19 กันยายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

เรื่องนี้เกิดขึ้นในบ้านปิยะมิตร อ.บันนังสตา จ.ยะลา เจ้าของเรื่องนามว่าแก้ว เป็นหนุ่มใหญ่วัย 40 ปี สถานภาพของเขาคือการครองโสด ใช้ชีวิตสนุกสนานเหมือนผู้ชายไทยทั่วไป ที่ไม่อยากมีพันธะกับสาวแก่แม่ม่ายคนไหน

ส่วนอาชีพของนายแก้วนั้น ที่บ้านของเขามีสวนทุเรียนอยู่หลายสิบไร่ ปลูกบนพื้นที่ราบบ้าง บนภูเขาบ้าง ไม่ได้ลำบากอะไร ซึ่งชีวิตประจำวันของแก้ว เมื่อว่างจากงานสวนก็มักจะแบกปืนเข้าป่า เป็นปืนลูกซองยาว

โดยคติของแก้วก่อนเข้าป่านั้น คนที่ใกล้ชิดกับเขาจะรู้ว่าตัวแก้วจะพกแค่ข้าวสุกหรือข้าวสารไป ส่วนกับข้าวนั้นจะไปล่าหาใส่ปากใส่ท้องเอาข้างหน้า ซึ่งอาหารส่วนใหญ่ที่แก้วเฝ้าหมายตาไว้นั้นคือตัวค่าง ซึ่งค่างนั้นเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายกับลิง แต่คนที่เคยกินค่าง ใช้ปรุงเป็นคั่วกลิ้งค่างจะทราบดีว่า เนื้อและกระดูกของตัวค่างจะหอมหวานเป็นพิเศษ หากนักล่ามีฝีมือดีอยู่สักหน่อย ค่างทั้งตัวจะนำเนื้อและกระดูกอ่อนมาปรุงเป็นต้มแซบ รสชาตินั้นก็ไม่เบาเลยทีเดียว

เคยถามเขาว่าที่นั่งซุ่มรอแต่ตัวค่างเช้ายันเย็น หรือเย็นยันเช้านั้นไม่เบื่อบ้างหรือไร?

แก้วตอบทันที “ผมไม่เคยเบื่อเลยครับ ยิ่งเจอค่างตัวไหนที่ปีนเย่อต้นไม้โชว์ ผมยิ่งชอบล่า ดูมันท้าทายคนอย่างเราๆ ที่มีพลังอำนาจเหนือกว่ามัน เหนือกว่าสัตว์อีกหลายชนิดในป่า เรื่องนั่งๆ นอนๆ เฝ้าสัตว์ให้ผ่านสายตาผมไม่เบื่อหรอกครับ ไม่มีวันเบื่อเลย! อ่อ!” ซึ่งเหมือนแก้วจะนึกคิดอะไรขึ้นได้

เขี้ยวหมูป่า (เครื่องราง)

“ยิ่งกับหมูป่าด้วย ซึ่งหมูป่านี้ผมถึงกับยิงทิ้งขว้าง ที่ยิงมันก็เผื่อจะเจอหมูแก่ที่เข้าตำรามีเขี้ยวตัน หากสัตว์พวกนี้มันมีความแปลกของมันอยู่อย่าง ครั้นเมื่อแก่ตัวลง เหมือนมันจะขุดหาที่อยู่อยู่ในที่ตั้งของมัน ชนิดที่ไม่ออกมาเพ่นพ่านไปไหนเลย มันคงรู้นะว่ามนุษย์นั้นชอบล่า อยากได้เขี้ยวของมัน ซึ่งตอนนี้หายากเต็มทน นานน้านจะหลุดจากพรานป่ามาสักเขี้ยวสองเขี้ยว”

เมื่อพูดคุยกันไปเรื่อยๆ จึงถามถึงลักษณะคุณวิเศษของเขี้ยวหมูป่า มีอย่างไรให้ได้คำตอบ

“คืออย่างนี้ครับ เรื่องเขี้ยวหมูป่า เขี้ยวหมูตัน ตามความเชื่อจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านที่เชื่อสืบต่อกันมาคือ เมื่อมีเขี้ยวติดตัว เราก็เหมือนกับสัตว์ที่มีเขี้ยวเล็บ ยามที่เข้าป่าจะได้ไม่มีสัตว์น้อยใหญ่มารบกวนหรือทำร้ายได้ นี่พูดถึงขั้นที่ยังไม่ต้องลงอาคม ลงเลขอะไรเลยนะครับ ถือเป็นเครื่องรางชนิดหนึ่งที่มีความขลังในตัว ส่วนหากเขี้ยวตัวไหนได้ลงเลขอักขระอาคมแล้ว ถ้าได้พระหรืออาจารย์ที่เก่งทางด้านนี้ลงให้ด้วย สามารถเข้า-ออกได้ทุกผืนป่าเลยล่ะครับ มีความเชื่อกันถึงอย่างนั้น”

“อีกที่ผมเคยเห็น คนรุ่นปู่ รุ่นตาของผม บางคนเอาเขี้ยวหมูตันมาเลี่ยมทองแล้วห้อยเป็นสายสร้อยสะพายแร่งเลยก็มี เพราะแกมีอยู่นับสิบอัน ล่าจนไม่มีที่จะเก็บ หากท้ายที่สุด เมื่อตายลงลูกหลานรุ่นนี้กลับเลาะเอาแต่ทองเอาไปสะสมหรือขายกิน คนรุ่นใหม่มักไม่เห็นคุณค่าของของสะสมพวกนี้หรอกครับ ซึ่งมีอยู่บ้านหนึ่ง ครอบครัวนี้เป็นญาติกับบ้านผม และปู่ของบ้านนี้แกก็ชอบเข้าป่าล่าสัตว์ เรียกว่าล่ามาทั้งชีวิต! แกตายตอนอายุ 72 เดินเข้าป่าแล้วพลัดตกเหว คงเป็นลมหน้ามืด ตอนที่แกตาย ลูกหลานก็บอก นี่หากเครื่องรางอะไรต่อมิอะไรของปู่นั้นขลังจริง ทำไมไม่ออกมาช่วยปู่ ไม่ให้เดินพลาดพลั้งจนตกเหวตายบ้างล่ะ? จากนั้นลูกหลานก็เอาเขี้ยวทั้งหลาย มีทั้งเขี้ยวเสือ เขี้ยวหมูป่า เขี้ยวตัน เอาไปขุดหลุมฝังที่ลานหน้าบ้านเพื่อประชดโลก ร่วมใจทำให้ปู่เลยทีเดียว” นายแก้วหัวเราะหึหึ ฟังดูขมขื่นใจมากกว่าสนุกสนานตาม

“แต่ไม่พ้นสามวันหลังจากวันนั้น ไม่รู้อาเพศรึอะไร คือในบ้านห้องลูกชาย ลูกสาว และหลานๆ ของปู่ อยู่ๆ ถูกไฟเผาจนเรียบวุธ!…เพลิงเว้นเหลือไว้แต่ห้องนอนของปู่เท่านั้น! ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ นี่เรื่องจริงครับ ตอนที่ปู่ตาย คือศักดิ์ของแกเป็นพี่ชายของตาผม ตอนที่ปู่ตาย ผมอายุ 20 กว่าๆ ก็ได้แกเป็นแรงบันดาลใจออกป่าเข้าป่า ล่าสัตว์นี่ล่ะครับ อยากเป็นนายพรานกับเขาบ้าง”

รอบนี้แก้วหัวเราะสนุกทีเดียว หากเมื่อพูดคุยต่อไปว่าทำไมถึงชอบล่าตัวค่างมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น รวมๆ แล้วเขาได้ล่ามากี่ชีวิต?

“เขาเข้าป่าออกล่าสัตว์มา ปีนี้ก็ 18-19 ปีแล้ว เฉลี่ยที่ยิงตัวค่างได้เดือนๆ หนึ่งก็ 3-4 ตัว คุณพี่ก็ลองคูณ หาร บวก ลบเอาละกัน” ดูแก้วภาคภูมิใจ

ซึ่งแค่ผู้เขียนคำนวณคร่าวๆ ก็ได้นับร้อยตัวเลยทีเดียวที่ต้องมาเซ่นสังเวยกับเมนูค่างตุ๋น และคั่วกลิ้งค่างของนายแก้ว ขณะที่นั่งพูดคุยกันยามนั้น ดูนายแก้วมีกิริยาท่าทางปกติมิได้รู้สึกต่อการตายของตัวค่างหน้าดำอะไรเลย?

ซึ่งเขาอาจคิดไม่ถึง หรือคิดไม่เป็นว่าสัตว์นั้นแม้จะเป็นสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ป่า ต่างรักตัวกลัวตายกันทั้งสิ้น หนำซ้ำก่อนที่จะยุติการสนทนา นายแก้วได้หอบเนื้อหมูป่ามาให้ผู้เขียนถึง 3-4 กิโลกรัม โดยผู้เขียนปฏิเสธไปว่า ได้งดเนื้อสัตว์ใหญ่มาหลายปีแล้ว และรับประทานเพียงปลาน้ำจืดประเภทเดียว

หมูป่า

เขาบ่นเบาๆ ว่า เสียดายเนื่องจากหมูป่าที่เขายิงได้รอบนี้ เป็นหมูรุ่นๆ เนื้อกำลังนุ่ม และเมื่อย่างไฟ ผิวหนังก็กำลังกรอบ ส่วนกระดูกของหมูตรงซี่โครงอ่อนนั้นกำลังเคี้ยวกรุบกรับ

“นี่หากผมเอาไปวางขายตลาดนัด แค่ประเดี๋ยวเดียวคนก็มารุมแย่งซื้อกัน ส่วนตู้เย็นหลังใหญ่ในบ้านก็มีเนื้อเก้ง เนื้อกวางกักตุนไว้อีกนับสิบตัว”

ผู้เขียนสารภาพบอกนายแก้วว่า ฉันรับน้ำใจของเธอไว้ไม่ไหวจริงๆ เพราะที่ฉัน ‘งด’ รับประทานเนื้อสัตว์ต่างๆ ก็เนื่องจากมีโรคภัยไข้เจ็บที่ต้องห้าม ประการสำคัญ หากตายก็ตายไปเสียเถอะ เพราะฉันเป็นโรคที่เบื่อการนอนโรงพยาบาลมาก

นายแก้วก็ได้เอ่ยพูดเปรยต่อไปถึงคนที่ชอบมักออกตัวตนว่าเป็นคนถือศีลกินเจ ที่ในหมู่บ้านเขามีคนสูงวัยที่ถือศีลกินเจเยอะ หากเมื่อใดเดินเข้าวัดรวมกลุ่มแล้วกลับไม่วายนั่งนินทาชาวบ้าน คอยจ้องจับผิดแต่คนโน้นคนนี้ ไม่เห็นจะมีความสุขตรงไหนที่ปฏิบัติ!

ผู้เขียนจึงบอกนายแก้วไป คนเราก็มีดีมีเสียกันคนละอย่าง เมื่อคิดหยวนๆ ปล่อยวางไป ใจเราก็ร่มเย็น ไม่ใช่ดวงใจของใครอื่นหรอกคุณ…ใจของเราเองนี่ล่ะ

ทั้งนี้จำได้ว่าการสนทนาครั้งล่าสุดกับนายแก้ว คือช่วงหน้าทุเรียนในปลายปีกลายที่ผ่านมา ซึ่งระหว่างช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ ความที่ผู้เขียนกับนายแก้วรู้จักพูดคุยกันถูกคอ เมื่อเดินทางกลับไปเยือนเหมืองลาบูอีกครั้ง

ในการเดินทางไปเหมืองเก่าทุกครั้ง จะต้องผ่านหมู่บ้านปิยะมิตรที่นายแก้วพักอาศัย จึงแวะถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันเสียหน่อย เดี๋ยวเกิดเห็นรถฉันขับผ่านแล้ว นายแก้วจำรถได้ มันดูกระไรอยู่นะ แม้กลางเดือนกุมภาพันธ์ ทางบ้านนายแก้วฝนฟ้าจะตกหนัก แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถขึ้นภูเขาของฉันแต่อย่างใด

วันนั้นฉันจอดรถบริเวณหน้าบ้านนายแก้ว แม้จะเป็นเวลา 16.00 น. แต่ท้องฟ้ากลับมืดครึ้ม และมีลมฝนโชยพัดอ่อนๆ

“นายแก้ว นายแก้วอยู่รึเปล่า ออกมาจิบโกปี๊ (กาแฟดำ) กับฉันหน่อยสิ วู้” จำได้ว่าฉันตะโกนทักทายเข้าตัวบ้านที่ปิดเงียบด้วยประโยคดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 4-5 รอบ เพราะไหนๆ ก็ได้จอดรถแล้ว

กระทั่งฝนทยอยโปรยปรายความเย็นความชุ่มฉ่ำลงมา นายแก้วถึงเปิดประตูบ้านไม้ไผ่ของเขาออกมาต้อนรับ เขากระแอมไอออกมานิดหน่อย ไม่พูดอะไร ที่ลำคอมีผ้าพันคอพันไว้

“ไม่สบายรึแก้ว”

“ครับ”

แก้วไม่ตอบเปล่า ในมือของเขาถือกาน้ำร้อนใบดำเมี่ยมมาตั้งวางบนโต๊ะไม้หลุมพอหน้าบ้าน สถานที่ที่เคยนั่งจิบกาแฟอยู่เป็นประจำ

“เออ ฉันมีกาแฟจากภาคเหนือมาฝากนายด้วย คือญาติฉันไปเที่ยวมา ลองฉีกกินเลยมั้ยล่ะ”

เขาไอเบาๆ ก่อนตอบฉันสั้นๆ

“ดีครับ”

ฉันจึงลุกออกจากที่นั่งกลับไปที่หลังรถ เพื่อหยิบถุงกาแฟมอบให้นายแก้ว ซึ่ง 2-3 เดือนที่ฉันไม่ได้เดินทางกลับมาที่เหมืองเก่าแห่งนี้ คาบเกี่ยวกับช่วงปีใหม่ด้วย ถือว่าให้กาแฟภาคเหนือเป็นของขวัญปีใหม่แก่คนภาคใต้สุดอย่างนายแก้วก็แล้วกัน

“อ้าว คุณพี่ มาแต่เมื่อไรคะ”

เป็นกรรณิการ์ น้องสาวของนายแก้วที่ร้องถามเสียงดังแข่งกับเสียงฝนและเสียงลมที่เริ่มพัดจนหูอื้อ

“มาเมื่อตะกี้นี้ จะเอากาแฟมาฝากนายแก้ว พี่ชายน้องกรรณ์สักหน่อยหนึ่ง” กาแฟทั้งสองถุงที่ตั้งใจยังถืออยู่ในมือ

“พี่แก้วหรือคะ ตอนนี้ตัวแกอยู่บ้านแม่ที่ในสวนค่ะ”

“อ้าว เมื่อกี้นี้ได้คุยกัน เห็นบ่นฮึมฮัมเหมือนคนเจ็บคอไม่สบาย”

ผู้เขียนจำได้ติดตา…กรรณิการ์ยืนน้ำตาร่วงปะปนกับสายฝน ก่อนที่จะเอ่ย

“พี่แก้วแกเสียชีวิตแล้วค่ะ เพิ่งเสียเมื่อสองวันก่อน และเพิ่งตั้งสวดในบ้านสวนทุเรียน คืนนี้เป็นคืนที่สอง?”

ผู้เขียนหันไปมองที่โต๊ะนั่งเล่นที่หย่อนก้นได้พูดคุยกับนายแก้วราว 20 นาทีที่ผ่านมา เป็นไปได้อย่างไร ที่ได้คุยกับนายแก้วที่ไร้ลมหายใจ! เท่านั้นยังไม่พอ กาน้ำร้อนสีดำมะเมื่อมยังคงวางอยู่บนโต๊ะไม้หลุมพอดังกล่าว?

ค่าง

เมื่อตั้งสติได้ผู้เขียนขอให้น้องกรรณิการ์ช่วยไปคุยที่รถ น้องเล่าว่าวันที่แก้วจะเสียชีวิต เขาบอกกับทางบ้านว่าจะไปออกหาล่าตัวค่างกิน…เปรี้ยวปาก อยากกินค่างผัดคั่วกลิ้งมาหลายวันแล้ว! ซึ่งบ่ายวันนั้น เขาออกเดินทางกับเพื่อนสองคน โดยเพื่อนคนนี้ไม่ชอบล่าสัตว์ แต่ชอบเก็บของป่า แสวงหาแต่กล้วยไม้ป่า และไม้กฤษณา ซึ่งถือเป็นไม้ที่หายาก แก้วเคยเล่าว่า…เพื่อนเขาคนนี้ในแต่ละรอบเข้าป่า เขาสามารถหาไม้กฤษณาออกมาขายในฝั่งมาเลเซีย รอบๆ หนึ่งเฉียดหมื่นบาท

ซึ่งเพื่อนคนนี้ได้นำข่าวมาแจ้งกับทางบ้านว่า ขณะที่นั่งๆ นอนๆ เฝ้ารอค่างจนเมื่อย อยู่ๆ เขาได้ใช้ปลายกระบอกปืนค้ำเสียที่ปลายคางตนเอง และปืนเกิดลั่นไกเอาจนคางทะลุถึงกะโหลกศีรษะ! แก้วเสียชีวิตคาที่ โดยไม่มีคำสั่งเสียถึงใครใดๆ…

ส่วนดวงวิญญาณของแก้วนั้นก็ได้กลับบ้าน ทั้งที่ร่างของเขายังนอนเสียชีวิตที่ในป่า โดยตอนนั้นเขากลับมาใช้ชีวิตเดินไป-มายังกระท่อมคนโสดตามปกติ…และไม่มีใครสงสัยอะไรเลย จนล่วงเข้าวันใหม่นั่นล่ะ…ที่เพื่อนแก้วเดินเท้าออกจากป่า เพื่อแจ้งข่าวร้ายให้ทางครอบครัว ซึ่งตอนแรกไม่มีคนเชื่อ เหตุเพราะเมื่อคืนที่ผ่านมาทั้งพี่ชายและน้องสาวต่างเห็นแก้วใช้ชีวิตตามปกติกันทุกคน

บทสรุปของการจากไปทั้งชีวิตของนายแก้ว ไม่พ้นเรื่อง ‘กฎแห่งกรรม’ เป็นเวรกรรม การฆ่าสัตว์ที่สะสม ครั้นเมื่อถึงเวลาไม่มีใครช่วยเหลือหรือบิดพลิ้วได้เลย

การฆ่าหรือทารุณกรรมสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

*โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

เรื่องโดย. ปรัศนียา

ภาพโดย. www.thongthailand.com, www.autoinfo.co.th, www.picclick.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •