27 กรกฎาคม 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

                เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ทุกคน เมื่อพูดถึงทองคำก็มักจะใฝ่ฝันถึง ไม่ว่าจะอยู่แห่งใด อันตรายอย่างไร ก็มักจะดั้นด้นเดินทางไปแสวงหาอย่างไม่ย่อท้อ ยิ่งในสมัยเมื่อหลายร้อยปีก่อน มีการกล่าวขวัญกันว่าในทวีปอเมริกา ในเขตพื้นที่อาณาจักรอินคา มีมหานครทองคำอยู่ มีนามว่า “เอลโดราโด้” ที่กล่าวกันว่าทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองแห่งนั้นล้วนสร้างด้วยทองคำ แม้แต่ท้องถนนยังปูด้วยทองคำ จึงมีการตื่นทองกันมาก ถึงกับมีการยกกองทัพจากยุโรปไปค้นหานครแห่งนี้ ต้องเปิดศึกกับจักรพรรดิของอาณาจักรอินคาเพื่อให้เข้าถึงนครเอลโดราโด้ นครทองคำแห่งนี้

                เอลโดราโด้ เป็นเมืองในตำนาน ตั้งอยู่ที่ใดที่หนึ่งลึกเข้าไปภายในแผ่นทวีปที่ยังมิได้สำรวจของทวีปอเมริกาใต้ มันได้รับการกล่าวถึงอย่างเหลือล้นราวกับนิทานเพ้อฝัน เช่นว่าถนนปูด้วยทอง และเหมืองแร่ที่อุดมไปด้วยทองและเงิน เป็นเหตุให้ชาวยุโรปจำนวนมากตะลุยสืบค้นป่าในที่ราบบนภูเขา และแม่น้ำต่างๆ ของทวีปอเมริกาใต้ แต่ส่วนมากสูญเสียชีวิตไปก่อนที่จะพบ

                เอลโดราโด้ไม่เพียงแต่เป็นขุมความลับอันยิ่งใหญ่ แต่ยังเป็นขุมทองอันมหาศาลที่ยั่วน้ำลายนักแสวงโชคมาเนิ่นนาน แม้ว่าโลกเราในปัจจุบันจะเจริญรุดหน้าขนาดเดินทางค้นหาดินแดนใหม่ในจักรวาลเป็นว่าเล่น แต่ก็น่าแปลกที่วิวัฒนาการดังกล่าวไม่ได้มีส่วนช่วยในการค้นหาดินแดนในตำนานที่ว่านี้เลย

                ต้องเปิดฉากถึงตำนานของเอลโดราโด้กันก่อน บุคคลที่เรียกว่าเป็นปฐมบุคคลที่ตามหานครแห่งตำนานที่ว่านี้ และเป็นผู้เรียกนครลับแลนี้ว่าเอลโดราโด้ คือเซบาสเตียน เดอเบลาลกาซาร์ บุรุษผู้สามารถพิชิตชนเผ่าอินคาแห่งอเมริกาใต้ แล้วก่อตั้งเมืองควิโต้ที่ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของประเทศเอกวาดอร์นั่นเอง

                เบลาลกาซาร์ ได้รับการบอกกล่าวเกี่ยวกับนครทองคำนี้จากอินเดียนแดงชราผู้เป็นปรมาจารย์ทางความรู้ในศาสตร์เก่าแก่ เล่าถึงนครที่ตั้งอยู่ ณ ดินแดนแห่งหุบเขาและป่าลึกอันไกลโพ้น จัดเป็นนครแห่งราชานิรนาม ผู้สถิตอยู่เหนือบัลลังก์ทอง ทั่วทั้งนครดารดาษไปด้วยทองคำและเพชรนิลจินดาอย่างมหาศาล เช่น มีมรกตขนาดเล็กที่สุดเท่าไข่ไก่ เกลื่อนกลาดอยู่ตามท้องธารโดยมิมีผู้ใดจะสนใจ ด้วยว่าเห็นกันจนชินตาและทุกถ้วนขวบปี ราชาแห่งนครทองคำนี้จะเสด็จไปยังริมท้องธารใหญ่เพื่อประกอบพิธีบัดพลีกรรมเพื่อบูชาสุริยะเทพ

                พระองค์จักประดับเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ ล้วนเต็มไปด้วยเครื่องทองและเพชรนิลจินดา เมื่อถึงชายฝั่งพระองค์จะเปลื้องเครื่องอาภรณ์ออกจนหมดสิ้น ชุบชโลมกายด้วยฝุ่นทองจนเอิบอาบทั่วทั้งองค์ แล้วจึงเสด็จประทับในแพทอง แล่นออกสู่ใจกลางท้องนทีแต่ลำพัง เมื่อถึงใจกลางท้องธารนั้น พระองค์จะทำพิธีบูชาสุริยะเทพ แล้วโยนเครื่องใช้ในพิธีกรรมอันล้วนทำด้วยทองคำทั้งสิ้นลงสู่ก้นธารใหญ่นั้น

                เรื่องราวที่ฟังดูเหมือนกับนิทานหลอกเด็กนี้ ไม่ทำให้เบลาลกาซาร์สนใจถึงขนาดออกตามหา แต่เบลาลกาซาร์เอาเรื่องในตำนานมาผนวกกับข้อเท็จจริงบางประการที่เกิดขึ้น ก่อนที่เขาจะพิชิตเมืองควิโต้ได้มาประมวลผล พร้อมการยืนยันจากอินเดียนแดงเจ้าถิ่นแถวเอกวาดอร์ ทำให้เบลาลกาซาร์ออกตามหาเอลโดราโด้ทันที

                ข้อเท็จจริงที่ทำให้เบลาลกาซาร์คิดว่าเอลโดราโด้มีอยู่จริงคือ ช่วงปี ค.ศ.1530 ตอนที่ฟรังซิสโก้ ปิซาร์โร นำทหารเพียง 180 นายบุกยึดอาณาจักรอินคาแห่งเปรู และจับองค์จักรพรรดิอตาฮวลปาเป็นตัวประกัน ปิซาร์โรเรียกค่าไถ่จากชาวอินคาเป็นทองคำและเพชรพลอยจำนวนมหาศาล คือให้เอามากองให้เต็มห้องขังนั่นแหละ จึงจะยอมปล่อยอตาฮวลปาไป

                ขอทำความเข้าใจกันก่อน ปิซาร์โรและกองกำลัง 180 นายนั่นไม่ใช่กองทหารที่เก่งกล้าสามารถขนาดถล่มชาวอินคาทั้งเมืองได้ แต่ที่สามารถพิชิตอินคาได้เพราะหน้าตาต่างหาก เนื่องเพราะชาวอินคามีตำนานกล่าวถึงเทพเจ้าที่มาจากดวงดาวไกลโพ้นของตนว่า เป็นบุรุษผิวขาวมีเคราดำ ซึ่งบังเอิญไปตรงกับลักษณะของชาวสเปนทุกประการ อตาฮวลปาเข้าใจว่าปิซาร์โรคือเทพเจ้าต่างดาวเสด็จมาลงโทษ จึงยอมให้จับกุมโดยไม่คิดขัดขืน

                กลับมาที่เรื่องค่าไถ่มหาศาลที่ปิซาร์โรเรียกร้องเหมือนคนบ้า แต่ผิดคาด ชาวอินคากลับตอบตกลง โดยขอเวลาไปรวบรวมทองคำ ซึ่งปิซาร์โรก็ยอมให้เวลา 2 วัน เวลาเพียง 2 วันนั้น แค่ทำการรวบรวมทองคำทั้งอาณาจักรยังไม่รู้ว่าจะพอหรือเปล่า ชาวอินคาจึงรีบรุดไปยังดินแดนเร้นลับแห่งหนึ่ง ซึ่งตามตำนานของชนเผ่านี้บอกว่าเต็มไปด้วยทองคำทั้งเมือง แล้วขนเอาทองคำใส่รถลากมาตามขุนเขาและป่าทึบด้วยความยากลำบาก

                ทว่าจากหนทางอันทุรกันดารและห่างไกล ทำให้ค่าไถ่จำนวนมหาศาลเดินทางมาไม่ทันกำหนด ผู้พิชิตชาวสเปนจึงปลงพระชนม์เชลยบรรดาศักดิ์เสีย เพราะคิดว่าชาวอินคาคงเบี้ยวแน่แล้ว พอชาวอินคารู้ว่าจักรพรรดิของตนถูกสังหารเสียแล้ว จึงนำทองคำค่าไถ่ไปซุกซ่อนในที่เร้นลับในป่าดงดิบนั่นเอง ชาวสเปนที่ทราบเรื่องในภายหลังก็พยายามจะค้นหาทองค่าไถ่นี้อย่างบ้าคลั่งแต่ก็ไม่เคยพบ ตำนานทองคำค่าไถ่ของชาวอินคาเป็นอันจบไปตรงนี้

                สำหรับเรื่องตำนานนครทองคำเอลโดราโด้นั้น เบลาลกาซาร์นำเอาข้อเท็จจริงมาผูกกับตำนานของชาวอินเดียนแดงแล้วสรุปว่าดินแดนลึกลับที่ชาวอินคาไปขนทองมานั้น ต้องเป็นดินแดนเดียวกับที่อินเดียนแดงชราเล่าเป็นแน่แท้ แม้ค่าไถ่จำนวนมหาศาลนั้นจะยั่วน้ำลายน่าค้นหาเพียงใด แต่ตามวิสัยบุรุษผู้มองการณ์ไกล เบลาลกาซาร์ยอมทิ้งเศษทองข้างทางเพื่อค้นหาต้นตอของทองคำมหาศาล นั่นก็คือนครในตำนาน “เอลโดราโด้” นั่นเอง

                แต่เบลาลกาซาร์ยังไม่ทันได้ออกเดินทางไปค้นหาก็มีเรื่องอื่นมาขัดขวางเสียก่อน คณะนักล่าทองคำคณะอื่นจึงออกค้นหาแทน คือในปี ค.ศ.1536 กอนซะโล เจเมเนส จากโคลอมเบีย บุกขึ้นทางเหนือในขณะที่เกวซาดาข้าราชบริพารชาวสเปนนำทหารบุกลงใต้ และเกวซาดานี่เองไปได้หลักฐานเพิ่มเติมจากอินเดียนแดงเผ่าชิบช่า ที่มีฐานะความเป็นอยู่ร่ำรวยอย่างน่าพิศวงในวิหารใจกลางเมืองชิบช่า ซึ่งมีมัมมี่ของกษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้วนับสิบๆ องค์นอนเรียงรายอยู่แล้ว ที่ไม่ธรรมดาคือทุกพระองค์ถูกประดับประดาด้วยเครื่องทองล้นหลามมากมาย ส่วนเทวรูปที่อยู่ในวิหารนั้นมีพระเนตรที่ฝังด้วยมรกตเม็ดเท่าไข่ไก่ทั้งสองข้าง

                ชาวชิบช่าบอกกับเกวซาดาว่า ทองและมรกตเหล่านี้พวกเขาได้มาจากการค้าขายกับชนเผ่าลึกลับที่อยู่ลึกเข้าไปใจกลางป่าดิบ ซึ่งชาวเมืองนั้นจะมีแต่ทองคำกับเพชรพลอยเท่านั้นที่มาแลกเปลี่ยน แต่สิ่งที่เกวซาดาค้นพบตามข้อมูลของชาวอินเดียนแดงชิบช่าก็มีแค่ทะเลสาบกัวตาวิตา ที่เป็นทะเลสาบในตำนานที่องค์ราชาแห่งนครทองคำเสด็จมาทำพิธีบูชาสุริยะเทพเท่านั้น ทว่าไม่ได้เห็นแม้แต่เศษทองหรือชาวเมืองลับแลแม้แต่คนเดียว

                โดยที่ทหารสเปนและนายทัพนั้นมีรูปร่างลักษณะและการแต่งตัวหมดจดงดงามราวกับเหล่าทวยเทพจากสรวงสวรรค์ที่เสด็จลงมาจากฟากฟ้า ชาวชิบช่ารายนั้นจึงเล่าเรื่องให้ฟังด้วยถ้อยคำสุดคารวะ

                คณะสำรวจอื่นๆ อีกมากที่ออกค้นหาขุมทองแห่งเอลโดราโด้ แต่ทุกคณะล้วนประสบแต่ความล้มเหลว แม้บางคณะจะได้พบเครื่องทองรูปร่างแปลกๆ อายุเก่าแก่มาจากชาวอินเดียนเผ่าต่างๆ ของอเมริกาใต้ แต่ก็ไม่มากพอที่จะเชื่อว่าดินแดนที่พบนั้นเป็นขุมทองเอลโดราโด้จริง แต่สิ่งที่กระตุ้นความปรารถนาให้ลุกโชนขึ้นมาก็เพราะว่าชาวอินเดียนเจ้าของเครื่องทองเหล่านั้นล้วนเอ่ยอ้างแบบเดียวกันว่า ปู่ย่าตายายได้มาจากเมืองลับแลที่เต็มไปด้วยทองคำนั่นเอง

                แต่การค้นหานครทองคำในตำนานก็ทำให้พวกเขาได้รู้จักกับนักรบสาวจอมโหดชนเผ่าแอมะซอนที่เข้าโจมตีคณะค้นหาของออเรลลาน่าจนถอยร่นแทบไม่ทัน โดยที่ชาวสเปนเป็นคนมีความรู้ในวรรณคดีกรีก จึงตั้งชื่อแม่น้ำใหญ่ที่เขาเดินทางไปพบชนเผ่าที่น่าทึ่งนี้ว่า “แอมะซอนน่า” ตามชื่อของนักรบสตรีที่ปรากฏอยู่ในตำนานกรีกโบราณ เป็นเกร็ดความรู้เล็กๆ ที่แทรกขึ้นมาระหว่างการค้นหาเอลโดราโด้

                แม้กาลเวลาจะผ่านมานานกว่าร้อยปี เรื่องราวของขุมทองเอลโดราโด้ก็ยังคงเย้ายวนใจคนอยากรวยอยู่เสมอ เช่นในปี ค.ศ. 1912 คณะนักสำรวจชาวอังกฤษถูกว่าจ้างโดยบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง มีการขนเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อใช้ในการค้นหาขุมทองนี้ แต่ทองที่พบนั้นกลับมีค่าน้อยกว่าเครื่องมือที่นำไปขุดหามันเสียอีก สรุปว่ารายการนี้เจ๊งไม่เป็นท่า ทำให้ความเชื่อเกี่ยวกับตำนานนี้เสื่อมคลายลง

                ทว่าในปี 1969 ความเชื่อเกี่ยวกับเมืองลับแลนี้ก็ทำท่าว่าจะเป็นจริงขึ้นมา เนื่องจากการขุดพบเครื่องทองอันลือชื่อริมฝั่งทะเลสาบเชียช่าในโคลอมเบีย เครื่องทองนั้นทำด้วยทองคำธรรมชาติโซลิดโกลด์ เป็นรูปสลักของบุรุษผู้ซึ่งคงเป็นกษัตริย์ฝีมือประณีต ทรงประทับอยู่บนพระแท่นกลางแพใหญ่ แวดล้อมไปด้วยคณะนักบวชและเครื่องสักการะต่างๆ แน่นอนว่ามันต้องเป็นรูปสลักของกษัตริย์แห่งเอลโดราโด้ขณะประทับบนแพทองคำเพื่อไปถวายเครื่องสักการะแด่สุริยะเทพตามตำนานแน่นอน

            แต่ก็เพียงแค่นั้น การค้นพบนี้อาจจะยืนยันการมีอยู่จริงของนครเอลโดราโด้ในตำนาน แต่การค้นหาตำแหน่งที่แน่นอนของนครแห่งนี้ก็ยังคงความลึกลับให้นักสำรวจได้มีงานทำกันต่อไป อย่างไรก็ดี การค้นหาของนักโบราณคดีและนักธรณีวิทยาในอเมริกาใต้ก็พบสิ่งที่มีค่าไม่แพ้ทองคำเช่นกัน นั่นก็คือบ่อน้ำมันนั่นเอง ที่ขณะนี้มีค่าไม่ต่างจากทองคำเลยจริงๆ

/

เรื่องโดย. ทิวากร สุวพานิช

ภาพโดย. www.leisuremartini.com, wonderopolis.org, pplware.sapo.pt, kennethnyberg.org, www.galeriaamaya.com, en.wikipedia.org, thecitypaperbogota.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •