พิธีกรรม “ แห่สุนัข” ขอลมของชนเผ่าเหมียว
มีการเล่าขานกันมาตามความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า สุนัขเป็นสัตว์ที่นำพาชาวบ้านไปเจอกับบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทำให้ชาวบ้านรอดพ้นจากความแห้งแล้งนั่นเอง...
เว็บเรื่องราวสยองขวัญ อิทธิปาฏิหาริย์ และโชคลาภ
ในอีสานบ้านเราและภาคเหนือ เมื่อถึงหน้าแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านก็จะออกมาทำพิธีขอฝน แห่บั้งไฟ ยิงขึ้นไปบูชาพญาแถนบ้าง หรือในบางครั้งก็จัดพิธี “แห่นางแมว” เรียกได้ว่ากลายเป็นเทศกาลที่นอกจากจะเรียกฟ้าเรียกฝนแล้ว ยังได้ความสนุกสนาน เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของผู้ที่ได้พบเห็นอีกด้วย
เกี่ยวกับพิธีขอลม ขอฝน ไม่ได้มีเพียงในประเทศไทยเท่านั้น จะว่าไปแล้ว ความเชื่อเป็นสิ่งที่อยู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคสมัยก่อน และสืบทอดมายังรุ่นปัจจุบัน เช่นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกพื้นที่อันห่างไกล ยึดถือความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มกำลังใจในการดำเนินชีวิตของพวกเขา
ล่าสุดกลายเป็นสิ่งฮือฮาขึ้นมา เพราะชนเผ่าเหมียว ซึ่งอาศัยอยู่ทางภาคใต้ตอนกลางของประเทศจีน ได้จัดตั้งจัดพิธี “แห่สุนัข” แต่ไม่ใช่พิธีแห่หมา เพื่อเอามากินอย่างที่พวกชอบกินเนื้อหมากัน เพราะนี่เป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา ซึ่งจะเล่าให้รู้ดังต่อไปนี้
ในงานดังกล่าว สุนัขถือเป็นตัวหลักของพิธีนี้ เป็นตัวแทนแห่งความสุข โดยจะดูแลเอาใจใส่เจ้าตูบที่เอามาแห่กันเป็นอย่างดี ซึ่งพิธีนี้เรียกว่า ไถโก่วเจี๋ย หรือที่เรียกว่า “พิธีแห่สุนัข” นั่นเอง
จุดประสงค์ของพิธีแห่สุนัขนี้ ทำขึ้นมาเพื่อขอลม ขอความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ผลผลิต รวมถึงขอบคุณที่มอบชีวิตที่เท่าเทียมและความสุขให้กับชาวบ้านนั่นเอง
โดยชาวบ้านจะนำเสื้อผ้าทอและเครื่องเงินมาสวมให้กับสุนัข จากนั้นก็ให้พ่อหมอของหมู่บ้านมานำพิธี โดยให้เจ้าตูบนั่งเก้าอี้และแห่ไปตามหมู่บ้าน พร้อมกับเล่นดนตรีเพื่อแสดงถึงความสุขของคนในหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการปาโคลนใส่กัน เพื่อแสดงถึงความสงบสุข และความสุขที่พวกเขาได้รับตลอดที่ผ่านมา
เหตุผลที่ต้องเป็นสุนัขเท่านั้น เพราะถูกเล่าขานกันมาตั้งแต่อดีตว่า สุนัขเป็นสัตว์ที่นำพาชาวบ้านไปเจอกับบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทำให้ชาวบ้านรอดพ้นจากความแห้งแล้ง
ถือเป็นพิธีที่ดูแปลกตา จากพิธีนี้จะเห็นได้ว่าสุนัขมีความสัมพันธ์ที่ดีกับมนุษย์มาช้านาน นับว่าเป็นพิธีที่ดูน่ารักและมีเสน่ห์ไปอีกแบบหนึ่ง
ประมาณกลางเดือนสิงหาคมไปจนถึงต้นเดือนกันยายนของทุกปี จะมีเทศกาลประจำปีของชนเผ่าเหมียว ในเมืองเจี้ยนเหอ มณฑลกุ้ยโจว ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน เป็นเทศกาลสำคัญกับสุนัข เพื่อนมนุษย์ผู้ภักดี แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากงานเทศกาลเปิบสุนัขที่กว่างซี ที่เรียกเสียงประท้วงจากทั่วโลก
หมู่บ้านเหมียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ต้องยกให้ “หมู่บ้านเหมียวซีเจียง” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หมู่บ้านเหมียวพันครอบครัว” มีผู้อยู่อาศัยประมาน 7,000 คน และถือเป็น 1 ใน 56 ชนเผ่าทั่วเมืองจีน และเป็นเผ่าที่มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม โดดเด่นในอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้
โดยหมู่บ้านนี้ตั้งอาศัยอยู่ในเทือกเขาเหมียวที่ห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเหลยซาน มณฑลกุ้ย มีเอกลักษณ์และความโดดเด่นในเรื่องประเพณีท้องถิ่น รวมไปถึงลักษณะบ้านโบราณ โดยบ้านจะยกพื้นตั้งเรียงรายกันอยู่ตามแนวภูเขาที่ค่อยๆ ขึ้นไป มีความสง่างามเป็นพิเศษท่ามกลางธรรมชาติ ป่าเขียวขจี ทิวทัศน์เรือกสวนไร่นา บ้านพักโบราณ และเอกลักษณ์ประเพณี เป็นสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั้งจีนและต่างประเทศ
ไฮไลต์ที่ห้ามพลาดเมื่อมาเที่ยวหมู่บ้านเหมียวซีเจียง คือ ต้องนั่งรถพ่วงขึ้นไปที่ “จุดชมวิวบนยอดเขา” โดยที่เราต้องเดินข้ามสะพานสายลมสายฝน เพื่อข้ามลำธารสายเล็กๆ ออกจากเขตถนนเมืองเก่า มองเห็นทุ่งนาที่ข้าวกำลังตั้งท้องเขียวขจีไปขึ้นรถพ่วงคันเล็กๆ นั่งไปไม่ถึง 5 นาทีก็ถึงจุดชมวิว ทางขึ้นจะเป็นทางชันขึ้นเขาตลอด
สำหรับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวเหมียวนั้น พวกเขายึดถือการมีสามีภรรยาเดียว การสืบทอดมรดกยึดถือสายเลือดสายตรงเพศชายเป็นหลัก ในขณะเดียวกันเพศหญิงก็มีสิทธิและสถานภาพในครอบครัวเช่นกัน ลูกคนเล็กมีหน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่า ชาวเหมียวตั้งชื่อลูกชายโดยใช้คำศัพท์ที่เป็นชื่อพ่อเป็นคำหลังของชื่อลูกคล้องต่อกันเป็นลูกโซ่ เป็นชื่อที่ระบุการสืบเชื้อสาย แต่การเรียกขานกันตามปกติจะเรียกเฉพาะชื่อเจ้าตัวเท่านั้น นอกจากนี้ยังรับอิทธิพลของชาวฮั่นในการตั้งชื่อ โดยกำหนดคำที่ระบุถึงคนในรุ่นเดียวกัน จะใช้คำเดียวกันเป็นส่วนประกอบของชื่อ
ในงานเทศกาลรื่นเริงต่างๆ หนุ่มสาวชาวเหมียวมีโอกาสพบปะและเลือกคู่รักคู่ครองของตน แต่บางท้องที่ก็มีการแต่งงานแบบคลุมถุงชนที่พ่อแม่เป็นฝ่ายเลือกคู่ครองให้ โดยผู้ใหญ่จะจับคู่ตามที่เห็นว่าเหมาะสมกันทั้งฐานะ ครอบครัว วงศ์ตระกูล หลังแต่งงานเจ้าสาวชาวเหมียวจะไม่ย้ายไปอยู่บ้านเจ้าบ่าว โดยเฉพาะที่เมืองเฉียนซียังคงรักษาขนบธรรมเนียมแบบดั้งเดิมนี้อยู่ ในบางท้องที่ยังนิยมขนบธรรมเนียมการแต่งงานแบบ “สองครอบครัวแลกเจ้าสาว” หรือ “การแต่งงานกันทั้งพี่สาวน้องสาว” กันอยู่
ด้านศาสนาความเชื่อและเทศกาลสำคัญ ชาวเหมียวนับถือผีและวิญญาณของหมื่นล้านสรรพสิ่ง บูชาวิญญาณบรรพบุรุษ นับถือธรรมชาติ เชื่อว่าทุกสรรพสิ่งมีวิญญาณแรงกล้าที่มิอาจล่วงเกินได้ ชาวเหมียวจะอธิษฐานอ้อนวอนขอพร รักษาโรค ขอบุตร ขอโชคลาภ การคุ้มครอง และปกปักรักษาจากเทพทั้งมวล การทำพิธีบูชาเทพเจ้าต้องมีหมอผีประจำเผ่าทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า พิธีกรรมบูชาเทพเจ้า ผีและวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งถือเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ พิธีไหว้ผี พิธีไล่ผี พิธีกินวัว พิธีกินหมู พิธีกินผี พิธีล้มวัว เป็นต้น ล้วนเป็นพิธีที่สำคัญของชาวเหมียว นอกจากนี้สิ่งของตามธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ก้อนหินรูปร่างแปลกประหลาด หรือที่มีขนาดใหญ่โต หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเช่น บ่อน้ำ เก้าอี้ ล้วนต้องบูชาวิญญาณของสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น สิ่งของที่ใช้บูชา ได้แก่ อาหาร และเครื่องดื่มต่างๆ เช่น เหล้า เนื้อ ไก่ เป็ด ปลา ข้าวเหนียว เป็นต้น หลังจากการเผยแผ่ศาสนาคริสต์เข้ามา มีชาวเหมียวบางส่วนหันมานับถือพระเยซู
เทศกาลสำคัญของชาวเหมียวมีมากมาย ชาวเหมียวในแต่ละท้องที่มีเทศกาลแตกต่างกันไปบ้าง ชาวเหมียวที่เฉียนตง เฉียนหนาน กว่างซี เฉลิมฉลองวันปีใหม่เหมียวในวันที่ 1 เดือน 11 ตรงกับวันกระต่ายและวันวัวตามปฏิทินเหมียว มีกิจกรรมรื่นเริงมากมาย เช่น แข่งม้า ล่อวัว ระบำเพลงขลุ่ยน้ำเต้า ระบำกลอง และการเยี่ยมเยือนเพื่อนบ้าน ส่วนชาวเหมียวที่เมืองกุ้ยหยางจะมารวมตัวกันที่บริเวณใกล้น้ำพุใจกลางเมืองกุ้ยหยางในทุกๆ วันที่ 8 เดือน 4 เพื่อจัดงานรื่นเริง เต้นรำ พบปะสังสรรค์ เพื่อรำลึกถึงวีรบุรุษในตำนานที่ชื่อ “ย่าหนู่”
นอกจากนี้ยังมีเทศกาลสำคัญที่ชาวเหมียวทั่วทุกพื้นที่จัดงานรื่นเริงถ้วนหน้า เช่น เทศกาลเรือมังกร เทศกาลภูเขาดอกไม้ (ต้นเดือน 5 ) เทศกาลกินอาหารใหม่ (เดือน 6 เดือน 7 หลังการเก็บเกี่ยวข้าวใหม่) นอกจากนี้ยังมีเทศกาลที่รับอิทธิพลมาจากชาวฮั่น เช่น เทศกาลตรุษจีน เทศกาลเช็งเม้ง เป็นต้น ชาวเหมียวที่ยูนนานยังมีเทศกาลสำคัญที่สืบทอดกันมาจนปัจจุบันคือเทศกาลเหยียบดอกไม้ ถือเป็นเทศกาลรื่นเริงที่สำคัญของชาวเหมียว จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทุกๆ ปี
ส่วนเทศกาล ไถโก่วเจี๋ย หรือเทศกาลยกสุนัขนั้น เป็นเทศกาลเก่าแก่ของชนเผ่าเหมียว ที่ใช้สุนัขเป็นสื่อตัวแทนเทพเจ้าสำหรับการบูชาฤดูเพาะปลูก โดยในตำนานของชนเผ่าเหมียวระบุว่าสุนัขเป็นสัตว์ที่นำชนเผ่าเหมียวไปสู่น้ำอันศักดิ์สิทธิ์ และช่วยให้ผู้คนรอดตายจากการขาดน้ำ
เทศกาลดังกล่าวชาวเผ่าเหมียวจะจับสุนัขใส่ชุดกัมมะหยี่สี่ม่วง ใส่หมวก สร้อยคล้องคอและจับใส่เกี้ยว ประกอบกับมีหมอผีประจำหมู่บ้านเป็นผู้ทำพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้ พร้อมกับแห่ไปรอบๆ หมู่บ้าน ก่อนมุ่งหน้าไปยังทุ่งนา พร้อมตีกลองร้องรำทำเพลง นอกจากนี้ชาวบ้านที่ร่วมขบวนอยู่ก็จะป้ายโคลนกัน สื่อถึงสุขภาพและความเจริญรุ่งเรือง
ความเชื่อนั้นถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์กันมาช้านาน โดยเฉพาะกับสังคมที่เกิดรากฐานมาจากความเชื่อ อย่างหมู่บ้านในละแวกพื้นที่อันห่างไกลนั้น ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มกำลังใจในการใช้ชีวิตของพวกเขา
ปัจจุบัน ชนเผ่าเหมียว ที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ตอนกลางของประเทศจีน ได้จัดพิธีแห่สุนัขขึ้นมาจนกลายเป็นเทศกาลที่สำคัญในท้องถิ่น โดยจะจัดขึ้นเพื่อขอบคุณเทพเจ้าแห่งการเพาะปลูก ว่ากันว่า เมื่อใดที่ถึงหน้าเพาะปลูกแล้ว ลมฝนไม่ตกตามปกติ ชาวเหมียวก็จะจัดทำพิธีนี้ขึ้นมา หลังจากนั้นไม่นาน หรือบางครั้งยังไม่ทันที่จะเสร็จพิธี ก็จะมีฝนตกลงมาดังใจ จนทำให้พวกเขามีความเชื่อในการจัดงานพิธีดังกล่าวนี้มากๆ
จะว่าไปแล้ว พิธีแห่สุนัขของชาวเหมียว มองไปก็คล้ายๆ กับพิธีแห่นางแมวขอฝนในบ้านเรา โดยจะมีจุดประสงค์ที่คล้ายกันนิดหน่อย เพราะพิธีแห่สุนัขทำเพื่อขอลม ขอความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ผลผลิตของพวกเขา รวมถึงขอบคุณที่มอบชีวิตที่เท่าเทียมและความสุขให้กับชาวบ้านนั่นเอง
ส่วนสาเหตุที่ทำไมต้องเป็นสุนัข ก็เล่าขานกันมาตามความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า สุนัขเป็นสัตว์ที่นำพาชาวบ้านไปเจอกับบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทำให้ชาวบ้านรอดพ้นจากความแห้งแล้งนั่นเอง…
ภาพและเรื่องโดย. ตะวัน สัญจร