25 เมษายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

 เว็บไซต์อ็อดดิตี้เซ็นทรัล วันที่ 11 กันยายน 2558 เผยเรื่องราวของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในประเทศเคนยา หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านหญิงล้วน ที่มีชื่อว่า อุโมจา (Umoja) ซึ่งในภาษาสวาฮิลีหมายถึง อิสรภาพและเอกภาพ โดยหมู่บ้านนี้จะให้แค่ผู้หญิงอยู่เท่านั้น ส่วนผู้ชายจะไม่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่เลย จุดประสงค์หลักก็คือ เพื่อต้องการให้เป็นที่พักพิงให้กับบรรดาผู้หญิงที่หลบลี้หนีจากการถูกรังแกจากนักรบชายป่าเถื่อนเผ่าซัมบูรูทางตอนเหนือของเคนยา และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเธอให้ดีขึ้น

รีเบคก้า โลโลโซลี่ (Rebecca Lolosoli) ผู้นำและเป็นผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อ 25 ปีก่อน เปิดเผยว่า ครั้งเป็นเด็ก เธอเป็นสมาชิกของชนเผ่า นักรบซัมบูรูเช่นกัน ซึ่งที่นั่น ผู้หญิงจะถูกกดขี่ข่มเหงสารพัด ทั้งใช้ความรุนแรง ถูกข่มขืน ถูกทารุณด้วยการตัดอวัยวะเพศ ถูกบังคับให้แต่งงานด้วย กระทั่งรีเบคก้าเริ่มคัดค้านประเพณีดังกล่าว โดยได้รับแรงสนับสนุนจากบรรดาสตรีทาสความป่าเถื่อนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแม่ม่าย เด็กกำพร้า รวมทั้งเหยื่อของความรุนแรง แต่ทั้งนี้มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เธอจะคัดค้านเหล่าชายป่าเถื่อนได้ เธอต้องเผชิญกับการต่อต้านและทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงสาหัสจากเหล่าชายในหมู่บ้าน กระทั่งสามีของเธอก็ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือใด ๆ กับเธอเลย

Rebecca Lolosoli (ผู้นำและผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน)

จนในปี 2533 รีเบคก้านำบรรดาหญิงหนีออกมาจากซัมบูรูได้สำเร็จ มาก่อตั้งเป็นหมู่บ้านอุโมจาแห่งนี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ปกครองตนเอง และสามารถพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองได้ มีทั้งสถานพยาบาล สถานอำนวยความสะดวกและโรงเรียนภายใน โดยพวกเธอต่างประกอบอาชีพทำเพชรและหัตถกรรมฝีมือต่างๆ อีกทั้งยังเปิดหมู่บ้านให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย แต่หมู่บ้านแห่งนี้ก็ไม่วายถูกระรานจากกลุ่มชายที่อิจฉาในความสำเร็จของพวกเธอ เนื่องจากพวกเธอสามารถสร้างรายได้ และมีอาชีพเป็นของตัวเอง โดยพวกเขาได้ตั้งหมู่บ้านเพื่อปิดทางเข้า-ออก เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปยังหมู่บ้านของพวกเธอได้ แต่พวกเธอก็ฝ่าฟันผ่านมาได้

ทางเข้า-ออกหมู่บ้านอุโมจา

ปัจจุบันถึงแม้หมู่บ้านแห่งนี้ จะไม่เปิดอนุญาตให้ชายใดได้เข้ามาอาศัยอยู่ แต่ยังคงอนุญาตให้เพศชาย ได้เข้ามาเยี่ยมได้ตามกฎของหมู่บ้าน แต่อย่างไรก็ดีรีเบคก้ายังคงยืนยันว่า เพศชาย ยังคงเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดสำหรับพวกเธออยู่เช่นเดิม

คำว่า”อุโมจา” เป็นภาษาสวาฮิลีของเคนยา ซึ่งได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี 1990 อยู่ห่างจากกรุงไนโรบี นครหลวงของเคนยา 380 กิโลเมตร นางรีเบคก้า โลโลโซลี่ ผู้ก่อตั้งเป็นชาวเผ่าซัมบูรู ซึ่งสร้างหมู่บ้านนี้ขึ้นเพื่อเป็นที่พักพิงของหญิง ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกกดขี่ทางเพศอย่างแสนสาหัสในทุกๆเรื่อง ดังได้กล่าวมาแล้ว

หมู่บ้านแห่งนี้มีการบริหารจัดการที่ดี  มีการจัดการศึกษา การสาธารณะสุขที่ดีเหมือนชุมชนที่เปิดกว้างทั้งหลาย  จากการที่ผู้หญิงเผ่าซัมบูรูมีฐานะเป็นชนชั้นสองในเผ่า ไม่สามารถครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินเป็นของตนเองได้ ไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินใดๆ ได้เลย ผู้หญิงชาวเผ่าถือเป็นเพียงสมบัติของสามีเท่านั้น มักจะถูกบังคับให้แต่งงานกับชายสูงอายุกว่า มักจะถูกข่มขืนและถูกกระทำรุนแรงจากชาวบ้าน

ในปี 1990 มีรายงานว่า มีผู้หญิงชาวเคนยากว่า 600 คนถูกข่มขืน โดยทหารอังกฤษนับจากนั้นมา  มีการฟ้องร้องดำเนินคดีในศาล จากการที่เกิดเหตุข่มขืนหญิงชาวซัมบูรู โดยทหารในกองทัพกว่า 1,400  คดี เมื่อคดีถึงที่สุด หญิงผู้เสียหายเหล่านี้ ถูกสามีทอดทิ้งไปหมด เนื่องจากต่างถือว่าเป็นหญิงที่มีมลทินแล้ว บางรายถึงกับถูกสามีขับออกจากบ้านไปเลย เนื่องจากเกรงว่าภรรยาที่ถูกข่มขืนจะนำโรคที่ติดมาจากการถูกข่มขืนมาแพร่สู่ตน

หญิงที่ไร้บ้านเพราะถูกขับออกมาจำนวนมาก  จึงได้พากันมาสร้างหมู่บ้านอุโมจาขึ้นเป็นที่พักพิง  รีเบคก้า โลโลโซลี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งหมู่บ้านอุโมจา เป็นที่พักพิงของผู้หญิงล้วนๆ  หลังจากที่ถูกทำร้ายอาการสาหัสจนพูดจาไม่ได้ เมื่ออาการดีขึ้นจนสามารถพูดคุยได้แล้ว  จึงร่วมกับผู้หญิงอื่นๆ ก่อตั้งหมู่บ้านนี้ขึ้นมาในปี 1990 ด้วยความช่วยเหลือจากหน่วยงานกระทรวงวัฒนธรรม  ต่อมาได้ซื้อที่ดินเพิ่มจากเงินบริจาคองค์กรการกุศล

ระยะแรก อดีตสามีของนางโลโลโซลี่ ได้พาพวกบุกเข้ามาในหมู่บ้าน คุกคามจะเอาชีวิตของนาง เมื่อเป็นดังนั้น พวกสตรีในหมู่บ้านต่างพากันหลบหนีออกจากหมู่บ้านไปอยู่ยังที่ปลอดภัย เมื่อเหตุการณ์เป็นปกติก็ได้กลับมาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านตามเดิมกันทุกคน

การประกอบอาชีพของชาวอุโมจา

ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้  เริ่มประกอบอาชีพด้วยการขายผักที่ซื้อมาจากชาวไร่ เนื่องจากทำการเพาะปลูกเองไม่เป็น ไม่ได้รับผลสำเร็จเท่าที่ควร จึงหันมาทำงานด้านหัตถกรรมขายแก่นักท่องเที่ยวที่ผ่านมา หลังจากการเดินทางไปซาฟารีเพื่อชมสัตว์ป่า  สำนักงานบริหารงานสัตว์ ป่าแห่งเคนยา  ได้เห็นความยากลำบากในการหาเลี้ยงชีพ  จึงได้ช่วยให้หญิงชาวอุโมจาได้เรียนรู้การประกอบอาชีพจากชาวเผ่าอื่นในพื้นที่ใกล้เคียงที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ เช่น ชาวเผ่ามาไซ มารา เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงการประกอบอาชีพของตนให้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานด้านมรดกทางวัฒนธรรมและสังคมของกระทรวงวัฒนธรรมเคนยา ให้มีความรู้ช่องทางในการประกอบอาชีพอีกด้วย

หลังจากที่นางโลโลโซลี่ได้รับเชิญให้เป็นแขกขององค์การสหประชาชาติในปี 2005 กลุ่มผู้ชายในหมู่บ้านใกล้เคียงได้ยื่นฟ้องต่อศาลขอให้สั่งปิดหมู่บ้านนี้ แต่ไม่เป็นผล  บ้านพักอาศัยของชาวอุโมจาสร้างเป็นกระท่อมแบบชาวเผ่ามันตารา โดยใช้ดินเหนียว ผสมกับมูลสัตว์ และมีรั้วรอบบ้านโดยใช้ต้นไม้หนามแข็งกับลวดหนาม

กระท่อมดินเหนียว (บ้านพักอาศัย)

ผู้ชายจากนอกหมู่บ้าน ห้ามเข้าในหมู่บ้านนี้อย่างเด็ดขาด เว้นแต่ผู้ชายที่เกิดและโตในหมู่บ้านนี้เท่านั้น   ทว่าผู้หญิงในชุมชนอื่นสามารถมาพักและคบหาสมาคม และร่วมประกอบธุรกิจกับชาวอุโมจาได้ไม่มีปัญหาอะไร ยิ่งกว่านั้นยังสามารถนำลูกๆ ทั้งชายและหญิงมาเข้าโรงเรียนของหมู่บ้านอุโมจาได้ด้วย โดยมีข้อแม้ว่าให้แม่เป็นคนพามาเท่านั้น  ส่วนพ่อห้ามเข้ามายุ่งเด็ดขาด

การประกอบอาชีพของชาวอุโมจา ได้แก่ การผลิตสินค้าหัตถกรรมตามประเพณีของชาวเผ่าซัมบูรู เช่นพวกลูกปัด และลูกประคำหลากสี ซึ่งถูกนำไปขายยังศูนย์วัฒนธรรมอุโมจา วาโซ  และยังมีเบียร์แอลกอฮอล์ต่ำที่หมักขึ้นเอง  และสินค้าที่มีลักษณะคล้ายกัน ร่วมกับสินค้า อื่นๆ อีกมาก สินค้าเหล่านี้มีการเสนอขายในเว็บไซต์ด้วย สตรีทุกคนในหมู่บ้านจะอุทิศรายได้จากการขายสินค้าส่วนหนึ่งให้หมู่บ้านด้วยในลักษณะการเสียภาษีบำรุงโรงเรียน และกิจกรรมที่จำเป็นอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน

สำหรับ ประชากรในหมู่บ้านในปี 2005  มีประชากรที่เป็นสตรี 30 คน เด็ก 50  คน ส่วนในปี 2015 มีประชากรที่เป็นสตรี 47 คน เป็นเด็ก 200 คน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้

ตามปกติ เด็กๆ ในเคนยามักจะทำหน้าที่เลี้ยงสัตว์ แต่เด็กๆ ในอุโมจาจะได้รับการศึกษาทุกคน มีการตั้งโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นที่นี่  สามารถรับนักเรียนได้ 50 คน  ยิ่งกว่านั้นยังมีการตั้งโรงเรียนประถมวัยอีกด้วย

นอกจากนั้น สตรีในหมู่บ้านอุโมจาจะออกไปปฏิบัติหน้าที่ในหมู่บ้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมสิทธิสตรี และเพื่อรณรงค์ต่อต้านการปฏิบัติอันไม่ชอบธรรมทางเพศต่อสตรีด้วย การบริหารจัดการภารกิจในหมู่บ้านจะมีการประชุมชาวบ้านทุกคนใต้ร่มไม้ เพื่อหามติในการบริหารจัดการหมู่บ้าน โดยมีนางโลโลโซลี่เป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ นางยังทำหน้าที่ประธานหมู่บ้านด้วย สำหรับสตรีในหมู่บ้านทุกคนจะมีสถานภาพเท่าเทียมกันในทุกด้าน

สตรีชาวอุโมจา

สำหรับชีวิตประจำวันของสตรีชาวอุโมจาน่าสนใจมาก คือจะตื่นนอนแต่เช้ามืด แล้วจะออกไปหาฟืนมาเป็นเชื้อไฟ และตักน้ำเพื่อการใช้สอยและดื่มกิน แล้วจะออกดูแลกิจกรรมส่วนรวม เช่น ไปจัดเตรียมทำความสะอาด จัดความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้กับโรงเรียน ประถมศึกษา หรือโรงเรียนเด็กประถมวัยให้พร้อมที่จะรับรองเด็กๆ ที่จะเดินทางมาโรงเรียน  และอาจมาทำหน้าที่พี่เลี้ยง หรือครูช่วยสอนด้วย คนที่ไม่ได้ทำหน้าที่ครู ก็จะไปหาซื้ออาหารสดที่ตลาดมาปรุงรับประทาน จากนั้นก็จะใช้ชีวิตอยู่ในร่มตลอดวัน ด้วยการทำสินค้าหัตถกรรมส่งขาย หรือทำลูกปัดและลูกประคำส่งขายด้วย

นอกจากนี้ หมู่บ้านอุโมจายังมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ จากการจัดตั้งโฮมสเตย์ไว้นอกหมู่บ้านริมฝั่งแม่น้ำ  ซึ่งบริการทั้งห้องพักและอาหารสากล ซึ่งโฮมสเตย์ของหมู่บ้านจะเต็มตลอดปี หากใครต้องการใช้บริการนี้ก็ต้องจองไว้ล่วงหน้านานพอสมควร

ว่ากันว่า  ในปัจจุบันยังมีคนแสดงความจำนงจะขอมาพำนักพักพิงในหมู่บ้านอุโมจาไม่ขาดสาย แต่ไม่ค่อยได้รับอนุญาตให้เข้ามาอาศัยได้ เนื่องจากขาดคุณสมบัติสำคัญ คือต้องไม่มีสามีหรือญาติมิตรฝ่ายชายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสิทธิสตรีในครอบครัวแต่อย่างใด ส่วนมากต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านอุโมจาจากการที่มีช่องทางทำมาหากินได้คล่อง เนื่องจากเป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งไปแล้ว

เรื่องโดย. ทิวากร สุวพานิช

ภาพโดย. www.insh.world/culture/umoja, www.thewomb.in, www.togetherwomenrise.org


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •