8 กันยายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

                ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีอยู่สัปดาห์หนึ่งที่พี่ชายชวนให้ขึ้นไปเที่ยวจังหวัดลำพูน ผู้เขียนเห็นเป็นช่วงที่ว่างยังไม่มีอะไรทำก็รับคำ และคิดว่าน่าจะขึ้นไปหาคอนเทนต์ หรือหาเรื่องราวอะไรดีไปพร้อมๆ กันด้วย

                พอผู้เขียนไปถึง ปรากฏว่าในกลุ่มไลน์ของแฟนพี่ชายที่ชอบร่วมกิจกรรมกับทางจังหวัด เพราะเป็นข้าราชการกันทั้งสองคน พอเกษียณอายุราชการก็หาอะไรทำกัน แฟนพี่ชายชอบออกไปร่วมกิจกรรมร้องและฟ้อนรำแบบล้านนา

                ส่วนพี่ชายก็แค่ตามไปดูเฉยๆ พอดีวันนั้นในกลุ่มส่งข่าวว่าจะมีครูมาสอน “แทงหยวก” ที่สวนปฏิบัติธรรม วิริยะธโร ๙ ซึ่งห่างจากบ้านของพี่ชายในราว 8 กม. ใช้เวลาเดินทางในราว 15 นาทีเท่านั้นเอง

บรรยากาศในการเรียน

                พี่ชายและผู้เขียนสนใจเรื่องอะไรแบบนี้อยู่แล้ว แทงหยวกเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในใจของผู้เขียนและพี่ชายมานาน ส่วนหนึ่งมาจากเรื่อง “เรื่องของคนแทงหยวก” ในนิยายผีของครูเหม เวชกร และจากการชมงานพระเมรุมาศในรัชกาลก่อน ทำให้เราสนใจเรื่องนี้กันมาก พี่ชายผู้เขียนเลยไปสมัครเรียนแทงหยวก ปรากฏว่าทางนั้นรับ 30 คนและเต็มแล้ว แต่ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า ถ้าสนใจก็มาชม มาเรียนได้ ไม่คิดค่าเรียนค่าสอนแต่อย่างใด

                ครูผู้สอนเป็นผู้ชายมีอายุสักหน่อย ชื่อครูสุรเดช เดชคง และมีอีกท่านหนึ่งเป็นผู้ช่วย กำหนดวันเรียนคือ 19-21 สิงหาคม แต่ปรากฏว่า พี่ชายและผู้เขียนไปถึงก่อนคือวันที่ 18 ก็เลยได้คุย และได้เรียนรู้ในภาคปฏิบัติบางส่วนก่อนคนอื่น ซึ่งเราก็ชอบอะไรแบบนี้อยู่แล้ว

                การแทงหยวกเป็นงานที่ใช้ในงานมงคลต่างๆ มีมานานและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยมาช้านาน นิยมใช้เป็นฐานวางสายสิญจน์ วางศิลาฤกษ์ กรอบรูปงานแต่งงาน ธรรมาสน์ที่พระเทศน์

                หรืออย่างงานศพก็ใช้ประดับประดาโลงและยกชั้นฐานวางโลง แต่ที่นิยมมากมักจะเป็นในงานศพ โดยใช้งานแทงหยวกประกอบในพิธี เวลาเผาก็เผางานไปด้วย เพราะเป็นตัวควบคุมไฟในขณะเผา ไม่ให้ไฟแรงเกินไป

                สำหรับหยวกกล้วยที่จะนำมาใช้ในงานแทงหยวกนั้น มักจะใช้กล้วยตานีหรือกล้วยป่า เพราะจะทนกว่ากล้วยบ้าน หรือกล้วยน้ำว้า และกล้วยทั่วๆไป

                กล้วยตานี หรือกล้วยป่า กาบหรือหยวกจะหนา ทนทาน ไม่กรอบแตกง่ายและไม่บาง ต้องใช้กล้วยต้นใหญ่ขนาดใหญ่ เพราะจะมีพื้นที่ให้แทงหยวกหรือฉลุลายมากกว่า กล้วยต้นเล็กจะโค้งมนไปอย่างเดียว ไม่มีพื้นที่ให้แกะสลัก”

                อ.สุรเดช บอกว่า เมื่อทำงานเสร็จแล้ว ให้รดน้ำให้ชุ่ม กล้วยตานี, กล้วยป่าอยู่ได้ถึงสามวัน แต่กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ อยู่ได้แค่วันเดียวก็จะดำแล้ว

มีดที่ใช้ฉลุหยวก

                นอกจากนี้ต้องมีอุปกรณ์สำหรับแทงหยวก ซึ่งเป็นมีดที่ใช้ในการนี้โดยเฉพาะ เหมือนมีดฉลุโฟมแต่เล็กและบางกว่า ทำจากใบเลื่อยตัดเหล็ก นำมาเจียรจนบางและยาวแหลม กะให้มีสองคมสองด้านเพราะจะได้ฉลุได้พลิ้วไหว

                วันนั้น ครูสุรเดชเอามีดมาให้ดู มีหลายแบบหลายขนาดมาก น้ำหนักก็แตกต่างกัน ความยาวกับน้ำหนักนั้น ครูว่าไม่สำคัญเท่ากับความคล่องมือเป็นหลัก

                เมื่อเจียรใบเลื่อยตัดเหล็กจนได้รูปแล้ว จากนั้นนำมาใส่ด้ามให้กระชับเหมาะมือ ซึ่งคนอื่นที่ไปเรียนด้วยกัน บอกว่าการแทงหยวกเป็นเรื่องยาก แต่ผู้เขียนกับพี่ชายที่ถนัดเรื่องพวกนี้ ก็ไม่ได้ยากเย็นเท่าไหร่นัก จะยากก็ตรงที่ว่า

                มันสำคัญตรงการแทงมีด และกลับมีดตามมุมต่างๆ ทำอย่างไรให้ลายออกมาอ่อนช้อย ที่สำคัญที่สุด คือเราจะต้องจำลายในหัวได้ด้วย”

                เราต้องจำได้และเห็นภาพนั้นทั้งหมด ทั้งต้องมองเห็นในอากาศ พร้อมทั้งคำนวณว่าจะฉลุแบบไหน กว้างยาวแค่ไหน เพราะเราจะไปกะ ไปร่าง หรือเขียนแบบไว้บนกาบหรือหยวกกล้วยไม่ได้

                เพราะเวลาเราย้อมสีแล้ว เส้นสายหรือร่องรอยต่างๆ ที่เรากะเอาไว้จะขึ้นมาทั้งหมด ทำให้งานดูไม่เรียบร้อย ไม่เนียนสวย ฉะนั้น เราต้องร่างแบบเอาไว้ในใจ กำหนดจุดต่างๆ ไว้ในอากาศเท่านั้น

ลายประดับ ลายฟันปลาและประจำยาม

                นอกจากมีดแล้ว สิ่งสำคัญอีกสองสามอย่างในการแทงหยวกก็คือ กระดาษสีสำหรับปิดหลังลายให้เห็นลายนั้นชัด ตอกไม้สำหรับเสียบยึดชิ้นงานเข้าด้วยกัน ไม้เสียบลูกชิ้นสำหรับต่องานให้สูงหรือเป็นแกนรับชิ้นงาน

                รวมไปถึงสีย้อมงานที่จะเพิ่มความชัดในเส้นและลวดลายต่างๆ สีที่ใช้คือสีที่ใช้ย้อมใบลาน สีย้อมผ้า สีทำขนม หรือสีผสมอาหารใช้ได้หมด แต่ต้องเป็นสีที่ใส ไม่ทึบแสงไม่ผสมแป้ง

                วันนั้น ครูและผู้ช่วยพาผู้เขียนและพี่ชายไปตัดต้นกล้วยที่หลังวัด หลังวัดเป็นป่ารกๆ โดยครูบอกว่า จะต้องเป็นกล้วยป่าหรือกล้วยตานี เพราะกล้วยธรรมดาจะดำเร็ว ( ยางทำปฏิกิริยากับอากาศไวมาก)

                ครูและผู้ช่วยหายไปหลังวัด ผู้เขียนกับพี่ชายก็ตามไป สักพักก็ช่วยกันแบกกล้วยออกมา ช่วยกันริดใบ จากนั้นช่วยกันตัดแบ่งเป็นสามท่อน

                ลอกกาบกล้วยออกมาเตรียมไว้ จากนั้นเอามาให้เริ่มแกะเป็นลายกาบกล้วย โดยให้หัดฉลุเป็นฟันปลาก่อน เป็นฟันปลาชั้นเดียว ฟันปลาสองชั้น

                ต่อมา ฉลุลายกาบเดี่ยว กาบซ้อน และสอนย้อมสี ลวดลาย แล้วค่อยสอนการประกอบอย่างจริงจังอีกครั้ง

                จากนั้น วันต่อมาก็เริ่มมาฉลุลายสามชั้น และเริ่มสอนฉลุลายประจำยาม เมื่อฉลุหมดแล้วก็มาแนะนำ สอนให้รู้จักวิธีประกอบ โดยใช้ไม้ยาวๆ เสียบแทนกันไว้ สำหรับติดเป็นแผงเรียงตามลำดับ

                กาบกล้วยธรรมดา ซ้อนอยู่ใต้กาบกล้วยลายฉลุประจำยาม จะซ้อนกระดาษสีอีกทีก็ได้ และปิดประกบสองข้างด้วยลาย 3 และลวดลายฟันปลาตามลำดับ จากนั้นก็สอนให้เย็บติดกันด้วยตอก

                การยึดตอกนั้น ก่อนอื่นจะมีเหล็กแทงยาวทะลุเพื่อเป็นเหล็กนำ และใช้ตอกร้อย และเย็บให้แน่น ก็จะได้ชิ้นงานแล้วครูก็มาสอนให้ประดับ และเข้ามุม 45 องศา

                บ่ายวันนั้น มีผู้ที่เข้าร่วมอบรม นำน้ำมะตูม น้ำผลไม้ และน้ำแข็งมาให้ดื่มกัน ผู้เขียนและพี่ชายก็ฝึกทำกันไปจนบ่าย ตกในราวบ่ายสามโมง บางคนก็ขอตัวแยกย้ายกัน เพราะมีกิจธุระทางบ้าน ซึ่งผู้ที่มาร่วมกิจกรรมอบรมในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผู้ใหญ่มีอายุแล้วทั้งนั้น จึงต้องกลับไปทำกิจกรรมของแต่ละครอบครัว

ลายปิดมุม

                วันต่อมา ครูสอนการประกอบอย่างจริงจัง โดยจัดให้ทำฐานเชิงเทียนที่จะนำไปถวายวัด เส้นทางเหนือเรียกว่า ต้นเทียน ครูเรียกให้พี่ชายเข้าไป บอกว่าให้แกะลายฉลุ ปิดรอยต่อ 45 องศาทั้งสี่มุม

                ซึ่งลายที่ว่านั้นใช้ปิดทั้งข้างล่างและข้างบน แล้วครูก็แกะเป็นตัวอย่างให้ดูหนึ่งอัน พี่ชายผู้เขียนก็แกะตามที่ครูสอนจนเสร็จทั้งหมด แล้วนำไปรวมกับลายอื่นๆ

                จากนั้นนำมาประกอบโดยนำมารวมกันที่ต้นเทียน และกลายเป็นฐานดังที่เห็นในรูป ทำจนสำเร็จเรียบร้อย ฐานชิ้นนั้น ครูสุรเดชทำด้วยโฟม และนำลวดลายแทงหยวกที่แทงแล้วไปประกอบเข้าไป

                เมื่อพี่ชายผู้เขียนฉลุมุมทั้งสี่ 4 ช่วง ชั้นบนและชั้นล่างแล้วก็เอาไปประกอบ ขณะที่คนอื่นๆ เริ่มทำกาบปิดแต่ละชั้น

                เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็ได้ฐานวางเทียนที่ดูเรียบร้อยสวยงามดี ในที่นี้มีเด็กหนุ่มสองคน ทำแบบดอกไม้ไหวมาติดเพิ่ม ซึ่งเป็นแบบของทางภาคเหนือ ทำให้ดูสวยไปอีกแบบหนึ่ง

                ครูสุรเดชบอกว่า ทางภาคกลางจะไม่มีอะไรแบบนี้ ลวดลายดอกไม้ก็ต่างกันไป แต่ละท้องที่ แต่ละท้องถิ่นลวดลายก็ไม่เหมือนกัน

ฐานเชิงเทียน

                เมื่อทำเสร็จเรียบร้อยก็ยกต้นเทียนเข้ามาประกอบกับฐาน และจัดวางให้ตรง ประดับประดาแบบต่างๆ กับต้นเทียนจนแล้วเสร็จ จากนั้นก็มารวมกลุ่มถ่ายรูปกัน

                พอบ่ายสาม หลายคนก็กลับไปก่อน แต่ผู้เขียนและพี่ชายยังอยู่คุยกับครู และให้ครูแกแกะสลักลวดลายต่างๆ ให้ดูเป็นตัวอย่าง แกก็แทงลายกนก ลายดอกไม้ และลายอื่นๆ

                ส่วนผู้เขียนกับพี่ชายก็ถ่ายวิดีโอไว้ดู ไว้ศึกษา หรือใช้ในงานคอนเทนต์ได้ การไปอบรมแทงหยวกครั้งนี้ถือเป็นความบังเอิญอย่างยิ่งยวด และพวกเราถือเป็นรุ่นแรกของจังหวัดลำพูนไปโดยปริยาย

                ในวันพรุ่งนี้ พวกเขาจะนำเทียนต้นนี้ไปถวายหลวงปู่ที่วัดเชียงดาว แต่พวกเขาจะออกกันในราวๆ 6 โมงเช้า และไปรถใครรถมัน ขับกันไปเอง ไปเจอกันที่วัด

                ซึ่งผู้เขียนและพี่ชายติดกิจธุระอื่นๆ เพราะยังมีคิวที่จะไปไหนต่อไหนกันอีก ส่วนวัดนั้น เราเองก็ไม่เคยไปและไม่สะดวก จึงไม่ได้ไปร่วมงานกับพวกเขาในครั้งนี้ด้วย

                ส่วนครูหรืออาจารย์ที่มาสอนทั้งสองคน พรุ่งนี้จะเดินทางกลับแต่เช้า ผู้เขียนกับพี่ชายจึงได้อยู่คุยกับครูทั้งสองจนเกือบห้าโมงเย็นจึงได้ขอตัวกลับ และสิ้นสุดการบันทึกเรื่องราวเอาไว้ที่ตรงนี้

                ครูยังบอกว่า เรื่องของการแทงหยวกนี้ นับวันก็จะหาคนสืบต่อ หรือผู้ที่สนใจน้อยลงไปทุกวันๆ เพราะงานศพ หรืองานมงคลสมัยนี้ก็มักจะเป็นงานอย่างสมัยใหม่

                มีองค์กร หรือบริษัทรับจัดทำเสร็จสรรพ ก็ไม่ต้องใช้วิธีการอย่างโบราณนี้อีก จะมีก็ตามต่างจังหวัด หรือชานเมืองที่ยังมีคนสนใจอยู่ ถ้าเขารับตกแต่งเมรุ ทำวันนี้กับคืนนี้ พอรุ่งขึ้นก็เผา

                คนสมัยนี้คงเห็นว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องสิ้นเปลือง และไม่มีความจำเป็น ก็เลยเพิกเฉยและไม่ให้ความสำคัญไป พอเวลาผ่านไปๆ เรื่องของการแทงหยวกก็เป็นสิ่งที่ผู้คนนิยมน้อยลง และอาจจะสูญสิ้นไปในที่สุด

                ซึ่งไม่แน่…ในวันหนึ่งข้างหน้า เรื่องราวพวกนี้อาจจะเหลืออยู่แค่ในบันทึก หรือแค่ในนิยายเพียงเท่านั้นเอง

เรื่องและภาพโดย จุติ จันทร์คณา


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •