19 เมษายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ที่จริงอาถรรพ์ร้ายในวันที่ 25 ธันวาคม มีขึ้นทุกปีมานานกว่าห้าพันปีแล้ว ทว่าอาถรรพ์ร้ายในวันนี้ ที่เกิดขึ้นนับแต่โลกเริ่มเย็นลง และมีสังคมมนุษย์อุบัติขึ้น ซึ่งหมายความว่า อาจเกิดขึ้นมานานกว่าห้าพันปีมาแล้วก็ได้ ทว่ากาลเวลาที่ยาวนานกว่าห้าพันปี มนุษย์ยังไม่รู้จักการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้คนรุ่นหลังได้รับทราบเท่านั้นเอง เท่าที่มีหลักฐานชี้ว่ามีอาถรรพ์ร้ายที่เกิดขึ้นในวันที่ 25 ธันวาคม ย้อนหลังไปเพียงห้าพันปีเท่านั้น ดังนี้

* 25 ธันวาคม 1751 – เริ่มปฏิทินใหม่

ย้อนกลับไปในยุคที่มนุษย์เริ่มรู้จักการกำหนดวันเดือนปีขึ้นมาใช้กัน หรือกำหนดปฏิทินขึ้นมา ยุคนั้นคือยุคบาบิโลเนียน ซึ่งการกำหนดวันเดือนปี ถือเอาการเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์เป็นหลัก ที่เรารู้จักกันในชื่อว่าปฏิทินจันทรคติ โดยกำหนดให้หนึ่งเดือน มาจากการเกิดข้างขึ้น1ครั้งและข้างแรม 1 ครั้ง ชาวบาบิโลนยังสามารถสังเกตจนกำหนดได้ว่า เมื่อครบรอบ 12 เดือนแล้ว ฤดูกาลต่างๆ ก็จะเริ่มวนมาซ้ำแบบเดิม

ปฏิทินจูเลียน (Julian Calendar)

ดังนั้น พวกเขาถึงกำหนดว่า 12 เดือนเป็น 1 ปี จากนั้นอาณาจักรอื่นๆ ในยุคเดียวกันเช่น อียิปต์ กรีก และเซเมติก จึงนำเอาปฏิทินแบบบาบิโลเนียนไปใช้บ้าง และพัฒนาต่อๆ กันมาเพื่อให้เกิดความแม่นยำมากยิ่งขึ้น จนกระทั่ง ถึงสมัยโรมันในยุคของจูเลียส ซีซาร์ ได้ปรับปรุงให้ปฏิทินของพวกเขามี 365 วัน จากเดิมที่มีแค่ 355 วัน ทั้งนี้จูเลียส ซีซาร์ ได้ความรู้มาจากนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โซซิเจเนส ซึ่งปฏิทินแบบนี้ได้รับการเรียกขานว่า ปฏิทินจูเลียน (Julian Calendar) ชาวโรมันเริ่มใช้ปฏิทินจูเลียนมาตั้งแต่ปีที่ 46 ก่อนคริสตกาล และยาวนานไปจนถึงปี ค.ศ.1582 จึงมีการปรับปรุงอีกครั้ง ซึ่งครั้งนั้นผู้ที่สั่งให้มีการแก้ไขคือ พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 เพราะพบว่ายังมีความคลาดเคลื่อนบางอย่างอยู่ในปฏิทินจูเลียน เช่น ปรากฏการณ์ประจำปีต่างๆ จะเร็วขึ้นกว่าเดิมไปทุกปีๆ พระองค์ให้จัดจำนวนวันที่เหลือในปีนั้นออกไป 10 วัน จากวันที่ 4 ตุลาคม จะกลายเป็นวันที่ 15 ตุลาคม และทุกสี่ปีให้เพิ่มวันเข้าไปอีก 1 วัน คือ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ เพื่อให้วงโคจรของโลกกับปฏิทินตรงกัน

นอกจากนั้น พระองค์ยังให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี จากเดิมที่เคยถือเอาวันที่ 25 มีนาคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อเป็นพระบัญชาจากองค์สันตะปาปา ซึ่งมีอำนาจเหนืออาณาจักรทั้งปวงในยุโรปยุคนั้น ผู้ปกครองต่างๆ จึงต้องยอมรับตามปฏิทินแบบใหม่ ซึ่งก็คือแบบที่ชาวโลกส่วนมากใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เรียกว่า ปฏิทินเกรกอเรียน (Gregorian Calendar) แต่ยกเว้นประเทศอังกฤษ ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ (Protestant) ที่ไม่ลงรอยกับนิกายโรมันคาทอลิก อันมีองค์สันตะปาปาเป็นประมุข ความหัวแข็งของกษัตริย์ผู้ปกครองอังกฤษ ในเรื่องการใช้ปฏิทินสืบต่อยาวนานไปถึงเกือบสองศตวรรษ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1751 วันที่ 25 ธันวาคม รัฐสภาของอังกฤษ จึงมีมติให้เปลี่ยนไปใช้ปฏิทินเกรกอเรียนแทน

ที่เขียนมาทั้งหมด เพื่อให้เห็นที่มาที่ไปก่อน เพราะในยุคนั้นเป็นยุคที่ชาติในยุโรปกำลังแข่งกัน ออกล่าอาณานิคมกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ อังกฤษ ดังนั้นเมื่ออังกฤษตกลงเปลี่ยนไปใช้ปฏิทินแบบเกรกอเรียน จึงต้องให้อาณานิคมของตนทุกแห่งใช้ตามด้วย ทำให้ปฏิทินเกรกอเรียนแพร่หลายออกไปทั่วโลก จากเดิมที่ใช้กันเฉพาะในยุโรปเป็นส่วนใหญ่ เพราะอังกฤษมีอาณานิคมกระจายอยู่ทั่วทุกทวีปบนโลกนั่นเอง

* พักรบช่วงคริสต์มาส (Christmas Truce 1914)

หนึ่งในเหตุการณ์น่าสนใจที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1914 ซึ่งเป็นช่วงที่ยุโรปเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (28 กรกฎาคม 1914 – 11 พฤศจิกายน 1918) ได้ไม่นานนัก ประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนจะถึงวันคริสต์มาส กองทหารแนวหน้าของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) กับเยอรมันตกลงหยุดยิงกันชั่วคราว การหยุดยิงนี้เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเรียกว่า Christmas Truce ท่านลองคิดดูว่า มันแปลกดีไหมยิงกันอยู่ดีๆ พอใกล้ถึงวันคริสต์มาส ก็เกิดคิดตรงกันขึ้นมาได้ ว่านี่มันน่าจะเป็นเวลาของการฉลอง เป็นเวลาที่ทุกคนควรจะมีความสุขนี่นา อย่ากระนั้นเลย เราพักรบกันสักช่วงหนึ่งแล้วมาฉลองเหมือนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ออกรบกันเถอะ ซึ่งอีกฝ่ายก็เห็นดีด้วย ว่ากันว่า จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่ว่าอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า เขตปลอดทหาร (No man’s land) ในประเทศฝรั่งเศส อยู่ๆ ก็มีเสียงเพลงคริสต์มาสดังขึ้นมาจากสนามเพลาะของฝ่ายเยอรมัน จากนั้นก็มีทหารเดินขึ้นมาจากหลุมบังเกอร์โดยไม่มีอาวุธใดๆ ทหารฝ่ายอังกฤษเห็นอย่างนั้นก็เข้าใจเจตนาของอีกฝ่าย จึงออกจากบังเกอร์ของฝ่ายตนบ้าง แล้วเดินไปหาอีกฝ่าย จับมือทักทายพูดคุยและเอาบุหรี่กับขนมพุดดิ้งให้กับอีกฝ่าย แล้วถ่ายรูปร่วมกัน บางแนวรบก็แค่สลับกันร้องเพลงคริสต์มาสให้ฝ่ายตรงข้ามฟัง ยิ่งพอถึงวันที่ 24 และ 25 ซึ่งทุกฝ่ายต่างก็ลดความตึงเครียดลงไป จนถึงขั้นฉลองกันด้วยการทานอาหารและแลกของขวัญกัน แถมตบท้ายด้วยการร้องเพลงคริสต์มาสร่วมกัน ยิ่งไปกว่านั้น บางจุดถึงขั้นจัดทีมแข่งฟุตบอลกันเลยทีเดียว ปีต่อๆ มาทหารแนวหน้าก็พยายามจะหยุดยิงกันแบบปี 1914 อีก แต่ก็ไม่แพร่หลายเหมือนเดิม อาจจะเป็นเพราะมีคำสั่งห้ามจากหน่วยเหนือก็เป็นได้ ประกอบกับในปี 1916 มีก๊าซพิษไปใช้ในสงครามด้วย ทำให้ Christmas Truce ต้องหมดไปโดยอัตโนมัติ

* คริสต์มาสวิปโยคอุทกภัย ค.ศ.1717 และ 1974

ในคืนที่หนาวเหน็บของวันคริสต์มาสปี ค.ศ.1717 ทางเหนือของทวีปยุโรป ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เยอรมนีและแถบสแกนดิเนเวีย เกิดพายุใหญ่ที่พัดมาจากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เหตุการณ์ในครั้งนั้น นอกจากลมพายุจะพัดทำลายพื้นที่ตามแนวชายฝั่งของประเทศที่กล่าวมาแล้ว ทำให้หมู่บ้านจำนวนมากที่อยู่ติดทะเลถูกพายุทำลายเสียหายจนราบเป็นหน้ากลอง ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ทำความเสียหายเป็นวงกว้างต่อเมืองใหญ่หลายเมืองอย่าง Groningen, Zwolle, Dokkum, Amsterdam และ Haarlem เฉพาะบริเวณรอยต่อของเยอรมันกับเดนมาร์ก ที่เรียกว่า สเลสวิก (Sleswig) ชาวบ้านจมน้ำตายไปถึง 9,000 คน

ส่วนที่เนเธอร์แลนด์มีผู้ประสบภัย ซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยถึง 2,500 คน เมืองที่เจอหนักที่สุดคือ โอลเดนบูร์ก (Oldenburg) ในเยอรมันที่สูญเสียชาวพื้นเมืองไปถึง 30% นอกจากชีวิตผู้คนแล้ว ปศุสัตว์จำนวนมากกับบ้านเรือนมากกว่า 900 หลังคาเรือนก็ถูกกวาดหายไปกับสายน้ำที่รุนแรง ไม่เพียงเท่านั้น ภายหลังที่น้ำท่วมผ่านไป พายุหิมะก็เข้ากระหน่ำซ้ำเติมอีก โดยสรุปแล้ว คริสต์มาสวิปโยคในปีนั้น คร่าชีวิตผู้คนไปถึงราว 14,000 คน ลองคิดดู ในสมัยนั้นผู้คนยังมีไม่มากเท่าสมัยนี้ ตัวเลข 14,000 คน จึงเป็นตัวเลขที่สูงมากทีเดียว

อีกครั้งในปี ค.ศ.1974 ที่ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย พายุไซโคลนชื่อ เทรซี่ พัดเข้าถล่มเมืองดาร์วิน ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของแถบนั้น วันที่ 20 ธันวาคม ตรวจพบกลุ่มเมฆขนาดใหญ่มาก เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นพายุในทะเลอราฟูร่า ห่างจากเมืองดาร์วินไปแค่ 370 กม. จากนั้นมันเริ่มเคลื่อนตัวลงทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นทิศทางที่ไม่ได้ตรงเข้าสู่ตัวเมือง แต่พอถึงเช้าวันที่ 24 เทรซี่เริ่มเปลี่ยนทิศทาง มันเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนั่นคือที่ตั้งของเมืองดาร์วินนั่นเอง เย็นวันที่ 24 ท้องฟ้าทั่วเมืองปกคลุมไปด้วยเมฆมืดครึ้มที่ลอยอยู่ต่ำๆ อย่างน่ากลัว จากนั้นเมื่อย่างเข้าวันที่ 25 ฝนก็เริ่มตกอย่างหนัก พร้อมกับลมที่พัดอย่างรุนแรง มันทำลายอาคารบ้านเรือนในเมืองดาร์วินไปมากกว่า 70% มีผู้เสียชีวิตไปทั้งสิ้นรวม 71 คน ผู้คนไร้ที่อยู่อาศัย 41,000 คน มูลค่าความเสียหายในขณะนั้น 837 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

อีกเหตุการณ์ที่ชาวโลก ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่กันในช่วงนี้ต้องจำได้ แม้จะไม่ได้เกิดในวันที่ 25 ธันวาคม แต่ก็ถัดไปอีกวันเดียว คือวันที่ 26 ธันวาคม 2004 นั่นคือ การเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ในทะเลใกล้ชายฝั่งเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย จากนั้นสึนามิที่มีกำลังทำลายล้างเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ ที่ไปทิ้งยังเมืองฮิโรชิมาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวน 23,000 ลูก (ตามการคำนวณของนักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกา) ก็เกิดตามมา สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน คิดเป็นมูลค่ามหาศาล คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนไม่น้อยกว่า 150,000 คน เฉพาะรายงานผู้เสียชีวิตในประเทศไทยอย่างเป็นทางการคือ 4,812 ราย บาดเจ็บมากกว่าแปดพันราย และสูญหายไปอีกมากกว่าสี่พันราย

* คริสต์มาส 1941 ญี่ปุ่นยึดฮ่องกง

ต่อเนื่องมาจากการเข้าโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาเบอร์ของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 วันถัดมา คือวันที่ 8 ธันวาคม กองทัพญี่ปุ่น ซึ่งกำลังรุกคืบเข้ายึดดินแดนต่างๆ ในแถบตะวันออกของทวีปเอเชีย ก็เปิดแนวรบอีกแนวด้วย การเข้าโจมตีเกาะฮ่องกงที่อังกฤษครอบครองอยู่ ญี่ปุ่นส่งฝูงเครื่องบินไปทิ้งระเบิดถล่มตัวเมือง โดยที่กองกำลังของอังกฤษ ที่มีเพียงหยิบมือเมื่อเทียบกับแสนยานุภาพของกองทัพองค์จักรพรรดิไม่สามารถจะต่อต้านได้มากนัก อังกฤษพยายามจะอพยพชาวจีนจากเกาะฮ่องกงไปยังฟิลิปปินส์ แต่ก็ถูกกองเรือรบญี่ปุ่นไปล้อมสกัดไว้ในเวลานั้น เกาะฮ่องกงเหมือนถูกปิดตายและโดดเดี่ยวไม่มีกองกำลังจากฝ่ายใดเข้าไปช่วยได้เลย เพราะทางมณฑลกวางตุ้งฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งอยู่ตรงข้ามเกาะฮ่องกง ก็ถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดครองไปตั้งแต่สามปีก่อนหน้านั้นแล้ว ต่อมาญี่ปุ่นก็เพิ่มแรงกดดันให้ฝ่ายอังกฤษอีก ด้วยการตัดน้ำและไฟฟ้า จนในที่สุดเช้าของคริสต์มาสปีนั้นฝ่ายอังกฤษโดยเซอร์ มาร์ก ยัง ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง จำใจต้องยกธงขาวยอมแพ้และลงนามยกเกาะฮ่องกงให้ญี่ปุ่น

ก่อนที่อังกฤษจะยอมแพ้ต่อกองทัพญี่ปุ่น ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น ทางรัฐบาลอังกฤษตอบรับความช่วยเหลือทางทหารจากประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเครือจักรภพ Commonwealth ที่เสนอความช่วยเหลือในการส่งกำลังทหารใหม่จำนวนร่วม 2,000 นายเข้าไปที่นั่น เพื่อเสริมกองกำลังของทหารอังกฤษบนเกาะฮ่องกง แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลสหราชอาณาจักรกลับตัดสินใจที่จะไม่เสริมกำลังของตนเองเข้าไป ศึกครั้งนั้นรวมกำลังพลของฝ่ายอังกฤษแล้วมีราว 14,000 นาย ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นมีถึง 52,000 นาย ผลจึงเป็นอย่างที่ทราบ ญี่ปุ่นเข้าครอบครองเกาะฮ่องกงเป็นเวลาทั้งสิ้นสามปีกับแปดเดือน การครอบครองสิ้นสุดลงเมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

พระท่านว่าทุกวันเป็นวันดีได้ ถ้าจิตใจเราดี ขณะเดียวกัน ถ้าเราไปเบียดเบียนใครมา ไม่ว่าวันนั้นจะเป็นวันฤกษ์ดี วันธงชัย ฯลฯ จิตใจก็ย่อมร้อนรุ่ม ไม่มีความสุข โลกเราหมุนตลอดเวลา พร้อมกับที่จิตใจและความอยากของมนุษย์ก็ไม่เคยหยุดพักเช่นกัน ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงอะไรบนโลกเราจึงเป็นเรื่องปกติ ผู้ที่เข้าใจและปรับตัวไปตามเหตุการณ์ก็จะทุกข์น้อย เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

เรื่องโดย. ทิวากร สุวพานิช

ภาพโดย. www.thairath.co.th, thechaplainkit.com, blog.obitel-minsk.com, stem.in.th


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •