ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่เชื่อในเรื่องปาฏิหาริย์ เพราะในดินแดนต่างๆ ที่ผู้คนเชื่อถือเรื่องเทพหรือสิ่งที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติอย่าง พม่า จีน ลาว เขมร หรืออินเดีย รวมไปถึงศรีลังกา ต่างก็มีคติความเชื่อที่มาจากรากเหง้าเดียวกัน นั่นคือเชื่อถือความเป็น “เทพ” ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในตำนาน
หลายคนอาจจะถาม แล้วเชื่อได้ไหม อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ว่าใครจะเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน แต่อยากให้อ่านเรื่องราวตำนานของสถานที่ซึ่งผู้เขียนจะเล่าถึงต่อไปนี้ เพราะเป็นสถานที่ที่ทำให้ฝรั่งมังค่าทั้งหลายหงายเงิบกันไปนับแต่โบราณมาแล้ว สถานที่แห่งนี้เป็นศาสนสถานของชาวฮินดูที่รู้จักกันในนามของ “เมืองกฏรคาม” อ่านว่า “กัตรคาม” หรือแบบบาลีว่า “ขัตตุคาม” เป็นนามเมืองที่พระขันธกุมาร หรือที่ชาวฮินดูเรียกกันว่าพระสกันท์ หรือ มุรุกันต์ ร่วมกันสร้างขึ้นมากับพระชายา
ในตำนานเทวดาของชาวลังกา ซึ่งแม้กระทั่งชาวฮินดูในอินเดียก็ยอมรับกันทั่วไปนั้นกล่าวว่า นอกจากพระนางเทวเสนาที่เป็นพระชายาแล้ว พระธันธกุมารหรือพระสกันท์ทรงมีชายาอีกองค์หนึ่งเป็นเจ้าหญิงลังกา ชื่อว่า “พระนางวัลลี” สาเหตุที่ทำให้ทั้งสองได้พบกันนั้น เล่ากันว่าปัทมาสูร ซึ่งเป็นพญาอสูรของลังกาทำสงครามชนะเหล่าเทพ พระศิวะจึงส่งพระสกันท์ไปปราบ หลังจากนั้นพระสกันท์ก็ได้พบเจ้าหญิงวัลลี และในที่สุดได้เสกสมรสกันเป็นพระชายาอีกองค์หนึ่งในตำนานเทพของฮินดู หลังจากที่ปราบอสูรได้แล้วทั้งสองพระองค์ได้ไปสร้างปราสาทไว้ตรงบริเวณที่พบกัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำมานิก สถานที่แห่งนั้นจึงได้นามต่อมาว่า กรรติเกยะคาม และในที่สุดย่อลงเหลือเพียงกัตรคาม หมายถึงหมู่บ้านของพระกรรติเกยะ ภายหลังมีการสร้างเทวาลัยขึ้นมาเรียกว่า เทวาลัยกัตรคาม ซึ่งเป็นเทวสถานของพระสกันท์ที่เก่าแก่ที่สุดในศรีลังกา
สำหรับเทวาลัยกัตรคามที่เก่าแก่แห่งนี้ มีเรื่องเล่ากันว่าพระเจ้าทุฎฐคามณี กษัตริย์ชาวพุทธทรงบูรณะเทวสถานนี้ขึ้นมาเพื่ออุทิศแด่พระสกันท์ ผู้ทรงดลบันดาลให้พระองค์รบชนะพระเจ้าเอลารา กษัตริย์ทมิฬจากอินเดียใต้ที่ยกกองทัพมารุกรานเกาะลังกา ด้วยเหตนี้พระสกันท์ซึ่งเป็นเทพฮินดูจึงกลายเป็นหนึ่งในสี่เทวราชผู้รักษาเกาะลังกา โดยการสถาปนาของกษัตริย์ชาวพุทธ ผู้รบชนะชาวทมิฬที่นับถือศาสนาฮินดู และชาวทมิฬในศรีลังกาเองก็ยังคงสักการบูชาพระองค์ไม่เสื่อมคลายเช่นเดียวกันมาจนถึงทุกวันนี้
ในความเชื่อเรื่องที่พระสกันท์หรือขันธกุมาร เป็นเทพผู้พิทักษ์ปกป้องให้ศรีลังกาได้รอดพ้นความวิบัติมาหลายครั้ง จึงทำให้ทั่วทั้งเกาะลังกายังมีเทวาลัยสำหรับพระสกันท์อยู่ในที่อื่นๆ อีกเป็นร้อยแห่ง โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคใต้ของเกาะ ซึ่งชนชาติทมิฬได้ตั้งหลักแหล่งกันอยู่หนาแน่น ในบรรดาเทวาลัยเหล่านั้นมีหลายแห่งที่สร้างอย่างใหญ่โตและมีชื่อเสียงมาก แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม แม้จะมีเทวาลัยอยู่ที่อื่นมากมาย ในทุกๆ ปีชาวทมิฬในลังกาก็จะพากันไปยังเทวาลัยกัตรคามเพื่อร่วมประกอบพิธีร่วมกับชาวพุทธในเทศกาลสำคัญของที่นั่น จนกลายเป็นเทวสถานที่ได้รับความนิยมบูชาสูงสุดแห่งหนึ่งมาจนปัจจุบันนี้ ที่แม้แต่ชาวต่างชาติก็รู้จักกันทั่วไป
สาเหตุที่เทวาลัยกัตรคามได้รับความนิยมเป็นอันมากดังกล่าว เป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งชาวศรีลังการับรู้กันดีในตำนานดังกล่าวนี้ว่า ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ชาวโปรตุเกสได้พยายามเข้าปล้นสะดมเทวสถานแห่งนี้ ซึ่งพวกเขาเรียกว่า Categao อยู่หลายครั้ง ด้วยเหตุที่พวกเขาได้ยินว่าภายในเทวสถานเต็มไปด้วยทองคำ เพชรพลอย และหินมีค่าที่มีผู้นำมาถวายเป็นเครื่องบูชาจำนวนมาก แต่เทวสถานแห่งนี้ก็มีทหาร ๕๐๐ นายที่มีอาวุธครบมือเฝ้าอยู่เป็นประจำ พวกโปรตุเกสเพียรพยายามเข้าโจมตีหลายครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จ
จนกระทั่งในปี ค.ศ.๑๖๔๒ ทหารโปรตุเกส ๑๕๐ นายร่วมกับผู้เข้ารีตอีก ๒,๐๐๐ คนได้เข้าไปถึงสถานที่ตั้งของเทวสถาน ด้วยกำลังพลจำนวนมากขนาดนี้ย่อมเป็นอันหมดหวังสำหรับกองทหาร ๕๐๐ นายที่อารักขาเทวสถานอยู่จะต้านทานได้หากมีการปะทะกัน แต่กองทัพโปรตุเกสกลับถูกบดบังด้วยอำนาจลึกลับบางอย่างจนทำให้ไม่สามารถค้นหาเทวสถานพบ และพากันหลงวนเวียนกันอยู่ในป่าผืนเล็กๆ นั้นเป็นเวลานาน ด้วยความโมโหที่หาเทวาลัยไม่เจอ พวกโปรตุเกสได้ฆ่าคนนำทางพื้นเมือง ๓ ใน ๕ คน เพราะคิดว่าพวกเขาทรยศ แต่อีกสองคนที่เหลือก็พากันเสียสติ และในที่สุดทั้งกองทัพต้องพากันเดินทางกลับ
บันทึกซึ่งกล่าวถึงพลังที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริงของเทวาลัยกัตรคามดังที่กล่าวมานี้ มิได้เขียนขึ้นโดยชาวศรีลังกานะครับ แต่เขียนโดยนักจดหมายเหตุโปรตุเกสที่มีนามว่า Ribeiro และคำว่า กัตรคาม อันเป็นชื่อของเทวาลัยแห่งนี้เอง ต่อมาได้กลายเป็นพระนามหนึ่งของพระสกันท์ คือพระกัตรคาม ที่ชาวลังกาเรียกกันทั่วไปเมื่อประสงค์จะกล่าวถึงเทวรูปพระสกันท์ ณ เทวาลัยกัตรคาม
วัดกฏรคามนี้เคารพบูชาพระสกันท์ หรือเรียกตามภาษาทมิฬว่า มุรุกัณ หรือที่เรารู้จักกันในนามพระขันธกุมาร พระขันธกุมารนี้เองทรงเป็นโอรสของพระศิวะและพระอุมาเทวี แถมยังเป็นน้องของพระพิฆเนศวรเสียด้วย ในตำนานเก่าแก่นั้นเชื่อว่าพระขันธกุมารนี้เป็นเทพเจ้าแห่งการสงครามและความสุขสงบ ขนานนามว่า God of War and Peace ฟังดูขัดแย้งกันใช่ย่อย แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ตำนานเล่าไว้ก็ฟังดูมีเหตุมีผลไม่น้อย
เขาเล่ามาว่าพระขันธกุมารนี้เกิดมาเพื่อปราบอสูรร้ายตารกา ในรามเกียรติ์ของไทยเรียกว่า ตรีปุรำ ที่มาก็คือ มีอสูรตนหนึ่งชื่อว่าตารกา นั่งบำเพ็ญภาวนาจนกระทั่งได้ขอพรจากพระพรหม ตารกาแกมโกงก็เลยขอพรว่าอย่าได้พ่ายแพ้หรือถูกสังหารจากผู้ใดในสามโลกเลย ยกเว้นเสียแต่ผู้เป็นโอรสของพระศิวะเท่านั้น เพราะตารกาในขณะนั้นเชื่อว่าภายหลังจากที่พระนางสตีได้เผาตัวตายทำให้พระศิวะอาลัยยิ่งนัก เอาแต่นั่งบำเพ็ญตบะ จึงคงไม่สามารถมีบุตรได้อีก แต่เมื่อมีพระขันธกุมารถือกำเนิดแล้ว อสูรตารกาทราบเข้าก็ออกตามหาหวังจะสังหาร
อสูรตารกาสร้างความเดือนร้อนไปทั่วทุกหัวระแหง ไม่เว้นแม้กระทั่งพระอินทร์ พระอินทร์จึงบินไปฟ้องพระพรหม พระพรหมจำได้ถึงพรที่ตนให้ไว้แก่ตารกา เลยต้องแก้ไขโดยให้กามเทพไปแผลงบุษปศรให้พระศิวะหลงใหลนางปารวตี (ซึ่งในตำนานบอกว่าเป็นพระนางสตีกลับชาติมาเกิด) เรื่องเล่านี้มีอีกยาว เช่น พระศิวะยังไม่พร้อมมีลูก พระอัคนีจึงต้องนำน้ำเชื้อบินข้ามแม่น้ำคงคาที่เผลออ้าปาก น้ำเชื้อนั้นก็หล่นลงไปผสมพันธุ์กับแม่น้ำคงคา จึงกำเนิดเป็นกุมารน้อยขันธกุมารขึ้น เมื่ออายุได้ 12 ปี พระขันธกุมารทรงสงครามกับตารกาสูรและสังหารเจ้าอสูรร้ายได้สำเร็จ ความสงบสุขจึงกลับมาสู่โลกอีกครั้งหนึ่ง
ในช่วงเดือนกรกฎรคม วัดกฏรคามจะมีงานเทศกาลใหญ่เพื่อบูชาพระขันธกุมาร ซึ่งก็จะมีผู้คนแห่แหนมากันอย่างเนืองแน่นจากทั่วประเทศ เรียกว่างาน Esala Perehera อันที่จริงเมืองกฏรคามนี้เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวศรีลังกาทั้งพุทธและฮินดูนิยมเดินทางมาแสวงบุญ บางกลุ่มคนที่ศรัทธานั้นมีการเดินแสวงบุญกันทุกปี ที่เรียกว่า Pada Yatra โดยตั้งต้นเดินกันจากเมืองจัฟน่าที่อยู่ตอนเหนือสุดของประเทศทีเดียว ใช้เวลาเดินกันแรมเดือนกว่าจะมาถึงเมืองกฏรคามแห่งนี้ ทุกๆ ปีที่ในงาน Esela Perehera มีทั้งขบวนแห่ที่สวยงามอลังการ แม้แต่ช้างก็ยังจัดแต่งตัวกันไม่แพ้มนุษย์ทีเดียว ขอบอกว่างานนี้คนแน่นมากถึงมากที่สุด ทางเดินเข้างานนี้เบียดเสียดแทรกไหล่คนแขกกันแบบไม่มีเกรงใจ ขบวนแห่นั้นยาวนานพอควร ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนเข้าไปยังตัวอุโบสถกัน
ดูๆ ไป พุทธศาสนาและฮินดูเป็นอะไรที่แยกกันไม่ออกเลย โดยเฉพาะที่ประเทศศรีลังกาแห่งนี้ แม้ว่าที่นี่จะเป็นวัดพุทธ แต่พิธีกรรมมากมายก็มีความเป็นวัฒนธรรมประเพณีแบบฮินดูมาผสมผสาน ชาวฮินดูถวายสิ่งของและขอพร ขอการปกปักคุ้มครองจากองค์พระขันธกุมารในสถานะของพระเจ้า ชาวพุทธเองก็มาทำการบูชาพระโดยนำผลไม้ใส่ถาดมาวางไว้ที่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ในวัดและภายในอุโบสถเช่นกัน งานเทศกาลใหญ่อย่างนี้เขาจัดกันยาวนานเกือบ 20 วันเลยทีเดียว โดยงานวันสุดท้ายจะจบลงด้วยพิธีกรรมข้ามน้ำ (water cutting ceremony) ในวันพระจันทร์เต็มดวงขึ้น 15 ค่ำ ผู้คนที่มาร่วมพิธีนี้จะแต่งชุดขาว เดินเร็วๆ แบบจ้ำๆ ข้ามน้ำตื้นๆ แค่ข้อเท้ามาอีกฝั่งหนึ่งของบริเวณวัด จากนั้นถึงจะเข้าไปบูชาพระขันธกุมารในอุโบสถกัน
ไม่ไกลจากวัดกฏรคามนี้เป็นที่ตั้งของพระเจดีย์คีรีเวเหรา (Kiri Vehera) ที่เชื่อว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 1 และเป็นสถานที่หนึ่งในสิบหกแห่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาเผยแพร่พุทธศาสนาในศรีลังกา มหาเจดีย์นี้มีรูปทรงระฆังคว่ำทาสีขาวแลดูสะอาดตา และมีผ้าสีแดงพันอยู่รอบฐานเจดีย์ แถมยังตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่บนเนินเขาหินที่เราต้องค่อยๆ ไต่บันไดปูนกันขึ้นไปพร้อมกับฝูงชนที่ล้วนแต่นุ่งขาวห่มขาวกันทั้งสิ้น ตัวเจดีย์มีความสูง 95 ฟุต ซึ่งก็ไม่ได้สำคัญว่าจะติดอันดับอะไรหรอก หากแต่มีความงดงามลงตัว ล้ำค่าน่าเลื่อมใสศรัทธา
เทวสถานของพระสกันท์ที่เก่าแก่ที่สุดในศรีลังกา อากาศแจ่มใสในวันที่เดินทางไปถึง เห็นพระเจดีย์ขาวสะอาดตัดกับท้องฟ้าที่ฟ้าสดใส ไม่มีแม้แต่เมฆขาวก้อนเล็กๆ ลอยผ่านมา รูปทรงและยอดเจดีย์แหลมของที่นี่ดูไปก็คล้ายๆ กับพระบรมธาตุเจดีย์ที่นครศรีธรรมราชอยู่ไม่น้อย
ชาวศรีลังกาเชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังสถานที่แห่งนี้เมื่อครั้งที่เดินทางมาศรีลังกาเป็นครั้งที่สามเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา และในเวลาต่อมาเจดีย์แห่งนี้จึงได้ถูกบัญชาให้สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 3 โดยมหาราชินีสุภัทราของกษัตริย์นามว่าพระกรมาภาหุ นับมาจนบัดนี้ พระเจดีย์คีรีเวเหราก็ตั้งอยู่คู่กับเมืองกฏรคามมาเป็นเวลาถึง 900 ปีแล้ว
/
เรื่องโดย. นายตำนาน
ภาพโดย. นายตำนาน, www.timeout.com