27 กรกฎาคม 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

            ประเทศอินโดนีเซียมีเผ่าพันธุ์ต่างๆ มากมาย อาศัยอยู่ในดินแดนต่างๆ บนเกาะที่มีมากกว่า 7,000 เกาะ แต่ยังมีชนเผ่าหนึ่งที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย อาศัยอยู่ในเกาะของอินโดนีเซียและในประเทศมาเลเซีย กระจัดกระจายกันออกไป นั่นก็คือเผ่า “มีนังกาเบา” ซึ่งจะโพกหัวเหมือนเขาควายอันเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นที่มาของชื่อชนเผ่า

            ตามความเป็นมาดั้งเดิมนั้น มีตำนานเล่ากันว่า มีเมืองหนึ่งที่อยู่ในอินโดนีเซีย ซึ่งในอดีตเมืองนี้ถูกโจมตีบ่อยครั้งแต่ไม่เคยพ่ายแพ้ เนื่องจากว่าในเมืองดังกล่าวมีคนฉลาดมาก วันหนึ่ง มีกองทัพทางตอนเหนือของเกาะชวาประเทศอินโดนีเซียมาโจมตีพวกเขา พอกองทัพมาถึง พวกมีนัง ก็บอกว่า “แทนที่เราจะรบกัน เรามาพนันชนสัตว์ดีกว่ามั้ย” ซึ่งได้เจรจากันสักพักก็ตกลงกันว่าจะเอามีดปลายแหลมมาติดที่เขาควายแล้วให้มันชนกัน ควายใครชนะก็ได้ดินแดนไป

            ตอนนั้นมีควาย 2 ตัว เป็นตัวแม่กับตัวลูก พวกมีนังให้ผู้บุกรุกเลือกว่าจะใช้ควายตัวไหน ผู้นำกองทัพผู้บุกรุกเลือกเอาแม่ควายซึ่งตัวใหญ่กว่า พวกเขาเชื่อว่ามันตัวโตขนาดนั้น ลูกควายสู้แม่มันไม่ได้แน่ๆ และให้พวกมีนังเลือกเอาลูกควายที่เหลือไปเพราะไม่มีทางเลือก โดยให้ทั้งสองฝ่าย เอาแม่ควายและลูกควายไปขุนให้พร้อม เพื่อให้วันรุ่งขึ้นมาชนกัน

            พวกมีนังเอาลูกควายกลับไปหมู่บ้านของตนแล้วผูกเชือกล่ามไว้ ไม่ยอมให้ลูกควายกินอะไร ลูกควายก็หิวนมหนัก ร้องหาแม่ตลอดเวลา จนถึงวันรุ่งขึ้น ทั้งสองฝ่ายเอาควายมาติดมีดปลายแหลม (มีนัง) เข้าไป แล้วปล่อยให้พวกมันชนกัน

            พวกกองทัพติดมีดที่ปลายเขา ในขณะที่ลูกควายยังไม่มีเขาก็เลยต้องเอามีดมาติดที่ปลายจมูก พอปล่อยให้ควายทั้งสองเข้าสู่ลานประลอง ลูกควายซึ่งหิวนมจัดก็วิ่งเข้าไปหาแม่ควาย มุดเข้าไปใต้ท้องแม่ของมันเพราะความหิว เงยหน้าที่จะดูดนมแม่ แต่มีดปลายแหลมที่ติดอยู่ตรงจมูกนั้นกลับกรีดท้องแม่ของมันจนตาย ทำให้พวกมีนังชนะการพนันโดยไม่ต้องสู้รบกัน นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ชนเผ่าดังกล่าวนี้จึงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนามของ “มีนังกาเบา”

            เพราะคำว่า “มีนัง” แปลว่า “มีดแหลมคม” ซึ่งหมายถึงมีดที่ติดไว้ปลายจมูกควายก็ได้ หรืออาจจะหมายถึงความเฉลียวฉลาดหลักแหลมของชนเผ่านี้ก็ได้ ในขณะที่คำว่า “กาเบา” นั้นหมายถึง “ควาย” นั่นเอง ชนเผ่ามีนังกาเบาจึงเรียกเผ่าของตนอย่างภาคภูมิใจว่าเผ่ามีนังกาเบา หรือเผ่าที่ชนควายชนะ

            แม้อินโดนีเซียจะเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ก็ถือเป็นประเทศมุสลิมสายกลาง ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะคือความสามารถผสานความเชื่อระหว่างอิสลามกับสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นดั้งเดิม มัสยิดมีนังกาเบาซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านมีนังกาเบานี้ก็คือหนึ่งตัวอย่างที่สามารถสะท้อนปรากฏการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี กล่าวคือเป็นมัสยิดที่ไม่มีโครงสร้างที่เป็นโดมแบบเปอร์เซีย แต่กลับใช้รูปแบบการก่อสร้างหลังคาตามแบบประเพณีเดิมหรือ อาดัท (หลังคาทรงเขากระบือ)

            ไม่ว่าจะเป็นการโพกผ้าของผู้หญิง หลังคาเรือนที่มีลักษณะโค้งเป็นรูปคล้ายเขาควาย ล้วนแต่มาจากตำนานที่มาของชื่อมีนังกาเบาที่แปลว่าผู้ชนควายชนะ (แปลตรงตัวคือ ชนะควาย) อันมาจากตำนานที่ว่า ลักษณะบ้านเรือนสถาปัตยกรรมของเผ่านี้จึงมีลักษณะคล้ายเขาควายแทบทุกอย่าง

            ครอบครัวชนเผ่ามีนังกาเบา ส่วนใหญ่จะอยู่อาศัยรวมกันในบ้านที่เรียกกันว่า “รูมะฮ์กาดัง” ซึ่งแปลเป็นไทยว่าบ้านหลังใหญ่ หรืออิมะฮ์บากองจอง บ้านที่มีหลังคาเป็นยอดแหลม ซึ่งก็คือบ้านแบบดั้งเดิม (รูมะฮ์อาดัต) ของชนเผ่ามีนังกาเบาในอินโดนีเซีย อันแสดงให้เห็นถึงความประดิดประดอย และคุณค่าในความซับซ้อนของช่างศิลป์พื้นถิ่น ในสังคมมีนังกาเบานั้น นอกจากจะสร้างรูมะฮ์กาดังเพื่ออยู่อาศัยแล้ว ยังใช้เป็นศูนย์รวมชุมชนและประกอบพิธีกรรมต่างๆ

            ลักษณะที่โดดเด่นของรูมะฮ์แบบนี้คือหลังคาทรงโค้งมากและซ้อนกันหลายชั้น โดยทั่วไปแล้วคำว่า รูมะฮ์กาดัง หมายถึงบ้านขนาดใหญ่ในชุมชนมากกว่าบ้านเล็กๆ ส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม ลักษณะอย่างน้อยบางส่วนก็พบได้ทั่วไปในบ้านทุกแบบของมีนังกาเบา

            สำหรับพระราชวังมีนังกาเบา (Pagaruyung Palace) นั้น เป็นรูมะฮ์กาดังแบบผู้มีฐานะ ซึ่งนิยมสร้างหลังคาสลับหลายชั้น และตกแต่งอาคารอย่างวิจิตร ซึ่งในปัจจุบัน รูมะฮ์กาดังเป็นเหมือนสัญลักษณ์ประจำสุมาตราตะวันตก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมีนังกาเบา และถูกประยุกต์ผสมผสานในอาคารสมัยใหม่มากมายที่พบทั่วไปในเมือง เช่น อาคารรัฐบาล โรงแรม อาคารพาณิชย์ ท่าอากาศยานนานาชาติมีนังกาเบา เป็นต้น

            ในสังคมของมีนังกาเบานั้นเป็นสังคมแบบหญิงเป็นใหญ่ จึงทำให้รูมะฮ์นั้นจะสืบทอดจากมารดาสู่บุตรี ผู้หญิงของชนเผ่านี้จึงมีอำนาจเหนือกว่าผู้ชาย เพราะกว่าหนุ่มสาวจะครองคู่ หรือแต่งงานอยู่กินกันได้ก็ต้องผ่านพิธีกรรมความยากลำบากหลายอย่างมาด้วยกัน

            ในการแต่งงานของชาวมีนังกาเบามีส่วนที่แตกต่างกันบ้างจากการแต่งงานของชาวมลายู  ด้วยชาวมีนังกาเบาเป็นชนที่นอกจากนับถือศาสนาอิสลามแล้ว ยังยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีที่เรียกว่า “อาดัต เปอร์ปาตีห์” ซึ่งยึดหลักตามสายมารดาเป็นใหญ่ ดังนั้นเงื่อนไขของชาวมีนังกาเบา ตามที่ Fiony Sukmasari ได้เขียนไว้ในหนังสือที่เขาเขียนเรื่อง Perkawinan Adat Minangkabau ได้มีข้อกำหนดเอาไว้ว่า

            คู่บ่าวสาวมีนังกาเบาที่จะแต่งงานกันนั้น จะต้องเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม จะต้องไม่เป็นผู้ที่อยู่ในโคตรตระกูล (suku) คู่บ่าวสาวจะต้องเคารพนับถือบิดามารดาของแต่ละฝ่าย ข้อสุดท้ายฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องมีความสามารถในการเลี้ยงดูฝ่ายหญิง

            จากหนังสือ Adat Minangkabau, Pola & Tujuan Hidup Orang Minang กล่าวว่า ชาวมีนังกาเบาที่แต่งงานนอกเหนือจากเงื่อนไขข้างต้น หรือละเมิดเงื่อนไขข้างต้น ถือว่าเป็นการแต่งงานที่ไม่สมบูรณ์ สำหรับการแต่งงานนั้น ชาวมีนังกาเบาถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ด้วยการแต่งงานนั้นมีครั้งเดียวในชีวิต โดยถือว่าการแต่งงานเป็นพิธีกรรมครองคู่ที่จะต้องทำตามขนบธรรมเนียมอย่างเคร่งครัด โดยมีขั้นตอนการแต่งงานดังนี้

            หาฤกษ์ยามดวงสมพงศ์ (MARESEK ) ขั้นตอนนี้เหมือนของชาวมลายู คือการสืบและการดูดวง ดูความเหมาะสม สำหรับขั้นตอนแรกนี้ ไม่เพียงเป็นประเพณีของชาวมลายูเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งในหลักศาสนาอิสลาม เพราะเราจำเป็นต้องรู้สถานะของผู้ที่เราต้องการจะแต่งงานด้วย ในขั้นตอนนี้ทางฝ่ายผู้ชาย แม้จะรู้แล้วว่าสถานะของฝ่ายหญิงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ฝ่ายผู้ชายต้องส่งตัวแทนเพื่อไปพบครอบครัวฝ่ายหญิง เพื่อพบและสอบถามว่าฝ่ายหญิงมีเจ้าของแล้วยัง หรือว่าหมั้นหมายกับใครแล้วยัง

            การหมั้นและแลกเปลี่ยนสิ่งของ MAMINANG/BATIMBANG TANDO (BERTUKAR TANDA) โดยครอบครัวฝ่ายชายเดินทางไปยังครอบครัวฝ่ายหญิง เมื่อฝ่ายหญิงยอมรับฝ่ายชายแล้วก็จะมีการแลกเปลี่ยนสิ่งของ เพื่อเป็นหลักประกันว่าทั้งสองฝ่ายเห็นชอบกับการหมั้น สำหรับ ของแลกเปลี่ยนหรือของหมั้นทั้งสองฝ่ายนั้น จะเป็นสิ่งของที่ให้แก่ฝ่ายหญิง/ฝ่ายชาย เช่น กริช สิ่งของ เสื้อผ้าประจำเผ่ามีนังกาเบา เชี่ยนหมาก ขนมนมเนย ผลไม้ รวมทั้งสิ่งของที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาของวงศ์ตระกูล

            การเตรียมการแต่งงาน (MAHANTA SIRIAH/MINTA IZIN ) ฝ่ายชายแจ้งการแต่งงานแก่ญาติพี่น้องของตนเอง ฝ่ายหญิงก็เฉกเช่นเดียวกัน จากนั้นฝ่ายหญิงได้ส่งพานพลู ส่วนฝ่ายชายได้ส่งของ เช่น ยาเส้น แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบุหรี่ สำหรับครอบครัวฝ่ายหญิงก็จะมีการประชุมหารือ เพื่อช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายของงานแต่งเท่าที่ตนเองสามารถช่วยเหลือได้        

            การแสดงน้ำใจต่อกัน (BABAKO-BABAKI ) บิดาของฝ่ายหญิงที่เรียกว่า bako ที่ต้องการแสดงถึงความรักของตนเอง โดยการช่วยเหลือออกค่าใช้จ่ายตามความสามารถของตน ปกติแล้วพิธีนี้จะทำก่อนวันนิกะห์ไม่กี่วัน มีการส่งสิ่งของที่ประกอบด้วย พานพลู ข้าวเหนียวเหลือง แกงไก่ เครื่องทอง กับข้าวที่ทำแล้วหรือว่ายังสด ฝ่ายหญิงเดินทางไปยังบ้านของบิดาตนเอง หลังจากนั้นฝ่ายหญิงจึงเดินทางกลับไปยังบ้านของตนเอง

            พิธีมาลาม (MALAM BAINAI) ในการทำเฮนนาให้กับฝ่ายหญิง มักจะทำเฮนนาในตอนกลางคืน ก่อนที่จะมีการทำพิธีนิกะห์ เป็นพิธีสำหรับฝ่ายหญิงเท่านั้น โดยทำเฮนนาที่นิ้วและเล็บ รวมทั้งฝ่ามือ เล็บเท้า และรอบฝ่ามือ

            เหยียบเรือน (MANJAPUIK MARAPULAI) พิธีนี้ถือว่าสำคัญที่สุดของจารีตประเพณีตามอาดัตเปอร์ปาตีห์ โดยฝ่ายชายจะถูกเชิญไปยังบ้านของฝ่ายหญิงเพื่อพิธีนิกะห์ โดยฝ่ายหญิงจะต้องมีการเตรียมสิ่งของ เช่น เชี่ยนพลู เครื่องแต่งกายของผู้ชาย ข้าวเหลือง ขนมนมเนย กับข้าว ผลไม้ สำหรับพื้นที่ชายฝั่งของเกาะสุมาตรานั้น จะมีการนำสิ่งของที่เป็นดาบ หอก ร่มเหลืองด้วย

            การแห่ขันหมาก (PENYAMBUTAN DI RUMAH ANAK DARO) การต้อนรับฝ่ายชายที่เดินทางไปบ้านฝ่ายหญิง จะมีการแสดงดนตรี การรำพื้นบ้านของชาวมีนังกาเบา โดยครอบครัวฝ่ายหญิงจะมีการแสดงรำ ส่วนฝ่ายชายก็จะเดินสู่บ้านฝ่ายหญิงโดยมีการประน้ำมนต์ เป็นสัญลักษณ์ถึงการล้างสิ่งสกปรก ทำให้สะอาด และเดินบนพรมหรือผ้าสีขาวเพื่อสู่พิธีนิกะห์

            พิธีกรรมสุดท้าย (TRADISI USAI AKAD NIKAH) พิธีกรรมนี้จะแบ่งออกเป็น 5 อย่างด้วยกันที่ชาวมีนังกาเบาต้องทำ หลังจากที่พิธีนิกะห์เสร็จสิ้น นั่นคือขั้นตอนแรก เมื่อฝ่ายชายฝ่ายหญิง ได้ทำการนิกะห์เสร็จแล้ว ทั้งสองฝ่ายต้องมอบสิ่งของที่แต่ละฝ่ายมอบให้แก่กันตอนที่มีการหมั้น คืนให้แก่แต่ละฝ่าย จากนั้นก็จะเป็นการประกาศมอบชื่อบรรดาศักดิ์ให้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อแสดงให้เห็นว่าฝ่ายชายได้แต่งงานแล้ว ขั้นตอนต่อมา คู่บ่าวสาวจะมีการชนคิ้วกัน หลังจากนั้นฝ่ายชาย ฝ่ายหญิงต้องแย่งกันหาเนื้อที่ซ่อนไว้ในข้าวเหลืองที่เตรียมไว้

            ขั้นตอนสุดท้าย ฝ่ายหญิงฝ่ายชายจะมีการเล่นคล้ายหมากรุกของชาวมีนังกาเบา ซึ่งการเล่นนี้เป็นสัญลักษณ์ของคู่บ่าวสาวที่จะต้องมีความอดกลั้น อดทนในการเป็นคู่ชีวิตกัน เพื่อให้ทั้งคู่เป็นคู่ชีวิตที่ราบรื่น สามารถอยู่ด้วยกันตลอดไป ก็ถือว่าเป็นการจบสิ้นพิธีแต่งงาน…

/

เรื่องโดย. นายตำนาน

ภาพโดย. www.wikiwand.com, regional.kompas.com, sipulud.blogspot.com, social.shorthand.com, www.secret-retreats.com, farishdzq.wordpress.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •