ในพื้นที่ต่างๆ รอบโลก ไม่ว่าจะเป็นพวกชนเผ่าในชนบทห่างไกล หรือในดินแดนที่จัดว่าศิวิไลซ์ มีความเจริญสูงสุดในการศึกษาและเทคโนโลยีทุกด้าน ต่างก็มีพิธีกรรมแปลกสุดๆ ถึงขั้นประหลาดกันทั้งนั้น จึงขอนำเสนอโดยเริ่มจากประเพณีในดินแดนที่จัดว่าป่าเถื่อนก่อน ดังนี้
1.พิธีกรรมปฐมนิเทศของชนเผ่าซาตาเร มาเว ในบราซิล
ชนเผ่าซาตาเร มาเว เป็นชนเผ่าที่อยู่ในเขตแอมะซอนของบราซิล ซึ่งมีการติดต่อกับโลกภายนอกน้อยมาก และเป็นชนเผ่าที่สามารถธำรงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณของตนไว้ได้มาก ซึ่งรวมถึงพิธีกรรมของการบรรลุวัยผู้ใหญ่ของเด็กๆ เมื่ออายุย่างเข้า 13 ปี จะถือว่าบรรลุวัยความเป็นผู้ใหญ่แล้ว
แต่ก่อนจะเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์นั้น ก็จะต้องผ่านพิธีกรรมปฐมนิเทศก่อน โดยเด็กชายผู้จะเข้าพิธีกรรมนี้ จะต้องบุกป่าฝ่าพงไพรเข้าไปในดงลึก แล้วทำการเก็บกวาดมดพันธุ์หัวกระสุนที่มีความดุร้ายมาก ซึ่งใครที่ถูกมดพันธุ์นี้ต่อย จะมีความเจ็บปวดยิ่งกว่าการถูกผึ้งต่อย และคล้ายกับการถูกยิงด้วยกระสุนปืน จึงถูกขนานนามว่ามดหัวกระสุน
มดพันธุ์นี้มีความยาวของลำตัวประมาณหนึ่งนิ้ว เมื่อนำกลับมายังหมู่บ้าน ประมุขอาวุโสของหมู่บ้านจะทำการรีดพิษมันออก โดยใช้สมุนไพรรีดพิษ แล้วจะนำมันมารวมๆ กันจนได้ความยาวพอที่จะนำไปถักทอให้เป็นถุงมือพิเศษคู่หนึ่งได้ โดยจัดให้เขี้ยวที่มันใช้กัดคนไว้ด้านในถุงมือ
จากนั้นก็จะรอจนกระทั่งมดหัวกระสุนเริ่มฟื้นคืนชีพ แล้วก็จะมีการเริ่มประกอบพิธีกรรมด้วยการให้เด็กชายที่เข้าร่วมพิธีนี้แสดงความกล้าหาญด้วยการสวมถุงมือนี้ ประมาณครั้งละสิบนาที ระหว่างนั้นก็ให้ทำการเริงระบำแบบโบราณไปด้วย และจะทำเช่นนี้อีกสิบเก้าครั้ง ก่อนที่เด็กชายรายนั้นจะเรียกตนเองว่าเป็นผู้ใหญ่ได้
ประเพณีนี้ของชาวเผ่าซาตาเร มาเว ทำขึ้นเพื่อให้เด็กชายเตรียมพร้อมที่จะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทุกข์ระทมของชีวิตการเป็นผู้ใหญ่ และสามารถจัดการกับความเจ็บปวดนั้นได้โดยไม่แสดงความอ่อนแอออกมา
2. ประเพณีเอล โคลาโช ของสเปน
ประเพณีนี้มีอยู่ในเขตที่เรียกว่า คาสทริลโล เดอ เมอเชีย ทางตอนเหนือของสเปน เกิดขึ้นจากพิธีกรรมนอกรีต และกลายเป็นประเพณีพื้นถิ่น สืบมานับแต่ศตวรรษที่ 17 ซึ่งถือเป็นประเพณีในการสร้างความบริสุทธิ์ให้กับจิตวิญญาณเด็กทารกที่เพิ่งคลอด ซึ่งมีการเรียกประเพณีนี้ว่า “การกระโดดข้ามทารก”
พิธีกรรมจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ทุกปี หลังจากเสร็จพิธีจะมีงานเลี้ยงฉลอง “คอร์ปุส คริสตี้” ซึ่งปัจจุบันเป็นการผสมผสานของประเพณีนอกรีตกับประเพณีคาทอลิก
พิธีกรรมจะเริ่มจากการจัดขบวนแห่ไปรอบเมือง เมื่อขบวนแห่หยุดลงก็จะมีการนำทารกที่เพิ่งคลอดในรอบปีที่ผ่านมาวางบนเสื่อ แล้วจัดให้ผู้ชายที่แต่งกายเหมือนปีศาจวิ่งเข้ามาข้างๆ ร่างทารก แล้วกระโดดข้ามไป จากนั้นก็ให้ประมุขของนิกายคาทอลิกชำระล้างร่างกายทารกด้วยน้ำมนต์
3.ประเพณีหมึกแดงของเกาหลี
มีคำเตือนสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนเกาหลีว่า ไม่ว่าท่านจะอยู่ในเมืองใหญ่ที่ผู้คนพลุกพล่าน หรือจะอยู่ในชนบทที่เงียบสงบก็ตาม จงหลีกเลี่ยงการใช้หมึกแดงโดยเด็ดขาด
ว่ากันตามเรื่องในประวัติศาสตร์ สำหรับเรื่องวัฒนธรรมเกี่ยวกับหมึกแดงของเกาหลีแล้ว หมึกแดงนั้นใช้ในการเขียนชื่อผู้ตายและบรรดาญาติๆ ผู้ตายเท่านั้น หากชื่อของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ถูกเขียนด้วยหมึกแดงแล้ว หมายความว่าคนที่ใช้หมึกแดงเขียนชื่อคนอื่นย่อมมีเจตนาร้ายต่อคนที่ถูกนำชื่อไปเขียนด้วยหมึกแดง
ในปัจจุบัน การใช้หมึกแดงในเกาหลีจึงเป็นเรื่องต้องห้ามเด็ดขาด โดยเฉพาะในด้านนำไปเขียนชื่อคน ซึ่งถือเป็นเรื่องหยาบช้าและมีเจตนาร้ายต่อผู้ที่ถูกนำชื่อไปเขียนด้วยหมึกแดง ดังนั้น ทางที่ดีก็คือให้หลีกเลี่ยงการใช้หมึกแดงไม่ว่าเรื่องใดๆ โดยเด็ดขาด
4.ประเพณีชามแตกในเดนมาร์ก
สำหรับการมองหาวิธีที่จะนำโชคมาให้ ชาวเดนมาร์กมั่นใจว่าพวกเขามีกลวิธีแปลกๆ ในเรื่องนี้ ตลอดเวลาระหว่างปี ชาวเดนมาร์กจะเก็บรักษาถ้วยชามและถ้วยกาแฟที่แตกแล้วไว้อย่างดี
จนถึงยามค่ำคืนก่อนถึงวันขึ้นปีใหม่ จึงจะมีการรวบรวมชิ้นส่วนของภาชนะดังกล่าวแล้วมาขว้างปาเข้าไปในบ้านของเพื่อนฝูงและญาติๆ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการอวยพรให้มีโชคลาภในปีใหม่นั้นๆ
สำหรับวิธีการที่นุ่มนวลกว่านี้สักหน่อยในการอวยพรให้มีโชค ก็คือการนำชิ้นส่วนของภาชนะที่แตกนั้นไปกองไว้ที่ประตูบ้านของคนที่รักและชอบพอ ประเพณีนี้สืบทอดกันมาหลายศตวรรษแล้ว และเป็นวิธีที่แปลกวิธีหนึ่งในการฉลองวันขึ้นปีใหม่
5. ประเพณีรัมสปริงก้า ของสหรัฐฯ
นิกายอะมิช มีเรื่องแปลกที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง ก็คือประเพณีการบรรลุยุค “รัมสปริงก้า” ชาวนิกายอะมิชเป็นชุมชนศาสนาที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในหลายพื้นที่ ในเพนซิลวาเนีย โอไฮโอ อินเดียน่า และมีชุมชนน้อยใหญ่อยู่ในรัฐอื่นๆ ด้วย
ชาวนิกายอะมิชใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย โดยไม่ใช้เทคโนโลยีใดๆ ตลอดจนไม่มีแฟชั่นด้วย เมื่ออายุย่างเข้าสิบหกปีจะถูกปล่อยให้ไปหาประสบการณ์ชีวิตข้างนอกได้เป็นครั้งแรก
รัมสปริงก้าหมายถึง กาลเวลาที่เด็กๆ จะเริ่มค้นหาศรัทธาและโลกของตนได้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะสามารถตัดสินใจว่า พวกเขาจะยังนับถือนิกายอะมิชต่อไปอีกหรือไม่
ทว่าไม่ว่าบรรดาเด็กวัยรุ่นทั้งหลายจะตัดสินใจกลับมานับถือนิกายนี้ต่อไปหรือไม่ หลังจากผ่านกาลเวลาแห่งรัมสปริงก้าแล้ว แต่ช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกภายนอกนั้นก็ไม่เปล่าประโยชน์
บรรดาวัยรุ่นอาจใช้ชีวิตของตนไปตามลำพัง หรืออาศัยอยู่กับครอบครัวของตนต่อไปก็ได้ พวกเขาจะสามารถซื้อรถมาใช้เอง สามารถไปมั่วสุมอยู่กับงานปาร์ตี้อุบาทว์ เริ่มดื่มเหล้าเป็นครั้งแรก เข้าศึกษาในสถาบันอื่นๆ นอกจากโรงเรียนของลัทธิอะมิช ซึ่งเปิดสอนถึงเพียงเกรด 8 เท่านั้น และเรื่องอื่นๆ อีกสารพัดเรื่อง โดยไม่มีการขัดขวางท้วงติง
6. การใช้ชีวิตร่วมกับศพคนตายในอินโดนีเซีย
ชนเผ่าโทราจาในอินโดนีเซียนั้น เมื่อคนตายลงก็จะนำไปฝังในสุสานตามปกติ แต่แทนที่จะปล่อยศพให้สงบอยู่ในสุสานเหมือนที่ทำกันโดยทั่วไป กลับมีการขุดศพของเพื่อนๆ และญาติมิตรในหมู่บ้านเดียวกันขึ้นมา แต่งเนื้อแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ตัดขึ้นเป็นการเฉพาะ แล้วพาแห่ไปรอบๆ หมู่บ้าน
แต่ก็จะมีการดูแลเรื่องความสะอาดศพ และเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวมใส่ ตลอดจนโลงศพเป็นอย่างดี ในกรณีที่มีการตายนอกหมู่บ้าน ซากศพนั้นจะถูกนำกลับไปยังจุดที่เสียชีวิตก่อนจะพาเดินเข้าหมู่บ้าน ซึ่งถือว่าเป็นการพากลับบ้าน
7. พิธีโยนเด็กทารกในอินเดีย
ชาวอินเดียในหมู่บ้านโซลาปุระ รัฐมหาราชตราของอินเดีย แม้รู้สึกว่าการทำพิธีโยนเด็กทารกนั้นจะไม่ค่อยปลอดภัยและไม่ใช่ประเพณีที่น่าสนุกนัก แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องต้องทำตามปกติที่เคยทำกันมา
เนื่องจากถือว่าการทำพิธีเช่นนี้กับเด็กทารกจะนำโชคมาให้ เพื่อว่าชีวิตในภายภาคหน้าจะยืนยาวและสุขภาพดี ทำให้สติปัญญาปราดเปรื่อง ซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์กับเด็กทารก ยิ่งกว่าอันตรายที่จะเกิดกับเด็ก
ในการประกอบพิธีกรรมนี้จะเริ่มจากการนำเด็กทารกที่เกิดใหม่โยนลงมาจากชั้นลอยของหอสูง 50 ฟุต โดยมีผู้คนกลุ่มหนึ่งคอยขึงผ้าไว้รองรับอยู่กับพื้นดินด้านล่าง
8. การสู้กันโดยใช้มะเขือเทศเป็นอาวุธ ที่ลาโทมาติน่า สเปน
ประเพณีนี้จัดขึ้นในร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองบูโนล สเปน ทุกเดือนสิงหาคมของทุกปีจะมีการจัดพิธีการยกพวกเข้าต่อสู้กันโดยใช้มะเขือเทศเป็นอาวุธในพิธีกรรมที่เรียกว่า “ลาโทมาติน่า” จะอนุญาตให้ใครก็ได้ถือมะเขือเทศเข้าร่วมในงานการต่อสู้ที่ดูวุ่นวายที่สุด แต่ก็สุดสนุก
เทศกาลต่อสู้กันนี้เริ่มขึ้นในปี 1945 เมื่อมีกลุ่มวัยรุ่นยกพวกมาตีกันที่จตุรัสใหญ่ของเมืองโดยใช้มะเขือเทศเป็นอาวุธ
9. พิธีโยนรองเท้าบูท ในฟินแลนด์
ฟินแลนด์ เป็นประเทศที่พระอาทิตย์ส่องแสงอยู่ตลอดเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง และในฤดูหนาวบรรยากาศจะมืดสลัวทึบมึนตลอดวันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ จึงไม่แปลกที่ชาวฟินแลนด์จะพากันคิดค้นเกมประหลาดๆ ออกมาเล่นเพื่อการบันเทิง ดังเช่น การแข่งขันโยนรองเท้าบูท
ประเพณีนี้เริ่มจัดให้มีขึ้นในปี 1992 ซึ่งจัดกันแพร่หลายมาก ถึงขั้นมีการจัดตั้งสมาคมแข่งขันการโยนรองเท้าบูทระดับโลกขึ้นเลย
10. พิธีชำระล้างมลทินในวันเกิดปีที่สามสิบ ในเยอรมัน
ในเยอรมัน คนที่อายุครบสามสิบปีแล้วยังไม่ได้แต่งงาน ไม่ต้องจัดงานฉลองวันเกิดให้เอิกเกริก สำหรับผู้หญิงที่ยังโสด เมื่ออายุครบสามสิบปีแล้วให้จัดพิธีฉลองวันเกิดด้วยการใช้แปรงสีฟันไปขัดลูกบิดประตูบ้านเพื่อนๆ
ส่วนชายโสดให้ไปปัดกวาดบันไดที่สำนักว่าการเมือง หรือสถานที่สาธารณะอื่นๆ ว่ากันว่าเมื่อได้รับการจุมพิตจากเพศตรงกันข้ามแล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องไปทำความสะอาดต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว
11. งานเลี้ยงบุฟเฟ่ต์ลิง ที่ประเทศไทย
ประเทศไทยของเราติดอันดับโลกแล้วครับในเรื่องประเพณีสุดแปลก นั่นคือประเพณีการจัดงานเลี้ยงอาหารลิงแบบบุฟเฟ่ต์ (โต๊ะจีนลิง) ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณพระปรางสามยอด อันเป็นโบราณสถานเก่าแก่นับพันปีของไทยที่ลพบุรี จะมีการจัดงานเลี้ยงอาหารลิงที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งจัดเป็นงานเทศกาลที่แปลกที่สุดในโลกงานหนึ่ง
มีการจัดผลไม้ ดอกไม้ประดับบริเวณงาน ตลอดจนขนมเค้ก ลูกกวาดที่นำมาจัดเลี้ยงในรูปแบบบุฟเฟ่ต์ คือใครใคร่กินอะไรให้เข้ามาหยิบจากโต๊ะที่วางอาหารไปเอง ไม่มีการเสิร์ฟให้
ฝูงลิงที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นได้รับการล่อใจด้วยอาหารก็จะเข้ามาเพลินกับอาหารที่จัดไว้ให้ ในงานจัดเลี้ยงประจำปี ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี
เรื่องโดย .เป้ง ปิยะเทพ
ภาพโดย. Ai