คำว่า “พลีชีพ” เป็นการบุกทำร้ายแบบชีวิตแลกชีวิต การที่จะเข้าโจมตีกันซึ่งๆ หน้า ไม่มีทางเอาชนะได้ จึงได้ใช้วิธีเข้าทำร้ายโดยไม่ให้รู้ตัว ใช้เพียงคนเดียวติดระเบิดเต็มตัว บุกเข้าประชิด แล้วจุดระเบิดที่ติดตัวมา สามารถคร่าชีวิตได้เป็นจำนวนมาก ยอมตายไปพร้อมๆ กันเพียงคนเดียว จนเรียกแบบนี้ว่า ระเบิดฆ่าตัวตาย
คำว่า “พลีชีพ” ไม่ได้เพิ่งจะมีใช้กันในยุคนี้เท่านั้น คำคำนี้เริ่มใช้กันแพร่หลายตั้งแต่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองบินคามิกาเซะของญี่ปุ่นบุกโจมตีกองเรือฝ่ายสัมพันธมิตรแบบจู่โจม ด้วยการบรรทุกระเบิดเต็มลำพุ่งชนเรือรบฝ่ายตรงข้ามให้ระเบิดไปพร้อมกัน ทำความเสียหายให้กับเรือฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างหนัก โดยยอมเสียเครื่องบินลำเดียวและนักบินเพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งเรียกวิธีการแบบนี้ว่า Suicide Attack หรือการโจมตีแบบพลีชีพ
การโจมตีแบบคามิกาเซะ ( Kamikaze) หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า กองกำลังจู่โจมพิเศษ (โทะกุเบะ สึโคเกะกิไต) เป็นคำในภาษาญี่ปุ่น มีความหมายว่าลมสวรรค์ นำมาใช้เป็นชื่อฝูงบิน และนักบินคามิกาเซะเท่านั้น ต่างจากในภาษาอังกฤษ ที่ชาวตะวันตกนำคำคำนี้ มาใช้เรียกการโจมตีแบบพลีชีพ (suicide attack) ของผู้ก่อการร้าย โดยระยะแรกคำคำนี้ได้ถูกนำมาใช้เรียกอากาศยานพลีชีพของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งบรรทุกระเบิดเต็มระวาง และพุ่งเข้าชนเรือข้าศึก คำนี้ยังหมายถึงนักบินผู้บังคับอากาศยานประเภทนี้ด้วย
คำว่า คามิกาเซะ มาจากคำสองคำต่อกัน คือ kami หมายถึงพระเจ้า (god) และ kaze หมายถึงลม (wind) รวมกันมีความหมายว่าลมแห่งสวรรค์ หรือ divine wind ในภาษาอังกฤษ และยังหมายถึงชื่อพายุไต้ฝุ่น ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 1824 ซึ่งพายุลูกนี้ทำให้กองทัพเรือของจีนจำนวน 4,500 ลำ ในสมัยของจักรพรรดิกุบไลข่าน ที่จะเข้าโจมตียึดญี่ปุ่นต้องล้มเหลวลงโดยสิ้นเชิง ชาวญี่ปุ่นเป็นหนี้บุญคุณ พายุไต้ฝุ่นลูกนี้เป็นอย่างมาก จึงได้ตั้งชื่อว่า “คามิกาเซะ” แปลว่า “พายุเทพเจ้า” และเป็นที่มาของชื่อกองบิน “คามิกาเซะ” ในกองทัพอากาศญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2
กำเนิดของกองบินนี้ เริ่มจากนาวาโท อะไซกิ ทาไม อาจารย์สอนการบินทหารเรือ ได้สอบถามนักเรียนการบิน 23 คนในกลุ่มว่า มีใครสนใจจะเข้าร่วมในกองกำลังโจมตีพิเศษนี้บ้าง (Special Attack Force) โดยนักเรียนทั้งหมดตกลงที่จะเข้าร่วมการปฏิบัติการครั้งนี้ ต่อมายูคิโอะ เซกิ ก็เข้าร่วมเป็นคนที่ 24 หน่วยโจมตีพิเศษคามิกาเซะนี้ มี 4 หน่วยย่อย คือหน่วยชิคิชิมา ( shikishima), หน่วยยามาโตะ (Yamato), หน่วยอาซาฮิ (Asahi) และหน่วยยามาซาคูรา (Yamazakura) ชื่อของหน่วยย่อยเหล่านี้ นำมาจากบทกวีเกี่ยวกับความรักชาติ ซึ่งประพันธ์โดยนักปราชญ์ยุคคลาสสิกของญี่ปุ่น ชื่อ โมโตริ โนรินากะ
หลักฐานเกี่ยวกับการโจมตีของคามิกาเซที่เชื่อถือได้ จากรายงานโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตร คือการโจมตีเรือลาดตระเวนหนักของออสเตรเลีย ชื่อ HMAS Australia เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2487 ซึ่งถูกเครื่องบินญี่ปุ่นบรรทุกระเบิดหนัก 200 กิโลกรัม พุ่งเข้าชนกลางทะเลนอกเกาะเลเต (Leyte) เครื่องบินลำนี้ปะทะเข้ากับส่วนโครงสร้างเหนือดาดฟ้าใหญ่ของเรือ เหนือสะพานเดินเรือ เกิดการระเบิดขึ้นทำให้น้ำมันลุกไหม้ และซากปรักหักพังกระจัดกระจายเป็นวงกว้าง แต่ระเบิดหนัก 200 กิโลกรัมที่ติดมากับเครื่องบินไม่เกิดการระเบิด มีคนเสียชีวิตบนเรืออย่างน้อย 30 นาย แต่การโจมตีครั้งนี้ไม่ได้มาจากเครื่องบินคามิกาเซของหน่วยโจมตีพิเศษ (special attack unit) ภายใต้การนำของนาวาโท ทาไม แต่เป็นการปฏิบัติการของนักบินญี่ปุ่นไม่ทราบนาม
ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2487 ฝูงบินคามิกาเซะ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินซีโร่ (Zero) จำนวน 5 ลำ นำโดยเรือโทเซกิ ได้เข้าโจมตีเรือคุ้มกัน เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ ชื่อ USS St. Lo แม้ว่าจะมีเครื่องบินซีโร่เพียงลำเดียว ที่พุ่งเข้าชนเรือ USS St. Lo ได้สำเร็จ แต่ก็ส่งผลเกินคุ้ม ระเบิดที่ติดมากับเครื่องบินเกิดระเบิดไฟลุกไหม้ ลุกลามต่อไปยังคลังระเบิดของเรือ USS St. Lo เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงจนเรือจม
นอกจากนี้ เครื่องบินคามิกาเซะลำอื่นๆ ได้สร้างความเสียหายให้เรือรบฝ่ายสัมพันธมิตรอีกมากมายนับไม่ถ้วน เนื่องจากเรือรบของสัมพันธมิตรจำนวนมากในยุคนั้น ดาดฟ้าเรือทำด้วยไม้ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของไฟจากระเบิดได้เป็นอย่างดี กล่าวได้ว่าเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ ในช่วงนั้น ตกเป็นเป้าการโจมตีของคามิกาเซได้ง่ายกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินของอังกฤษ ที่มีดาดฟ้าทำด้วยเหล็ก และเรือดังกล่าวเข้าประจำการในกองเรือแปซิฟิกของอังกฤษในช่วงปี พ.ศ. 2488
เรือ HMAS Australia กลับมาร่วมรบได้อีกครั้ง ในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2488 และได้ถูกฝูงบินคามิกาเซะโจมตีถึงหกครั้ง มีทหารประจำเรือเสียชีวิตถึง 86 นาย แต่เรือก็รอดจากการถูกทำลายมาได้ เรือรบของฝ่ายสัมพันธมิตรลำอื่นๆ ที่รอดจากการระเบิดและจมลงทะเล แม้จะถูกฝูงบินคามิกาเซะโจมตีซ้ำหลายครั้ง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น เรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ ชั้น Essex ของสหรัฐฯ จำนวน 2 ลำ คือ เรือ USS Intrepid และ USS Franklin
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จากการรายงานของประเทศญี่ปุ่น นักบินทหารเรือของราชนาวีญี่ปุ่น สังเวยชีวิตไปในภารกิจพลีชีพนี้ ถึง 2,525 นาย และนักบินพลีชีพคามิกาเซะ ในส่วนของกองทัพบกญี่ปุ่น เสียชีวิต 1,387 นาย ตามสถิติที่ทางฝ่ายญี่ปุ่นได้บันทึกไว้ เหล่านักบินที่ห้าวหาญนี้ จมเรือรบของฝ่ายสัมพันธมิตรไป 81 ลำ และทำความเสียหายให้เรือรบอีก 195 ลำ คามิกาเซะได้สร้างความสูญเสียให้แก่กองทัพเรือสหรัฐฯ ในการรบทางทะเลฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จากสาเหตุความสูญเสียทั้งหมด
แต่จากข้อมูลของฝ่ายสัมพันธมิตรชี้ว่า มีเรือรบฝ่ายสัมพันธมิตรจมลง จากการโจมตีของคามิกาเซะเพียง 34 ลำ และอีก 288 ลำได้รับความเสียหาย ปฏิบัติการของเหล่านักบินคามิกาเซะที่ดูบ้าบิ่นเกินมนุษย์ในสายตาของชาวตะวันตก แต่ชาวญี่ปุ่นกลับมีความคิด และความรู้สึกกับหน่วยโจมตีพิเศษนี้ ด้วยความต้องการเสียสละ จึงไม่เคยขาดแคลนอาสาสมัครนักบินที่จะมาทำงานให้แก่หน่วยโจมตีพิเศษพลีชีพคามิกาเซะ มีจำนวนคนที่ต้องการจะมาเป็นนักบินพลีชีพมากกว่าจำนวนเครื่องบินที่มีอยู่ถึงสามเท่า ในการคัดเลือกตัวนักบิน พวกนักบินมากประสบการณ์ต่าง ๆ จะถูกกีดกันออกไป เนื่องจากนักบินเหล่านี้ มีคุณค่าในการรบเชิงป้องกัน (defensive) และในการฝึกสอนนักบินรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งทางกองทัพจะต้องอาศัยนักบินมากประสบการณ์เหล่านี้ในระยะยาว
นักบินพลีชีพคามิกาเซะ ส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง 20 ปี ส่วนมากเป็นนักศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย แรงจูงใจที่ทำให้นักศึกษาเหล่านี้ เข้าร่วมเป็นนักบินพลีชีพของกองทัพ มาจากความรักชาติ (patriotism), ความปรารถนาที่จะนำเกียรติยศมาสู่วงศ์ตระกูลของตนเอง ด้วยการสละชีพเป็นชาติพลี และเพื่อพิสูจน์คุณค่าของความเป็นลูกผู้ชาย ซึ่งกลายเป็นความนิยมรักชาติของวัยรุ่นญี่ปุ่นในขณะนั้น
ก่อนที่นักบินคามิกาเซะจะออกปฏิบัติการเพียงเล็กน้อย ธรรมเนียมปฏิบัติที่ทางหน่วยจะจัดขึ้นเป็นพิธีพิเศษให้แก่นักบินเหล่านี้ คือมีการสวดมนต์ให้พรนักบิน และญาติมิตรของนักบินที่มาร่วมในงาน เหล่านักบินจะได้รับเครื่องยศทางทหาร ซึ่งมีผลต่อขวัญและกำลังใจของนักบินที่จะออกไปปฏิบัติการ ทำให้เกิดภาพพจน์และแรงจูงใจที่ดีต่ออาสาสมัครที่ต้องการจะมาเป็นนักบินคามิกาเซรุ่นต่อๆ ไป
เป้าหมายของฝูงบินคามิคาเซะ จะอยู่ที่การโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาเพื่อตัดกำลังทางทหาร เนื่องจากในตอนนั้น ญี่ปุ่นรู้ดีว่าไม่สามารถเอาชนะอเมริกาได้ เพราะว่าไม่มียุทธภัณฑ์ที่จะนำมาต้านอเมริกา จะมีก็แต่กำลังพลชีวิตทหารกับเครื่องบินที่บรรทุกระเบิดพร้อมกับเชื้อเพลิงที่จำกัด พอเอาไว้บังคับให้พุ่งชนกับเรือรบอเมริกา 1 ลำ นับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่น้อยและคุ้มค่า อย่างในช่วงยุทธการโอกินาวาที่รบกันอย่างดุเดือดตลอด 82 วัน
ญี่ปุ่นใช้กลยุทธ์เครื่องบินพลีชีพคามิคาเซะทำลายกองทัพเรือสหรัฐฯ ทำให้มีคนเสียชีวิตเกือบ 5,000 คนในการโจมตีครั้งเดียว มีข้อมูลว่าตลอดช่วงสงคราม ฝูงบินคามิคาเซะจมเรือรบไป 34 ลำ และอีกนับร้อยลำได้รับความเสียหาย แต่ในเหล่านักบินพลีชีพก็ไม่ได้มีใครเต็มใจอยากจะเอาชีวิตตัวเองไปตาย แต่ด้วยในช่วงนั้น ญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่มีความเป็นชาตินิยมสูงมาก มีความจงรักภักดีต่อองค์จักรพรรดิและพร้อมจะเสียสละเพื่อชาติ หากใครไม่สมัครใจเข้าร่วมในภารกิจ ก็จะถูกดูแคลนจากหมู่เพื่อนว่าไม่ยอบรับใช้ชาติ และจากความกดดันนี้เอง จึงแทบไม่มีใครปฏิเสธที่จะเข้าร่วมภารกิจพลีชีพนี้เลย
หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรม จนกลับมาเป็นประเทศมหาอำนาจอีกครั้ง ไม่ใช่มหาอำนาจทางทหาร แต่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกมาจนถึงปัจจุบัน
เรื่องโดย. ทิวากร สุวพานิช
ภาพโดย. www.gypzyworld.com, www.alwamid.com, historythings.com, www.pinterest.com