19 เมษายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

เราคงจะได้ยินคนพูดถึงกันบ่อย เกี่ยวกับเรื่อง “อโฆรี ฤาษีกินศพ” ในอินเดียที่แต่งตัวดูสกปรก ผมรกยาวหล่นลงมาจากมวยผม ใบหน้าทาสีทาขี้เถ้าจนดูน่ากลัว ยิ่งรู้ว่าคนเหล่านี้นิยมบริโภคเนื้อศพ ใช้หัวกะโหลกมนุษย์ต่างภาชนะ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าน่ากลัวและน่าขยะแขยงมากขึ้น

แต่เราจะรู้หรือไม่ว่า การที่พวกเขาทำเช่นนั้น เพราะมีจุดประสงค์อย่างไร?

เราจึงอยากจะพาท่านผู้อ่าน มุ่งตรงสู่พาราณสี เมืองแห่งฤาษี ถิ่นที่อยู่ของเหล่าอโฆรี หรืออโฆรา เพื่อที่จะได้สัมผัสชีวิตของ “ฤาษีกินคน” เหล่านี้อย่างจริงจัง

“อโฆรี” เป็นนิกายหนึ่งในไศวนิกาย เชื่อกันว่าแยกจากนิกายตันตระ กปาลิกะ (เกิดขึ้นเมื่อราว ค.ศ. 1000) ในอินเดียเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 อโฆรีเป็นพวกที่มีวัตรปฏิบัติสุดโต่ง และแปลกแยกจากจารีตในสังคมอินเดีย รวมถึงพิธีกรรมต่างๆ อันไม่เป็นที่ยอมรับตามหลักศาสนาฮินดู

นอกจากนี้ พวกอโฆรียังเป็นพวกกินซากศพมนุษย์ ดื่มสุรา การใช้สารเสพติดประเภทฝิ่น และยาหลอนประสาท รวมทั้งดื่มกินปัสสาวะและอุจจาระ เนื่องจากพวกอโฆรีเห็นว่าศพก็เป็นสิ่งที่มาจากพระเป็นเจ้า ชอบอาศัยอยู่สุสาน นำขี้เถ้าที่ได้จากการเผาศพทาตัวหรือใช้ผ้าห่อศพนุ่งห่ม ใช้กะโหลกคนเป็นบาตรสำหรับรับอาหารและน้ำ และพกอัญมณีติดตัว

ใช้กะโหลกสำหรับดื่มน้ำ

คุรุในนิกายอโฆรี มักจะเป็นผู้นำทางศาสนาในชุมชนชนบท รวมถึงเป็นผู้รักษาโรคที่การแพทย์ทั่วไปไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเชื่อว่าพวกอโฆรีสามารถเคลื่อนย้ายโรค และนำความมีสุขภาพดีมาให้ โดยใช้ร่างกายของพวกอโฆรีเองเป็นสื่อกลาง

พวกอโฆรีจะนับถือพระศิวะในรูปแบบของไภรวะเป็นหลัก โดยเชื่อว่าไภรวะเป็นสิ่งที่ทำให้เข้าถึงโมกษะ และหลุดพ้นจากสังสารวัฏ มีพื้นฐานความเชื่อที่สำคัญ 2 ประการ คือ พระศิวะเป็นสิ่งที่สมบูรณ์ในตนเอง และเป็นผู้ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่ง

การฝึกตนเองของพวกอโฆรี เพื่อให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ จะใช้ศพมนุษย์เป็นแท่นบูชาในการประกอบพิธีกรรม เข้าทรงนางตารา (พระแม่กาลี) และทำให้ร่างทรงมีพลังเหนือธรรมชาติ เทพและเทพีอื่นๆ ที่พวกอโฆรีนิยมนับถือ ได้แก่ พระศิวะ มหากาล วีรภัทร อวธูติ ธูมาวดี พคลามุขี ไภรวี เป็นต้น รวมถึงการนับถือพระทัตตเตรยะ (ภาครวมกันระหว่างพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ) นิกายนี้ไม่เชื่อแนวคิดทวิภาวะ

สัญลักษณ์ที่พวกอโฆรีนำมาตีความคือตรีศูล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ส่วนประกอบ 3 ประการที่พระศิวะหรือศักติใช้สร้างสรรค์จักรวาล ดังนี้

                                อิจฉา ศักติ (พลังแห่งความต้องการ)

                                ชญาณ ศักติ (พลังแห่งความรู้)

                                กริยา ศักติ (พลังแห่งการกระทำ)

 ส่วนด้ามไม้เท้าเป็นสัญลักษณ์แทนกระดูกสันหลังมนุษย์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการฝึกสมาธิจนทำให้เข้าถึงความรู้แจ้ง

เหล่าสาวกในนิกายอโฆรี อาศัยอยู่ในสุสานแถบอินเดีย เนปาล และมีประปรายแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาวกเหล่านี้ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมมากนัก ศูนย์กลางของนิกายนี้อยู่รวินทรบุรี เมืองพาราณสี

พระศิวะ

ในขณะที่หลายคนมองว่า พวกเขางมงาย ล้าหลัง น่ากลัว น่ารังเกียจ แต่พอเราศึกษาลึกลงไปพบว่า “อโฆรี (Aghori) เป็นกลุ่มผู้นับถือพระศิวะแบบสุดโต่งกลุ่มหนึ่งในนิกายตันตระ นาม “พระไภรวะ” บางคนคงคุ้นหูกันบ้าง คือเป็นพระนามหนึ่งของพระศิวะ อันมีที่มาจากด้านที่น่าสะพรึงกลัวของพระศิวะ และอีกนามหนึ่ง คือ พระภูเตศวร ซึ่งพระศิวะทรงปฏิบัติตันตระโยคะ อยู่บริเวณที่วิเวก เช่น สุสาน หรือ บริเวณที่เผาศพ, เปลือยกายและทาตัวด้วยเถ้าจากการเผาศพ, มีมุ่นผมอันรุงรัง และมีภูตผีเป็นบริวาร ตัดโลกภายนอก เหล่าอโฆรีจึงประพฤติวัตรตามอย่างพระศิวะนั่นเอง

แต่ก็มีบางช่วงบางตอน ที่อโฆรีนอกบทนอกตอนออกไปแบบสุดโต่งเหมือนกัน คือประมาณว่าไม่ได้ทำเพื่อความเพลิดเพลินแต่มันเป็นบททดสอบที่เหล่ากูรูทำการทดสอบพวกเขา ก่อนจะรับเป็นศิษย์และเป็นอโฆรี เช่น กินเนื้อจากศพ, ทานมูตรคูถ, เสพสมกับศพ เป็นต้น   กิจวัตรหลักของอโฆรี ไม่ใช่สามอย่างที่กล่าวถึงเมื่อครู่ หากคือ การสวดมนตรา ประกอบพิธีกรรม และตันตระโยคะเพื่อหนทางสู่โมกษะ โดยบางอย่างอาจจะดูไม่ดีในทางโลก แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตนผุดผ่องจากความโสมม หรือบาปในสังสารวัฏ ไม่ให้ตนรู้สึกรัก-โลภ-โกรธ-หลงใดๆ ทั้งสิ้น

อโฆรี

ปกติเราจะไม่ได้มีโอกาสเห็นเหล่าอโฆรีได้ง่ายนัก พวกเขามักปลีกวิเวกและจะมาปรากฏตัวร่วมพิธีศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น เช่น กุมภเมลา และศิวะราตรี เป็นต้น การจะถ่ายภาพฤาษีพวกนี้ เราต้องขออนุญาตพวกเขาก่อน ขณะที่ไปร่วมงานมหาศิวะราตรี ณ เมืองพาราณสี หลายคนหวาดกลัวอโฆรี เพราะเชื่อว่ามีเวทมนตร์คาถา บางคนเชื่อว่าอโฆรีสามารถรักษาความเจ็บป่วยบางอย่างให้ตนหายได้

แต่ในขณะเดียวกัน คนที่อาศัยในเขตเมืองหลายเมือง พยายามผลักดันอโฆรีออกไปจากชุมชน เพราะความไม่เจริญหูเจริญตาและสาเหตุอื่น จะว่าไปเราก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า ทำไมสังคมปัจจุบันไม่ยอมรับ เพราะนอกจากรูปลักษณ์ของอโฆรีที่ทาตัวด้วยเถ้า ไม่สวมเสื้อผ้าอาภรณ์ สวมแต่สร้อยรุทรักษะแล้ว อโฆรีบางท่านยังถือตรีศูล และกะโหลกศีรษะมนุษย์อีกด้วย

ทำให้มีอีกคำถามหนึ่งเกิดขึ้นว่าแล้ว ในภาพของพระศิวะก็มีกะโหลกเหมือนกัน แต่มันคือกะโหลกใคร

ตอบข้อสงสัยตรงนี้ ในภาพพระศิวะที่เราเห็นอยู่นั้น ท่านถือกะโหลกศีรษะของพระพรหมครับ โดยเล่ากันว่า เมื่อก่อนนั้นพระพรหมมี ๕ เศียร แต่แล้วก็ถูกพระศิวะตัดเศียรไปหนึ่ง จึงเหลือเพียง ๔ เศียรดังที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

งานมหาศิวะราตรี

สำหรับคำว่า “อโฆรี” นั้น แปลว่า “ น่ากลัว” ตรงตัว ตรงสภาพของนักบวชเหล่านี้เลย แต่ลึกๆ ลงไปแล้ว ภายในภาพภายนอกที่ดูน่ากลัวนั้น เหล่านักบวชอโฆรีต่างก็มีเป้าหมายในการทรมานตนอยู่นั่นก็คือ การหลุดพ้นจากสังสารวัฏ หรือโมกษะ หรือว่า แสวงหา “นิพพาน” นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ เหล่านักบวชอโฆรี จึงมีข้อปฏิบัติเพื่อให้ตัวเองปล่อยวางเข้าสู่ทางมรรคผลให้หลุดพ้นจากกิเลส โลกีย์ และอาสวะทั้งปวง คือ

ละวิถีคฤหัสถ์ปลีกวิเวกไปแสวงหาความรู้แจ้งสัจธรรมและบำเพ็ญภาวนาสมาธิฌาน

ตัดโลกียวิสัย ไม่มีเพศสัมพันธ์ตลอดชีวิต อีกทั้งหลายท่านยังพยายามตัดตัณหาด้วยการทรมานตัวเองต่างๆ นานา

ละชนชั้นวรรณะและธุระทางโลกซึ่งเป็นมายาครอบงำแห่งโลกวัตถุนิยม อันกระตุ้นให้เกิดราคะ, โทสะ, โมหะ, โลภะ ที่พวกเขาต้องดับให้หมดไป

อโฆรีอาศัยอยู่ในบริเวณสุสานและสถานที่เผาศพ ก็เพื่อขจัดความกลัว

ทาร่างกายด้วยเถ้า แทนการสวมเสื้อผ้าอาภรณ์ เพื่อขจัดอัตตา

เปลือยกาย เพื่อขจัดความอาย

เสพกัญชาและพืชที่ออกฤทธิ์กับระบบประสาทให้อยู่ในสภาวะเคลิ้ม เพื่อให้จิตจดจ่อกับวัตรที่ตนกำลังประกอบอยู่ และในขณะเดียวกันก็สามารถควบคุมจิตให้นิ่งและตื่นรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เสพเพื่อความสุขหรือความเพลิดเพลินเริงรมย์ในทางโลก

ปฏิบัติตันตระโยคะ เพื่อช่วยควบคุมและตามทันอารมณ์ของตน อีกทั้งช่วยให้จิตกับกายหลอมเป็นหนึ่งเดียวเข้าไปสู่อาตมัน เป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่เราตระหนักและเรียนรู้จากอโฆรี คือ การมีวินัยในตัวเอง (self-discipline) อย่างมากถึงมากที่สุด ไม่มีใครมาบังคับหรือควบคุม และถ้าเราไร้วินัยเมื่อไหร่ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็ริบหรี่เหลือเกิน โดยเฉพาะกระแสโลกวัตถุนิยมในปัจจุบันนี้

เรื่องโดย. ตะวัน สัญจร

ภาพโดย. www.janskwara.com, www.the-sun.com, www.dharmsansar.com, www.nepal101.net


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •