27 กรกฎาคม 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

การแขวนคอ ควักไส้ และผ่าสี่ เป็นโทษประหารชีวิตสำหรับนักโทษชายที่มีความผิดฐานเป็นกบฏต่อแผ่นดินอังกฤษ ประกาศใช้ครั้งแรกในพระราชบัญญัติกบฏ ค.ศ. 1351 แต่มีการใช้มาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1238 แล้ว ส่วนนักโทษหญิงที่มีความผิดฐานเดียวกันจะถูกเผาทั้งเป็นแทน การแขวนคอ ควักไส้ และผ่าสี่ จะเริ่มจากการผูกนักโทษประหารไว้กับม้า แล้วลากไปยังลานประหาร ก่อนจะแขวนคอนักโทษแต่ไม่ให้ถึงตาย จากนั้นจะตัดอวัยวะเพศ ควักเครื่องใน ตัดศีรษะ และสับร่างกายออกเป็น 4 ส่วน แล้วนำไปเสียบประจานตามสถานที่ต่างๆ วิธีการประหารชีวิตที่โหดเหี้ยมอำมหิตดังกล่าวนี้ ได้ถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ. 1870

สำหรับนักโทษประหารที่ถูกแขวนคอ ควักไส้ ผ่าศพสี่ส่วนที่เรารู้จักกันดีในประวัติศาสตร์นั้นก็คือ “กาย ฟอกส์” (Guy Fawkes; 13 เมษายน ค.ศ. 1570 – 31 มกราคม ค.ศ. 1606) หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า “กวีโด ฟอกส์” (Guido Fawkes) อันเป็นชื่อที่เขาใช้ขณะสู้รบให้กับสเปนในกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ เป็นสมาชิกกลุ่มคาทอลิกอังกฤษสาขาย่อยผู้วางแผนแผ่นดินปืน (Gunpowder Plot) ที่ล้มเหลวในปี ค.ศ. 1605

ฟอกส์เกิดและได้รับการศึกษาในยอร์ก บิดาเขาเสียชีวิตเมื่อฟอกส์อายุได้แปดขวบ จากนั้นมารดาเขาสมรสกับผู้นับถือคาทอลิก ที่ไม่เข้าร่วมกิจการของศาสนจักรแห่งอังกฤษ ภายหลังฟอกส์เปลี่ยนมานับถือคาทอลิก และเดินทางไปแผ่นดินใหญ่ยุโรป ที่ซึ่งเขาสู้รบในสงครามแปดสิบปี โดยอยู่ฝ่ายสเปนคาทอลิก และสู้รบกับนักปฏิรูปดัตช์โปรเตสแตนต์ เขาเดินทางไปสเปนเพื่อแสวงการสนับสนุนกบฏคาทอลิกในอังกฤษ แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาภายหลังเขาพบทอมัส วินเทอร์ (Thomas Wintour) ซึ่งเดินทางกลับอังกฤษพร้อมกับเขาด้วย วินเทอร์แนะนำฟอกส์ให้รู้จักรอเบิร์ต เคตส์บี (Robert Catesby) ผู้วางแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเจมส์ที่ 1 และฟื้นฟูพระมหากษัตริย์คาทอลิกสู่ราชบัลลังก์ กลุ่มผู้วางแผนเช่าห้องใต้ดินใต้สภาขุนนาง และฟอกส์ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบระเบิดดินปืนที่พวกเขาเก็บสะสมไว้ที่นั่น ทางการค้นพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ในช่วงเช้ามืดวันที่ 5 พฤศจิกายนหลังได้รับการแจ้งเตือนจากจดหมายนิรนาม และพบว่าฟอกส์กำลังเฝ้าระเบิดอยู่ เขาถูกสอบสวนและทรมานอยู่สองสามวันจนยอมเปิดเผยข้อมูลในที่สุด ก่อนการประหารชีวิตในวันที่ 31 มกราคม ฟอกส์กระโดดจากตะแลงแกงที่เขากำลังจะถูกแขวนคอ และคอหัก จึงไม่ได้รับความทรมานจากการถูกตัดและคว้านอวัยวะที่ตามมา

ชื่อของฟอกส์กลายเป็นคำพ้องกับแผนระเบิดดินปืน มีการเฉลิมฉลองความล้มเหลวของแผนดังกล่าวในอังกฤษตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1605 ตามประเพณีมีการเผาหุ่นจำลองของเขาบนกองไฟ ซึ่งมักร่วมด้วยการแสดงดอกไม้ไฟ

ย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นเรื่อง “กาย ฟอกส์” เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1570 ในย่านสโตนเกตของเมืองยอร์ก เขาเป็นบุตรคนที่สองจากสี่คนของ “เอดเวิร์ด ฟอกส์” ผู้แทนในคดี และทนายความของศาลคันซิสทอรี (consistory court) หรือศาลสงฆ์ประเภทหนึ่งในยอร์ก และภรรยา อีดิธ บิดามารดาของกายเป็นสมาชิกคริสตจักรแห่งอังกฤษเช่นเดียวกับปู่ย่า ย่าเขาซึ่งมีชื่อเมื่อเกิดว่า เอลเลน แฮร์ริงตัน เป็นธิดาพ่อค้าคนสำคัญที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองยอร์ก ในปี ค.ศ. 1536 ทว่าครอบครัวของมารดาเป็นคาทอลิกที่ไม่เข้าร่วมกิจการของคริสตจักรแห่งอังกฤษ และลูกพี่ลูกน้อง ริชาร์ด คาวลิง บวชเป็นบาทหลวงคณะเยสุอิต

สำหรับชื่อ “กาย” เป็นชื่อที่พบน้อยในประเทศอังกฤษ แต่อาจได้รับความนิยมในยอร์ก เพราะเป็นชื่อของผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่นคือ เซอร์กาย แฟร์แฟกซ์แห่งสตีตัน ไม่มีใครทราบวันเกิดของฟอกส์ แต่เขาผ่านพิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชนในโบสถ์เซนต์ไมเคิลเลเบลฟรีย์ (St. Michael le Belfrey) ในวันที่ 16 เมษายน ตามจารีตประเพณี มีการเว้นช่วงระหว่างการเกิดกับพิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชนสามวัน จึงเป็นไปได้ว่าเขาเกิดวันที่ 13 เมษายน เพราะในปี ค.ศ. 1568 อีดิธ มารดาของเขาให้กำเนิดธิดาคนหนึ่งชื่อแอนน์ แต่ทารกเสียชีวิตเมื่ออายุได้ราวเจ็ดสัปดาห์คือในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เธอคลอดบุตรอีกสองคนหลังจากกาย ได้แก่ แอนน์ (เกิดปี ค.ศ. 1572) และเอลิซาเบธ (เกิดปี ค.ศ. 1575) ทั้งคู่สมรสในปี ค.ศ. 1599 และ ค.ศ. 1594 ตามลำดับ ในปี ค.ศ. 1579 เมื่อกายอายุได้แปดขวบ บิดาเขาเสียชีวิต อีกหลายปีให้หลังมารดาสมรสใหม่กับเดนิส เบย์นบริดจ์ ผู้นับถือคาทอลิก ชาวบ้านสกอตตัน เขตแฮร์โรเกต ฟอกส์อาจเปลี่ยนมานับถือคาทอลิกตามตระกูลเบย์น บริดจ์ และตามสายคาทอลิกของตระกูลพุลลีน และเพอร์ซีแห่งบ้านสกอตตัน

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1591 ฟอกส์ขายที่ดินกรรมสิทธิ์ในคลิฟตันที่ตกทอดมาจากบิดา และเดินทางไปยังยุโรปแผ่นดินใหญ่เพื่อสู้รบในสงครามแปดสิบปีร่วมกับสเปนคาทอลิกซึ่งต่อต้านสาธารณรัฐดัตช์ (และฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1595 จนมีการทำสนธิสัญญาแวร์แว็งในปี ค.ศ. 1598) แม้อังกฤษมิได้เข้าร่วมในปฏิบัติการภาคพื้นดินต่อสเปนในเวลานั้น แต่ทั้งสองประเทศยังอยู่ในภาวะสงคราม และเหตุการณ์อาร์มาดาสเปน ค.ศ. 1588 เพิ่งผ่านไปได้ห้าปี เขาเข้าร่วมกับเซอร์วิลเลียม สแตนลีย์ ชาวอังกฤษคาทอลิกและผู้บังคับบัญชาผ่านศึกในวัยห้าสิบกลาง ๆ ผู้สร้างกองทัพในไอร์แลนด์ เพื่อต่อสู้ในกองทหารของเลสเตอร์ที่ส่งไปปฏิบัติการนอกประเทศในเนเธอร์แลนด์ สแตนลีย์เคยได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1

แต่หลังจากที่เขายอมสละเมืองเดเฟินเตอร์ให้สเปนในปี ค.ศ. 1587 เขาและทหารส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนฝ่ายไปรับใช้สเปน ฟอกส์กลายเป็นอัลเฟเรซ (alférez) หรือนายทหารผู้น้อย ซึ่งสู้รบอย่างดีในการล้อมเมืองกาแลในปี ค.ศ. 1596 และเมื่อถึงปี ค.ศ. 1906 ก็ได้รับการเสนอเลื่อนยศเป็นร้อยเอก ในปีนั้นเขาเดินทางไปสเปนเพื่อแสวงหาการสนับสนุนแก่กบฏคาทอลิกในอังกฤษ ในโอกาสนั้นเขาได้ใช้ชื่อตัวว่า “กวีโด” (Guido) ซึ่งเป็นชื่อเขาในภาษาอิตาลี และบรรยายพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ในบันทึกของเขาว่าเป็น ‘คนนอกศาสนา’ ผู้ทรงเจตนาขับทั้งนิกายสันตะปาปาออกจากอังกฤษ เขาประณามสกอตแลนด์และผู้ที่พระมหากษัตริย์โปรดในบรรดาอภิชนชาวสกอต โดยเขียนว่า “การปรองดองสองชาติดังที่เป็นนี้จะเป็นไปได้ไม่นานนัก แม้เขาได้รับการต้อนรับอย่างสุภาพ แต่ราชสำนักของพระเจ้าเฟลีเปที่ 3 ไม่เต็มใจเสนอความช่วยเหลือใด ๆ แก่เขา

ในปี ค.ศ. 1604 ฟอกส์เข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มคาทอลิกอังกฤษขนาดเล็ก ซึ่งนำโดยรอเบิร์ต เคตส์บี เคตส์บีวางแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเจมส์ที่ 1 ซึ่งทรงถือโปรเตสแตนต์ แล้วยกพระธิดา คือเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ซึ่งอยู่ในลำดับสามของลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ ขึ้นครองราชย์แทนออสวัลด์ เทซิมอนด์ นักบวชคณะเยสุอิตและอดีตเพื่อนสมัยเรียน อธิบายฟอกส์ว่า “น่าเข้าหาและมีท่าทีร่าเริง ไม่เห็นด้วยกับการทะเลาะและความขัดแย้ง… ซื่อสัตย์ต่อเพื่อนๆ ของเขา” เทซิมอนด์ยังอ้างว่าฟอกส์เป็น “ชายผู้มีทักษะสูงในกิจการสงคราม” และอ้างว่า การผสมระหว่างความศรัทธาในศาสนากับความเป็นมืออาชีพนี้เองที่ทำให้ผู้คบคิดคนอื่นๆ รักใคร่เขา มีคนพูดถึงลักษณะของกาย ฟอกส์ว่า เขาเป็นชายกำยำ ร่างสูง มีผมสีน้ำตาลแดงหนา หนวดเฟิ้มตามประเพณีสมัยนั้น และเคราน้ำตาลแดงดก และเป็น “คนเน้นลงมือ” กล่าวคือเป็นคนมีความสามารถในการถกเถียงอย่างปัญญาชนเช่นเดียวกับที่มีความอดทนทางกายสูง ซึ่งค่อนข้างน่าประหลาดใจสำหรับศัตรูของเขา ผู้คบคิดลอบปลงพระชนม์ ขอเช่าห้องใต้ดินซึ่งเป็นของจอห์น วินเนียร์ด เนื่องจากห้องนั้นไม่ได้ใช้และโสโครก จึงถือเป็นสถานที่ที่สมบูรณ์แบบสำหรับการเก็บซ่อนดินปืนที่ผู้คบคิดวางแผนสะสมไว้ ตามที่ฟอกส์เปิดเผยตอนที่ถูกจับว่า ในตอนแรกมีการนำดินปืนมา 20 ถัง และอีก 16 ถังในวันที่ 20 กรกฎาคม ทว่าโรคระบาดที่คุกคามอยู่เนืองๆ ทำให้การเปิดประชุมรัฐสภาเลื่อนไปเป็นวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน เมื่อถูกจับได้…ฟอกส์บอกว่าตัวเองชื่อจอห์น จอห์นสัน และตอนแรกถูกข้าราชบริพารห้องประทับส่วนพระมหากษัตริย์สอบสวน ซึ่งเขายังขัดขืนอยู่ เมื่อมีขุนนางคนหนึ่งถามว่าเขากำลังทำอะไร ถึงมีดินปืนในครอบครองมากขนาดนั้น ฟอกส์ตอบว่าเจตนาของเขาคือ “เพื่อระเบิดพวกมึงขอทานสกอต กลับภูเขาบ้านเกิดของมึงไงล่ะ” เขาระบุตนว่าเป็นคนคาทอลิกวัย 36 ปีจากเนเธอร์เดล (Netherdale) ในยอร์กเชอร์ และบอกว่าบิดาชื่อทอมัส ส่วนมารดาชื่ออีดิธ แจ็กสัน เมื่อผู้สอบสวนสังเกตเห็นบาดแผลบนร่างกาย เขาก็อธิบายว่าเป็นผลมาจากเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ฟอกส์ยอมรับว่าเขาเจตนาระเบิดสภาขุนนางและแสดงความเสียใจที่แผนล้มเหลว แต่กิริยาอาการเด็ดเดี่ยวของเขานั้น ทำให้พระเจ้าเจมส์ทรงชื่นชม พระองค์ทรงบรรยายว่าฟอกส์มี “ความแน่วแน่อย่างโรมัน”

แม้พระเจ้าเจมส์จะทรงชื่นชม แต่ในวันที่ 6 พฤศจิกายน ก็มีพระราชดำรัสสั่งทรมาน “จอห์น จอห์นสัน” ให้แฉชื่อผู้ร่วมคบคิดให้ได้ พระองค์มีพระราชดำรัสสั่งให้ทรมานแต่น้อยก่อน คือหมายถึงใช้กุญแจมือ แต่ให้รุนแรงขึ้นถ้าจำเป็น โดยมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องทรมานดึงแขนขา (rack) ฟอกส์ถูกย้ายมายังหอคอยลอนดอน พระเจ้าเจมส์ทรงร่างรายการคำถามต่าง ๆ ที่จะถาม ‘จอห์นสัน’ เช่น “เกี่ยวกับสิ่งที่เขาเป็น เพราะฉันยังไม่เคยได้ยินว่ามีผู้ใดรู้จักเขา”, “เขาเรียนพูดภาษาฝรั่งเศสเมื่อใดและที่ใด”, “ถ้าเขาเป็นพวกนิยมโป๊ปแล้วใครเป็นผู้สั่งสอนเขา” ห้องที่ฟอกส์ถูกสอบสวนต่อมาเรียกห้องกาย ฟอกส์

ในการพิจารณาคดีในศาลและการประหารชีวิต ผู้ก่อการแปดคนในศาลเริ่มเมื่อวันจันทร์ที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1606 ฟอกส์ลงเรือลำเดียวกับผู้ร่วมคบคิดเจ็ดคนจากหอคอยไปยังเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์ พวกเขาถูกคุมตัวในห้องดาวก่อนถูกนำไปยังเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์ ที่นั่นพวกเขาถูกแสดงบนตะแลงแกงที่สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะพระมหากษัตริย์และพระญาติใกล้ชิดทอดพระเนตรอย่างลับๆ อยู่ท่ามกลางบรรดาผู้ชมระหว่างที่กรรมการที่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อ่านรายการข้อกล่าวหา ฟอกส์ถูกขนานนามว่า กวีโด ฟอกส์ “หรือเรียกอีกอย่างว่า กวีโด จอห์นสัน” เขาให้การปฏิเสธ แม้จะเห็นได้ว่าเขายอมรับว่ากระทำความผิดตั้งแต่ตอนที่ถูกจับแล้ว คณะลูกขุนวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิด และประธานศาลสูงสุด (Lord Chief Justice) เซอร์จอห์น พอพัม (John Popham) ประกาศให้พวกเขามีความผิดฐานกบฏต่อแผ่นดิน อัยการสูงสุด เซอร์เอดเวิร์ด คุกกล่าวต่อศาลว่า ผู้ถูกพิพากษาลงโทษจะถูกม้าลากถอยหลังจนตาย โดยปล่อยศีรษะเรียดพื้น พวกเขาจะถูก “ประหารชีวิตครึ่งทางระหว่างสวรรค์กับโลกเพราะไม่คู่ควรแก่ทั้งสอง” อวัยวะเพศจะถูกตัดและเผาซึ่งหน้า ลำไส้และหัวใจจะถูกนำออก แล้วพวกเขาจะถูกตัดศีรษะ และชิ้นส่วนร่างกายที่ถูกตัดออกจะถูกปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้เป็น ‘เหยื่อแก่นกในอากาศ’

ในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1606 ฟอกส์และอีกสามคน ได้แก่ ทอมัส วินเทอร์, แอมโบรส รุกวุด และรอเบิร์ต เคย์ส (Robert Keyes) ถูกลากบนเลื่อนสานจากหอคอยไปยังลานพระราชวังเดิมที่เวสต์มินสเตอร์ ตรงข้ามกับอาคารที่พวกเขาพยายามทำลาย ผู้ร่วมคบคิดของเขาถูกแขวนคอ ควักไส้ และผ่าสี่ ฟอกส์เป็นคนสุดท้ายที่ยืนบนตะแลงแกง เขาทูลขออภัยโทษจากพระมหากษัตริย์และรัฐ ขณะที่ยังคง “ทำเครื่องหมายกางเขนและพิธีกรรมไร้สาระ” ฟอกส์เริ่มปีนบันไดสู่บ่วงอย่างอ่อนแรงจากการถูกทรมานโดยมีเพชฌฆาตแขวนคอคอยพยุง แต่ไม่ว่าจะมาจากการกระโดดลงมาตายหรือจากการปีนสูงเกินไปเพื่อให้เชือกรัดไม่ถูกต้อง เขาก็สามารถเลี่ยงความเจ็บปวดจากการประหารขั้นตอนหลังไปได้เพราะคอหักเสียชีวิตทันที

แต่ถึงกระนั้น ร่างไร้วิญญาณของเขาก็ถูกผ่าสี่แล้วตามจารีตประเพณี ชิ้นส่วนร่างของเขาถูกส่งกระจายไปยัง “มุมทั้งสี่ของราชอาณาจักร” เพื่อนำไปประจานเป็นการเตือนแก่ผู้ที่คิดจะทรยศต่อไป

เรื่องโดย. นายตำนาน

ภาพโดย. lithub.com, www.awarenessdays.com, www.bitgab.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •