผู้ดูแลฝูงสัตว์ที่มอบถวายแด่เทพเจ้า

                พิธีบูชายัญเด็กๆ ที่ยอดเขาแอนดีสนี้เพื่อการเซ่นสรวงบูชาแด่องค์เทพของชาวอินคา ซึ่งเชื่อกันว่าจะประทับอยู่บนเทือกเขานี้ การมอบชีวิตและดวงวิญญาณของเด็กๆ แด่องค์เทพเพื่อเป็นตัวแทนของชาวอินคามารับใช้องค์เทพที่นี่ไปตลอดกาล และเด็กๆ ที่ถูกนำมาบูชายัญจะได้รับการเคารพสักการะจากชาวอินคาทั้งอาณาจักร

                ยอดเขา เซอโร –ยู-ไยยาโก (Cero Llullaillaco) อยู่ห่างจากจากนครคาทาร์เป้ ศูนย์กลางอำนาจบริหารของอินคาประมาณ 120 ไมล์ แม้ว่าที่ตั้งของเมืองนี้อยู่ไม่ไกลจากเมืองซาน เปโดร เดอ อตาคาม่า (San Pedro de Atacaqma) หัวเมืองตอนเหนือของของชิลี แต่หากจะพิจารณาจากศิลปะผ้าทอ รูปหล่อ ปั้นแกะสลัก และภาชนะ เช่นหม้อไห ชี้ชัดว่าทุกอย่างมาจากกรุงคัซโค นครหลวงของอินคา เขตประเทศเปรูซึ่งอยู่ห่างออกไปร่วมหนึ่งพันไมล์แน่นอน

                ชาวอินคาเชื่อว่าองค์เทพบนยอดเขานี้เป็นผู้ควบคุมดินฟ้าอากาศ ความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลการเกษตรและปศุสัตว์ ซึ่งทำให้ผู้คนแถบนั้นยังเคารพสักการะยอดเขานี้มาจนปัจจุบัน ซึ่งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในกรุงคัซโคตระหนักดีว่าการสักการะยอดเขาศักดิ์สิทธิ์นี้จะเป็นการผนึกรวมองค์เทพเหล่านี้เข้ากับศาสนาประจำอาณาจักร ทำให้สามารถกระชับการควบคุมดินแดนชายขอบอาณาจักรได้แนบแน่นขึ้น

                จากจดหมายเหตุที่มีการบันทึกไว้ หลังจากที่สเปนสามารถอาณาจักรอินคา ได้พบว่ามีการจาริกแสวงบุญเป็นเวลาหลายเดือนเพื่อประกอบการบูชายัญ พร้อมกับระบุชื่อของเด็กๆ ที่จะทำการบูชายัญไปด้วย

                เด็กๆ ที่จะนำมาบูชายัญนี้ไม่มีการบังคับกะเกณฑ์ ส่วนมากมากันด้วยความสมัครใจ บางรายพ่อแม่พามาเข้าพิธีบูชายัญเองด้วยซ้ำ พวกชาวบ้านจะมาช่วยพระนักบวชในการประกอบพิธี เดินทางไปแสวงบุญด้วย เช่น จัดขบวนฟ้อนรำ และดื่มฉลองไปตลอดทาง จนถึงจุดหมายในการประกอบพิธี

                เมื่อขบวนพิธีไปถึงเชิงเขาอันเป็นสถานที่ประกอบพิธีแล้ว พระนักบวชจะปีนป่ายขุนเขาอันสูงชันขรุขระขึ้นไปบนยอดเขา ซึ่งการปีนป่ายไปสู่ยอดเขานี้มีความยากลำบากมาก ขบวนผู้แสวงบุญต้องใช้เวลาถึงสามวันกว่าจะถึงยอดเขาที่ประกอบพิธีบูชายัญ

สุราชิช่า (เหล้าข้าวโพด)

                มีรายงานในจดหมายเหตุว่า เด็กที่จะถูกบูชายัญนี้ส่วนมากจะเสียชีวิตมาแล้วก่อนทำพิธีบูชายัญ แต่จากการตรวจสภาพศพเด็กที่ถูกบูชายัญในสภาพยังดูสดๆ เนื่องจากแช่เย็นในสภาวะอากาศที่เย็นจัด จนมีสภาพแช่แข็งตลอดหลายร้อยปี พบว่าส่วนมากมีการเสียชีวิตจากการสังหารด้วยวิธีการที่นุ่มนวล เพราะไม่พบร่องรอยการสังหารอย่างทารุณใดๆ ไม่ปรากฏบาดแผล และใบหน้าเรียบเฉยเหมือนคนนอนหลับ ไม่แสดงอาการเจ็บปวดจากการถูกทรมานก่อนตาย เหมือนคนกำลังนอนหลับ และสิ้นใจตายขณะที่ยังไม่มีสติสัมปชัญญะและกึ่งมีสัมปชัญญะ เข้าใจว่าคงจะให้ดื่มสุราชิช่า (เหล้าข้าวโพด) จนเมามายหมดสติระหว่างประกอบพิธี ที่เมตตาหน่อยก็จะโด๊ปด้วยยาเสพติดจนสิ้นสติ

                จากการวิเคราะห์ในห้องแล็ป พบว่าอวัยวะภายในของเหยื่อบูชายัญเหล่านี้ยังอยู่ในสภาพดีทุกอย่าง ส่วนเลือดนั้นยังมีอยู่ในร่างเหยื่อบูชายัญจำนวนมาก แต่ก็อยู่ในสภาพแข็งตัวจากการถูกแช่แข็งในสภาพเย็นจัดตลอดเวลาอันยาวนาน จากผลการตรวจดีเอ็นเอของเหยื่อบูชายัญเหล่านี้ พบว่ามีเชื้อชาติเผ่าพันธุ์เดียวกัน แต่ไม่ได้เป็นเครือญาติกัน

                จากรายงานของนายโยฮัน ไรน์ ฮาร์ด นักโบราณคดีพร้อมทีมงานที่ปีนเขาอันเป็นสถานที่ประกอบพิธีบูชายัญเมื่อกว่าห้าร้อยปีก่อน ต้องประหลาดใจที่พบอาคารที่ประกอบพิธีบูชายัญซึ่งสร้างเป็นอาคารหินเรียงอย่างประณีตบรรจงด้วยฝีมือเหนือชั้น ซึ่งดูแล้วก็รู้ว่าต้องใช้วัสดุก่อสร้างและเครื่องมือก่อสร้างทั้งหมดนำขึ้นมาจากเชิงเขา ทำให้ประหลาดใจว่า เขาทำกันได้อย่างไร ขนหินที่เจียระไนไว้อย่างประณีตจำนวนนับหมื่นก้อน พร้อมอุปกรณ์การก่อสร้างทั้งหมดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะแค่ปีนเขาด้วยมือเปล่าตัวเปล่า ไม่ต้องหอบหิ้วอะไรขึ้นมาก็แทบจะตกเขาตายไปหลายครั้งแล้ว

                และต้องประหลาดใจยิ่งขึ้นเมื่อเห็นฝีมือการทอผ้าที่มีลวดลายวิจิตรบรรจงสุดยอดที่พบเห็นในซากแช่แข็งของเหยื่อบูชายัญแล้ว ก็เชื่อเลยว่าวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของอินคาต้องสูงส่งสุดยอดจริงๆ

สาวน้อยน้ำแข็ง

                สำหรับศพเหยื่อบูชายัญที่นายโยฮัน ไรน์ ฮาร์ดขุดพบนั้นมีสามศพ ศพแรกเป็นเด็กสาววัย 13 ขวบ ซึ่งได้รับการตั้งชื่อว่าสาวน้อยน้ำแข็ง ส่วนเด็กชายวัยเดียวกัน มีการตั้งชื่อให้ว่าเด็กชายเขา ยู-ไย-ยา-โก และเด็กหญิงรายที่สาม ตั้งชื่อว่า เด็กหญิงสายฟ้า ที่มีรอยฟ้าผ่าที่ศพก่อนหน้านั้น เชื่อกันว่าศพเหยื่อทั้งสามน่าจะมีอายุมากกว่านี้ แต่จากการวิเคราะห์ด้วยทีวีสแกนก็พบว่ามีวัยดังกล่าวจริง

เด็กชายเขา ยู-ไย-ยา-โก

                ผลการศึกษาชี้ว่า เหยื่อบูชายัญถูกขุนให้อ้วนขึ้นก่อนเข้าพิธี และมีเรื่องที่น่าตกใจว่าเส้นผมของเหยื่อจะงอกยาวขึ้นเดือนละหนึ่งเซนติเมตร งอกขึ้นอย่างนี้ในอัตราคงที่ ความยาวของเส้นผมจะบอกระยะเวลา และลักษณะอาหารที่พวกเขาดื่มกินเช่น ใบโคค่า และชิช่าเหล้าข้าวโพด ผลไม้อื่นๆ และอาหารที่รับประทานต้องเป็นอาหารชั้นดี เช่นเนื้อสัตว์อย่างดี และเนื้อลามะแห้ง

                เมื่อถูกเลือกให้เป็นเหยื่อบูชายัญแล้วจะถูกแยกตัวมาดูแลและเลี้ยงดูอย่างดี เป็นเวลานับปี ก่อนที่ความตายจะมาเยือนด้วยการบูชายัญ ในช่วงเวลานี้พวกเขาจะถูกปรนเปรออย่างดี อยากกินอะไรหรืออยากได้อะไรก็จะจัดหาให้หมด แต่ต้องดื่มเหล้าหมักข้าวโพดที่เรียกว่าชิช่า และรับประทานใบโคค่าด้วย ซึ่งปกติสิ่งเหล่านี้ถูกสงวนไว้ให้เฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้น คนอื่นห้ามแตะต้องและจะไม่มีการดื่มกินกันอย่างพร่ำเพรื่อในชีวิตประจำวัน

เด็กหญิงสายฟ้า

                เด็กที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าพิธีบูชายัญจะต้องถูกแยกให้อยู่ภายใต้การดูแลของพระนักบวชสองสามสัปดาห์ ก่อนถึงวันประกอบพิธีเพื่อให้ปลอดจากความวิตกกังวล และจะได้รับการยกย่องให้เกียรติจากจักรพรรดิอินคา ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นบุคคลสำคัญที่จะต้องได้รับการเคารพนับถือจากคนทั่วไป

                ขบวนแห่ที่ไปยังเขา เซอโร –ยู-ไย-ยา-โก (Cero Llullaillaco) นั้นเป็นขบวนแห่ที่เดินเท้าจากกรุงคัซโคไปยังสถานที่ประกอบพิธี ขบวนแห่จะแวะพักตามหมู่บ้านหรือเมืองที่อยู่ในเส้นทางเป็นระยะ โดยใช้เวลาเดินทางเป็นเวลา 3-4 เดือน

                ศพเหยื่อบูชายัญที่นายโยฮัน ไรน์ ฮาร์ด นักโบราณคดีพร้อมทีมงานขุดพบนั้นอยู่ในท่านั่งไขว่ห้าง และเอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย คล้ายกับว่ากำลังนั่งหลับระหว่างที่ความตายมาเยือน และยังมีใบโคค่าที่เคี้ยวแล้วคาอยู่ในปากด้วย ผิวพรรณยังสดใสมีน้ำมีนวลเหมือนคนปกติ จากนั้นจะห่อด้วยผ้าพลาสติก แช่น้ำแข็งแห้งและส่งไปยังห้องแล็ปของมหาวิทยาลัยท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยสำคัญๆ ในสหรัฐอเมริกา

                เชื่อว่าในเวลาอีกไม่นานคงจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับการบูชายัญของเด็กชาวอินคามานำเสนอสู่ชาวโลกได้อีกโดยละเอียด

เรื่องโดย. ทิวากร สุวพานิช

ภาพโดย. wwwnc.cdc.gov, phys.org/wiki, www.dailymail.co.uk, npaper-wehaa.com, fellowprimo.com, www.trekearth.com, www.gardinermuseum.on.ca, www.nytimes.com, issuu.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •