19 กันยายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

                เมื่อเอ่ยถึงประเทศเกาหลี สิ่งแรกที่คนไทยมักจะนึกถึงคงหนีไม่พ้นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามดึงดูดใจ แหล่งชอปปิ้งขึ้นชื่อ อาหารรสเด็ดเอกลักษณ์ประจำชาติ ละครทีวีซีรีส์ดังๆ ศิลปินนักร้องนักดนตรีขวัญใจวัยรุ่น รวมถึงเทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้า การแต่งหน้าทำผมที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในบ้านเรา ทว่าเกาหลีจะมีดีแค่เพียงที่กล่าวมาเท่านั้นหรือ?

                ในด้านประวัติศาสตร์ก็มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชนชาติใด เหล่าบรรพชนได้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของตนผ่านทางหลักฐานโบราณคดีชิ้นสำคัญ และแหล่งโบราณคดีที่หลงเหลือโครงร่างซากเงาแห่งอารยธรรมอันเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกจวบจนปัจจุบัน

                สิ่งเหล่านี้นอกจากจะทิ้งร้างข้ามผ่านกาลเวลาเพื่อให้ลูกหลานได้ศึกษาค้นคว้าสืบสาวถึงต้นตอที่มาแล้ว ยังเป็นนัยแห่งการชักชวนให้มนุษยชาติได้ร่วมกันหวนรำลึกถึงนึกเหตุการณ์ในวันวานที่ยั่งยืนเหนือกาลเวลา

                ประเทศเกาหลีมีถิ่นฐานตั้งอยู่ปลายสุดของทวีปเอเชียตะวันออก เป็นประเทศที่มีพื้นที่ติดต่อกับแผ่นดินใหญ่ทางตอนเหนือ ด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยต่อการติดต่อกับชนชาติอื่นๆ จึงส่งผลให้บริเวณแถบคาบสมุทรเกาหลีเป็นเสมือนดินแดนที่รวบรวมวัฒนธรรมจากชนเผ่าเชื้อชาติต่างๆ ในอาณาเขตใกล้เคียงมารวมไว้ที่ตนเอง

                   แต่นอกเหนือจากการรับนำเข้ามาสู่ประเทศของตน เกาหลียังมีบทบาทหน้าที่สำคัญ คือ เป็นผู้ส่งอิทธิพลทั้งรูปแบบทางศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีให้ประเทศอื่น นั่นก็คือประเทศญี่ปุ่น ที่มักรับเอาวัฒนธรรมของเกาหลีมาปรับใช้ พร้อมทั้งถ่ายทอดกลับสู่เกาหลีอีกด้วย

                   เหตุใดกันเราจึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ เพราะเนื่องจากมนุษย์เราจำต้องดำรงชีพเพื่อความอยู่รอดโดยการพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ดังนั้นการจะพัฒนาหรือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อย่างวัฒนธรรม ศิลปะ ศาสนา ย่อมมีรากฐานมาจากสถานที่ตั้งเป็นอันดับแรก เนื่องจากมีอิทธิพลต่อจิตใจและจิตวิญญาณของชนพื้นเมืองที่จะส่งผลต่อยอดเชื่อมโยงไปยังศาสตร์แขนงอื่นๆ

                   ปริศนาแห่งดอลเมน (Dolmen) หรือที่มีความหมายว่า “เพิงหิน” เป็นสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างที่เริ่มสร้างกันมาตั้งแต่สมัยยุคหินใหม่ราว 4,000-3,000 ปีก่อนคริสตกาล ถูกระบุว่าเป็นสถานที่เก็บศพในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีลักษณะการสร้างคือการตั้งหินขึ้นเรียงกันสามก้อน หรืออาจมากกว่านั้น รองรับแผ่นหินด้านบนที่ถูกจัดวางในแนวราบ ดูคล้ายกับการต่อโต๊ะด้วยเสาหินและแผ่นหินขนาดยักษ์ คาดว่ามีการนำดินมาปกคลุมโครงสร้างหินนี้

                   ภายในมีห้องเก็บศพ หรือหลุมฝังศพที่เป็นลักษณะห้องหรือหลุมเดี่ยว พบเป็นจำนวนมากในหลายทวีป โดยเฉพาะยุโรป อย่างรัสเซีย พบที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือในแถบภูเขามากกว่า 3,000 แห่ง ในตะวันออกกลางพบมากในประเทศอิสราเอล ซีเรียและจอร์แดน ทวีปเอเชียพบในประเทศอินเดียทางตอนใต้ มีมากกว่า 100 แห่ง กระจายตัวอยู่ทั่วไป แต่ที่ยังคงรวมตัวกันเป็นกลุ่มเค้าโครงเดิมที่ค่อนข้างสมบูรณ์มีอยู่น้อยมาก มีเพียง 2-5 แห่งเท่านั้น

                นอกจากนี้ยังพบหลุมศพและสุสานใต้ดินที่อยู่ภายใต้โครงสร้างหิน แผ่นหินที่นำมาใช้ทั้งหมดสร้างมาจากหินแกรนิต นักวิชาการสันนิษฐานว่าเป็นสุสานของราชวงศ์ ชนชั้นสูง หรือขุนนาง แต่ไม่ได้มีไว้ฝังศพดังที่คาดคิด เพราะจากการขุดค้น พบเพียงเครื่องประดับและอาวุธประจำกาย

                ประเทศเกาหลีถูกจารึกว่ามีการสร้างดอลเมนมากที่สุดในโลก เพราะพบเศษซากการก่อสร้างมากถึง 35,000 แห่ง คิดค่าเฉลี่ยเป็น 40% ของโลก พบกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกของเกาหลีใต้ ดอลเมนในภาษาเกาหลีมีชื่อเรียกว่า ก็อนโดล (Goindol) มีลักษณะรูปพรรณสัณฐานที่แตกต่างจากดอลเมนในแถบยุโรป ทว่าการศึกษาเสาหินตั้งของประเทศเกาหลีนั้นไม่ได้รับความสนใจ และขาดผู้มีคุณวุฒิที่จะเข้ามาศึกษาค้นคว้าดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจริงจังในช่วงระยะเวลาแรก แต่ภายหลังการวิจัยเกี่ยวกับสุสานหินเป็นที่ได้รับความนิยมทั่วโลก เกิดจากการพบเจอแทบทุกอารยธรรม

                ในช่วงปีค.ศ. 1945 โครงการการศึกษาวิจัยได้ถูกนำมาปัดฝุ่น ดำเนินการเดินหน้าค้นคว้าต่อด้วยนักวิชาการชาวเกาหลี นักวิชาการและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงโซลของประเทศเกาหลีได้แบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ดอลเมนทางภาคเหนือและดอลเมนทางภาคใต้ ใช้หลักการแบ่งตามสถานที่ตั้งที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนแบ่งประเภทและเขตดอลเมน

                   ดอลเมนทางภาคเหนือ พบกระจายตัวอยู่ทั่วคาบสมุทร ยกเว้นทางตอนเหนือสุดและทางใต้สุดของคาบสมุทรในบริเวณเกาะเชจู มีลักษณะเด่นคือ มีพื้นที่ที่เป็นแผ่นหินตั้งเรียงชนกันเป็นผนังสี่ด้าน มีแผ่นหินขนาดใหญ่วางทับอยู่ด้านบนคล้ายหลังคาหินที่ถูกรองรับด้วยขาตั้งแท่นหิน โดยภาพรวมแล้วดูคล้ายกับโต๊ะขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับดอลเมนทางแถบทวีปยุโรป

                ดอลเมนทางภาคใต้ มีลักษณะที่แตกต่างจากทางภาคเหนือและทวีปยุโรป คือมีลักษณะเป็นแผ่นหินหรือแท่นหินขนาดใหญ่ วางปิดทับปากสุสานที่มีการนำเอากองหินขนาดเล็กมาก่อตัวเรียงตั้ง เพื่อรองรับการถ่ายเทน้ำหนัก หรือเป็นการนำเอาแผ่นหินขนาดยักษ์ทับลงบนสุสานเนินดิน ไม่ได้มีลักษณะเป็นทรงโต๊ะแบบทางเหนือ

                   จึงมีการแบ่งประเภทลักษณะของดอลเมนออกเป็น 3 ประเภทตามที่ขุดค้นคือ รูปแบบโต๊ะ (Table) รูปแบบปกคลุมสุสาน (Capstone) และรูปแบบอื่นๆ (Unsuported) ชนิดแยกย่อยอีกเป็นจำนวนมากที่แตกต่างกันออกไป นักวิชาการได้ตั้งข้อสมมุติฐานจากหลักฐานอย่างข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว อย่างอาวุธประจำกาย เช่น มีดหิน หัวลูกศร เครื่องปั้นดินเผา ที่พบในทางตอนใต้ว่าดอลเมนถูกสร้างขึ้นเพื่อพิธีกรรมการฝังศพของผู้นำคนสำคัญ แต่ทว่าในเหตุผลเกี่ยวกับการสร้าง ที่เหตุใดจึงถูกสร้างขึ้นในลักษณะดังที่กล่าวไปข้างต้น ยังไม่มีผู้ใดให้ข้อสรุปได้อย่างชัดเจนว่าทำไมจึงสร้างด้วยแผ่นหิน แทนที่จะขุดหลุมฝังศพอย่างปกติทั่วไป

                   เนื่องจากดอลเมนที่พบในเกาหลีมีจำนวนมหาศาล อีกทั้งลักษณะรูปแบบที่ไม่แน่นอนในการสร้างที่แตกต่างกัน ไม่เป็นลักษณะใดลักษณะหนึ่ง จึงเป็นเรื่องยากในการระบุชี้ชัดถึงมูลเหตุปัจจัย และเรื่องที่น่าปวดหัวอีกอย่างหนึ่งของนักวิชาทั้งหลายคือเหตุผลในการสร้าง ว่าเพราะอะไรจึงนิยมสร้างดอลเมนเป็นจำนวนมากมายเช่นนี้ อีกทั้งคนในสมัยโบราณใช้เทคนิคใดในการเคลื่อนย้ายแผ่นหินจากภูเขา หรือแหล่งหินนำมาจัดวางเป็นสุสานลักษณะดังกล่าวได้

                   มีสมมุติฐานอื่นที่ให้ข้อเสนอแนะว่า ถ้าหากดอลเมนไม่ใช่สุสาน แต่อาจเป็นอาคารหรือสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงใดๆ กับความเชื่อในลัทธิศาสนาพื้นเมือง เพราะจากที่มีการสันนิษฐานกันว่า แรกเริ่มเดิมทีเสาหินพวกนี้อาจมิได้อยู่ในสภาพที่เปลือยเปล่า แต่คาดว่ามีเนินดินคลุมปิดทับ เมื่อวันเวลาผ่านไปนานนับพันปี สถานที่เหล่านี้ถูกทิ้งรกร้างให้ทนตากแดดตากลม เผชิญกับสภาพภูมิอากาศทั้งร้อน หนาว ฝนชื้น ดินที่พอกอยู่ด้านนอกจึงหลุดร่อนไปตามกาลเวลา เหลือเพียงโครงเสาหินแกนหลักภายในให้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน เหมือนบ้านเรือนที่ผุพังไร้ฝาผนังปกปิดจนเห็นเสาเข็มอย่างไรอย่างนั้น

สโตนเฮนจ์

                   ถ้าหากดอลเมนไม่ใช่สุสาน และไม่ได้เป็นอาคาร เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเป็นวิหารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมของชนเผ่าโบราณ เช่นเดียวกับสโตนเฮนจ์ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะอังกฤษ ที่ยังไขปริศนาไม่ได้ว่าถูกสร้างขึ้นเพื่ออะไร แต่ทว่ารูปแบบทฤษฎีความคิดนี้มีอันต้องจบลงเพราะความขัดแย้งในตัวเองของดอลเมน เนื่องจากความแตกต่างกันทางลักษณะของทางภาคเหนือและภาคใต้ ที่ทางภาคเหนืออาจสามารถใช้งานเป็นวิหาร หรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมได้ เพราะจากการเรียงเสาหินที่มีลักษณะคล้ายโต๊ะยกสูง ทำให้มีช่องว่างพอลอดตัวเข้าไปได้ แต่ทางภาคใต้ที่เป็นการนำแผ่นหินมาปิดปากสุสานนี้ไม่มีทางอาศัยหรือใช้สอยพื้นที่ได้อย่างแน่นอน

                   นอกเหนือจากสุสาน หลุมเก็บศพของบุคคลสำคัญ อาคารและวิหารแล้ว ดอลเมนแห่งเกาหลีอาจเป็นอนุสรณ์สถานที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อย้ำเตือนความทรงจำของชนในรุ่นหลัง ก็เป็นอีกทฤษฎีที่น่าสนใจ เพราะไม่พบซากศพหรือโครงกระดูกของผู้ตาย มีเพียงข้าวของเครื่องใช้เท่านั้น

                   แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แล้วเหตุใดจึงสร้างขึ้นเป็นจำนวนมาก จากหลักฐานอื่นๆ ที่นักโบราณคดีได้ทำการค้นคว้าก็พบว่า ดอลเมนในแถบทางเหนือพบเจอน้อยมาก อย่างในแมนจูเรียและคาบสมุทรซานตง แต่จะสร้างขึ้นในขนาดที่ใหญ่กว่าของประเทศเกาหลี นั่นก็แสดงได้ว่ากลุ่มวัฒนธรรมดอลเมนเป็นที่นิยมและเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในอาณาเขตนี้ แล้วยังกระจายตัวอย่างกว้างขวางเฉพาะคาบสมุทรเกาหลี และบริเวณใกล้เคียงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น

                      ถึงจะมีข้อสมมุติฐานที่หลากหลายเกี่ยวกับหน้าที่บทบาท และรวมถึงการใช้งานของดอลเมน ทว่าก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับที่มาของวัฒนธรรม มันเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบหาที่มา และกลุ่มคนที่เป็นผู้ริเริ่มสร้าง ไม่มีหลักฐานจารึกบันทึกใดๆ ที่จะทำให้สืบสาวราวเรื่อง อ้างอิงไปยังถิ่นที่มาที่แท้จริงของวัฒนธรรมนี้ได้ เนื่องจากการสร้างอยู่ในช่วง 6,000 – 600 ปีก่อนคริสตกาล ปรากฏตัวจากยุคหินใหม่ตอนปลาย พัฒนาอย่างต่อเนื่อง รุ่งเรืองยาวนานมาจนถึงยุคสำริด ก้าวเข้าสู่การพัฒนาการเกษตรกรรมบนแถบคาบสมุทรเกาหลี

                   ด้วยระยะเวลาอันเนิ่นนานนี้เอง จึงทำให้หาข้อพิสูจน์ไม่ได้ว่าเสาหินตั้งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด ถึงแม้ว่าจะพบเจอโบราณวัตถุของผู้คนในยุคนั้น ก็ไม่มีสิ่งใดยืนยันแน่ชัดว่าถูกฝังร่วมมาแต่แรกเริ่มแล้วหรือไม่ อาจเป็นของผู้คนในสมัยหลังที่นำมาฝังร่วมเพื่อตอบสนองคติความเชื่อในช่วงเวลานั้น

                   ดังนั้น ทฤษฎีที่เป็นข้อสรุปที่สามารถยอมรับได้มากที่สุด สำหรับดอลเมนแห่งคาบสมุทรเกาหลีนั้นก็คือ ดอลเมนเป็นแหล่งสุสานหินที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความศรัทธาทางศาสนาพื้นเมืองในยุคโบราณ อีกทั้งยังเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงการใช้ชีวิตของผู้คนที่ได้รับเอาอิทธิพลของชนเผ่าต่างแดนมารวมไว้ อีกทั้งยังแสดงออกถึงวิทยาการเทคโนโลยีการก่อสร้าง และการเคลื่อนย้ายวัตถุที่ล้ำยุค แสดงให้เห็นถึงสติปัญญาอันชาญฉลาด และความสามารถที่โดดเด่นในการดำรงชีพ

                ถึงแม้จะยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าสุสานหินดอลเมนนี้จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อันใด แต่ก็เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า มนุษย์เรามีสติปัญญาและการสร้างสรรค์อันยอดเยี่ยมจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานยุคปัจจุบันที่จะสืบต่อไปยังอนาคต

                อีกไม่นานเราคงได้ทราบถึงทฤษฎีใหม่ที่จะนำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนจากนักวิชาการและนักโบราณคดีที่กำลังร่วมกันไขปริศนาของสุสานเหล่านี้เป็นแน่

/

เรื่องโดย. กัญญ์

ภาพโดย. www.thousandwonders.net, Kyle Magnuson : www.flickr.com, www.history.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •