27 กรกฎาคม 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

เทพีวีนัส เป็นเทพีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความรักและความงาม หรืออีกชื่อคือ อโฟรไดท์ (Aphrodite) เป็นชายาของเทพวัลแคน (Vulcan) หรือเฮฟเฟสตุส เทพแห่งงานช่าง ตามตำราว่าเกิดขึ้นเองจากฟองทะเล ด้วยพระนามของอโฟรไดท์ มาจากคำว่า ‘Aphros’ ที่แปลว่าฟอง ตามตำนานว่าพระนางเกิดในทะเลใกล้เกาะไซเธอรา และถูกคลื่นซัดไปยังเกาะไซปรัส

เทพีวีนัส

แต่บางตำราว่า เป็นธิดาของเทพซุส ที่เกิดจากนางอัปสรไดโอนี แต่ที่ตรงกันคือพระนางมีความงดงามที่ไม่มีใครเทียมได้ แม้กระทั่งเทพธิดาด้วยกัน สามารถสะกดใจผู้ชายทุกคนภายในพริบตาแรกที่มองเห็นพระนาง อีกทั้งพระนางก็ชอบใจในความงามของตนเองมากเสียด้วย  จึงไม่ยอมหากใครจะกล้าล้ำเส้นเทพีความงามของพระนาง ด้วยแรงริษยาที่รุนแรงพอๆ กับรูปโฉมสะสวย ทำให้เทพีวีนัสเป็นที่หวาดหวั่นของเทพหลายๆ องค์

ในวันแรกที่เทพีวีนัสปรากฏตัวบนเขาโอลิมปัส เทพชายทุกองค์โดยเฉพาะเทพซุส ก็อยากได้พระนางมาครอบครอง แต่เทพีวีนัสไม่ใช่หญิงสาวเรียบร้อยหัวอ่อนว่าง่าย ทำให้เทพซุสเกิดความโมโหและแก้เผ็ดพระนาง โดยจับพระนางแต่งงานกับเทพวัลแคน พระโอรสของพระองค์ ซึ่งเทพวัลแคนชอบขลุกอยู่ในโรงงานก่อสร้าง และประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เนื้อตัวมอมแมม แถมยังเป็นเทพขาเป๋ ทำให้เทพีวีนัสโกรธเคืองอย่างมาก แต่พระนางก็กล้าทำในสิ่งที่เทพีอื่นๆ ไม่กล้า นั่นคือการคบชู้สู่ชายแบบตามใจชอบ ดังเช่น

เทพอาเรส เทพแห่งสงคราม โอรสอีกองค์ของเทพซุส และเป็นน้องชายร่วมท้องของเทพวัลแคน ด้วยความที่มีรูปร่างหน้าตางดงามหล่อเหลา ทำให้ทั้งสองเกิดรักใคร่กันในใจเงียบๆ แต่แรกเจอ แต่เมื่อเทพีวีนัสถูกจับคลุมถุงชน ทั้งสองจึงยอมอยู่กินกันแบบชู้รักอย่างมีความสุข กระทั่งมีพยานรักด้วยกันถึง 4 องค์ คือ

เทพอาเรส (เทพแห่งสงคราม)

. คิวปิด กามเทพ เทพเจ้าแห่งความรัก มีชายาเป็นคู่แค้นเก่าของมารดา นามว่าเทพีไซคี และมีธิดาหนึ่งองค์กับพระชายา นามว่า เดลิซิโอ

๒. แอนตีรอส โอรสองค์รอง เป็นเทพเจ้าแห่งการรักตอบ

๓. ฮาร์โมเนีย หรือเฮอร์ไมโอนี ธิดาองค์ที่สาม ซึ่งเทพอาเรสยกให้แต่งงานกับแคดมัส ผู้ก่อตั้งเมืองธีบส์ โดยเทพอาเรสไม่รู้เลยว่า พระองค์ได้สาปแช่งแคดมัสไว้ ธิดาองค์นี้ในที่สุดก็กลายร่างเป็นงูตามสวามี และลูกหลานสืบต่อมาจึงประสบกับชะตากรรมอันน่าเศร้า อย่างที่รู้จักกันดีคือ โอดิปุส ผู้ซึ่งฆ่าพ่อของตนและได้แม่เป็นภรรยา

๔. อัลซิปเป ธิดาองค์สุดท้อง มีรูปโฉมงดงามจนถูกโอรสเทพโพไซดอนลักพาตัวไป ท้ายสุดเทพอาเรสตามชิงธิดากลับมาได้ และฆ่าโอรสเทพโพไซดอนตาย เทพโพไซดอนโกรธเคืองมาก ถึงขนาดต้องขึ้นศาลกับเทพอาเรส แต่ท้ายที่สุดเทพอาเรสก็ชนะความ

เทพเฮอร์มีส ซึ่งเป็นน้องชายต่างมารดากับเทพอาเรสและเทพวัลแคน เป็นเทพแห่งการติดต่อสื่อสาร การโกหกและการขโมย ทั้งสองมีโอรสชายด้วยกันหนึ่งองค์คือ เฮอร์มาโฟไดทัส แต่ภายหลังก็กลายเป็นเทพสองเพศ เพราะมีนางอัปสรชื่อ ซาลมากิส มาหลงรักเฮอร์มาโฟไดทัส ทว่าเขาไม่ไยดีต่อนางเลย นางจึงวิงวอนแก่เทพเจ้าให้นางได้ติดตามเขาไปทุกที่ ท้ายสุด นางซาลมากิสก็ถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเฮอร์มาโฟไดทัสตามแรงอธิษฐาน ทำให้เฮอร์มาโฟไดทัสมีสองเพศนับแต่นั้นมา

วีนัสและอาโดนิส

อาโดนิส ชายรูปงามซึ่งเป็นต้นกำเนิดของดอกกุหลาบ เล่ามาว่า ครั้งหนึ่งในป่าใหญ่ ขณะเทพีวีนัสกำลังประพาสป่า เกิดพบต้นไม้ใหญ่งดงามต้นหนึ่งหักโค่นลง และภายในมีเด็กชายหน้าตาน่ารักอยู่ พระนางจึงรับเด็กชายไว้ และตั้งชื่อเขาว่า อาโดนิส พระนางฝากเทพีเพอร์เซโฟนี่ มเหสีแห่งเทพฮาเดสดูแล จนกระทั่งเวลาล่วงเลยผ่านมา เทพีวีนัสบังเอิญถูกศรรักของโอรสสะกิดจนเป็นแผลเล็ก และเวลาประจวบเหมาะกับที่อาโดนิส เมื่อโตเป็นหนุ่มแล้วมาปรากฏตรงหน้าพระนาง ทำให้เทพีวีนัสหลงรักอาโดนิสปักใจ และขออาโดนิสคืนจากเทพีเพอร์เซโฟนี่ แต่องค์เทพีไม่ยินยอมด้วยความผูกพันที่มีต่อชายหนุ่ม ทั้งสองเทพีจึงเกิดทะเลาะเบาะแว้งกันใหญ่โต

เทพซุสจึงตัดสินให้อาโดนิส สามารถอยู่กับเทพีวีนัสสี่เดือนบนโลกมนุษย์ อยู่อีกสี่เดือนในยมโลกกับเทพีเพอร์เซโฟนี่ และอีกสี่เดือนอาโดนิสจะอยู่ที่ไหนก็ได้ตามใจ (บางตำราก็ว่า แบ่งระหว่างสองเทพีองค์ละ 6 เดือน) แต่เทพอาเรสหึงหวงชายา(ลับ)ของตนมาก จึงแปลงเป็นหมูป่าที่อาโดนิสชอบ ล่อลวงเขาเข้าป่าไปและฆ่าทิ้ง เทพีวีนัสเสียใจมากที่พบแต่ศพของชายคนรัก พระนางจึงเนรมิตดอกไม้งามขึ้นมาจากเลือดของอาโดนิส ซึ่งเป็นดอกไม้สัญลักษณ์แห่งความรัก ดอกกุหลาบนั่นเอง

แอนไคซีสเป็นมนุษย์ธรรมดา เป็นบุตรเขยของท้าวอิลัส ปู่ของท้าวเพรียมฝ่ายทรอย ทั้งๆ ที่เขามีชายาอยู่แล้ว แต่เทพีวีนัสก็หลงใหลในตัวของแอนไคซีสมาก พระนางแปลงตัวมาเป็นนางอัปสรประจำเขาไอดา และหาโอกาสใกล้ชิดกับแอนไคซีส จนมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ อีเนียส วีรบุรุษฝ่ายทรอยในสงครามทรอย ผู้ก่อตั้งอาณาจักรโรมันอันยิ่งใหญ่ เป็นต้น

การกำเนิดของเทพนารีอโฟรไดท์ หรือวีนัส  ค่อนข้างพิลึกและโหดร้ายพอๆ กัน เรื่องมีอยู่ว่า หลังจากเทพบิดรอูรานอส หรือยูเรนัส และเทพมารดร จีอา หรือจี ได้ให้กำเนิดพระราชโอรส 6 องค์ และพระราชธิดา 6 องค์ ซึ่งต่อมาทั้ง 12 องค์นี้ เรียกรวมกันว่า คณะเทพไทแทน (Titan)

เทพบิดรอูรานอส ทรงคิดหวั่นวิตกว่า สักวันหนึ่งพระองค์จะทรงถูกโค่นราชบัลลังก์ จึงทรงตัดสินพระทัยโยนคณะเทพไทแทนลงไปในเหวลึกใต้บาดาลอันมืดมิด ที่เรียกว่า ดินแดนทาร์ทารัส (Tartarus) เพื่อจองจำไว้ชั่วนิรันดร์ ไม่เพียงเท่านั้น ทุกครั้งที่เทพมารดรจีอาให้กำเนิดพระราชโอรสหรือพระราชธิดา เทพบิดรอูรานอสก็จะจับเลือดเนื้อเชื้อไขของพระองค์โยนลงไปในดินแดนทาร์ทารัสทุกครั้ง ซึ่งสร้างความโกรธแค้นและเศร้าเสียใจแก่เทพมารดรจีอายิ่งนัก

วันหนึ่ง เทพมารดรจีอาได้เสด็จแอบลงไปยังดินแดนทาร์ทารัส และได้ทรงปล่อยเทพโครนัส หรือพระราชโอรสองค์สุดท้องในคณะเทพไทแทนให้เป็นอิสระ และทรงมอบเคียววิเศษเป็นอาวุธ ให้เทพโครนัสทรงนำไปต่อกรกับพระราชบิดา เมื่อเทพโครนัสกระทำการโค่นพระราชอำนาจของเทพบิดรอูรานอสได้สำเร็จ จึงทรงพันธนาการพระราชบิดาอย่างแน่นหนา และทรงใช้เคียววิเศษตัดองคชาติของเทพบิดรอูรานอส แล้วเหวี่ยงทิ้งลงมายังมหาสมุทรเบื้องล่างตรงบริเวณใกล้ๆ กับเกาะไซเธอรา (Cythera) ในปัจจุบัน

ผู้กำเนิดจากฟองสมุทร

เมื่อองคชาติของเทพบิดรอูรานอสกระทบลงกับผิวน้ำในมหาสมุทร จนเกิดฟองแตกกระจาย ทันใดนั้น สิ่งมหัศจรรย์พันลึกก็ได้อุบัติขึ้น นั่นคือ เทพนารีผู้งดงามผุดผ่องราวหยาดน้ำค้างต้องแสงตะวันแรก ได้ผุดขึ้นมาจากฟองน้ำนั้น ด้วยเหตุนี้ ชาวกรีกจึงเรียกขานพระนามของเทพนารีพระองค์นี้ว่า “Aphrodite” อันหมายความว่า “ผู้กำเนิดจากฟองสมุทร” เพราะ “aphros” แปลว่า “ฟอง” จากนั้นลมตะวันตกก็พัดพาพระนางไปขึ้นฝั่ง ณ เกาะไซปรัส (Cyprus)

ด้วยเหตุนี้ เกาะไซเธอราและเกาะไซปรัส จึงกลายเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งเทพนารีอโฟรไดท์ บางครั้งก็มีผู้เรียกขานพระนามของเทพนารีพระองค์นี้ตามชื่อเกาะทั้งสองนี้ว่า “ไซเธอเรีย” (Cytherea) หรือ “ไซเพรียน” (Cyprian) ซึ่งหมายถึง “ผู้มาจากเกาะไซเธอรา หรือเกาะไซปรัส” นั่นเอง

ซานโดร บอตติเชลลี (Sandro Botticelli) จิตรกรเอก สมัยเรอเนสซองส์ตอนต้นของอิตาลี นำเสนอภาพเทพธิดาแห่งความรักที่งามผุดผ่องน่าทะนุถนอม ประทับยืนบนเปลือกหอย ที่กำลังถูกพัดเป่าเข้าสู่ชายฝั่งแห่งเกาะไซปรัส โดยเซฟเฟอรัส (Zephyrus) เทพเจ้าแห่งสายลมตะวันตกและพระชายาคือ โคลริส (Chloris) หรือ ฟลอรา (Flora) เทพนารีแห่งมวลบุปผชาติ ยิ่งเข้าใกล้ชายฝั่ง อันเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ท้าวเธอก็ยิ่งรู้สึกขวยเขินสะเทิ้นอายในความเปลือยเปล่าแห่งพระวรกาย แต่ ณ ชายฝั่งของเกาะไซปรัส แธลโล (Thallo) เทพนารีแห่งฤดูใบไม้ผลิ กำลังเฝ้ารอรับเสด็จพร้อมคลี่แพรผ้าสีสดใสลายดอกไม้ร่วง ชายผ้าปักลวดลายด้วยดิ้นทองอย่างงดงาม สำหรับเตรียมห่มคลุมพระวรกายอันบอบบาง เปลือยเปล่าและงดงาม ให้รอดพ้นจากสายตาของมวลมนุษย์

ภาพวาดกำเนิดวีนัสของบอตติเชลลี

องค์ประกอบทุกตัวภายในภาพ “กำเนิดวีนัส” ของ บอตติเชลลี เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว ที่สอดประสานคล้องจองกันอย่างมีสุนทรียภาพ ไม่ว่าจะเป็นท่วงท่าและการเคลื่อนไหวอันอ่อนช้อยงดงาม ความงามสง่าของเส้นขอบนอกที่ลื่นไหลเป็นอิสระของรูปทรง และเส้นผมที่ยาวสยายนุ่มสลวย และปลิวไสวไปตามสายลมของเทพนารี รวมทั้งการปรากฏกายของเทพเจ้าแห่งสายลม และพระชายาที่เกี่ยวกระหวัดรัดรึงเป็นหนึ่งเดียวกันในนภากาศ การโบกสะบัดของแพรผ้าสีสดท่ามกลางสายลมที่พัดผ่าน และริ้วคลื่นที่ม้วนตัวเข้าสู่ฝั่งเป็นระลอก

ภายในภาพปรากฏสัญลักษณ์ของเทพนารีอโฟรไดท์หลายอย่าง เช่น ดอกกุหลาบสีชมพู ที่โปรยปรายลงมาพร้อมกับลมเป่าของเทพนารีแห่งมวลบุปผชาติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่สามารถพิชิตทุกสิ่งในโลก หอยเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ และอารมณ์ปรารถนาอันร้อนแรง

เทพนารีอโฟรไดท์ คือเทพธิดาแห่งความรักและความงดงาม พระนางสามารถสะกดเทพและมนุษย์ให้ลุ่มหลงในความรักอย่างโงหัวไม่ขึ้น และบดบังปัญญาของผู้ชาญฉลาดให้กลายเป็นผู้โง่เขลาเบาปัญญาไปได้ในพริบตา เทพนารีอโฟรไดท์จะเฝ้าหัวเราะเยาะชายชาตรีทั้งเทพและมนุษย์ ผู้ตกอยู่ในวังวนแห่งห้วงพิศวาสอันเกิดจากการหว่านเสน่ห์ของท้าวเธออย่างสำราญใจ

นี่คือตำนานของเทพีวีนัส เทพนารีแห่งความรัก

เรื่องโดย. ทิวากร สุวพานิช

ภาพโดย. en.m.wikipedia.org, cosasquepasanenelarte.wordpress.com, Adobe Stock – breakermaximus, www.reddit.com, eclecticlight.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •