ศิวลึงค์ ลึงค์ หรือ ลิงค์ หมายถึง เครื่องหมาย สัญลักษณ์ เพศ องคชาติ การอนุมาน คัพภะที่ก่อเกิดลูกหลานชั่วนิรันดร์ เป็นสัญลักษณะของพระศิวะ เทพเจ้าในศาสนาฮินดู ใช้ในการบูชาสักการะในโบสถ์วิหารฮินดู ในศาสนาฮินดูยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า ศิวลึงค์เป็นตัวแทนทางกายภาพของเทพเจ้าหรือเป็นเครื่องหมายทางจิตวิญญาณ
เอาแบบง่ายๆ ศิวลึงค์ ถูกแปลความว่า เป็นเครื่องหมายแห่งพลังสร้างสรรค์ในบุรุษเพศที่มาจากองคชาติ แม้ในปัจจุบันชาวฮินดูส่วนใหญ่จะมองศิวลึงค์เป็นเครื่องหมายแห่งพลังศักดิ์สิทธิ์มากกว่าเครื่องหมายทางเพศ ศิวลึงค์มักปรากฏอยู่พร้อมกับโยนี สัญลักษณ์ของพระแม่ปารวตี อันบ่งบอกถึงพลังสร้างสรรค์ของสตรีเพศ การที่ศิวลึงค์และโยนีอยู่ร่วมกัน แสดงถึงความเป็นสองในหนึ่งเดียว ที่แยกออกจากกันไม่ได้ของบุรุษและสตรี อวกาศที่หยุดนิ่งและเวลาซึ่งเคลื่อนที่อันเป็นต้นกำเนิดของสรรพชีวิต ตั้งแต่สิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักวิชาการตีความว่าศิวลึงค์และโยนี เป็นอวัยวะเพศชายและหญิง ขณะที่ชาวฮินดูเห็นว่าทั้งสองสิ่ง เป็นเครื่องแสดงถึงหลักการที่ว่า หญิงและชายไม่อาจแยกออกจากกันได้ และเป็นเครื่องหมายแห่งการก่อกำเนิด
ที่สำคัญวัตถุโบราณที่ถูกสร้างสรรค์ให้เป็นรูปอวัยวะเพศชายนั้น เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ ที่ผู้คนนิยมสักการบูชากันตั้งแต่อดีตโบราณ ตราบจนปัจจุบันนี้ด้วยความเคารพศรัทธากันอย่างกว้างขวาง
“ศิวลึงค์” จึงเป็นเสมือนรูปเคารพแทนพระองค์ ที่มีปรากฏอยู่ในเทวสถานทุกแห่ง และก็มีธรรมเนียมประเพณีที่จะจัดพิธีกรรม เพื่อบูชาศิวลึงค์นี้โดยเฉพาะอีกด้วย
ลัทธิบูชาศิวลึงค์นี้เกิดขึ้นในอินเดียเมื่อ 5,000 ปีมาแล้ว หรือ 3,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช เกิดขึ้นครั้งแรกที่บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุในแคว้นปัญจาบของอินเดีย
จากหลักฐานทางโบราณคดี ที่พบในบริเวณเมืองโบราณโมเฮนโจดาโร และฮารัปปา ในแคว้นปัญจาบตะวันตก และทางเหนือของเมืองการจี เมื่อ ค.ศ. 1922 และ 1924 (พ.ศ. 2465 และ 2467) ได้พิสูจน์เรื่องราวเกี่ยวกับลัทธิความเชื่อของคนในสมัยนั้น หลักฐานเหล่านี้มีที่ประทับตราทำเป็นรูปผู้ชาย ที่ศีรษะมีเขาสัตว์ และมีสัตว์อยู่ล้อมรอบ
เกี่ยวกับพิธีกรรมบูชาศิวลึงค์ในอินเดียเท่าที่ทราบมา เป็นไปในรูปของการบูชาประจําวันบ้าง หรือบูชาในกรณีวันสําคัญเทศกาลนักขัตฤกษ์ทางศาสนา เช่น เทศกาลมหาศิวะราตรี ในเทศกาลนี้ชาวอินเดียจะทําพิธีกันใหญ่โตเอิกเกริก
การบูชาก็คือ เอาน้ำหรือน้ำนมราดรดส่วนบนของหินทรงกระบอกให้น้ำไหลไปสู่ที่ฐานหินกลมซึ่งมีร่องน้ำอยู่ น้ำจะไหลลงเบื้องล่าง และเอาข้าวตอกใบมะตูม ดอกไม้ ขนม โปรยลงบนหินแท่งนั้น พลางก้มลงกราบ หรือเอาศีรษะโขกหินเป็นการแสดงคารวะสูงสุด
หลายคนอาจจะสงสัยว่า สัญลักษณ์ของพระศิวะมหาเทพนี้ ค่อนข้างจะแตกต่างกับมหาเทพองค์อื่นๆ ตรงที่มีสัญลักษณ์แทนพระองค์เป็นรูปอวัยวะเพศชาย ที่ดูค่อนข้างจะพิสดารมิใช่น้อย และชวนให้ฉงนสงสัยในความเป็นมาแห่งสัญลักษณ์นี้
กำเนิดของศิวลึงค์นั้น ปรากฏเป็นเรื่องราวที่ค่อนข้างจะแปลกแยก แตกต่างกันออกไปตามแต่ละคัมภีร์ แต่ละในศาสนาต่างๆ ทางคติพราหมณ์ ซึ่งบางตำราก็กล่าวว่า องค์พระศิวะนั้นทรงตั้งพระทัยที่จะประทานรูปศิวลึงค์หรือรูปเคารพที่เป็นรูปอวัยวะเพศชายให้กับสาวกทั้งหลายทั้งปวงของพระองค์ได้สักการบูชาแทนพระองค์
ในการประทานรูปเคารพเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากในงานบูชาตรีมูรติ หรือมหาเทพทั้ง 3 ซึ่งประกอบไปด้วยพระพรหม พระวิษณุและพระศิวะ ที่จะต้องแสดงพระวรกายให้สาวกได้เห็นเป็นบุญตา
สำหรับพระพรหม ก็จะปรากฏพระวรกายออกมาในรูปลักษณ์ที่มี 4 พักตร์ 4 กร ส่วนพระวิษณุก็จะปรากฏพระวรกายมาในรูปลักษณ์ที่เป็นมหาเทพมี 1 พระพักตร์ 2 พระกร แต่สำหรับพระศิวะนั้นทรงปรากฏพระวรกายในรูปกายที่แปลกแหวกแนวสักหน่อย คือไม่ปรากฏออกมาเป็นรูปองค์เทพโดยตรงแต่กลับแสดงพระวรกายให้ปรากฏออกมาเป็นรูปอวัยวะเพศชาย ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของผู้ชายไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือมหาเทพนั่นเอง
ดังนั้น หลังจากงานพิธีกรรมบูชาเทพตรีมูรติ หรือมหาเทพทั้ง 3 พระองค์นี้แล้ว บรรดาสาวกก็ได้สร้างศาลรูปเคารพเทพตรีมูรติทั้ง 3 ตามที่ตนเห็น ซึ่งก็คงจะหมายถึงว่าได้สร้างรูปเคารพพระพรหมเป็นรูปที่มี 4 พักตร์ 4 กร และสร้างรูปเคารพพระนารายณ์เป็นรูปมหาเทพผู้งดงามมี 1 พระพักตร์ 2 พระกร และสำหรับพระศิวะนั้นสาวกก็ได้สร้างรูปเคารพให้เป็นรูปอวัยวะเพศชายตามที่พวกตนได้พบเห็นปรากฏแก่สายตา อันเป็นรูปจำลองเป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะนั่นเอง
ทีนี้เราจะมาเล่าถึงการกำเนิดสัญลักษณ์ศิวลึงค์ แทนรูปเคารพของพระศิวะกัน
ในคัมภีร์โบราณเล่มหนึ่งได้บันทึกไว้ว่า ในวันหนึ่งพระศิวะกำลังร่วมภิรมย์เสพสมกับพระแม่อุมาอัครมเหสีอย่างแสนสุขสันต์ในวิมานของพระองค์บนเขาไกรลาส แต่การเสพสมภิรมย์รักนี้ มิได้กระทำกันในห้องบรรทมส่วนพระองค์แต่อย่างใด การสมสู่ชู้ชื่นครั้งนี้ พระศิวะและพระแม่อุมาทรงกระทำกันกลางท้องพระโรงเลยทีเดียว บังเอิญเมื่อพวกทวยเทพทั้งปวงที่กำลังจะมาเข้าเฝ้าพระศิวะได้พบเห็นเข้า จึงรู้สึกว่าพระศิวะนั้นกระทำการอันไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง
หากทรงกระทำกันในห้องบรรทมส่วนพระองค์ ก็คงจะไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด แต่หน้าท้องพระโรงนั้นเป็นที่เปรียบเสมือนห้องรับแขก ที่ย่อมจะต้องมีผู้คนผ่านเข้าออกได้เสมอ และเมื่อทวยเทพผ่านพบเห็นเข้าว่าองค์พระศิวะที่เป็นถึงมหาเทพผู้เป็นใหญ่แห่งเขาไกรลาส กำลังเสพสังวาสกับอัครมเหสีอย่างประเจิดประเจ้อกลางท้องพระโรงเช่นนั้น จึงพากันรังเกียจเดียดฉันท์และเสื่อมศรัทธาในองค์พระศิวะเป็นอย่างมาก
บรรดาทวยเทพจึงได้พากันเย้ยหยัน และหมดสิ้นความนับถือยำเกรงในองค์มหาเทพ ต่างพากันยืนดูแล้วก็วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเห็นเป็นเรื่องที่น่าสมเพชไป ด้วยเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น พระศิวะให้ทรงอัปยศอดสูในพระทัยเป็นยิ่งนัก ประกอบกับความโกรธกริ้ว พระศิวะจึงทรงได้ประกาศว่าอวัยวะเพศของพระองค์นี้แหละ จะเป็นเสมือนสัญลักษณ์และตัวแทนของพระองค์ ที่บรรดามนุษย์และเทพเทวะทั้งปวง จะต้องกราบไหว้บูชาถ้าต้องการความสุขและความสำเร็จอันงดงามในชีวิต
และอวัยวะเพศหรือศิวลึงค์นั้น ก็จะมีดวงตามหาศาลล้อมรอบศิวลึงค์ถึง 1,000 ดวงตา เพื่อจะได้สามารถมองเห็นได้เด่นชัดในทุกทิศทุกทาง โดยดวงพระทัยและดวงพระวิญญาณขององค์พระศิวะจะสถิตอยู่ด้วย เพื่อคุ้มครองและอำนวยพรให้กับผู้ที่สักการบูชาศิวลึงค์นั้น เมื่อได้ทรงแล่นถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์มาในขณะที่กำลังเกิดความกริ้วและความอัปยศเป็นที่สุดนั้น ถ้อยคำอันศักดิ์สิทธิ์จึงได้บังเกิดสัมฤทธิผลเป็นจริง
นับจากนั้นไม่ว่าจะเป็นบรรดามนุษย์ ดาบส ฤษี หรือแม้แต่ทวยเทพบนสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ เองก็ยังนิยมสักการบูชาศิวลึงค์หรือรูปเคารพที่เป็นอวัยวะเพศชาย อันเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของพระศิวะ
เรื่องราวการกำเนิดศิวลึงค์ในบางคัมภีร์ก็กล่าวแตกต่างออกไป โดยเล่าว่าพระศิวะค่อนข้างจะมีพระอารมณ์ทางราคะค่อนข้างสูง และโปรดที่จะเสพสังวาสกับพระแม่อุมาอัครมเหสีและพระชายาองค์อื่นอีก ในทุกวี่วันเลยทีเดียว จนเป็นที่รู้กันทั่วไปในเหล่าเทพเทวะทั้งปวง
ดังนั้น บรรดาศิษยานุศิษย์หรือผู้ที่ศรัทธาในองค์พระศิวะมหาเทพ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือทวยเทพ ที่เคารพเลื่อมใสองค์พระศิวะ จึงได้คิดประดิษฐ์วัตถุบูชาขึ้นมา โดยหวังให้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ การสรรค์สร้างรูปอวัยวะเพศหรือศิวลึงค์ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา ซึ่งผู้ที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นคนแรกที่คิดประดิษฐ์รูปเคารพศิวลึงค์นี้เป็นนักบวชฮินดู ที่ได้พบความสุข ความสำเร็จและความรุ่งเรืองในชีวิตมาก หลังจากที่ได้สร้างรูปศิวลึงค์แล้วทำพิธีกราบไหว้บูชาเป็นประจำ
ชาวบ้านทั่วไป จึงได้เริ่มทำรูปเคารพเป็นรูปศิวลึงค์กันบ้าง และก็ทำการสักการบูชากันเป็นที่กว้างขวางแพร่หลายต่อไป จนเกิดเป็นลัทธิการบูชาศิวลึงค์ขึ้นจริงจังในยุคต่อๆ มา
เรื่องโดย. นายตำนาน
ภาพโดย. www.patrika.com, www.punjabkesari.in, www.jagruk.in, hindi.newsroompost.com