29 มีนาคม 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

                เคยเล่าถึงนครสีฟ้าในประเทศอินเดียที่ตึกรามบ้านช่องเต็มไปด้วยอาคารสีฟ้าสวย ตามลักษณะที่อยู่อาศัยของชนชั้นวรรณพราหมณ์มาแล้ว คราวนี้ผู้เขียนจะนำท่านมาพบกับเรื่องราวของเมืองเก่าแก่ที่เคยปรากฏในตำนานมหาภารตยุทธโบราณ และได้ชื่อว่าเป็นดินแดนนครสีแดงของอินเดียภาคเหนือ

                เมืองดังกล่าวนี้ก็คือเมือง “อาครา” อดีตเมืองหลวงของอินเดียในสมัยที่ยังเรียกว่าฮินดูสถาน (Hindustan) เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมนาทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ในรัฐอุตตรประเทศ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองลัคเนาซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐอุตตรประเทศไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทาง 363 กิโลเมตร (226 ไมล์) และ 200 กิโลเมตร (124 ไมล์) ทางทิศใต้ของกรุงนิวเดลี เมืองอาครามีประชากรทั้งหมด 1,686,976 คน (ปีค.ศ. 2010) ถือเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในรัฐอุตตรประเทศ และอันดับที่ 19 ในประเทศอินเดีย อาครานั้นยังใช้เป็นชื่อของเขตอำเภอที่เมืองอาคราตั้งอยู่

                อาครา เคยถูกกล่าวถึงในมหากาพย์มหาภารตะ โดยถูกเรียกว่า “อัครวนา” แปลตามศัพท์สันสกฤตว่า “นครชายป่า” และยังเกี่ยวข้องกับพระฤๅษีอังคีรส หนึ่งในสิบมหาฤๅษีของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่ถ้าพูดถึงการสร้างเป็นเมืองนั้น ตำนานกล่าวว่าเกิดขึ้นในสมัยเจ้าเชื้อสายราชบุตรชื่อ “ราชปฎลสิงห์” เมืองนี้เคยผ่านสมรภูมิครั้งใหญ่ๆ เมื่อราวหนึ่งพันปีก่อน มีการเปลี่ยนผู้ครองเมืองเป็นระยะ กษัตริย์องค์แรกที่ย้ายเมืองหลวงจากเดลีไปยังอาคราได้แก่ สุลต่านสิกันดร โลที เมื่อ ค.ศ. 1506 (ยุคกรุงศรีอยุธยา ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 1) จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1517

                “สุลต่านอิบราฮิม โลที” พระโอรส ปกครองอาคราต่อมาอีก 9 ปีจนกระทั่งพ่ายแพ้ในยุทธการแห่งปณิปัต ในปี ค.ศ. 1526 จากนั้นมาระหว่างปี ค.ศ. 1540 ถึง ค.ศ. 1556 เจ้าเชื้อสายอัฟกานิสถานได้เข้าปกครองเมืองแทน เริ่มจากเจ้าเชอร์ชาห์สุรี และเจ้าเหมจันทร์วิกรมทิตย์ ราชาแห่งชาวฮินดู ก่อนที่จะเริ่มโด่งดังในฐานะเมืองหลวงของจักรวรรดิโมกุล อันยาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1556 ถึง ค.ศ. 1658 อันเป็นช่วงกำเนิดของโบราณสถานสำคัญในปัจจุบัน อาทิเช่น ทัชมาฮาล ป้อมอาครา และฟาเตห์ปูร์ สิครี ซึ่งโบราณสถานโมกุลทั้งสามแห่งนี้ได้ถูกยกขึ้นเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก

                ถึงแม้ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของอาครานั้น มักจะถูกรับรู้ว่ามีความเกี่ยวพันกับจักรวรรดิโมกุล แต่แท้จริงแล้วเมืองอาครานั้นเริ่มเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น โดยมีความเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์อินเดียสมัยมหาภารตะในปี ค.ศ. 1000

                เป็นที่ยอมรับกันว่า “สิกันดร โลดิ” สุลต่านแห่งเดลีนั้นเป็นผู้ก่อตั้งอาคราขึ้นในปี ค.ศ. 1504 หลังจากสิ้นพระชนม์แล้วจึงสืบทอดไปยังพระโอรส “อิบราฮิม โลดี” ซึ่งปกครองสุลต่านเดลีที่อาคราจนกระทั่งพ่ายสงครามให้กับจักรพรรดิบาบูร์ ในยุทธการแห่งปณิปัตในปี ค.ศ. 1526

                ต่อมาในปี ค.ศ. 1556 กษัตริย์นักรบแห่งชาติฮินดู “เจ้าเหมจันทร์วิกรมทิตย์” ได้เอาชนะสุลต่านและจอมทัพของแคว้นอาครา สุลต่านเอดิลชาห์สุรี สุลต่านองค์สุดท้ายของราชวงศ์สุรี (ชาวอัฟกัน) เนื่องจากผู้บัญชาการกองทัพของสมเด็จพระจักรพรรดิหุมายุน แห่งราชวงศ์โมกุล คือ “ทาร์ดี เบ็ก คาน” ได้ยอมล่าถอยทัพออกจากอาคราด้วยความเกรงกลัวในพระบรมราชานุภาพของเจ้าเหมจันทร์วิกรมทิตย์ การถอยทัพโดยปราศจากการต่อสู้ครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งที่ 21 ของกองทัพฝั่งฮินดู ภายใต้การนำทัพของพระองค์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1554

                จากนั้นได้เสด็จไปตีเมืองเดลี และมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ป้อมปุรานา หิรา ในกรุงเดลี เมื่อ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1556 และได้ฟื้นฟูอาณาจักรฮินดูขึ้นใหม่ ปกครองแคว้นอินเดียตอนเหนือโดยราชวงศ์วิกรมทิตย์

                ยุคทองของอาครานั้น เริ่มขึ้นในสมัยที่ปกครองโดยราชวงศ์โมกุล โดยรู้จักกันดีในสมัยนั้นว่า “อัคบาราบัด” และเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโมกุลภายใต้การปกครองของสมเด็จพระจักรพรรดิอักบัร สมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีร์ และสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน และต่อมาสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันทรงย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ “ชาห์ชะฮันนาบัด” ในปี ค.ศ. 1649

                เนื่องจากที่อัคบาราบัดนี้เป็นเมืองที่สำคัญที่สุดในอินเดียภายใต้จักรวรรดิโมกุล จึงมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างสำคัญมากมาย สมเด็จพระจักรพรรดิบาบูร์ ผู้สถาปนาราชวงศ์โมกุลได้วางแบบแผนสวนแบบเปอร์เซียในบริเวณริมฝั่งของแม่น้ำยมุนา สวนนี้มีชื่อว่า “อารัม บักห์” แปลว่า สวนแห่งความผ่อนคลาย

                พระราชนัดดาของพระองค์ ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระจักรพรรดิอักบัร ได้สร้างป้อมปราการสีแดงขึ้นมา นอกจากนั้นยังทำให้อาคราเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ศิลปะ การค้า และศาสนา ในรัชสมัยของพระองค์ยังมีการสร้างเมืองแห่งใหม่บริเวณปริมณฑลของอาคราที่มีชื่อว่า “ฟาเตห์ปูร์ สิครี” ซึ่งสร้างในรูปแบบของป้อมค่ายทหารที่สร้างจากหิน

                พระโอรสของพระองค์ ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีร์ ทรงเป็นผู้โปรดปรานสวน พืชพันธุ์ และต้นไม้ต่างๆ จึงพบการเพิ่มเติมบริเวณสวนภายในป้อมอาครา สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน จักรพรรดิองค์ถัดมาทรงเป็นผู้โปรดปรานและมีพระปรีชาสามารถทางสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง ซึ่งได้มอบมรดกชิ้นสำคัญของอาครา คือทัชมาฮาล ที่สร้างขึ้นจากความรักและความทรงจำของพระมเหสีของพระองค์ซึ่งสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1653

                สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ภายหลังได้ย้ายเมืองหลวงกลับไปที่กรุงเดลี แต่พระโอรสของพระองค์ ออรังเซพ ได้ย้ายกลับไปที่อัคบาราบัด โดยจับกุมตัวองค์จักรพรรดิไว้ในป้อมจนสวรรคต ซึ่งอัคบาราบัดก็ยังเป็นเมืองหลวงในขณะนั้นจนสมเด็จพระจักรพรรดิออรังเซพได้ย้ายเมืองหลวงไปที่ออรังกาบัดในเดคคานเมื่อปี ค.ศ. 1653

                จากนั้นต่อมาเป็นยุคปลายของจักรวรรดิโมกุล เมืองจึงได้ตกอยู่ในอิทธิพลของชาวมราฐา และถูกเรียกชื่อใหม่ว่า “อาครา” ก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ หรือบริติชราช

                นอกจากทัชมาฮาลซึ่งเป็นหลุมพระศพของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน คู่เคียงกับพระนางมุมตาซ มหัล ที่ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามที่สุดของโลกที่เรารู้จักกันดีแล้วนั้น อัคราก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะสุสานสำคัญของอินเดียอีกแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมืองอาคราที่เมืองสิกันทรา อันเป็นที่ตั้งของหลุมฝังพระศพสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์มหาราช (อักบัรมหาราช) แห่งราชวงศ์โมกุล ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างทางบนทางหลวงสายเดลี-อาครา เพียง 13 กิโลเมตรจากป้อมอาครา

                การออกแบบหลุมฝังพระศพแห่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกของพระองค์อย่างครบถ้วน สร้างบนบริเวณกว้างขวางท่ามกลางสวนอันร่มรื่น ภายในอาคารอันสวยงามมีหลุมฝังพระศพสร้างจากหินทรายสีเหลือง-แดงที่สลักอย่างวิจิตรพิสดาร ตกแต่งเป็นลายรูปกวาง กระต่าย ค่าง หนุมาน โดยว่ากันว่าพระองค์เป็นผู้เลือกสถานที่ตั้งหลุมพระศพของพระองค์เอง โดยถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนาของชาวโมกุลที่จะต้องสร้างหลุมฝังศพของตนโดยนำธรรมเนียมมาจากกลุ่มชนเตอร์กิก สมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีร์ พระโอรสของพระองค์ได้เป็นผู้สานต่องานก่อสร้างจนสำเร็จในปี ค.ศ. 1613 บนโลงหินนั้นยังสลักชื่อ 99 ชื่อของพระอัลเลาะห์

                นอกจากนี้ก็ยังมีอนุสรณ์สถานอิตมัด-อุด-โดละห์ หรือ “เบบี้ ทัช. แห่งอาครา โดยพระจักรพรรดินีนูร์ ชะฮัน สร้างอนุสรณ์สถานอิตมัด-อุด-โดละห์ เป็นหลุมฝังศพให้แก่พระบิดาของพระองค์ นามว่า “มีร์ซา กียาซ เบค” ซึ่งเป็นมนตรีระดับสูงคนสำคัญของสมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีร์

เบบี้ ทัช (Baby Taj)

ในปัจจุบันเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าเบบี้ ทัช (Baby Taj) ตั้งอยู่ริมฝั่งด้านซ้ายมือของแม่น้ำยมุนา ตัวอาคารตั้งอยู่ในสวนขนาดใหญ่เป็นรูปกางเขน สลับด้วยทางน้ำไหล และทางเดินต่างๆ ตัวอาคารหลักนั้นมีขนาด 23 ตารางเมตร และสร้างบนฐานกว้างขนาดประมาณ 50 ตารางเมตร สูงประมาณ 1 เมตร แต่ละมุมเป็นที่ตั้งของหอคอยทรงหกเหลี่ยมสูงประมาณ 13 เมตร ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับหลุมฝังศพ และหลุมฝังพระศพในยุคสมัยจักรวรรดิโมกุลนั้นจะถือว่ามีขนาดเล็ก จึงมักถูกเรียกว่าเป็นดั่งกล่องอัญมณี นอกจากนี้ยังพบการจัดสวน การใช้หินอ่อนสีขาว การตกแต่งอินเลย์หินอ่อน ซึ่งเป็นตัวอย่างสำคัญของการก่อสร้างทัชมาฮาลในภายหลัง

“ป้อมแดง” หรือ “ป้อมอาครา”

                สถานที่สำคัญหลัก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเมืองอัคราก็คือ “ป้อมแดง” หรือ “ป้อมอาครา” ที่ตั้งตระหง่านอยู่คู่เมืองอิฐแดงแห่งนี้ ที่สร้างโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์ แห่งราชวงศ์โมกุลในปี ค.ศ. 1565 และเป็นอีกสถานที่หนึ่งซึ่งถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของอาครา หลักศิลาจารึกที่พบบริเวณประตูทางเข้าระบุว่าป้อมแห่งนี้ถูกสร้างก่อนปี ค.ศ. 1000 และต่อมาได้ถูกบูรณะโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์ ป้อมที่ทำจากหินทรายสีแดงแห่งนี้ ต่อมาได้ถูกเปลี่ยนเป็นพระราชวังในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน และถูกผสมผสานด้วยองค์ประกอบของหินอ่อนและการตกแต่งแบบฝังพลอย ที่เรียกว่า “ปิเอตรา ดูร่า” อาคารหลักๆ ภายในป้อมอาครา ได้แก่ มัสยิดไข่มุก ท้องพระโรง พระราชวังพระเจ้าชะฮันคีร์ ตำหนักมูซัมมัน เบิร์จ

                โครงสร้างภายนอกเป็นป้อมปราการอันหนาแน่นซึ่งทำหน้าที่ปิดบังความงามดุจสวรรค์ที่อยู่ภายใน ป้อมปราการโดยรอบนั้นถูกสร้างในรูปเสี้ยวพระจันทร์ และแบนเรียบขึ้นทางฝั่งทิศตะวันออกซึ่งเป็นกำแพงตรงและยาวขนาบแม่น้ำ มีความยาวเป็นระยะทางรวมทั้งสิ้นถึง 2.4 กิโลเมตร (1.5 ไมล์) และมีกำแพงขนาดใหญ่ซ้อนถึงสองชั้น มีมุขป้อมยื่นออกมาเป็นระยะๆ ตลอดความยาว และมีคูเมืองขนาดความกว้าง 9 เมตร (30 ฟุต) และลึกถึง 10 เมตร (33 ฟุต) ล้อมรอบกำแพงชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง

                สมเด็จพระจักรพรรดิศิวจี แห่งจักรวรรดิมราฐาเคยเสด็จมาภายในป้อมแห่งนี้ที่อาคารท้องพระโรง เพื่อลงพระนามในสนธิสัญญาปูรันดาร์ กับสมเด็จพระจักรพรรดิออรังเซ็บ โดยการคุมตัวของราชบุตรใจสิงห์ (Jai Singh I) ผู้เป็นแม่ทัพของจักรวรรดิโมกุล ซึ่งในการเข้าเฝ้าครั้งนั้น พระองค์ถูกจัดที่ประทับบริเวณด้านหลังของผู้มีบรรดาศักดิ์ที่ต่ำกว่าจึงทรงกริ้วอย่างมากเนื่องจากถูกลบหลู่หมิ่นพระเกียรติ และถูกจับกุมโดยราชบุตรใจสิงห์ และคุมขังไว้ที่นั่นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1666

ต่อมาทรงหลบหนีได้สำเร็จเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1666 เนื่องจากเกรงว่าจะถูกประหารโดยสมเด็จพระจักรพรรดิออรังเซ็บ เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระจักรพรรดิศิวจีด้านนอกของป้อมอาครา เพื่อแสดงถึงความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญของพระองค์

                ป้อมปราการแห่งนี้จัดเป็นผลงานตัวอย่างของสถาปัตยกรรมโมกุล ซึ่งเป็นแบบอย่างของป้อมปราการของอินเดียตอนเหนือซึ่งแตกต่างจากของอินเดียตอนใต้ที่มักจะสร้างยื่นลงไปในทะเลหรือหน้าผาริมน้ำ อาทิเช่น ป้อมปราการแห่งเบกาล ในรัฐเกรละ

                ที่สำคัญ “ป้อมแดง” กำแพงยักษ์แห่งกรุงอาคราก็ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยวในอินเดียเหนือ ที่ทุกคนจะต้องเดินทางมาเที่ยวชมให้ได้สักครั้ง เมื่อได้มาเยือนประเทศอินเดีย

/

เรื่องโดย. ตะวัน สัญจร

ภาพโดย. www.visittnt.com, www.bhaskar.com, catchyhindi.com, www.heygo.com, bh.wikipedia.org, www.psuexpress.com, www.retinacharmer.com, hi.wikipedia.org


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •