เรื่องราวของตะกรุดผีพรายที่ผู้เขียนจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนได้ฟังมาโดยบังเอิญ เมื่อคราวที่ไปช่วยพี่วิม กับเรื่องของตะปูคุณไสย
ครั้นนั้นผู้เขียนและทีมงานได้เข้าไปช่วยพี่วิมที่ถูกหมอผีเขมรเสกคุณไสยเข้าใส่ หลังจากจัดการเรื่องราวของพี่วิมเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนและทีมงานก็ออกมานั่งข้างนอก
ในช่วงที่เรานั่งคุยกัน และรอหลวงพ่อท่านรดน้ำมนต์ให้พี่วิมนั้นเอง ผู้เขียนก็เห็นคุณลุงทองท่านนั่งคุยกับคุณลุงอีกคนหนึ่งอยู่ ผู้เขียนสงสัยว่า ลุงทองท่านรู้ได้อย่างไรว่าพี่วิมโดนคุณไสย ก็เลยเข้าไปถาม ซึ่งก็ได้ความว่า เพราะท่านเคยเห็นคนที่โดนคุณไสยมาก่อนนั่นเอง อีกอย่างท่านมีตะกรุดผีพรายพกติดตัวตลอด ท่านก็เลยรู้สึกถึงเรื่องพวกนี้ได้
“..ตะกรุดผีพรายที่ลุงพกติดตัวนี้จะช่วยเตือนภัยในเรื่องภูตผีปีศาจหลายอย่าง และคอยเตือนภัยเวลาจะเกิดอะไรไม่ดีขึ้นด้วย”
ท่านเห็นเราสนใจในเรื่องของตะกรุดผีพรายนี้ ท่านก็เลยเล่าเรื่องและที่มาที่ไปของตะกรุดผีพรายนี้ให้พวกเราฟังอย่างชัดแจ้งทีเดียว
ท่านเริ่มเล่าเรื่องตะกรุดของท่านว่า ตะกรุดนี้ท่านได้ครอบครองเมื่อกว่าสามสิบ สี่สิบปีมาแล้ว เรื่องมันเกิดขึ้นที่อำเภอบางบาล สมัยนั้นท่านอยู่ที่นั่น ท่านว่าสมัยนั้น ที่บางบาลผีดุมาก ที่ผีดุมากส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ระยะนั้นมีพวกขโมยขุดกรุเยอะ และทางเจ้าหน้าที่ยังไม่เข้ามาบูรณะโบราณสถานอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
“…พวกที่ขโมยขุดกรุนี่รู้เลยว่าเป็นใคร เพราะดูง่าย มักจะเป็นคนแปลกถิ่น ทำเข้ามาติดต่อหาที่พัก และแน่นอน พอกลางวันก็ออกตระเวนหาโบราณสถานเพื่อจะเปิดกรุ…ครั้นพอตกค่ำก็มีสมัครพรรคพวกเข้าไปกันหลายคน ไปถึงก็ไปรื้อ ขุดค้น พังเอาเจดีย์ ฐานเจดีย์ หรือขุดตรงนั้นตรงนี้ในโบราณสถานต่างๆ ทั่วไปหมด”
“พวกขุดกรุพวกนี้มักจะมีของดี เพราะไม่มีใครรู้ว่าเวลาที่ลักลอบเข้าไปนั้นจะโดนดี เจออะไรบ้าง เจอเจ้าของกรุ เจอปู่โสม หรือเจ้าพ่อเจ้าแม่อะไรพวกนี้”
“…ถ้าไม่มีวิชาแล้วนี่ รับรองได้เลยว่าถ้าไม่ตายก็คางเหลือง เพราะผีพวกนี้ดุมาก ทั้งหวงของ หวงสมบัติ ดังนั้นจึงยากที่ใครจะเข้ามารื้อ มาค้น มาขุด ถ้าไม่มีวิชาอาคมดีๆ รับรองได้บาดเจ็บล้มตายกันบ้างล่ะ”
สมัยนั้นท่านยังเป็นวัยรุ่น แต่ก็เคยบวช เคยเรียนวิชากับพระอาจารย์ดังๆ มาหลายรูป และถึงจะไม่ได้ไปลอบขโมยขุดกรุ ขุดอะไรกับเขา แต่ก็คอยเงี่ยหูฟังข่าวคราวพวกนี้เสมอ เพราะมีใจรักและชอบเรื่องพวกนี้อยู่ด้วย
จนวันหนึ่งท่านเข้าไปหาหลวงพ่อแจ่มที่วัดเล็กๆ แห่งหนึ่งในบางบาลนี่แหละ ปกติลุงจะไปมาหาสู่ หรือไปถวายอาหารหลวงพ่อท่านเสมอ วันนั้นหลวงพ่อท่านก็มาปรับทุกข์ให้ฟังว่า
“…วันก่อน มันมีคนลอบเข้ามาในวัด คนที่ลอบเข้ามาเป็นคนต่างถิ่น แต่ท่าทางจะมีพวกมีอิทธิพลหนุนหลัง พวกมันพยายามจะเข้ามาขโมยพระในกรุเก่าหลังวัด…ดีที่อาตมาบังตาพวกมันไว้ได้”
หลวงพ่อท่านปรารภว่า “ของพวกนี้เราไม่ควรยึดติด พวกเขาจะเข้ามาขุด และถ้าเจ้าของเก่าเขายินยอม เราก็ไปห้ามไปฝืนอะไรไม่ได้” แต่ที่ท่านไม่ชอบใจเลยก็คือ พวกที่เข้ามาขุดฐานราก ขุดจนเจดีย์ถล่ม เจดีย์พังไปหลายองค์
ท่านว่าอย่างนี้มันก็เกินไป เพราะจะขุดหาอะไรก็ทำไป ไม่เห็นจะต้องทุบทำลายโบราณสถานหรือสิ่งปลูกสร้างเก่าๆ สมัยบรรพบุรุษพวกนี้เลย สถูปหรือองค์เจดีย์เก่าบางอย่าง ประชาชนหรือชาวบ้านในชุมชนนั้นๆ เขากราบไหว้บูชา แม้จะเป็นของเก่าแก่ ไม่มีประวัติอะไรก็ตาม แต่คนเขาก็เคารพกัน…
“…ไอ้ที่จะเข้ามาทำตัวเกะกะระราน ขุดของ ขุดเจดีย์ที่คนเขาเคารพกันอยู่อย่างไม่เกรงใจนี้ อาศัยว่าตัวเองเป็นลูกคนใหญ่คนโตในสังคม แล้วจะมาทำอะไรแบบนี้มันไม่ได้”
ท่านว่ามันเหยียบย่ำหัวใจชาวบ้าน เหยียบย่ำหัวใจคนที่เคารพกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่มาก ท่านเองก็ทำอะไรไม่ได้มากนักเพราะเป็นพระ จะลงไปทำอะไรเองมันก็ไม่ใช่กิจของสงฆ์ ท่านก็เลยจะขอไหว้วานลุงให้ช่วยจัดการเรื่องพวกนี้เสียหน่อย ลุงเองก็บอกท่านว่า
“…กระผมจะมีปัญญาไปทำอะไรพวกนี้ได้ มันก็มีวิชา มีของดีติดตัวกันทั้งนั้น ไม่อย่างนั้นพวกมันจะกล้าเข้ามาขโมยของ เข้ามาขุดกรุ รื้อกรุพวกนี้หรือขอรับ”
หลวงพ่อท่านว่า “ไอ้เรื่องพวกนี้มันไม่ใช่ปัญหาหรอก วิชาพวกนี้ก็คงไม่เท่าไหร่ อย่างดีก็แค่มีเครื่องรางของขลังพกติดตัว กันผีกันสางอะไรแค่นั้นเท่านั้นแหละ”
ดังนั้น ท่านก็เลยไหว้วานลุงให้ช่วยกันคนพวกนี้ออกไปให้พ้นๆ วัด ซึ่งลุงเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร วิชาที่ลุงเรียนมาก็แค่นั้น มันก็เป็นวิชาพวกกันผีหรือยับยั้งไม่ให้ผีหลอก หรือแสดงตัวอะไรมากกว่า หลวงพ่อท่านก็ว่า เอาอย่างนี้ ท่านมีของดีจะให้ลุง แต่ลุงต้องมาเรียนวิชากับท่านก่อนสักวันสองวันถึงจะเชี่ยวชาญ และชำนาญพอจะใช้เครื่องรางของท่านได้ ซึ่งลุงก็รับคำ ท่านก็เลยสอนวิธีใช้ตะกรุดผีพรายเส้นนี้แก่ลุง
ท่านว่า ตะกรุดผีพรายนี้เป็นเครื่องรางเก่าแก่ที่สามารถควบคุมหรือสั่งให้ผีสางนางไม้ต่างๆ สำแดงตน และเชื่อฟังคำสั่งได้ ของของเขาก็ให้พวกเขามาปกป้องกันเอง แล้วท่านก็สอนวิชา อีกทั้งให้ท่องจำบทสวดต่างๆ ซึ่งลุงก็จำได้หมด เพราะมีความชำนาญในเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว พอท่านสอนไม่เท่าไหร่ลุงก็เข้าใจ และสวดตามท่านได้ทั้งหมด
พอท่านเห็นลุงพอจะทำได้แล้ว ท่านก็บอกว่า ท่านเข้าฌานดูแล้วพบว่า คืนนี้แหละ ที่พวกมันจะมาขุดกรุกันอีก อย่างไรขอให้ลุงช่วยรับมือคนพวกนี้สักหน่อย ลุงก็รับปากท่านว่า ได้…อย่างไรลุงจะคอยดูแลให้
แล้วคืนนั้น พวกมันก็มาตามที่หลวงพ่อท่านพยากรณ์ล่วงหน้าไว้เลย มันมากันในราวสามสี่คน แต่ละคนมีเครื่องมือเครื่องไม้ในการขุดขโมยกรุครบครัน
คืนนั้นเป็นคืนเดือนมืด พวกมันอาศัยความมืดบังตัวเองให้พ้นจากสายตาชาวบ้าน และสิ่งต่างๆ รอบตัว มันแฝงเร้นเข้ามาในวัดโดยเข้าไปทางด้านหลังวัด…ซึ่งเรื่องพวกนี้หลวงพ่อท่านเข้าฌานและรู้ตัวก่อนล่วงหน้าอยู่แล้ว ท่านก็เลยให้ลุงไปคอยพวกมัน แล้วสำแดงฤทธิ์ให้ขโมยพวกนี้เห็น
มันเข้ามาเตรียมขุดกรุที่เจดีย์องค์ใหญ่หลังวัด ที่ตรงนั้นมีเจดีย์เก่าแก่อยู่หลายองค์ ล้วนยังไม่เคยโดนขุด ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พวกมันจะหมายตาเอาไว้ ก่อนหน้านั้นท่านให้ลุงใช้ตะกรุดผีพรายสวดเรียกภูตผีปีศาจในบริเวณนั้น และบอกเจ้าที่เจ้าทาง ปู่โสมเจ้าพ่ออะไรแถวนั้นไว้แล้ว ว่าให้คอยช่วยกันออกมาขัดขวางพวกมัน
และทันทีที่พวกมันเข้ามาในบริเวณเจดีย์ พร้อมจะลงมือขุด บรรดาภูตผีปีศาจในบริเวณนั้น ทั้งที่อาศัยสิงสู่อยู่ที่นี่ และบริเวณใกล้เคียงต่างก็ปรากฏออกมา เริ่มลงมือหลอกหลอนพวกที่เข้ามาบุกรุกเจดีย์เก่า ลุงเห็นผีเปรตเดินโทงๆ อยู่หน้ากรุ มีผีคนแก่ที่น่าจะเป็นปู่โสมออกมาหลอกคนพวกนั้น
เชื่อได้เลยว่าทุกคนทั้งกลัวและขวัญหนีดีฝ่อกันหมด เสียงแหกปากร้องตะโกนดังลั่นทั่วบริเวณ เสียงคนวิ่ง และเสียงหกล้มหกลุก ร้องกันตลอดเวลา
ลุงเองที่เป็นคนเรียกวิญญาณเหล่านั้นด้วยตะกรุดผีพรายก็ยังรู้สึกทั้งหวาดทั้งกลัวไปกับภาพตรงหน้าด้วยเหมือนกัน ภาพผีเปรต ภาพผีคนแก่ ผีอสุรกายต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นนั้นทำเอาลุงขวัญกระเจิงไปไม่ใช่น้อย เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หรือเรื่องชวนหัวชวนขำอะไร
“ถ้าเราไม่เห็นด้วยตากับภาพตรงหน้า เราก็ไม่กลัวหรอก แต่นี่เราเห็นภาพพวกนั้นด้วยไง พอพวกขโมยขุดกรุไปแล้ว ลุงจำที่หลวงพ่อท่านสอนได้ ก็ต้องสวดส่งวิญญาณให้พวกนี้กลับไป…เล่นเอาลุงแทบขวัญหนีไปด้วยเหมือนกัน”
วันนั้น ผู้เขียนและเพื่อนได้ชมตะกรุดผีพรายที่คุณลุงเอามาให้ถ่ายรูปในกุฏิของหลวงพ่อ ส่วนเรื่องที่คุณลุงเล่าถึงตะกรุดผีพรายใช้เรียกผีก็เห็นทีจะจบลงตรงนี้เอง
*โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
เรื่องและภาพโดย. จุติ จันทร์คณา, Ai