จักรวาล ประกอบด้วยกาแล็กซีจำนวนมากมหาศาล และที่ว่างระหว่างกาแล็กซีก็มีมากจนนับไม่ถ้วน จักรวาลมีอายุระหว่าง 14 บวกลบ 3 Giga years (Giga = 109) ค่านี้เป็นค่าคงที่ เรียกว่า “The Hubble constant” ตั้งเป็นเกียรติแก่ Edwin Hubble (1890-1953) นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้ที่สามารถวัดความยาวของกาแล็กซีของเราได้
จักรวาลประกอบด้วยกาแล็กซีนับแสนล้านกาแล็กซี มากจนนึกไม่ออก ดาวที่มีอยู่มากมายในท้องฟ้า ถือเป็นส่วนหนึ่งของเอกภพหรือจักรวาล โดยดาวต่างๆ จะรวมกันเป็นกลุ่มเรียกว่า “กาแล็กซี” หรือ ดาราจักร โลกเป็นดวงดาวหนึ่งในกาแล็กซี ที่เรียกว่ากาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way) หากอยากเห็นจักรวาล ให้แหงนหน้ามองไปยังขอบฟ้าด้านใดด้านหนึ่ง แล้วให้มองข้ามหัวตัวเองไปยังขอบฟ้า ด้านตรงกันข้ามที่มองเห็นเวิ้งว้างอยู่บนท้องฟ้า นั่นแหละคือจักรวาลล่ะ จักรวาลกว้างใหญ่แค่ไหนยังไม่อาจบอกได้ แม้ว่านักดาราศาสตร์จะพยายามศึกษาหาคำตอบเรื่องนี้มานับร้อยปีแล้ว ก็ยังไม่อาจบอกได้ว่าจักรวาลกว้างใหญ่แค่ไหน และขอบจักรวาลอยู่ที่ใด ได้แต่ทึกทักเอาว่าตรงจุดสุดท้ายที่มองเห็นวัตถุลอยเคว้งอยู่นั่นแหละคือขอบจักรวาล
ครั้นมีการตรวจพบเทหวัตถุเพิ่มเติมอีก ก็ขยายขอบจักรวาลไปอีก และเทหวัตถุนั้นไม่ได้หมายถึงวัตถุที่เป็นของแข็ง เช่น ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ หรืออุกกาบาต แต่อาจเป็นของแข็งของเหลวหรือแก๊สก็ได้ ส่วนอายุของจักรวาลนั้น พอจะบอกได้ว่ามีอายุประมาณ 14 บวกลบ 3 (Giga = 109) ลองบวกลบคูณหารเอาก็แล้วกัน ว่ามันจะอายุสักเท่าไร
มาดูเรื่องพิลึกๆ ในสุริยจักรวาลก่อนดีกว่า ดังได้กล่าวแล้วว่าจักรวาลประกอบด้วยกาแล็กซีจำนวนนับแสนกาแล็กซี และในแต่ละกาแล็กซีประกอบด้วยจักรวาลย่อยๆ อีกนับไม่ถ้วน โลกของเราอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก ซึ่งมีสุริยจักรวาล มีดาวเคราะห์เก้าดวง รวมทั้งโลกของเราด้วยเรียกว่า “ดาวนพเคราะห์” โคจรรอบดวงอาทิตย์ ทว่าระยะหลังมีการลดจำนวนดาวเคราะห์เหลือเพียงแปดดวง เนื่องจากบางดวงมีคุณสมบัติไม่พอที่จะเป็นดาวเคราะห์ ประเภทดาวนพเคราะห์ เชื่อว่าท่านพอจะรู้อยู่แล้วว่ามีดาวอะไรบ้าง มาดูเรื่องพิลึกอยู่ในดาวเคราะห์เหล่านี้บ้าง
ดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์ประธานของระบบสุริยะ มีเส้นผ่าศูนย์กลางหนึ่งล้านสี่แสนกิโลเมตร ยาวกว่าโลกเราร้อยเท่า ส่วนดาวที่ใหญ่ที่สุดในสุริยจักรวาล ได้แก่ ดาวพฤหัส มีมวลมากเท่ากับดาวเคราะห์ที่เหลือรวมกันสองเท่า และต้องใช้มวลโลกเรา 318 ดวงจึงจะเท่ากับดาวดวงนี้ เส้นผ่าศูนย์กลางนั้นยาวกว่าโลกเรา 11 เท่า อุณหภูมิเฉลี่ยเย็นเยือกติดลบถึง 140 องศา ส่วนดาวศุกร์ร้อนจัดที่สุด ที่น่าแปลกก็คือแม้จะลอยห่างจากดวงอาทิตย์ในลำดับที่ 2 แต่กลับร้อนกว่าดาวพุธที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ความพิลึกมันอยู่ตรงนี้ ที่เป็นดังนี้เนื่องจากแสงอาทิตย์ถูกบรรยากาศดาวศุกร์ดูดซับไว้มาก กล่าวคือ มีแต่ฉายเข้าไม่มีฉายออก ผลก็คือมีการสะสมความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้จนอุณหภูมิพุ่งทะยานไปเรื่อยๆ จนถึงระดับ 465 เซลเซียส ในขณะที่ดาวพุธอุณหภูมิสูงสุดเพียงแค่ 167 องศาเซลเซียสเท่านั้นเอง
ดังนั้น หากท่านแหงนคอตั้งบ่ามองไปบนท้องฟ้ายามค่ำคืน จะเห็นว่าดาวศุกร์จะสว่างตาที่สุด เหตุที่ดาวศุกร์โคจรชิดโลกมากกว่าใคร มวลกับปริมาตรพอฟัดพอเหวี่ยงกับโลกเรา นักดาราศาสตร์จึงเรียกมันว่าดาวเคราะห์คู่แฝดโลก
โดยที่โลกของเราใบนี้เต็มไปด้วยภูเขาเต็มพรืด และยอดที่สูงที่สุดคือเอเวอเรสต์นั้นสูง 8 กิโลเมตร แต่พอไปเทียบกับยอดเขาบนดาวอังคาร ซึ่งเล็กกว่าโลกถึงสี่เท่ากลับเทียบไม่ติด เพราะดาวอังคารมียอดเขาสูงถึง 27 กิโลเมตร เชิงเขาก็กว้างถึง 600 กิโลเมตร ทำให้กลายเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในสุริยจักรวาล
เรื่องพายุรุนแรงสุดขั้วต้องที่ดาวพฤหัส จุดแดงยักษ์ที่เห็นบนผิวดาวพฤหัส คือพายุระดับอเวจีในสุริยจักรวาล เป็นพายุไต้ฝุ่นระดับซูเปอร์ จุดแดงที่เห็นจะมีขนาดเท่าโลกสามใบ พายุหมุน 360 กม./ชม. มีพลังมหาศาลยิ่งกว่าพายุบนโลกหนึ่งเท่า เท่าที่ทราบจุดแดงนี้มีพายุหมุนมานาน 350 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังมีจุดแดงเล็กๆ ผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ไม่กี่วันก็หายไป ไม่อยู่เนิ่นนานเท่าจุดแดงยักษ์ อนึ่งจุดแดงเหล่านี้ ถูกตรวจพบโดยกล้องดูดาวอวกาศ “ฮับเบิล” เป็นผู้เปิดฉากการสำรวจอวกาศยุคใหม่ เพราะมีการส่งภาพดวงดาวต่างๆ มายังโลกติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา
ยุคแก่งแย่งชิงดีกันในเรื่องอวกาศ เริ่มปะทุขึ้นมากว่าห้าสิบปีแล้ว เริ่มจากการที่รัสเซียปล่อย “สปุตนิก” ดาวเทียมดวงแรกของโลกขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ แล้วส่งสัญญาณกลับมายังโลกอยู่ตลอดเวลา อันเป็นการเปิดยุคการประชันขันแข่ง งานสำรวจอวกาศระหว่างอเมริกากับรัสเซีย แต่นั่นก็ยังไม่นับว่าเป็นการประเดิมการแข่งขันทางอวกาศกัน เพราะสหรัฐฯ สามารถส่งสัตว์ตัวแรกขึ้นสู่วงโคจรมาก่อนหน้านี้สิบปีแล้ว เป็นการกรุยทางในการส่งมนุษย์ไปท่องอวกาศ และสำหรับสัตว์สายพันธุ์แรกที่ถูกเลือกนำมาใช้ส่งไปยังวงโคจรรอบโลกก็คือ แมลงหวี่… นับจากนั้นมีการระดมส่งสัตว์ต่างๆ ไปกับยานอวกาศอย่างต่อเนื่อง สำหรับรัสเซียได้มีการส่งสุนัขเพศเมียนาม “ไลก้า” ขึ้นไปกับยานอวกาศสปุตนิก 2 แต่ก็เคราะห์ร้ายที่ขึ้นไปได้ไม่กี่ชั่วโมงก็ตาย มีรายงานว่าเกิดจากต้องเผชิญกับความร้อนอย่างรุนแรง อันเกิดจากระบบควบคุมอุณหภูมิบกพร่อง อันที่จริงยานสปุตนิก 2 นั้น ไม่ได้ออกแบบให้ร่อนกลับมายังโลกอีก ซึ่งเท่ากับว่าส่งไลก้าไปตายลูกเดียว
สี่ปีต่อมา สหรัฐฯ ก็ได้ส่งชิมแปนซีตัวแรกชื่อว่า แฮม โดยใช้ยานเมอร์คิวรี่ ซึ่งก็สามารถร่อนไปกับยานรอบวงโคจรได้นานถึงสิบหกนาที และรอดตายกลับมาโดยไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรเลย ในปีเดียวกันนั้น รัสเซียก็ชิงลงมือตัดหน้าคู่แข่ง ด้วยการส่งมนุษย์ตัวเป็นๆ นาม “ยูริ กาการิน” ไปกับยานอวกาศ “วอสตอก 1” อันเป็นยานอวกาศรุ่นล่าสุด มีน้ำหนักถึงสี่ตัน ลอยเป็นวงโคจรรอบโลกนานถึงเก้าสิบนาที แล้วก็ร่อนลงสู่ผิวโลกอย่างปลอดภัย งานนี้สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อสามารถสร้างความเกรียวกราวไปได้รอบโลกขนาดนี้
อีกสองปีต่อมา รัสเซียก็ปล่อยทีเด็ดด้วยการส่งนักบินอวกาศสตรีคนแรกขึ้นไปกับยานอวกาศ นามว่า “วาเลนติน่าเทเรชโก” โดยใช้ยานอวกาศวอสตอก 6 เมื่อเห็นว่าทุกอย่างดำเนินไปด้วยดีไร้อันตรายใดๆ จึงมีความคิดที่จะสร้างบ้านหรูๆ สักหลังบนอวกาศ จากแนวคิดนี้นำไปสู่โครงการสถานีอวกาศ ซึ่งรัสเซียชิงตัดหน้าสหรัฐฯ เข็นโครงการสถานีอวกาศออกมา ด้วยการปล่อยสถานีอวกาศ “ซัลยุต 1” ออกสู่วงโคจรรอบโลก สี่สัปดาห์ต่อมาก็มีการส่งมนุษย์อวกาศสี่นายเข้าประจำการอยู่ในนั้น พร้อมกับเสบียงอาหารหลายหีบ พอที่จะยังชีพได้ 23 วัน และมีขนาดค่อนข้างเล็ก คือกว้างเพียงสี่เมตร ยาวยี่สิบเมตร หนักประมาณสองตัน นับจากนั้นรัสเซียยังส่งสถานีอวกาศออกไปอย่างต่อเนื่องรวมทั้งหมด 7 ลำ ลำสุดท้ายได้แก่ “ซัลยุต 7” มีขนาดใหญ่สุด สามารถรับมนุษย์อวกาศได้ถึงยี่สิบหกคน รวมเวลาอยู่บนยานทั้งสิ้น 816 วัน จากนั้นก็เริ่มโครงการใหม่ตัดหน้าสหรัฐฯ ทันที ไม่ยอมหยุดหายใจให้สหรัฐฯ ได้ไล่ทัน ด้วยการเปิดโครงการใหม่ขึ้นในชื่อ “เมียร์” สหรัฐฯ เห็นว่าถูกรัสเซียทิ้งห่างไปมาก จึงได้รีบส่งสถานี “สกายแล็ป” ขึ้นไปทาบทันที แต่จากความรีบร้อนจนไม่มีเวลาตรวจความเรียบร้อยของยานที่สร้างขึ้น ทำให้เกิดขัดข้องทางเทคนิคจนต้องปล่อยทิ้งให้ลอยไปตามใจชอบ ลอยเท้งเต้งอยู่ถึงหกปี ก่อนจะดิ่งลงสู่พื้นผิวโลกตามบุญตามกรรม
ทางด้านรัสเซีย เมื่อเห็นสกายแล็ปลอยเคว้งคว้างและหล่นลงสู่ผิวโลก เมียร์สถานีอวกาศรัสเซียก็ออกฤทธิ์ วาดลวดลายสร้างผลงานมากมายตลอดเวลาสิบปี และเพิ่งจะปลดระวางเมื่อแปดปีที่แล้ว เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ สหรัฐฯ ก็ยอมเสียศักดิ์ศรีขอจับมือกับรัสเซียเพื่อใช้สถานีอวกาศรัสเซีย โดยจูงมือชาติอื่นที่มีโครงการอวกาศเหมือนกัน ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส ไปเป็นเพื่อนกู้หน้า โดยยอมออกค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ขอเพียงให้ได้ใช้สถานีอวกาศด้วยก็พอ โดยขอเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีอวกาศนานาชาติ” และมีการประกอบชิ้นส่วนต่อเติมให้ใหญ่ขึ้น มีน้ำหนักเพิ่มเป็น 450 ตัน ยาว 108 กว้าง 73 เมตร สามารถจุนักบินอวกาศได้สบายๆ 7 คน โคจรสูงจากผิวโลก 350 กิโลเมตร โดยมีวงโคจรรอบโลกถึงวันละ 15 รอบ ที่เรียกว่า สถานีอวกาศนานาชาติ เนื่องจากมีหลายชาติรวมทั้งสหรัฐฯ ช่วยกันออกทุนเป็นเงินเป็นเทคโนโลยีสร้างมันขึ้น โดยรัสเซียไม่ต้องทำอะไรนอกจากนั่งดูเขาทำงานกัน และยังไม่ต้องควักกระเป๋าแม้สักเก๊เดียวเลย นั่นเป็นเรื่องพิลึกที่ไม่ค่อยมีคนรู้มากนัก…ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ
เรื่องโดย. ทิวากร สุวพานิช
ภาพโดย. www.thairath.co.th, www.bbc.com, imgur.com, oniepr.com