24 เมษายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

                ใต้แผ่นดินนครอิสตันบูลอันเป็นเมืองใหญ่มีพลเมือง 15 ล้านคน มีเมืองระดับมหานครของจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ในอดีตฝังอยู่ใต้ดินของเมืองนี้อยู่หลายเมือง โดยอยู่บนทำเลที่เหมาะสมในทุกด้าน นครอิสตันบูลเคยเป็นเมืองของจักรวรรดิใหญ่มาแล้วสามจักรวรรดิ ได้แก่จักรวรรดิไบแซนไทน์ ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อนครไบแซติอุม กับนครคอนสแตนติโนเปิลของจักรวรรดิโรมันตะวันออก และจักรวรรดิออตโตมาน ปัจจุบันเป็นเมืองสำคัญของสาธารณรัฐตุรกี

                เดิมเป็นหมู่บ้านประมงเล็กๆ ของกรีก ต่อมามีการสร้างเมืองขึ้นโดยชาวกรีกเมื่อ 667 ปีก่อนคริสตกาล ในชื่อนครบิแซนเทียม โดยตั้งชื่อตามกษัตริย์ Byzas ต่อมาเมืองบิแซนเทียมถูกครอบครองและทำลายโดยจักรวรรดิโรมันเมื่อปี พ.ศ. 739 (ค.ศ. 196) จากนั้นโรมันได้สร้างบิแซนเทียมขึ้นมาใหม่อีกครั้งในยุคของจักรพรรดิเซ็ปติมัส เซเวอรัส

                ต่อมา จักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราชแห่งจักรวรรดิโรมันได้ย้ายมาสร้างกรุงโรมใหม่ (Nova Roma) ขึ้นที่บิแซนเทียม แต่คนส่วนมากนิยมเรียกว่าเมือง “คอนสแตนติโนเปิล” มากกว่า ภายหลังจักรวรรดิโรมันตะวันออกที่มีเมืองหลวงคือคอนสแตนติโนเปิล มักถูกเรียกว่า “จักรวรรดิไบแซนไทน์” คอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปยุคนั้น หลังสงครามครูเสดครั้งที่ 4 คอนสแตนติโนเปิลถูกยึดและเผาทำลาย ก่อนจะถูกยึดกลับคืนได้ภายหลังหลังจากการล่มสลายของกรุงโรมและจักรวรรดิโรมันตะวันตก

                คอนสแตนติโนเปิลกลายเป็นเมืองหลวงเพียงแห่งเดียวของจักรวรรดิไบแซนไทน์หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก และเป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์ นิกายอีสเทิร์นออโธด็อกซ์ โดยมีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น โบสถ์ฮาเจียโซเฟีย เป็นต้น ในปี พ.ศ. 1996 (ค.ศ. 1453) สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 แห่งจักรวรรดิออตโตมันได้บุกยึดกรุงคอนสแตนติโนเปิล ตัวเมืองได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมแบบมุสลิม ชื่อของเมืองเปลี่ยนเป็นอิสตันบูลในสมัยของจักรวรรดิออตโตมัน เมืองอิสตันบูลได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมาก

                จะเห็นได้ว่า พื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของไบแซนติอุมนั้นเป็นทำเลเหมาะที่สุดในเชิงยุทธศาสตร์และการค้า ดังนั้น ไม่ว่ามหาราชพระองค์ไหนของจักรวรรดิใดสามารถครอบครองเมืองนี้ได้ ก็มักจะมาสร้างเมืองหลวงขึ้นที่นี่ มีการปรับพื้นที่ใหม่ด้วยการถมที่ทับถาวรวัตถุที่มีอยู่เดิมด้วยดิน โดยไม่มีการทุบทำลายทิ้ง เมื่อเปลี่ยนมือไปสู่มหาราชของจักรวรรดิอื่นก็มีการทำแบบเดิมอีก คือถมดินพื้นที่บริเวณเมืองเดิมแล้วสร้างเมืองทับลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นมหานครหลายมหานครจึงจมลงสู่ใต้พื้นดินใต้เมืองใหม่ด้วยประการฉะนี้

                ในช่วงที่จักรพรรดิคอนสแตนตินแห่งจักรวรรดิโรมันมีอำนาจ จึงได้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงโรมมาตั้งที่นี่ และสร้างให้เป็นนครหลวงแห่งจักรวรรดิโรมันทั้งหมด ตั้งชื่อตามจักรพรรดิพระองค์นี้ว่ากรุงคอนสแตนติโนเปิล ในฐานะนครหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันออก อาณาจักรนี้มีความรุ่งเรืองมากว่าพันปี แล้วก็ถูกพิชิตโดยพวกออตโตมาน ซึ่งได้สร้างเมืองขึ้นใหม่ทับเมืองเดิมแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นนครอิสตันบูล

                ห้าร้อยปีต่อมา จักรวรรดิออตโตมานจึงกลายเป็นสาธารณะรัฐตุรกีจนถึงปัจจุบัน ตลอดเวลา 2,700 ปีติดต่อกัน อารยธรรมของจักรวรรดิเดิมๆ ทั้งกรีกและโรมัน ทั้งพระราชวัง สนามกีฬา โรงอาบน้ำ ถนนหนทางก็มักจะถูกผู้มาทีหลังสร้างทับบนถาวรวัตถุต่างๆ ด้วยการถมดินทับทั้งหมด จนบางแห่งระดับดินเดิมถูกถมทับสูงถึงระดับตึก 5-6 ชั้น

                ดังได้กล่าวมา การที่จักรวรรดิต่างๆ ที่มาปกครองพื้นที่บริเวณนี้ลงทุนก่อสร้างถาวรวัตถุไว้ใหญ่โต สวยสดงดงามมูลค่ามหาศาล เพราะตำแหน่งของเมืองนี้มีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะโรมัน นอกจากสร้างกำแพงเมืองแน่นหนาแข็งแรงเป็นพิเศษแล้ว ยังคำนึงถึงเรื่องการอุปโภคบริโภค และใช้ความสามารถทางวิศวกรรมสร้างลำรางเพื่อลำเลียงน้ำดิบมาจากแนวป่าที่อยู่ห่างออกไปเกือบยี่สิบกิโลเมตร น้ำดิบจะไหลเรื่อยมาตามรางมาจนถึงกำแพงเมือง

บาซิลิก้า

                ปริมาณของน้ำมหาศาลจะถูกผันไปเก็บไว้ในบ่อเก็บน้ำจำนวนห้าแห่ง ซึ่งน้ำที่ถูกเก็บกักไว้จะตกตะกอนจนใสสะอาด และน้ำที่ผ่านการตกตะกอนในบ่อจะไหลต่อไปในอุโมงค์ใต้ดินไปยังถังเก็บน้ำใต้ดินที่มีอยู่นับพันแห่ง และพุ่งขึ้นเป็นน้ำพุให้ชาวเมืองนำมาใช้ ซึ่งเชื่อกันว่าพระจักรพรรดิโรมันก็ทรงใช้น้ำจากถังเก็บใบใหญ่ที่สุดที่ชื่อว่าบาซิลิก้า ที่สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิจัสติเนียนซึ่งมีขนาดใหญ่โตกว้างกว่าสนามฟุตบอล ซึ่งปัจจุบันยังคงสภาพที่ใช้งานได้จนทุกวันนี้ จากระบบชลประทานแบบนี้ทำให้มหานครแห่งนี้ดำรงอยู่ได้ในยามที่มีข้าศึกล้อมเมืองนานเป็นเดือน

                เมื่อพวกออตโตมานยึดครองนครนี้ได้ ก็มิได้ให้ความสนใจถังเก็บน้ำใต้ดินเหล่านี้ ด้วยเหตุว่าวัฒนธรรมเติร์กนั้นเห็นว่าน้ำที่ถูกเก็บกักไว้เฉยๆ เป็นน้ำสกปรก จนกระทั่งนักโบราณคดีฝรั่งเศสค้นพบถังเก็บน้ำใต้ดินเหล่านี้ โดยพบว่าถังเก็บน้ำขนาดยักษ์นามว่าบาซิลิก้าอยู่ใต้พื้นดิน กินพื้นที่กว่าสามช่วงถนนใต้ระดับผิวดินกว่าแปดเมตร ภายใต้อาคารทันสมัย โดยมีภัตตาคาร โรงแรม สถานีตำรวจ และรถรางอยู่ด้านบน

                นอกจากนี้ยังมีสนามกีฬายักษ์ที่เคยใช้เป็นสนามแข่งม้าที่มีลู่วิ่งรูปไข่และอัฒจันทร์ยักษ์ที่จุคนดูกว่าแสนคน มีที่ประทับสำหรับพระจักรพรรดิอยู่ด้วย สนามกีฬานี้มีความกว้างเทียบเท่าสนามฟุตบอลกว่าห้าสนาม ปัจจุบันมีสุเหร่าสีน้ำเงินตั้งทับอยู่บนสนามกีฬาแห่งนี้ด้วย

                สำหรับมหาโบราณสถานที่น่าสนใจที่จมอยู่ใต้ธรณี ได้แก่ พระบรมมหาราชวังที่พระจักรพรรดิคอนสแตนตินตั้งใจสร้างให้มโหฬารวิลิศมาหรากว่าพระราชวังในกรุงโรม มีพื้นที่เกือบเก้าหมื่นตารางเมตร หรือกว้างใหญ่กว่าสนามฟุตบอล 15 เท่า จัดเป็นเมืองย่อมๆ ประกอบด้วยพระตำหนักต่างๆ ปราสาทท้องพระโรง โบสถ์ หอสมุด อุทยานบุปผาชาติ มีทวารบานทำด้วยทองบรอนซ์ ทางเดินปูด้วยโมเสก จัดเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกได้เลย

                ทว่าพอถึงปลายยุคจักรวรรดิไบแซนไทน์ พระจักรพรรดิได้ย้ายไปประทับอยู่ในวังเล็กๆ ลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่โดยไม่มีใครทราบเหตุผลอันเป็นเหตุให้พระบรมหาราชวัง หรือวังหลวงทรุดโทรมลงมาก ด้วยเหตุนักรบในสงครามครูเสดเข้ายึดครองและพักอาศัยอยู่ในวังนี้ทำให้พระราชวังเสื่อมโทรมลงมาก เพราะมีการนำทรัพย์สินที่ปล้นมาได้มาเก็บไว้ในพระราชวังด้วย

                ต่อมาเมื่อพวกออตโตมานมีชัยในการทำศึก ได้เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์เมืองขึ้นใหม่ตามวิถีทางวัฒนธรรมของตน โดยรื้ออาคารวัสดุก่อสร้างของพระราชวังเดิมมาใช้ในการก่อสร้าง มิช้ามินาน กำแพงพระราชวังก็ถูกรื้อมาก่อสร้างอาคารที่พักของพวกออตโตมาน รวมทั้งอิฐและหินก่อสร้าง แผ่นโมเสกสวยงามถูกรื้อลงมาทำสุเหร่า ตลอดเวลาสี่ร้อยกว่าปีภายใต้การยึดครองของออตโตมาน พระบรมมหาราชวังจึงค่อยๆ อันตรธานจมลงสู่ใต้ดินและถูกลืมเลือนไปโดยสิ้นเชิง

                จนกระทั่งถึงปี 1912 ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในย่านสุลต่านอาเหม็ดสแควร์ เผาผลาญบ้านเรือนไปหลายร้อยหลัง เมื่อมีการรื้อถอนซากอาคารไหม้ไฟออกก็ปรากฏบางส่วนของพระราชวังโผล่ขึ้นมาให้เห็นจากกองเถ้าถ่าน นั่นคืออุทยานอันวิจิตร หลักฐานชิ้นเยี่ยมได้แก่งานศิลปะโมเสกสมัยจักรพรรดิจัสติเนียน ทางเดินโมเสกนี้ถูกสร้างทับไว้ข้างบนด้วยอาคารบ้านเรือนต่างๆ มานานหลายร้อยปี คาดว่าทางเดินนี้มีพื้นที่ถึง 200 ตรม.และมีโมเสกที่ทำด้วยมือกว่า 80 ล้านชิ้น

                หลังจากนั้นได้มีห้องเพดานโค้งหลายห้องใต้ซากตึกที่ถูกไฟไหม้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังจักรพรรดิคอนสแตนติน ซึ่งประมาณการเอาจากรูปพรรณสัณฐานและความหนาของอิฐ ชี้ชัดถึงยุคสมัยของมัน ทว่าด้วยสาเหตุทุกวันนี้ อิสตันบูลมีอาคารบ้านเรือนหนาแน่น การที่จะขุดค้นหาโบราณสถานของมหานครพันปี ที่จมธรณีลึกลงไปนับสิบเมตรนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ความเร้นลับใต้นครอิสตันบูลก็ยังคงเป็นความลับอยู่ต่อไป โรงแรมอันทันสมัยอาจตั้งทับอยู่บน อุทยาน ภัตตาคารหรูอาจตั้งทับอยู่บนสนามกีฬายักษ์ และแท็กซี่ของอิสตันบูลปัจจุบันอาจแล่นไปแล่นมาเหนือหอสมุดคอนสแตนตินก็เป็นได้

                สำหรับเรื่องนี้ อีริค เกลเลอร์ (Eric Geller) ผู้นำเสนอเรื่องนี้บอกว่าใต้ผืนดินนครอิสตันบูลที่คุณยืนอยู่ ไม่ว่าที่ไหนขุดลงไปเถอะ เป็นได้พบ “มหานครพันปีใต้ธรณีอิสตันบูล” เขาบอกว่าที่ได้ข้อมูลละเอียดมานำเสนอนี้ ไม่ได้นั่งเทียนเขียนเอา แต่เขาและทีมงานซึ่งประกอบด้วยนักโบราณคดีชื่อดัง และผู้เชี่ยวชาญด้านนี้พบช่องทางที่ลงไปยังมหานครแห่งนี้โดยไม่ต้องขุดโพรงอุโมงค์ลอดเข้าไป สามารถตระเวนไปทั่วทั้งมหานครนี้ นอกจากได้ข้อมูลละเอียดเรื่องนี้มาแล้วยังถ่ายทำซีรีส์ทีวีมานำเสนอด้วย

                โดยได้สร้างเป็นซีรีส์ทีวีไว้ได้ 4 ซีรีส์แล้ว และมีการเผยแพร่ไปทั่วโลก นอกจากนั้นอีริคยังบอกว่า เมื่อสำรวจมหานครพันปีแห่งนี้ได้ครบถ้วนก็จะลงไปถ่ายทำซีรีส์ทีวีมหานครหลายพันปีที่อยู่ลึกลงไปอีก อีริคยังบอกว่าเขาไม่ต้องขุดโพรง อุโมงค์ลอดลงไปแต่อย่างใด แต่ทีมงานรู้แล้วว่าจะลงไปเที่ยวชมมหานครหลายพันปีนี้ได้อย่างไร เขาบอกด้วยว่ามหานครนี้สามารถเดินเที่ยวชมได้สบายๆ ไปได้ตลอดทาง ไม่ต้องลอดหรือคลานผ่านช่องทางแคบๆ อีริค เกลเลอร์เตรียมถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีโบราณเป็นซีรีส์ไว้หลายๆ ซีรีส์จนครบทั่วพื้นที่มหานครหลายพันปีนี้ไว้ด้วย

                ผู้สนใจเรื่องนี้เตรียมล้างหูล้างตาไว้ชมได้เลย

/

เรื่องโดย. ทิวากร สุวพานิช

ภาพโดย. istanbulclues.com, istanbultravelblog.com, taximtravel.com, commons.wikimedia.org, Naeem Jaffer / Getty Images


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •