เกือบทุกชนเผ่าบนแผ่นดินแอฟริกา มีความเชื่อเรื่องการสร้างโลกของพระเจ้า โดยที่พระเจ้านั้นจะอยู่ในที่ห่างไกล จนไม่อาจจะสัมผัสได้โดยง่าย อยู่นอกเหนือการเข้าใจของมนุษย์ปกติทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นการเกิดของเหตุการณ์ต่างๆ ล้วนอยู่ในสายตาของพระเจ้า เพราะพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก จึงทำให้เกิดกระบวนการติดต่อกับพระเจ้าเกิดขึ้น
พระเจ้าของแต่ละเผ่านั้นเป็นหญิงก็ได้เป็นชายก็ได้ บางครั้งไม่ได้ระบุเพศเอาไว้ โดยอาจจะเป็นพลังงานทางวิญญาณที่มีอำนาจหรืออยู่ใน 4 ธาตุตามความเชื่อ ดิน น้ำ ลม และไฟ โดยแบ่งพระเจ้าไปตามธาตุแห่งธรรมชาตินั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ การทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์จึงถือกำเนิดขึ้น โดยผู้ที่นำการประกอบพิธีมักจะเป็นผู้อาวุโสของเผ่า โดยพิธีกรรมต่างๆ ขึ้นอยู่กับเผ่าแต่ละเผ่าแตกต่างกันออกไป
การทำพิธีส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับจุดกำเนิดของความตาย ธรรมชาติของสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตและความตายเป็นส่วนใหญ่ เทพนิยายและนิทานพื้นบ้านปรัมปรา จะเป็นการเล่ากันถึงตำนานในแต่ละรุ่นสู่รุ่น มีการขอพรกับพระผู้เป็นเจ้า การทำพิธีผ่านพ่อมด หมอผี ปลุกเสกพลังงานความเชื่อต่างๆ หรือคำสาปลงในกระดูกของสัตว์ เมล็ดพืช หินสีต่างๆ หรือแม้กระทั่งหัวกะโหลกของมนุษย์ การเต้นรำเป็นหนึ่งในวิธีการขอพรจากพระเจ้า เพื่อรับพลังในการต่อสู้ การวาดลวดลายอักขระบนร่างกาย โดยรูปแบบต่างๆ ที่วาดลงนั้นมีความหมายแตกต่างกันไปตามความต้องการ เป็นที่น่าแปลกและเป็นปริศนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะในการทำลักษณะดังกล่าว คล้ายกับว่าเป็นไปอย่างนั้นจริงๆ
ถึงแม้การทำพิธีต่างๆ เหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละชนเผ่า ชาวแอฟริกันที่อาศัยอยู่ในหลายประเทศของทวีปแอฟริกา พวกเขาเหล่านี้ล้วนมีประเพณีอันเก่าแก่โบราณที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดเป็นเทศกาลประจำปี โดยผู้นำประเพณีจะต้องสวมหน้ากากเพื่อจำลองตัวเองให้เป็นตัวแทนของเทพหรือปีศาจ บางครั้งการสวมหน้ากากเพื่อสืบสานประเพณีก็แฝงไปด้วยนัยทางการเมือง เรื่องอดีตของการเป็นทาส มีบทความข้อเขียนภาพถ่ายมากมาย ที่เล่าเรื่องความเป็นมาของหลายประเทศในแถบแอฟริกา รวมทั้งวิถีชีวิต ซึ่งหลายต่อหลายครั้งพวกเขาจะจัดพิธีกรรมเพื่อบูชาเหล่าทวยเทพ และดวงวิญญาณคนตาย โดยการทำพิธีใดๆ จะต้องมีบุคคลซึ่งเป็นตัวกลางในการบูชา สะท้อนการเป็นตัวแทนของทั้งเหล่าเทพและปีศาจผ่านหน้ากาก
หน้ากาก จัดเป็นเครื่องประดับชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถสร้างได้ทั้งความบันเทิง หรือใช้ในการปกปิดความลับบางอย่าง บางที่ยังใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแสดงปริศนาทางธรรม แต่สำหรับคนแอฟริกันนั้น หน้ากากเป็นมากกว่าที่กล่าวมา หน้ากากสำหรับพวกเขาคือบทบาทใหม่ของผู้สวมใส่ ส่วนมากจะเป็นผู้ชาย เมื่อพวกเขาสวมหน้ากากแล้ว ตัวตนของพวกเขาจะเปลี่ยนไป ไม่เป็นเทพเจ้าก็เป็นผี หรือเป็นปีศาจแห่งตำนานตามเรื่องเล่าขานของประเพณีในท้องถิ่น โดยต้องกลบความเป็นตัวเองไปสิ้น ทุกสิ่งเหล่านั้นจะสะท้อนแนวคิด ความเชื่อ รวมทั้งการดำเนินชีวิตของชาวแอฟริกาออกมาได้อย่างครบถ้วนลงตัว
หน้ากากแห่งจิตวิญญาณของแอฟริกาได้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงตัวตน เพื่อตอบสนองต่อความเชื่อ ความศรัทธา ความกลัว แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง หน้ากากแห่งจิตวิญญาณ ก็สื่อออกมาในมุมมองที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวจากอดีตของบรรพบุรุษชาวแอฟริกา ผ่านทางวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน
ในดินแดนของแอฟริกา มีหน้ากากมากมาย ทั้งยังมีการเปลี่ยนแบบไปเรื่อยๆ แต่หน้ากากที่เป็นต้นตำรับยังคงเอกลักษณ์ไว้ใช้ในเวลาประกอบพิธีกรรม พวกเขาเรียกผู้ประกอบพิธีกรรมว่า “ มามิ วาตา” (Mami Wata) ซึ่งเป็นดวงวิญญาณแห่งสายน้ำด้านดี ซึ่งมอบชีวิตผู้คนในบริเวณ Cross River โดยชาวแอฟริกามีความเชื่อว่า Mami Wata เป็นดวงวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความเจริญมั่งคั่ง
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ชนเผ่าทุกเผ่าในแอฟริกาจะใช้หน้ากากที่สวมใส่สื่อสารกับภูตผีและจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ แต่ในขณะเดียวกันนั้น ยังมีชนเผ่าหนึ่งซึ่งยึดถือและมีความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณหลังความตาย วิถีชีวิตของพวกเขา ผู้ติดอยู่กับวิญญาณจนแทบแยกกันไม่ออก ชนเผ่านี้ก็คือ เผ่าปูนู (Punu หรือ Bapunu, Bayag) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคกลางของแอฟริกา พวกเขาเป็นหนึ่งใน 4 เผ่าสำคัญของประเทศกาบอง อาศัยอยู่ภายในภูเขาและพื้นที่ทุ่งหญ้า หากินเลี้ยงชีพอยู่รอบๆ แม่น้ำ N’Gounie และแม่น้ำ Nyanga ในกาบอง นอกจากนี้ ชนเผ่าดังกล่าวก็ยังอาศัยอยู่ใน Kibangou, Divenie และ Mossendjo ในเขตของสาธารณรัฐคองโก และพูดภาษาเดียวกัน
ในประวัติศาสตร์เล่ากันว่า ชนเผ่านี้สืบทอดเชื้อสายมาจากอาณาจักรลุนดา (Lunda) ในกาฬทวีปโบราณ ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1600 ชาวปูนูบาแจ็กแห่งอาณาจักรลุนดา ถูกโจมตีโดยชนเผ่า Chokwe ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานใหม่ กระจัดกระจายออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือไปยังสาธารณรัฐคองโก ผ่านแองโกลาและผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกไปยังเขตกีบังเกา (kibangou) ในสาธารณรัฐคองโก แล้วก็ไปอาศัยอยู่ในกาบองจนถึงทุกวันนี้
ต่อมาในศตวรรษที่ 17 พวกเขารวบรวมเผ่าพันธุ์เป็นปึกแผ่นขึ้นมาอีกครั้ง สร้างดินแดนของตนเอง ป้องกันผู้บุกรุก จนทำให้ชาวอาณานิคมปูนู อาแจ็ก เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวโปรตุเกสว่าเป็นนักรบที่โหดเหี้ยมและไม่กลัวความตาย เพราะการพ่ายแพ้ที่ถูกโยกย้ายมาจากอาณาจักรลุนดาในอดีต สอนให้พวกเขารู้ว่า พวกเขาจะแพ้ไม่ได้ และจะย้ายไปไหนไม่ได้อีก
พวกชนเผ่าปูนูโจมตีอาณาจักรคองโก ทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้าและสร้างความสูญเสียให้กับกษัตริย์อัลฟองโซที่ 1 และโปรตุเกส ที่ทำธุรกิจร่วมกันในเวลานั้น พวกเขาเข้าร่วมในการค้าทาสส่งผู้คนทั้งอาณาจักรคองโกไปยังดินแดนต่างๆ จนทำให้ผู้คนในแอฟริกาต่างพากันหวาดกลัวเป็นอันมาก
สังคมเผ่าปูนูตั้งอยู่บนพื้นฐานของความทรงจำและประเพณี พวกเขาถูกจัดระเบียบรอบหัวหน้าเหมือนกับสังคมแอฟริกาส่วนใหญ่ บรรพบุรุษและวิญญาณเป็นส่วนสำคัญในสังคมของพวกเขาเช่นกัน พวกเขาเชื่อว่าวิญญาณของบรรพบุรุษ สามารถนำทางพวกเขาและช่วยเหลือพวกเขาในชีวิตให้รอดปลอดภัย ชนเผ่าปูนูจึงสื่อสารกับวิญญาณผ่านหน้ากากที่สวมใส่ มีกฎระเบียบข้อห้ามต่างๆ มากมายเกิดขึ้นในเผ่า เพื่อไม่ให้วิญญาณบรรพบุรุษไม่พอใจ และไม่ผิดผี โดยเฉพาะสัตว์บางอย่างที่พวกเขาห้ามล่า จะฆ่า หรือเอามากินเป็นอาหารไม่ได้ว่าไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว หอยทาก และที่สำคัญเชื้อสายของชนเผ่านี้มีผู้หญิงเป็นคนสืบเชื้อสาย ไม่ใช่ผู้ชายเหมือนเช่นชนเผ่าอื่นๆ ในแอฟริกา พูดง่ายๆ ว่า “เมีย” เป็นผู้นำครอบครัวนั่นเอง!!!
ในการทำพิธีสื่อสารกับวิญญาณ ชนเผ่าปูนูจะติดต่อผ่านหน้ากากสองอย่างคือ หน้ากากสีขาว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “หน้ากากปูนู” หนึ่งในวัตถุศิลปะของชนเผ่านี้ หน้ากากดังกล่าวจะสร้างขึ้นมาเท่าใบหน้าคนจริง พวกเขาสวมใส่โดยนักเต้นรำในประเทศกาบอง เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญของชุมชนนักเต้นรำจะสวมหน้ากากเหล่านี้
เหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งก็คือการเต้นรำที่ทำเพื่อสังคมลับในการประชุมของชนเผ่า เพื่อต่อต้านการรุกรานของผู้อื่น ชาวยุโรปได้พยายามค้นหาสังคมปูนูอยู่เป็นเวลานานเพื่อทำการศึกษา ในปี ค.ศ. 1865 ชาวยุโรปคนแรกได้ค้นพบความลับของหน้ากากสีขาวตัวแรก ต่อมาในปีพ.ศ. 2468-2530 ชาวยุโรปสามารถเข้าถึงสังคมปูนูได้มากขึ้นและความลับก็น้อยลงกว่าเดิม
หน้ากากสีดำในวัฒนธรรมปูนู จะสวมใส่โดยนักเต้นในฐานะผู้สวมหน้ากากที่ได้รับการฝึกอบรมซึ่งก่อนที่จะประกาศการมาถึงของนักเต้นหน้ากากสีขาว ซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า บางครั้งเมื่อความโชคร้ายเกิดขึ้นกับกลุ่มพวกเขาใช้หน้ากากสีขาวและทาสีดำ ทำให้หน้ากากชนิดนี้เต้นเฉพาะในที่มืดในเวลากลางคืน แตกต่างจากอีกสองรูปแบบหน้ากาก ซึ่งของพวกนี้มักไม่ค่อยพบในพิพิธภัณฑ์เพราะจะถูกซ่อนเอาไว้อย่างดี
ชาวปูนูจะซ่อนหน้ากากเหล่านี้เอาไว้ ไม่ให้ใครพบเห็น เพราะถือเป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วยกอบกู้ชีวิตของผู้คน ชนเผ่า เพราะเชื่อว่าพวกเขามีอันตรายและพวกเขามีธรรมชาติที่ชั่วร้ายอยู่รายรอบตัว
ชนเผ่าปูนูจะมีความเกรงกลัววิญญาณชั่วร้ายมากที่สุด พวกเขามักจะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยและความตายโดยมีสาเหตุมาจากใครบางคนและไม่ใช่เหตุการณ์ตามธรรมชาติ ผู้คนอิจฉาคนที่ประสบความสำเร็จและพวกเขายังเชื่อว่าความหึงหวงของสามีภรรยา หรือความอิจฉาริษยาของพวกเขาจะทำให้คนที่ประสบความสำเร็จเป็นอันตรายหรือเสียชีวิต ความเจ็บป่วยถูกมองว่าเป็นฝีมือของวิญญาณที่ชั่วร้าย และวิธีเดียวที่จะรักษาได้ก็คือ การทำพิธีกรรมพิเศษเพื่อกำจัดงานของวิญญาณชั่ว
- ด้วยเหตุนี้ ในแอฟริกาผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นพ่อมดหมอผีในเวลาที่มีเทศกาลต่างๆ เกี่ยวกับวูดู จึงมักจะเป็นชนเผ่าปูนูเสียส่วนใหญ่ เพราะทุกคนเชื่อว่าคนเผ่านี้สามารถติดต่อกับวิญญาณได้นั่นเอง
เรื่องโดย. ตะวัน สัญจร
ภาพโดย. www.histoire-afrique.org, www.catawiki.com, www.in.pinterest.com