7 ตุลาคม 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

            แม้จะมีอายุกว่า 4,500 ปีมาแล้ว มหาพีระมิดแห่งกิซ่า 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่ยังเหลืออยู่ก็คงเป็นทั้งปริศนาและความประทับใจของคนทั้งโลกมาแต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน ที่เป็นปริศนาคือ คนอียิปต์สร้างพีระมิดที่สูง 146 เมตรนี้ได้อย่างไร ก้อนหินหนักกว่า 2 ตันถูกนำขึ้นไปไว้บนยอดพีระมิดได้อย่างไร ส่วนที่เป็นความประทับใจคือ พีระมิดเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่สมบูรณ์แบบด้านสถาปัตยกรรมของมนุษย์

            สุสานของฟาโรห์มักจะเต็มไปด้วยห้องลับต่างๆ ที่อยู่ในพีระมิด ทำให้เกิดคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ ทำไมภายในพีระมิดจึงมีแค่โลงศพหิน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีห้องลับซ่อนอยู่ในพีระมิด นิตยสาร Nature ได้ตีพิมพ์บทความเปิดเผยถึงการค้นพบพื้นที่ว่างเปล่าขนาดใหญ่ภายในมหาพีระมิด การค้นพบครั้งนี้จึงกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

            เมื่อ 450 ปีก่อนคริสตกาล เฮโรโดตุส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อของกรีซ เดินทางไปเยือนอียิปต์ สมัยนั้นอียิปต์ยังไม่มีเมืองที่ชื่อว่าไคโร เมืองที่ศักดิ์สิทธิ์และพลุกพล่านที่สุดในเวลานั้นคือเมมฟิส นครหลวงของอียิปต์โบราณ ทางทิศตะวันตกของนครเมมฟิสคือที่ราบสูงกิซ่า ซึ่งเป็นที่ตั้งพีระมิดของฟาโรห์ พระนามว่าคูฟู (Khufu) แต่พวกกรีซเรียกชื่อว่า ชิออปส์ (Cheops)

            เฮโรโดตุสและนักเดินทางรุ่นหลังๆ ล้วนตกตะลึงเมื่อได้มาเห็นมหาพีระมิด เพราะไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ ในประเทศตัวเองที่จะมาเทียบเคียงได้เลยกับมหาพีระมิด ไม่ว่าขนาดที่ใหญ่โตและความแม่นยำในการก่อสร้าง วิหารพาร์เธนอน (Parthenon) ของกรีซ แม้จะได้รับการชื่นชมมากในเรื่องขนาดที่เหมาะสม ความกลมกลืนและความงดงาม แต่เมื่อนำมาเทียบมหาพีระมิด วิหารพาร์เธนอนเป็นได้แค่ตัวแสดงรับเชิญในภาพยนตร์เท่านั้น

            การมีขนาดที่ใหญ่โต ผิวทุกด้านที่ราบเรียบเหมือนกระจก และความแม่นยำของการก่อสร้าง ทำให้คนในสมัยโบราณอย่างเช่นเฮโรโดตุส ไม่ได้มองพีระมิดว่าเป็นโบราณวัตถุ แต่เป็นแท่งปริซึม (Prism) ที่ตั้งอยู่ในทะเลทราย และสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไป 4 ทิศ เมื่อเฮโรโดตุสไปเยือนพีระมิด ผิวหินปูนด้านข้างที่เรียบเหมือนกระจกของพีระมิดยังอยู่ครบถ้วน ต่อมาหินปูนที่ฉาบผิวพีระมิดถูกรื้อถอนออกไปหมดเพื่อเอาไปสร้างเมืองไคโร

            อาณาจักรอียิปต์โบราณดำรงอยู่เป็นเวลา 3,100 ปี ยาวนานกว่าอาณาจักรใดในโลก มีราชวงศ์ทั้งหมด 31 ราชวงศ์ แต่การสร้างพีระมิดเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลา 900 ปีของประวัติศาสตร์ที่ยาวนานดังกล่าว คือในสมัยราชวงศ์ที่ 3 ถึง 12 อียิปต์โบราณสร้างพีระมิดทั้งหมดมากกว่า 100 แห่ง แต่พีระมิดที่ยิ่งใหญ่สุดคือพีระมิด 3 แห่ง ตั้งอยู่ใกล้กันบนที่ราบสูงกิซ่า ห่างจากกรุงไคโร 20 กิโลเมตร พีระมิดทั้ง 3 สร้างขึ้นในสมัยของฟาโรห์ 3 องค์ คือคูฟู คาเฟร์ และเมนเคอเร การสร้างพีระมิดทั้ง 3 เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 75 ปี

            พีระมิด 3 แห่งที่กิซ่านั้น ไม่มีพีระมิดไหนจะยิ่งใหญ่เท่ากับพีระมิดของฟาโรห์คูฟู ในแง่สถาปัตยกรรม พีระมิดเป็นหลักฐานพิสูจน์องค์ความรู้ของอียิปต์โบราณในเรื่องของคณิตศาสตร์ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ แต่ละด้านของพีระมิดหันหน้าได้สมบูรณ์แบบตรงตาม 4 ทิศ แต่ละด้านของพีระมิดเอียงเฉียงขึ้นไป 51.9 องศา ฐานของพีระมิดมีความเรียบตรง โดยต่างกันแค่ 2 เซนติเมตร ความแม่นยำของพีระมิดดังกล่าว ทำให้คนที่ได้ไปเยือนต้องก้มหัวคารวะให้กับคนที่สร้างสิ่งนี้เมื่อ 4 พันกว่าปีมาแล้ว

            ไม่เพียงแค่ความยิ่งใหญ่ด้านสถาปัตยกรรมเท่านั้น พีระมิดยังเป็นสิ่งก่อสร้างที่เต็มไปด้วยความลี้ลับที่อาจจะมากกว่าสิ่งก่อสร้างใดๆ ในโลก คำถามที่เป็นปริศนามีอยู่มากมาย เช่น ทำไมพีระมิดจึงมีเฉลียงทางเดินภายในที่ซับซ้อน ทำไมภายในพีระมิดมีห้อง 3 ห้อง และทำไมห้องฝังพระศพจึงสร้างที่ตอนกลางของพีระมิด สูงจากฐาน 43 เมตร จากความสูงของพีระมิดทั้งหมด 146 เมตร ขณะที่พีระมิดอื่นๆ ห้องฝังพระศพจะอยู่ใต้ดินหรือที่ฐานพีระมิด คำอธิบายของนักอียิปต์วิทยาต่อความลี้ลับเหล่านี้ แทนที่จะเป็นคำตอบที่กระจ่างมากขึ้น กลับทำให้ความลี้ลับเพิ่มมากขึ้นไปอีก

            พีระมิดมีทางเข้าจริงอยู่ทางทิศเหนือของผิวพีระมิด อยู่สูงจากฐาน 17 เมตร ทางเข้ากว้าง 1.1 เมตร และสูง 1.2 เมตร ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เข้าไปภายในพีระมิดไม่ได้ใช้ทางเข้าจริงนี้ ทางเข้าพีระมิดสร้างเป็นทางเดินลาดต่ำลงไป 26 องศา ทางลงนี้ตรงไปยังห้องฝังพระศพที่อยู่ใต้ฐานพีระมิด นักอียิปต์วิทยาเรียกห้องนี้ว่า Lower Chamber หรือ Subterranean Chamber แต่ห้องนี้สร้างไม่เสร็จ ไม่มีใครรู้ว่าห้อง Lower Chamber สร้างขึ้นเพื่ออะไร เพราะดูเหมือนว่าจะถูกทิ้งกลางคัน

            มีความเป็นไปได้ที่ฟาโรห์คูฟูเกิดเปลี่ยนใจ ทำให้สถาปนิกต้องสร้างทางเดินที่เป็นทางแยกในบริเวณทางเข้าเมื่อลงมาแล้ว 18 เมตร ทางแยกนี้สร้างเป็นทางเดินเฉียงสูงขึ้น นำไปสู่ห้องที่เรียกว่า Grand Gallery (ห้องโถงมีหลังคา) ที่อยู่สูงจากฐานพีระมิด 37 เมตร ห้องนี้ยาว 48 เมตร สูง 8.5 เมตร หลังคาห้องสร้างแบบเพดานสองข้างเข้ามาประกบเกือบชิดกันที่ยอดหลังคา นับเป็นตัวอย่างความเป็นเลิศในการสร้างหลังคาห้องแบบนี้ที่เรียกกันว่า Corbelled Ceiling

            ก่อนจะถึงห้อง Grand Gallery มีทางเดินเป็นแนวราบไปสู่ห้องฝังพระศพที่ 2 ที่เรียกว่า Queen’s Chamber ชื่อของห้องนี้มาจากความเข้าใจผิดของนักสำรวจอาหรับในอดีต ที่เข้าใจว่าเป็นห้องฝังศพมเหสีเอก ห้องนี้ก็สร้างไม่เสร็จ ที่ปลายสุดของห้อง Grand Gallery เป็นทางเดินแคบๆ ก่อนจะถึงห้องฝังพระศพห้องสุดท้าย มีชื่อเรียกว่า King’s Chamber ผนังห้องทำจากหินแกรนิตที่นำมาจากเมืองอัสวานที่อยู่ใต้สุดของอียิปต์ โลงศพทำจากหินแกรนิตตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของห้อง ความกว้างของโลงศพหินใหญ่กว่าทางเดินเข้าพีระมิด แสดงว่ามีการวางโลงศพนี้ในช่วงการก่อสร้างพีระมิด

            คำถามที่ว่าคนอียิปต์สร้างพีระมิดได้อย่างไร เป็นปริศนามาตั้งแต่โบราณ เพราะอียิปต์โบราณไม่ได้ทิ้งหลักฐานถึงวิธีการสร้างไว้เลย คนงานก่อสร้างนำหินหนัก 2 ตันขึ้นวางไว้บนยอดพีระมิดได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ในยุคนั้นยังไม่มีรถล้อใช้ลาก ลูกรอก หรือปั้นจั่นยกของหนัก เครื่องมือก่อสร้างแข็งแรงสุดก็ทำจากทองแดง

            ในการก่อสร้างพีระมิด แม้แต่การตัดสินใจเบื้องต้นก็มีความสำคัญมาก เช่น การเลือกทำเลของพีระมิด ปกติแล้วจะอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ การสำรวจความแข็งของพื้นดินที่จะสร้างพีระมิด ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องความสะดวกของงานด้านต่างๆ ในการก่อสร้าง ทำเลที่ตั้งพีระมิดต้องอยู่ใกล้กับแหล่งหินปูน การส่งคณะไปสำรวจเหมืองหินที่อัสวานที่อยู่ใต้สุดเพื่อเลือกหินที่เหมาะแก่การสร้างโลงศพหินของฟาโรห์ การสร้างท่าเรือติดสถานที่ก่อสร้าง การสร้างชุมชนที่พักให้แก่คนงานหลายพันคน ในช่วงแรกการก่อสร้างอาจมีหลายหมื่นคน เป็นต้น

            ด้วยเหตุนี้ งานตำแหน่งสถาปนิกหลวงของอียิปต์จึงมีความสำคัญมาก เพราะเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบการสร้างพีระมิด สถาปนิกหลวงจึงต้องเป็นคนที่มีความรู้ด้านสถาปัตยกรรม คณิตศาสตร์ และต้องมีความเป็นผู้นำสูง หลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่าชาวอียิปต์โบราณอาศัยทางลาด (ramp) เป็นเส้นทางเคลื่อนย้ายก้อนหินในการสร้างพีระมิด ส่วนจะเป็นทางลาดแบบไหน ไม่มีข้อสรุปชัดเจน แต่มีอยู่ 2 แนวคิดคือ ทางลาดแบบเส้นตรง ที่สร้างทางลาดไปด้านใดด้านหนึ่งของพีระมิด และอีกแนวคิดหนึ่งคือทางลาดแบบวนรอบตัวพีระมิด

            เฮโรโดตุสเคยเขียนไว้ว่า การสร้างพีระมิดใช้เวลา 20 ปี อาศัยคนงานก่อสร้าง 1 แสนคน ทำงานปีหนึ่ง 4-6 เดือน ก่อนจะมีคนงานชุดใหม่มาแทน นักอียิปต์วิทยาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับสิ่งที่เฮโรโดตุสเขียนไว้ แต่บางส่วนเห็นว่าการใช้แรงงานมากดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะในเวลานั้นคงจะมีประชากรล้านกว่าคน ที่มีความเป็นไปได้ก็คือ ในช่วงแรกของการสร้างฐานพีระมิด อาจใช้คนงาน 21,000 คน แล้วลดเหลือ 4,000 คนในช่วงท้ายการก่อสร้าง แต่ก็ยังต้องใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 14 ปี

            พีระมิดเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่โต พื้นที่ของห้องต่างๆ ที่ค้นพบในปัจจุบันมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดของพีระมิด จึงมีพื้นที่เหลืออีกมากที่อาจจะถูกสร้างขึ้นมาเป็นห้องอื่นๆ อีกในพีระมิด เช่น ห้องลับเก็บมัมมี่ของฟาโรห์คูฟู อาจมีห้องใดๆ ที่คนสร้างพีระมิดตั้งใจที่จะสร้างให้เป็น “ห้องลับ” แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีหลักฐานที่จะนำไปสู่ห้องดังกล่าว การค้นหา “ห้องลับ” ในพีระมิดจึงไม่เคยยุติ

            เพราะมีความเป็นไปได้ที่อาจค้นพบสุสานฟาโรห์ที่ยังไม่ถูกปล้นสะดมจากพวกโจรปล้นสุสาน แบบเดียวกับการค้นพบสุสานตุตันคามุนเมื่อปี 1922 ถ้าเช่นนั้น การค้นหาห้องลับในพีระมิด จะเริ่มต้นกันอย่างไร ในปี 1968 นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ชื่อหลุยส์ อัลวาเรซ (Louis Alvarez) เป็นหัวหน้าโครงการค้นหาห้องลับในพีระมิดของฟาโรห์คาเฟร์ โดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตรวจจับรังสีคอสมิกที่ตกลงมายังตัวพีระมิด หากมีห้องหรือทางเดินลับ รังสีคอสมิกจะผ่านพื้นที่ว่างดังกล่าว ในปริมาณมากกว่าที่ผ่านบริเวณที่มีก้อนหินทึบ ผลการทดสอบก็ไม่พบห้องลับภายในพีระมิดของคาเฟร์

            ส่วนการค้นพบล่าสุดเรื่องพื้นที่ว่างในพีระมิด มาจากการดำเนินงานของโครงการชื่อ ScanPyramids Project ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยไคโรกับสถาบัน Heritage Innovation Preservation (HIP) โครงการนี้เริ่มดำเนินงานเมื่อตุลาคม 2015 โดยอาศัยเทคโนโลยีตรวจจับรังสีคอสมิก นักวิทยาศาสตร์ ScanPyramids ค้นพบพื้นที่ว่างที่ตั้งอยู่เหนือห้อง Grand Gallery ห้องว่างนี้ยาว 30 เมตร สูง 8 เมตร กว้าง 2 เมตร เทียบกับห้อง Grand Gallery ที่ยาว 48 เมตร สูง 8.5 เมตร

          พื้นที่ว่างทั้งหมดมีขนาดพอๆ กับห้อง Grand Gallery นักวิทยาศาสตร์โครงการนี้ไม่เรียกพื้นที่ว่างนี้ว่า “ห้องลับ” เพราะรายละเอียดของบริเวณพื้นที่ว่างนี้ยังไม่ชัดเจน

เรื่องโดย. โรเจอร์

ภาพโดย. www.grenzwissenschaft-aktuell.de, abcnews.go.com, www.egyptindependent.com, www.researchgate.net, en.wikipedia.org, www.quora.com, Ai


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •