เชื่อว่าหลายท่านคงจะได้เคยเห็นภาพของชนเผ่าลึกลับที่ออกมาขว้างหอกใส่เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์เมื่อหลายปีก่อนแล้ว ภาพดังกล่าวนั้นเผยแพร่ออกไปก็ทำให้มีคนสงสัยว่าชนเผ่าที่เห็นในป่าแอมะซอน ประเทศบราซิลนั้นคือชนเผ่าไหน
เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีนักมานุษยวิทยาและหมอสอนศาสนาพยายามที่จะเดินป่าเข้าไปจนถึงที่อยู่ของชนเผ่าดังกล่าว ใช้ความพยายามอยู่นานนับปี พวกเขาจึงมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสชีวิตกลุ่มชนเผ่าที่ว่านี้อยู่อย่างห่างๆ คอยช่วยเหลือเพื่อให้มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จนทำให้ได้พบว่าชนเผ่าที่ว่านี้มีพิธีกรรมที่น่าตื่นตะลึงมากเมื่อได้พบเห็น นั่นคือ เมื่อมีคนตายเกิดขึ้น ชนเผ่าที่ว่านี้จะชำแหละศพออกมา ซึ่งยังไม่มีการยืนยันว่าพวกเขาบริโภคเนื้อมนุษย์เข้าไปหรือไม่ เพราะในโลกโซเชียล ในเว็บไซต์ต่างๆ บอกว่าพวกเขากินเนื้อคนตายเข้าไป แต่ยังไม่มีการยืนยันจากต้นตอข้อมูล นอกจากความจริงอย่างหนึ่งที่ว่าชนเผ่านี้มีประเพณีและพิธีกรรมที่แสนประหลาดที่สุด นั่นก็คือ…
กินขี้เถ้าของกระดูกญาติพี่น้องเข้าไป!!!
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ไม่มีใครทราบได้ เพราะพวกเขาจะไม่พูดถึงคนตาย และจะไม่เศร้าสร้อยอาลัยในวันเวลาที่มีญาติพี่น้องหรือคนในเผ่าตายไป แต่พวกเขาจะมีวันที่รำลึกถึงคนตาย ซึ่งจะสามารถพูดถึงคนในเผ่าที่จากไปได้ หลายท่านคงจะสงสัยแล้วว่าชนเผ่าที่ว่านี้คือเผ่าอะไร?
ลึกเข้าไปในป่าฝนแอมะซอน ใกล้กับชายแดนเวเนซูเอลาและประเทศบราซิล ที่นั่นเป็นถิ่นอาศัยของชนเผ่ายาโนมามิ (Yanomami) ที่ยังใช้ชีวิตอยู่กับป่าและไม่รับอารยธรรมวิถีชีวิตจากโลกภายนอก ชนเผ่าดังกล่าวเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สืบทอดวัฒนธรรม “การกินเนื้อมนุษย์” หรือที่เรียกกันว่า Endocannibalism
การกินเนื้อมนุษย์ หรือวัฒนธรรมการกินคนในชนเผ่าตัวเองหลังจากที่พวกเขาเสียชีวิตลงแล้ว เป็นการกระทำที่มีหลายแง่มุมให้คิดได้ นั่นก็คือเป็นการกำจัดศพให้พ้นจากเผ่าโดยที่ไม่ทำให้สัตว์ร้ายเข้ามายุ่มย่ามกินศพ หรือบางครั้งอาจเป็นเพราะว่าในป่าดังกล่าวนั้นขาดแคลนเนื้อสัตว์ หรืออาจจะเป็นเนื่องจากว่ามันคือวัฒนธรรมเก่าแก่ที่พวกเขารับสืบทอดกันมาจนเป็นประเพณี และนี่คือการให้เกียรติผู้ตายโดยรับวิญญาณของคนตายกลับคืนเข้าไปในร่างของญาติพี่น้องเหมือนอย่างที่ชนเผ่ายาโนมามิทำก็ได้ เพราะเท่าที่มีนักมานุษยวิทยา หรือว่าผู้จัดทำสารคดีได้บันทึกเอาไว้ พวกเขายังไม่เห็นชนเผ่านี้กินเนื้อมนุษย์เข้าไป นอกจากขี้เถ้าของคนตายเท่านั้น
“มันเป็นพิธีกรรมรำลึกถึงคนตาย” นักสอนศาสนาคนหนึ่งซึ่งเดินทางเข้าไปคลุกคลีอยู่กับชนเผ่านี้เขียนบันทึกบอกโลกภายนอกเอาไว้เช่นนั้น เขาเล่าว่าเมื่อมีคนตายเกิดขึ้นในเผ่า ชาวยาโนมามิจะเอาศพมาชำแหละบนใบไม้ที่ปูไว้ แล้วก็จะตากแห้งเอาไว้ให้แมลงมากัดกิน หลังจากที่ทิ้งไว้ประมาณ 30-45 วัน พวกเขาก็จะนำกระดูกที่เหลือมาบดให้ละเอียดแล้วผสมลงไปในซุปกล้วย หลังจากนั้นก็จะร่วมกันกินทั้งหมู่บ้าน ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้เป็นประเพณีที่ถือว่าเป็นเรื่องปกติมากสำหรับพวกเขา
หลังจากที่เวลาผ่านไปหนึ่งปี พวกเขาจะนำขี้เถ้าที่เก็บไว้มาต้มเป็นซุปอีกครั้ง โดยชนเผ่ายาโนมามิมีความเชื่อว่าทำแบบนี้แล้ววิญญาณของคนตายจะหาทางไปสู่สวรรค์ได้โดยง่าย พิธีกรรมในการกินขี้เถ้าคนตายนี้ พวกเขาเรียกว่า “การรำลึกถึงคนตาย” เพราะในช่วงที่มีญาติพี่น้องตายจากไป พวกเขาจะมีกฎระเบียบที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดก็คือ ไม่เสียใจ ไม่ร้องไห้ และจะไม่พูดถึงชื่อของคนตายอีกจนกว่าจะถึงวันรำลึกถึงคนตายจึงจะอนุญาตให้เอ่ยถึงได้
ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
นั่นอาจจะเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของพวกเขาก็ได้ ที่ต้องการให้ลูกหลาน คนที่อยู่ข้างหลังมีความแข็งแกร่ง มีจิตใจที่ไม่เศร้าจนเกินไป เป็นการเยียวยาจิตใจของผู้ที่สูญเสียคนที่รักไป ทางเดียวที่จะลืมเรื่องร้ายๆ และเสียใจเมื่อมีคนตายได้ก็คือ “อย่าพูดถึงคนนั้นอีก” หากแต่ในความคิดถึงนั้นมันแล่นไหลเวียนอยู่ในสายเลือดอยู่ในกายของพวกเขา ที่เข้าใจว่าได้ใกล้ชิดกับญาติผู้จากไปด้วยการกินผงกระดูกในวันฌาปนกิจศพ และดื่มกินขี้เถ้าคนตายในวันรำลึกถึง
สิ่งหนึ่งที่ชนเผ่านี้นำมาเยียวยาจิตใจของคนในเผ่า หรือรักษาโรค รักษาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุหรืออะไรก็ตาม นั่นก็คือ “ยาหลอนประสาท” หรือที่เรียกว่า “ยาโกเอน่า” ซึ่งทำมาจากเปลือกไม้ของพืชในป่าที่หมอผีของเผ่ายาโนมามิจะเป็นผู้จัดหามาจากในป่าลึก และนำมาปลูกเอาไว้ในสวนของตนเอง หรือนำไปปลูกไว้ในที่ซึ่งลับตาคน
โดยหมอผีที่เรียกกันว่า “ซามาตารี” จะเอาเปลือกไม้ไวโรล่า เอลองกาตา มาบดผสมเข้ากับเมล็ดโยโบให้ป่นเป็นผงแล้วนำมาใช้รักษาคนป่วย ซึ่งเมื่อรับยาสมุนไพรดังกล่าวเข้าไปก็จะทำให้เกิดภาพหลอน ไม่รู้จักเจ็บ และหลงลืมอยู่ในภวังค์จนกว่าบาดแผลหรือการเจ็บป่วยที่รักษาจะหาย สิ่งเหล่านี้ หมอผีซามาตารีจะอ้างว่าเขาสามารถสื่อสารกับคนตายได้ และสามารถทำให้คนป่วยเหล่านั้นไม่ทุรนทุรายเมื่อเป็นไข้ป่า
ในการใช้ชีวิตประจำวันของชนเผ่า ผู้หญิงมีหน้าที่รับผิดชอบในบ้านและงานบ้านมากมาย ยกเว้นการล่าสัตว์และฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร แม้ว่าผู้หญิงไม่ได้เป็นคนล่าสัตว์ แต่ก็ต้องทำงานในสวนและเก็บผลไม้ หัวพืช ถั่ว และอาหารป่าอื่นๆ แปลงสวนจะถูกแบ่งออกจากครอบครัว โดยมีการปลูกกล้วย อ้อย มะม่วง มันฝรั่งหวาน มะละกอ มันสำปะหลัง และพืชอื่นๆ ที่นำมาเป็นอาหารได้ พวกผู้หญิงจะทำสวนทำไร่เหล่านั้นจนกว่าที่ดินผืนนั้นไม่สามารถปลูกอะไรได้ ทุกคนก็จะย้ายที่อยู่ไปอยู่ที่อื่นต่อไป
เช่นเดียวกันในตอนเช้า ในขณะที่ผู้ชายกำลังออกไปล่าสัตว์ ผู้หญิงและเด็กเล็กก็จะออกไปค้นหารังปลวกด้วง และสัตว์เล็กๆ อื่นๆ ที่กินได้ ไม่ว่าจะเป็นหนอน กบ หรือปูในน้ำ ซึ่งพวกมันจะถูกนำไปคั่วหรือย่างที่เตาในครัว พวกเด็กผู้ชายของเผ่าจะออกไปหาปลาในแม่น้ำ เด็กพวกนี้หาปลาเก่งมาก โดยใช้หลาวไม้ไผ่ก็สามารถแทงปลาได้มากมายเพื่อนำมาเป็นอาหารในครอบครัว
สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยของชนเผ่ายาโนมามินั้น พวกเขาจะทำบ้านเป็นวงกลมล้อมรอบลานที่ตรงกลางหมู่บ้านเอาไว้ บ้านของพวกเขาจะต่อแถวกันยาวเป็นรูปครึ่งวงกลม โดยหันด้านหน้าเข้าสู่ด้านในลานของหมู่บ้าน และหันด้านหลังที่ปิดมิดชิดออกด้านนอก ทั้งนี้เพื่อที่จะปกป้องเด็กเล็กและผู้หญิงจากชนเผ่าอื่นที่อาจบุกเข้ามาทำร้าย หรือแก้แค้น เพราะยาโนมามิเป็นชนเผ่าที่ดุร้าย ใช้การไล่ล่าชนเผ่าอื่นที่อยู่ใกล้ให้ถอยห่างออกไปจากพวกเขา
ดังนั้น หลายครั้งในป่าแอมะซอนจึงมักจะมีสงครามระหว่างเผ่าที่ชาวยาโนมามิบุกไปทำร้ายชนเผ่าอื่นอย่างโหดเหี้ยม ฆ่าหมดไม่เหลือถ้าหากว่าเผ่าเหล่านั้นพ่ายแพ้ แต่ในขณะเดียวกัน ชนเผ่ายาโนมามิเองก็เคยถูกกลุ่มผู้คนที่ติดอาวุธที่ทันสมัย ใช้เฮลิคอปเตอร์บุกเข้ามายิงตายมากมายหลายศพเช่นกัน ซึ่งว่ากันว่า เป็นเพราะชนเผ่าดังกล่าวนี้ยกพวกไปฆ่าคนงานที่เข้ามาตัดไม้ใกล้ถิ่นที่อยู่ของพวกเขา ดังนั้นพวกคนงานและบริษัทนั้นจึงส่งคนที่มีอาวุธที่ดีกว่าเข้ามาไล่ฆ่ายาโนมามิจนตายไปหลายศพ จนกลายเป็นข่าวใหญ่ แต่ก็ไม่มีใครยอมรับว่าเป็นการกระทำของตนเอง
แม้จะเป็นกลุ่มชนเผ่าที่ได้ชื่อว่าดุร้าย และไม่ยอมให้ใครบุกรุกเข้ามาในถิ่น แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อมีงานรื่นเริงประจำเผ่า ผู้คนชาวยาโนมามิก็จะมีการเฉลิมฉลองด้วยการแต่งตัว เขียนสีสันสวยงามบนหน้าตา ประดับประดาศีรษะด้วยดอกไม้และขนนกแล้วออกมาเต้นรำไปพร้อมกัน นับว่าเป็นสีสันที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกอย่างหนึ่งของชนเผ่านี้ที่มักจะจัดขึ้นมาปีละหน
ปัจจุบันผู้คนในโลกภายนอกต่างก็รู้จักชนเผ่าดังกล่าวนี้ดีในระดับหนึ่ง เพราะถึงแม้ว่ายาโนมามิจะไม่ยอมต้อนรับคนแปลกหน้าเข้าไปในชนเผ่าของตนเอง หากแต่ทุกวันนี้ พวกเขารู้ดีว่าตนเองเป็นพลเมืองพื้นถิ่นของประเทศบราซิล และมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล หากมีคนภายนอกเข้าไป เจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็จะประสานให้ ซึ่งพวกเขาก็จะยินยอมให้เข้าไปได้ และทำให้เราได้เห็นภาพและประเพณีมากมายของเผ่านี้ปรากฏออกมาสู่สายตาชาวโลกในปัจจุบัน
/
เรื่องโดย. ตะวัน สัญจร
ภาพโดย. ตะวัน สัญจร, m.scooper.news, Guilherme Gnipper Trevisan/Hutukara, www.nature.com, apiboficial.org, www.aljazeera.com