ทำไมคนจึงนิยมเอาบายศรีสักการบูชาเทพ พรหม เพื่อให้เกิดสิริมงคล? นั่นเป็นเพราะบายศรีคือสิ่งที่ยืนยันถึงเจตนาของผู้กระทำที่ส่งบอกต่อสวรรค์เบื้องบนให้รับทราบได้ บายศรีจึงเป็นดั่งการอธิบายของผู้เข้าร่วมพิธีการเพื่อให้เกิดความสำเร็จสมปรารถนา
ดังคำที่ว่า บายศรีเสริมดวงและโชคลาภ จะทำการใดให้สำเร็จรวดเร็วจึงควรใช้บายศรีเป็นเครื่องบูชา เช่นนั้นเรามาดูกันว่าบายศรีประเภทต่างๆ เหมาะกับการใช้กับเรื่องใด และมีบทบาทความสำคัญที่จะส่งผลต่อผู้ประกอบพิธีกรรมในการนั้นๆ อย่างไร
เริ่มกันที่บายศรีปากชาม ที่คนส่วนใหญ่สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดและขายออนไลน์ เขาจะขายเป็นคู่ คู่ละประมาณ 100 -180 บาท (ราคาปี 2565)
1. บายศรีปากชาม
ประกอบด้วยแม่ 9 นิ้ว 7 นิ้ว 5 นิ้ว ส่วนลูกมี 3-7 นิ้ว จะห่างจากแม่ 2 นิ้ว ลูกเป็นแมงดาอยู่ระหว่างองค์บายศรี มีลักษณะคล้ายตัวแมงดา แบบโบราณจะใช้วิธีการตัดใบตองเป็นรูปลักษณะคล้ายตัวแมงดา อาจฉลุลายได้ตามต้องการ ปัจจุบันมีการดัดแปลงให้มีความงดงามประณีตมากขึ้น
สำหรับบายศรีปากชาม ตรงกรวยบายศรีจะใส่ข้าวสุกไว้ภายใน ใช้ข้าวปากหม้อที่หุงสุก (ข้าวที่หุงเสร็จใหม่ๆ ยังไม่ได้ตัก) รอให้ข้าวเย็น แล้วจึงตักข้าวให้เต็มกรวย อัดให้แน่น เรียกว่าหัวบิณฑ์ และใส่กล้วยน้ำว้า แตงกวา ตัดหัวตัดท้ายของกล้วยน้ำว้าและแตงกวาออก ผ่าออกเป็น 3 ส่วน นำกล้วยน้ำว้าและแตงกวามาประกบกัน นำไปใส่สับหว่างระหว่างองค์บายศรี (ถ้าซื้อตามตลาดจะไม่อัดข้าวสุกและมีกล้วยน้ำว้ากับแตงกวาให้) และดอกไม้ที่นำมาตกแต่งส่วนใหญ่นิยมใช้ดอกดาวเรือง
ดอกบัวติดที่ยอดกรวย ห้ามพับเด็ดขาด ต้องใช้ดอกบัวตูม (ครูบาอาจารย์สั่งห้ามไว้) แต่ถ้านำไปใช้ในพิธีกรรมที่มีการถวายของคาว จะต้องเปลี่ยนจากดอกบัวเป็นไข่ต้ม ซึ่งมีความหมายแทนอาหารคาว และใช้ชามกระเบื้องใส่บายศรี ขนาด 5-8 นิ้ว สมัยนี้ใช้โฟมหรือถ้วยพลาสติกแทนชามกระเบื้อง แล้วแต่ความเหมาะสม และภาชนะที่ใช้ในการใส่บายศรีปากชาม เดิมใส่ชาม แต่ปัจจุบันนิยมวางบนพาน
ความสำคัญของบายศรีปากชาม ถือเป็นบายศรีพื้นฐานของบายศรีทุกชนิด เปรียบการเรียนหนังสือต้องเริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นการเริ่มรู้จักบายศรีว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้างสิ่งสำคัญการนำบายศรีปากชามไปใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ต้องนำไปใช้เป็นคู่เสมอและในทุกพิธีกรรมต่างๆ จะขาดบายศรีไม่ได้ ถ้าไม่มีบายศรีชนิดอื่น อย่างน้อยก็ต้องมีบายศรีปากชาม 1 คู่
2. บายศรีเทพ
สำหรับบายศรีเทพและพรหม ถือว่าเป็นบายศรีระดับครู ผู้ทำบายศรีต้องได้รับการครอบครู หรือได้รับอนุญาตจากครูบาอาจารย์ก่อนจึงลงมือทำได้ มิเช่นนั้นอาจเกิดเหตุไม่ดีแก่ตน บ้างก็ว่าเป็นบ้าบอ เพราะถือว่าเป็นการทำบายศรีระดับที่สูงขึ้นกว่าบายศรีปากชาม ราคาค่าจ้างหรือที่ขายกันจึงสูง ขึ้นอยู่กับวัตถุที่ใช้ตกแต่ง เช่น พาน ดอกไม้ ฯลฯ แล้วตามด้วยความวิจิตรบรรจงว่าประณีตมากน้อยเพียงไร เพื่อแสดงถึงความศรัทธาอย่างแรงกล้าให้เทพเจ้ารับรู้และโปรดปราน จะได้สำเร็จโดยไว (เป็นความเชื่อส่วนบุคคล)
บายศรีเทพประกอบด้วยบายศรีแม่ 16 นิ้ว (หมายถึง 16 ชั้นฟ้า) 4 องค์ ลูก 9 นิ้ว 4 องค์ รวม 8 องค์ (หรือ 8 ทิศ) ต่อ 1 พาน กรวยบายศรีความสูงให้พองาม ประดับด้วยดอกไม้ให้สวยงาม บายศรีเทพคือการขอให้ปวงเทพคุ้มครองรักษา บ้างก็เรียกบายศรีพรหมเทพ
ความสำคัญคือถวายเป็นคู่ แต่ถ้าถวายเดี่ยวควรตั้งบายศรีไว้ตรงกลาง บายศรีเทพใช้ในโอกาสต่างๆ อาทิ การบูชาพระ การบวงสรวงเทวดา พิธีไหว้ครูประจำปี การบูชาองค์เทพที่อยู่ในชั้นเทวโลกทุกระดับชั้น หรือเพื่อต้อนรับองค์เทพที่อยู่บนสวรรค์ชั้นเทวโลกที่จะเสด็จลงมาโปรด หรือใช้ในพิธีสำคัญทางศาสนา ที่เคยเห็นตั้งบวงสรวงอัญเชิญเทพเทวดาในการเททองหล่อพระพุทธรูป
3. บายศรีพรหม / บายศรีพรหมสี่หน้า
บายศรีพรหมมีหลายแบบ เช่น บายศรีพรหม บายศรีพรหมสี่หน้า บายศรีพรหมประกาศิต ฯลฯ อาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น แต่ก็จะมีลักษณะที่เหมือนกันคือต้องมีแม่ 16 นิ้ว จำนวน 4 ทิศ และลูก 9 นิ้ว จำนวน 4 ทิศเหมือนกันถึงจะเป็นบายศรีพรหม ความสูงของกรวยกะดูให้พองาม ให้ได้สัดส่วนกับองค์บายศรี ตกแต่งด้วยดอกไม้ให้สวยงาม
บายศรีพรหม มีความหมายเหมือนกับลักษณะพระพักตร์ทั้งสี่ เดิมพระพรหมมีพระวรกายสีแดง และมีห้าพักตร์ ในภายหลังพระพรหมกล่าววาจาสบประมาทพระศิวะ ทำให้พระศิวะโกรธ จึงใช้อิทธิฤทธิ์ของดวงพระเนตรที่สามเพ่งไปที่พระเศียรของพระพรหมไหม้เป็นจุณ จึงเหลือเพียงสี่เศียรหรือสี่พักตร์
ความสำคัญของบายศรีพรหม คือใช้ในหลายโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการบูชาพระ บวงสรวงเทวดา ใช้ในพิธีไหว้ครู บูชา ฯลฯ ตามแต่เจ้าภาพจะศรัทธา
4. บายศรีตอ
บายศรีตอมีอยู่หลายรูปแบบ หลายขั้นตอน แล้วแต่ผู้ประดิษฐ์ ที่โดดเด่นคือสิ่งที่ใช้ในการประกอบฐานของบายศรีตอ ตามแบบโบราณส่วนใหญ่ใช้ต้นกล้วยตัดเป็นท่อนๆ (ปัจจุบันอาจเป็นฐานเหล็กหรือฐานไม้) สูงประมาณ 17 นิ้วครึ่ง หรือประมาณ 50 เซนติเมตร
ความสำคัญของบายศรีตอ เพื่อให้เกิดความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ นิยมนำไปใช้เป็นคู่ ใช้ในโอกาสต่างๆ เหมือนบายศรีเทพ บายศรีพรหม นอกจากนี้ยังใช้สำหรับต้อนรับองค์เทพที่อยู่ในชั้นภาคพื้นดิน พระมหากษัตริย์ หรือผู้ที่สร้างคุณงามความดีต่อประเทศชาติทุกยุคทุกสมัย เช่น สมัยหริภุญชัย สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ เป็นต้น มีรูปแบบสวยงามและซับซ้อน
5. บายศรีหลัก (บายศรีต้น หรือบายศรีพระเกตุ)
บายศรีหลัก เรียกอีกอย่างว่าบายศรีต้น บายศรีพระเกตุ มีหลายประเภท เช่น บายศรีหลักบัวคว่ำบัวหงาย บายศรีหลักหงส์ บายศรีหลักพญานาค แม้ชื่อเรียกจะต่างกัน แต่องค์ประกอบที่สำคัญของบายศรีหลักต้องมีเหมือนกัน บายศรีหลักมีระดับความสูงต่างกัน ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะของงานพิธีว่าเป็นงานใหญ่หรืองานเล็ก ระดับชั้นของบายศรีจะบอกยศบารมีของเจ้าภาพและเทพได้ ดังนี้คือ…
ไม้หลักต้นบายศรี (ในสมัยโบราณจะใช้ต้นกล้วย ปัจจุบันใช้เป็นหลักไม้หรือเหล็กเพื่อความสะดวกในการจัดเก็บ) บายศรี 9 ชั้น ไม้หลักสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบายศรีหลัก 3 ชั้น 5 ชั้น และ7 ชั้น กะความสูงให้พอเหมาะกับความสูงขององค์บายศรี จำนวนชั้นบายศรีต้องลงด้วยเลขคี่ แป้นรองบายศรีแต่ละชั้นอาจจะใช้โฟมหรือต้นกล้วยตัดเป็นท่อนๆ ขนาดแล้วแต่ผู้ทำบายศรีกำหนด
ความสำคัญของบายศรีหลัก (บายศรีต้น หรือบายศรีพระเกตุ) สามารถใช้ในโอกาสต่างๆ ร่วมกันกับบายศรีอื่นๆ ได้ และงานพิธีที่สำคัญๆ เช่น บายศรีทูลพระขวัญ ในพิธีทูลพระขวัญ บายศรีหลักที่ใช้ในพิธีจะใช้บายศรีเดี่ยว 1 หลัก ถ้าใช้ในพิธีกรรมอื่นนิยมใช้เป็นคู่ หรือถ้าจะใช้แบบเดี่ยว ต้องตั้งบายศรีหลักไว้ตรงกลาง บายศรีทูลพระขวัญถวายตามพระอิสริยยศเป็นประเพณี ดังนี้คือ
บายศรี 9 ชั้น ใช้สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
บายศรี 7 ชั้น ใช้สำหรับเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า และพระราชอาคันตุกะชั้นประธานาธิบดี
บายศรี 5 ชั้น ใช้สำหรับเจ้านายที่ทรงกรมหรือเสนาบดี
บายศรี 3 ชั้น ใช้ในพิธีสมรสของชั้นหลานเจ้านาย
ยกเว้น บายศรีชั้นเดียว หรือบายศรีใหญ่ที่ใส่ขันพานรองใบเดียว ใช้ในพิธีของราษฎรทั่วไป
6. บายศรีขันธ์ห้า
ประกอบด้วยกรวยบายศรีใหญ่ 1 กรวย บายศรี 5 นิ้ว จำนวน 5 องค์ กรวยเล็ก 5 กรวย ธูป 5 มัด (มัดละ 5 ดอก) เทียน 5 คู่ นำหมากพลู ถั่วงา บุหรี่ ธูปเทียน ใส่ในกรวยให้ครบทั้ง 5 กรวย จากนั้นจึงตกแต่งด้วยดอกไม้มงคลเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวผู้รับขันธ์ 5
ความสำคัญของบายศรีขันธ์ 5 คือ เพื่อเป็นการเตือนตนให้ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท และหมั่นสร้างคุณงามความดี ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รักษาศีล และนำขันธ์ที่รับไปบูชาเพื่อให้เกิดนิมิตหมายมงคลที่ดีงาม ให้เกิดความผาสุกเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป
ข้อห้ามให้ระวังขณะทำบายศรีคือ ใบตอง ห้ามข้ามตอง หรือใช้ผ้าสกปรกมาเช็ด!!
ขณะทำ ให้สำรวมจิตให้บริสุทธิ์ เพราะการทำบายศรีไม่ว่าจะประเภทใดก็เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ถวายให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้าทำดีตั้งใจจริงย่อมส่งผลดีแก่ผู้กระทำ ใบตองที่ใช้ทำมักใช้ตองตานี มีตำนานว่าเป็นนางฟ้าที่ถูกสาปให้มาเกิดเป็นต้นกล้วยตานี ถ้านำใบมาทำบายศรีก็จะกลับขึ้นสวรรค์เป็นนางฟ้า
แต่ที่พบใช้มากคือใบตองกล้วยน้ำว้า เพราะมีราคาไม่แพงหาได้ง่าย (มักทำบายศรีปากชาม) แต่ใบตองกล้วยหักมุกกับกล้วยหอม ไม่ค่อยนิยมเพราะใบจะคล้ำดำง่าย และแข็ง โบราณกล่าวไว้ว่า…
“ถ้าผู้ใดบูชาด้วยบายศรี จะสำเร็จสมปรารถนาตามแรงศรัทธา”
พบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ
โดย กรุเก่า
ภาพโดย. Ai