เมื่อพูดถึงเมือง “ขชุราโห” หลายคนจะนึกถึงภาพเปลือยหินที่แกะอยู่ตามอารามต่างๆ ในเมืองโบราณแห่งนี้จนทำให้ที่นี่เป็นอีโรติกสถาน ในมุมมองของหลายคนไปแล้วแน่นอน
แต่เดี๋ยวก่อน เท่าที่ผ่านมารู้สึกว่ายังไม่เคยมีใครได้ทำความรู้จักกับดินแดนที่ลี้ลับและน่าพิศวงด้วยภาพปูนปั้นที่แสดงถึงการสมสู่ร่วมรักของเหล่าทวยเทพแห่งนี้เลยว่า ทำไมต้องสร้างขึ้นมาแบบนั้น และใครกันแน่ที่สร้างขึ้นมา สร้างเพื่อจุดประสงค์ใด
เมืองขชุราโหอยู่ห่างจากกรุงนิวเดลีกว่า 600 กิโลเมตร ทางตอนเหนือของรัฐมัธยประเทศใกล้กับพรมแดนรัฐอุตตรประเทศ ชื่อเมืองก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่าตั้งอยู่กลางประเทศอินเดีย เป็นรัฐที่มีความเกี่ยวพันกับเจ้าเชื้อสายราชบุตร (Rajput) และคุรชร-ประติหาร (Gurjara-Prathihara) ซึ่งเคยเล่าไว้บ้างแล้วในเรื่องของเมืองโยธาปุระ รวมทั้งเจ้าเชื้อสายจันทีละ (Chandela)
สำหรับเจ้าเชื้อสายหลังนี้ปกครองพื้นที่ตอนกลางส่วนหนึ่งของอินเดียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 – 13 รวมราวๆ 400 ปี (ตรงกับก่อนสมัยสุโขทัย) ซึ่งเป็นอาณาจักรเล็กๆ โดยมีเมืองขชุราโหแห่งนี้เป็นเมืองหลวงแห่งแรก ก่อนที่จะย้ายไปยังเมืองมโหสพนคร (Mahotsava Nagar) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่าเมืองมโหภะ (Mahoba)
ตามตำนานว่ากันว่าเจ้าสายจันทีละสืบเชื้อสายมาจากพระจันทร์ โดยพระจันทร์ดันไปเกิดความรักเข้ากับเหมาวดี ลูกสาวของพระครูเหมราช ราชปุโรหิตประจำราชสำนักพระราชาอินทรชิต (ไม่ได้เป็นญาติกับทศกัณฐ์) ก็เลยเหาะจากฟากฟ้าลงมามีความสัมพันธ์กับเหมาวดีจนมีลูกชายคนหนึ่งชื่อว่า “จันทราวรมัน” (Chandravarma) ซึ่งเป็นผู้ที่เก่งกาจมีความสามารถและเป็นต้นตระกูลของเจ้าเชื้อสายนี้
นักโบราณคดีสันนิษฐานกันว่าชื่อ “ขชุราโห” กร่อนมาจากภาษาสันสกฤตสองคำได้แก่ “คาร์ชุระ” ซึ่งแปลว่า “ต้นอินทผลัม” กับคำว่า “วาหกะ” แปลว่า “ผู้ถือ” ซึ่งแสดงว่าพื้นที่นี้ในอดีตคงเต็มไปด้วยต้นไม้ชนิดนี้ ผู้ที่ค้นพบกลุ่มโบราณสถานแห่งนี้หลังจากที่ถูกโลกลืมไปนานคือร้อยเอก ที.เอส.เบิร์ต นายทหารช่างอังกฤษ ซึ่งไปถึงขชุราโหเมื่อ ค.ศ. 1838 (สมัยรัชกาลที่ 3) และนายพลอเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม ในฐานะอธิบดีกรมสำรวจโบราณคดีอินเดียซึ่งได้อ่านรายงานของกัปตันเบิร์ตแล้วสนใจ จึงได้ไปสำรวจที่นั่น เมื่อ ค.ศ. 1852 และ 1864 (สมัยรัชกาลที่ 4) แน่นอนว่าผู้นี้ก็เป็นคนเดียวกับที่ไปพบพระมหาเจดีย์พุทธคยานั่นแหละครับ
เมืองขชุราโหถือเป็นเมืองหลวงด้านวัฒนธรรมของอาณาจักรจันทีละ เพราะระยะเวลาในการก่อสร้างบรรดากลุ่มโบราณสถานเป็นช่วงๆ ใช้เวลากว่า 200 ปี พอสร้างกันเสร็จสรรพ เจ้าจันทีละก็ย้ายไปอยู่ที่เมืองมโหภะ น่าสังเกตว่าไม่มีป้อมปราการที่เมืองขชุราโห สาเหตุก็คือไม่เคยมีเจ้าองค์ใดที่ประทับพำนักที่เมืองนี้เลย
ในยุคที่รุ่งเรืองเฟื่องฟู เมืองนี้มีกำแพงเมืองล้อมรอบ มีประตูเมือง 8 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะมีต้นอินทผลัมทองอยู่ข้างประตูทั้งสองด้าน มีวัดอยู่ถึง 80 แห่ง แต่ตอนนี้เหลือแค่ 25 แห่งเท่านั้น ที่อยู่ในสภาพที่พอจะบูรณะซ่อมแซมได้ ตั้งกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ 20 ตารางกิโลเมตร ชาวเมืองขชุราโหจึงช่วยกันดูแลรักษาวัดที่ยังเหลืออยู่นี้เป็นอย่างดี
ปัจจุบัน ขชุราโหเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 3-4 หมื่นคนเท่านั้น และมีสนามบินเล็กๆ เป็นของตัวเอง มีเพียง 2 สายการบินที่บินไปลงคือ แอร์อินเดียและเจ็ตแอร์เวย์ แต่ระหว่างเมษายน – ตุลาคม มีเพียงสายเดียวคือแอร์อินเดีย เข้าใจว่ามีสองปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้นคือ อากาศที่ร้อนจัดซึ่งจะมีผลด้านเทคนิคการบิน และเหตุผลทางการตลาด ซึ่งหน้าร้อนในอินเดียตอนเหนือและตอนกลางนี้ร้อนสาหัสจริงๆ คนคงไม่ค่อยไปเที่ยวมากนัก
ทีนี้เรามาดูโบราณสถานกันบ้าง กลุ่มโบราณสถานขชุราโหปัจจุบันนี้ได้รับการจดทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกของยูเนสโก โบราณสถานต่างๆ สร้างจากหินทราย ไม่มีการใช้ปูนเชื่อม แต่ใช้เทคนิคการซ้อนหินที่มีปุ่มในลักษณะเดือยตัวผู้ ลงบนหลุมหรือรอยบากบนหินชิ้นล่าง แล้วใช้แรงโน้มถ่วงของโลกเป็นตัวช่วยกดน้ำหนักลงมาเพื่อยึดให้โครงสร้างคงรูปทรงได้ ซึ่งต้องใช้ความแม่นยำในการคำนวณและประดิษฐ์อย่างมาก บรรดาเสา หัวเสา และประตูต่างๆ ล้วนสร้างด้วยหินขนาดใหญ่ซึ่งประมาณกันว่าหนักกว่า 20 ตัน
มีการแบ่งกลุ่มวัดต่างๆ เป็นกลุ่มทิศตะวันตกซึ่งเป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุดเพราะมีวัดใหญ่ๆ ที่สำคัญอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่วัดกานดาริยะมหาเทพ (Kandariya Mahadev) วัดลักษมัน และวัดวิศวนาถ กลุ่มทิศตะวันออกประกอบด้วยวัดในศาสนาเชน เช่น วัดพรสวรรนาถ และกลุ่มทิศใต้ซึ่งมีวัดจตุรพุชเป็นจุดเด่น
จะขอกล่าวถึงเพียงวัดเดียวซึ่งเป็นจุดเด่นและใหญ่ที่สุดของขชุราโหคือ วัดกานดาริยะมหาเทพ เพราะไม่เช่นนั้นบทความชิ้นนี้จะยาวเกินเหตุ ซึ่งวัดแห่งนี้ประกอบด้วยโครงสร้างที่สำคัญคือมหามณฑพ ที่มีเสาหินที่สลักลายตกแต่งอย่างงดงาม และสิงขรสูง 30 เมตร โดยมีรูปทรงสิงขรขนาดเล็กรายรอบลดหลั่นสูงขึ้นไปตามความสูงถึง 84 ยอด เป็นสัญลักษณ์แทนเขาไกรลาส ที่ประทับของพระศิวะ เทพสูงสุดของศาสนาฮินดู ด้านในสุดภายในวัดมีห้องที่สำคัญที่สุดเรียกว่า “ครรภ์คฤหะ” (Garbhagriha) ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของศิวลึงค์ มีลวดลายสลักรอบกรอบประตูหินอย่างงดงามมาก
วัดดังกล่าวนี้สลักลวดลายอย่างวิจิตรทั้งภายนอกและภายใน มีรูปสลักอันงดงามบนทับหลังประตูทางเข้าด้านตะวันออกรูปนางฟ้าอัปสรนานาอิริยาบถตามมุมเสาต่างๆ ส่วนที่เลื่องลือและสำคัญที่สุดที่ผู้มาเยือนจะต้องไปยืนมองส่องเล็งชนิดที่เรียกว่า ถ้าพลาดเหมือนมาไม่ถึงขชุราโห ก็คือรูปหินแกะสลักแนวเพศสัมพันธ์ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือและใต้ด้านนอกของสิงขร
ภาพปูนปั้นดังกล่าวนี้แหละที่ทำให้เรียกวัดแห่งนี้ว่า “อีโรติกสถาน” ที่มีความงดงามจากฝีมือช่างในยุคโบราณและทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นมรดกโลกไปในที่สุด
ถ้าจะนับรูปที่มีการร่วมเพศหรือเพศสัมพันธ์ในขชุราโห หากเทียบกับจำนวนรูปแกะสลักอันงดงามสารพัดมากมายที่วัดแห่งนี้ มีเพียงแค่บางส่วนนิดเดียวเท่านั้นเอง แต่กลับเป็นส่วนที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกมักจะมายืนส่องกล้องและถ่ายรูปอย่างเอาเป็นเอาตายมากที่สุด
สันนิษฐานว่ารูปสลักเพศสัมพันธ์เหล่านี้สร้างขึ้นมาด้วยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองการอภิเษกสมรสของพระศิวะกับพระนางปารวตี ซึ่งเหล่านางฟ้า เทวดา มนุษย์ และสัตว์ ต่างมีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่แตกต่างไปจากพฤติกรรมของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน แถมยังมีแนวมหัศจรรย์ที่ไม่คิดว่าจะ “ทำไปได้ ” ผสมปะปนอยู่ด้วย
นอกจากนี้ยังว่ากันอีกว่าเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดตำรากามสูตรในเวลาต่อมาอีกด้วย กล่าวได้ว่าการหาความหฤหรรษ์ทางเพศของคนอินเดียแต่เก่าก่อนเป็น “ศาสตร์” แขนงหนึ่งที่ต้องศึกษากันอย่างลึกซึ้งกันเลยทีเดียว คือออกแนวปฏิบัติของพวกตันตระที่ถือว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นการบูชาพระเจ้าทางหนึ่ง
ย้อนกลับมาเรื่องของครรภ์คฤหะในขชุราโหสักเล็กน้อย ในศาสนสถานของฮินดูแทบทุกแห่ง จะมีห้องที่เรียกว่า “ครรภ์คฤหะ” ซึ่งประดิษฐานศิวลึงค์บนโยนิฐาน อันเป็นสัญลักษณ์ของการก่อกำเนิดของสิ่งทั้งปวง โดยมีผู้ให้ความเห็นไว้ว่า “ต้องคิดในเชิงทฤษฎีสัญญะวิทยา” กล่าวคือ หากภาพลึงค์ที่ตั้งวางบนฐานโยนิเลียนแบบจากปรากฏการณ์จริงในเชิงสังวาส เราจะเห็นภาพนี้ได้เมื่อเราอยู่ที่ไหน คำตอบก็คือต้องอยู่ข้างในจึงจะสามารถมองเห็นภาพดังกล่าวนี้
คำว่า “อยู่ข้างใน” ในที่นี้หมายความว่าอยู่ในช่องคลอดจึงจะมองเห็นภาพเชิงสังวาส และนั่นเป็นการยืนยันว่าเหตุใดศาสนสถานที่ชาวอินเดียเรียกว่าวิมาน (VIMANA) ซึ่งประกอบด้วยห้องที่ใช้เป็นที่ประดิษฐานสัญลักษณ์สูงสุดจึงถูกเรียกว่าห้องครรภ์คฤหะ (GARBHAGRIHA) นั่นหมายความว่าพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์กำลังดำเนินอยู่ในห้องครรภ์ข้างใน และอยู่ในจุดกำเนิดของจักรวาล
และนั่นคือที่มาของภาพรูปปั้นที่กำลังมีเพศสัมพันธ์กันของเมืองโบราณแห่งนี้ครับ
/
เรื่องโดย. ตะวัน สัญจร
ภาพโดย. mp.punjabkesari.in, www.lonelyplanet.com, www.bookdepository.com, www.patrika.com, www.tripexperienceblog.com, www.ghumodunia.com