เมืองเชียงตุง เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า เมืองนี้เป็นเมืองเก่าของปู่เจ้าลาวจก หนองตุงเป็นหนองน้ำใหญ่ที่เกิดขึ้นจากพญานาค ความเชื่อของคนลื้อ คนเขิน ก็มีเกี่ยวกับนาคเหมือนกัน เพราะผู้คนต่างถือว่า พวกตนได้รับการปกป้องดูแลจากพญานาคมาตั้งแต่อดีต
สำหรับศาสนาพุทธ เข้ามาเชียงตุงครั้งแรกในสมัยใดยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าทุกคนที่นี่นับถือศาสนาพุทธมานานนับ 1,000 ปีแล้ว แต่ยุคที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองตรงกับยุคที่มีเจ้าฟ้าปกครอง เพราะเจ้าฟ้าทุกพระองค์ล้วนเป็นศาสนูปถัมภก ช่วยค้ำจุนศาสนาให้รุ่งเรือง โดยในอดีตเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงจะต้องผ่านการบวชเรียนทางธรรมที่วัดหัวข่วง พระอารามหลวงใจกลางเมืองเชียงตุง
พระมหาเมียะมุนี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าพระเจ้าหลวง เป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญที่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธในยุคเจ้าฟ้า เพราะถูกสร้างขึ้นในสมัยเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง ซึ่งภายในประดิษฐานพระมหามัยมุนีจำลองสร้างขึ้นโดยฝีมือช่างมัณฑะเลย์ แบบแยกชิ้นส่วนสะดวกในการขนย้ายมาด้วยเกวียน เพื่อมาประดิษฐานที่เมืองเชียงตุง ผู้คนที่นี่เชื่อกันว่าเป็นองค์จำลองงดงามที่สุดในบรรดาองค์จำลองที่มีอยู่ในประเทศ เพราะประดับประดาด้วยเครื่องทรงอย่างวิจิตรบรรจงและมีพระพักตร์งดงาม โดยที่เมืองเชียงตุงแห่งนี้ ก็มีพิธีล้างพระพักตร์เหมือนพระมหามัยมุนีที่มัณฑะเลย์เหมือนกันแต่จะทำกันเฉพาะวันพระเท่านั้น
ชาวเชียงตุงมีความศรัทธาในศาสนาพุทธอย่างมาก สะท้อนได้จากจำนวนวัดที่มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเข้าไปยังหมู่บ้านไหนชุมชนใดก็จะพบเห็นวัดอยู่เสมอ บางชุมชนมีเพียงไม่กี่ครัวเรือนพวกเขาก็จะร่วมกันสร้างวัดประจำชุมชนแล้ว ซึ่งวัดที่นี่ก็จะมีความแตกต่างทางสถาปัตยกรรมและความเชื่อ เช่น วัดของชาวไทยเขินก็จะแตกต่างไปจากวัดในแบบของชาวพม่า เพราะมีความคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ตลอดจนวิธีการต่างๆ ก็คล้ายกันอีก เพราะในอดีตคณะสงฆ์เชียงตุงมีสายสัมพันธ์แนบชิดกับคณะสงฆ์เชียงใหม่
วัดไทยใหญ่คือวัดที่มีจำนวนรองลงมาจากวัดไทยเขิน ถ้าดูผิวเผินแล้วอาจจะยากในการจำแนกว่าวัดไหนเป็นของไทยใหญ่หรือวัดไหนเป็นของไทยเขิน วิธีสังเกตง่ายๆ ก็คือ ถ้าวัดไหนขึ้นต้นด้วยคำว่า “จอง” ส่วนใหญ่จะเป็นวัดของไทยใหญ่ ถ้าวัดไหนที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “วัด” ก็จะเป็นวัดของไทยเขิน หรือจะสังเกตองค์พระประธาน ถ้ามีความใกล้เคียงกับพระพุทธรูปของไทยก็แสดงว่าเป็นวัดของไทยเขิน แต่ถ้ามีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปของพม่าก็แสดงว่าเป็นวัดของไทยใหญ่
นอกจากนั้นแล้วเชียงตุงยังมีวัดที่มีความสวยงามแปลกตาอยู่มาก อย่างเช่นที่วัดยางกลวงที่มีองค์พระประธานมีจีวรที่ประดับตกแต่งเหมือนเกล็ดพญานาค ผู้คนที่นี่จึงเรียกว่าพระเกล็ดนาค เพราะมีตำนานเล่าขานว่าเมื่อครั้งโบราณนักการพญานาคที่อาศัยอยู่ในหนองตุงเลื่อมใสศรัทธาวัดแห่งนี้เป็นอย่างมาก ทุกๆวันเพลจะเอาอัญมณีหลากสีสันใต้หนองตุงมาสร้างจีวรพระประธานเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
สำหรับในคอลัมน์นี้ ผู้เขียนจะเล่าถึงความศรัทธาของชาวเชียงตุงที่มีต่อพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ ซึ่งประดับประดาด้วยเกล็ดแก้วที่แวววาว จนได้ชื่อว่า เป็น “พระเกล็ดนาค” ว่ากันว่าพระองค์นี้มีเทวดาคอยรักษา ศักดิ์สิทธิ์นัก ขอพรสิ่งใดก็ได้สมดังใจปรารถนา ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า
สมัยก่อนมีผีเปรตออกอาละวาด ทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวจนเป็นไข้เจ็บป่วยล้มตายกันเป็นอันมาก ชาววัดชาวเมืองเลยชวนกันไปนิมนต์พระภิกษุมาสวดทำพิธีขับไล่ผี แต่จะทำอย่างไรทำกี่ครั้งก็ไม่เคยสำเร็จ
อยู่มาวันหนึ่ง มีพระธุดงค์มาจากเชียงใหม่ ระหว่างทางท่านได้ยินเสียงเด็กเลี้ยงควายท่องบทสวดมนต์ ท่องไปเหมือนคนบ่นผิดๆ ถูกๆ สวดก็ซ้ำไปซ้ำมา คำออกเสียงก็เพี้ยนผิดอักขระทำให้บทสวดไร้ซึ่งพุทธานุภาพ ท่านจึงเดินเข้าไปหาเมตตาแก้ไขให้ถูกต้อง และเมื่อเด็กเล่าเรื่องเปรตให้ฟัง ท่านยังช่วยอนุเคราะห์ช่วยทำพิธีจนปราบผีเปรตได้สำเร็จ
ต่อมา พระยาผายู (พ.ศ.1879-1898) แห่งนครเชียงใหม่ทรงทราบเรื่องเข้า จึงได้นิมนต์พระเถระรูปนั้นขึ้นมาเชียงตุงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นเนื้อนาบุญเผยแผ่พุทธศาสนาสายสวนดอกนครพิงค์ให้กว้างขวางออกไป การจำพรรษาแรกที่นครเชียงตุง ท่านได้สร้างวัดยางกวงขึ้นมาโดยภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปจีวรประดับด้วยแก้วมณีหลากสีมองดูคล้ายเกล็ดพญานาค ชาวเชียงตุงจึงขนานนามเรียกว่า พระเกล็ดนาค เชียงตุง รัฐฉาน
ตำนานกำเนิดพระพุทธรูป เล่ากันว่ามีพญานาคอาศัยอยู่ในหนองตุงตนหนึ่ง มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมาก จึงได้เลื้อยขึ้นมาในเวลากลางคืนเพื่อสักการะพระพุทธรูป พญานาคขึ้นมาเป็นประจำทุกคืน และทุกครั้งที่มาก็จะเอากายเลื้อยพันพระพุทธรูปนี้ไว้ จนนานวันเข้าผิวองค์พระจึงมีรอยเกล็ดของพญานาค ต่อมาชาววัดชาวบ้านได้สังเกตเห็นรอยดังกล่าว จึงชวนกันนำแก้วหลากสีมาประดับให้สวยงามเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง กลายมาเป็นพระเกล็คนาคแห่งวัดยางกวงจวบถึงปัจจุบัน
ที่เชียงใหม่ก็มีวัดยางกวงซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดน่างรั้ว บางครั้งก็เรียกว่า วัดหน่างรั้ว คำว่า หน่างรั้วเป็นคำพื้นบ้านล้านนาตามพจนานุกรมล้านนาของ ศ.ดร. มณี พยอมยงค์ ให้ความหมาย หน่างรั้ว ไว้ว่า คือ รั้วหรือแนวกั้น ที่ทำให้คนหรือสัตว์เข้ามาติดแล้วออกไปไม่ได้ ซึ่งปรากฏในตำนานเมืองเชียงใหม่ว่า พญามังรายทรงโปรดให้ทำหน่างรั้วป้องกันข้าศึกไว้รอบเวียง
สันนิษฐานว่าวัดหน่างรั้ว น่าจะสร้างขึ้นในยุคต้นของราชวงศ์มังราย จากตำนานได้กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งพญามังรายทรงออกแสวงหาชัยภูมิเพื่อสร้างเมืองใหม่ พระองค์เสด็จออกจากเวียงกุมกาม และทรงแวะตั้งค่ายพักแรม ณ บริเวณแห่งนี้ โดยให้ทหารและเสนาอำมาตย์สร้างหน่างรั้วกั้นรอบล้อมค่ายพักแรมไว้ เพื่อป้องกันภัยอันตรายทั้งมวล ในเวลาต่อมาที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่า วัดหน่างรั้ว แต่ยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดว่าวัดนี้สร้างในสมัยใดและใครเป็นผู้สร้าง มีเพียงหลักฐานปรากฏในนิราศหริภุญชัย (พ.ศ. 2060)
นับแต่ล้านนาถูกพม่ายึดครองเป็นเวลา 200 กว่าปี ทำให้วัดวาอารามต่างๆ ในนครเชียงใหม่ถูกละทิ้งตกอยู่ในสภาพวัดร้างเป็นจำนวนมาก วัดยางกวงก็เป็นหนึ่งในจำนวนวัดร้างทั้งหลายเหล่านั้น
จวบจนปี พ.ศ. 2339 พญากาวิละได้ยกทัพกลับมาขับไล่พม่าครั้งสุดท้ายออกจากล้านนา และได้กวาดต้อนเอาชนชาวลื้อ ชาวเขินจากเขตเชียงรุ่งสิบสองปันนาและเชียงตุงให้มาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ หรือที่เรียกกันว่า เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ผู้คนทั้งหลายที่ถูกกวาดต้อนมาจากทางเหนือมีกลุ่มหนึ่งเป็นชาวเขินมาจากบ้านยางกวงเมืองเชียงตุงเข้ามาอยู่รอบๆ วัดหน่างรั้ว
ชาวบ้านเหล่านั้นจึงได้ช่วยกันฟื้นฟูบูรณะวัดแห่งนี้จนเจริญรุ่งเรือง และภายหลังได้เปลี่ยนชื่อวัดนี้เป็น วัดยางกวง เหมือนในเชียงตุง เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าพวกเขามาจากบ้านนายางกวงเชียงตุง ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดยางกวงแห่งนี้กลับกลายเป็นวัดร้างอีกครั้ง
ปัจจุบัน วัดยางกวงที่เชียงใหม่ตั้งอยู่ที่ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการบูรณะให้กลับมารุ่งเรืองเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน
เรื่องและภาพโดย. นายตำนาน