29 มีนาคม 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

อะไรคือ “หอคอยแห่งความเงียบ” หลายคนอาจจะสงสัย ??

จะว่าไปแล้ว มันก็คือ “เมรุ” สถานที่ประกอบกิจ หรือฌาปนสถานของชนเผ่าที่นับถือลัทธิหรือศาสนาโซโรอัสเตอร์นั่นเอง ที่ศพเหล่านั้นจะถูกนำขึ้นไปวางเอาไว้อยู่ในหอคอยวงกลม แล้วปล่อยให้ซากสังขารถูกแร้งกาจิกกินเป็นอาหารอย่างเดียวดาย ใครๆ ถึงได้เรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “ หอคอยแห่งความเงียบ”

ก่อนอื่นเราต้องมาพูดถึงที่มาที่ไปของลัทธิ หรือศาสนาโซโรอัสเตอร์ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ผู้คนแถบไหนให้ความนับถือ ก่อนที่จะไปเล่าถึงว่า ทำไมพวกเขาจึงต้องทำพิธีศพแบบนี้  

ลัทธิหรือศาสนาโซโรอัสเตอร์ เกิดขึ้นในประเทศอิหร่าน เมื่อประมาณ 117 ปีก่อนพุทธศักราช โดยคิดตามสมัยของโซโรอัสเตอร์ (Zoroaster) ผู้เป็นศาสดาของศาสนานี้ โดยที่โซโรอัสเตอร์จะเป็นศาสนาแนวเทวนิยม ที่เชื่อว่ามีพระเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่สูงสุดคือ พระเจ้าอาหุระ มาซดะ แต่พระองค์สามารถแบ่งเป็น 2 ภาค คือพระเจ้าแห่งความดีงาม ทรงพระนามว่า อาหุระ มาซดะ (Ahura mazda) หรือออร์มุสด์ (Ormuzd) หรือสเปนตา มันยุ (Spenta mainyu) ทรงสร้างแต่สิ่งดีงาม เช่น ความสวยงาม ความอุดมสมบูรณ์ ความสุข และความสมหวัง

ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นพระเจ้าแห่งความชั่วร้าย หรือพญามาร มีนามว่า อหริมัน (Ahriman) หรืออังกระ มันยุ (Angra Mainyu) สร้างแต่สิ่งที่ชั่วหรือไม่ดีทั้งหลาย เช่น ความอัปลักษณ์ ความอดอยาก ความทุกข์ และความผิดหวัง เป็นต้น พระเจ้าทั้ง 2 องค์ได้ต่อสู้กันตลอดเวลา ดังที่พระอาหุระ มาซดะ ตรัสว่า เราอาหุระ มาซดะ ไม่ได้พักผ่อนอยู่สบายเลย เพราะเป็นความปรารถนาของเราที่จะคุ้มครองแก่สิ่งที่เราสร้างขึ้น และโดยทำนองเดียวกัน เขาอหริมันก็ไม่ได้พักผ่อน เพราะเป็นความปรารถนาของเขาที่จะนำความพินาศมาสู่ผู้ที่เราสร้างขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีของคู่กันในโลก เช่น ดี-ชั่ว สูง-ต่ำ ดำ-ขาว มืด-สว่าง เป็นต้น โดยสิ่งที่ดีทั้งหลายมาจากอาหุระ มาซดะ ส่วนสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายก็มาจากอหริมัน

ศาสนาโซโรอัสเตอร์ยังมีชื่ออื่นอีก เช่น ศาสนาปาร์ซี เพราะศาสนานี้เกิดในเปอร์เซีย และชาวเปอร์เซียนับถือศาสนามาซดะ เพราะเทพเจ้าสูงสุดของศาสนานี้คือพระอาหุระ มาซดะหรือศาสนาบูชาไฟ ดังนั้น ศาสนิกของศาสนานี้จะก่อกองไฟเอาไว้ตลอดเวลามิให้ดับ ที่ว่าศาสนาบูชาไฟมิได้หมายความว่าศาสนาโซโรอัสเตอร์เห็นว่าไฟศักดิ์สิทธิ์ เพียงแต่ใช้ไฟเป็นสัญลักษณ์แห่งความสว่าง ความสะอาด ความรู้ และความดีเท่านั้น นั่นหมายความว่า ถ้ามีไฟในที่ใดย่อมกำจัดความมืดในที่นั้น มีไฟเผาผลาญสิ่งต่างๆ ในที่ใด ย่อมทำลายสิ่งสกปรกให้หมดไปเหลืออยู่แต่ความสะอาดในที่นั้น ความรู้เกิดในที่ใด ย่อมกำจัดความโง่ให้หายไปในที่นั้น หรือความดีเกิดขึ้นในที่ใดย่อมกำจัดความชั่วให้หมดไปในที่นั้น

ลัทธิดังกล่าว เป็นศาสนาที่ชาวอิหร่านนับถือกันมาตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษ 600 ปี ทั้งมีความสำคัญเป็นศาสนาของจักรวรรดิเปอร์เซีย ซึ่งพระเจ้าไซรัสมหาราชทรงปกครอง เมื่อ 558-530 ก่อนศริสตศักราช ศาสนาโซโรอัสเตอร์ดำรงอยู่ในประเทศอิหร่านมานานกว่า 1,000 ปี ทั้งเคยรุ่งเรืองมากว่า 3 ศตวรรษ เกียรติคุณขจรไปยังต่างแดน โดยเฉพาะในประเทศกรีก นักประวัติศาสตร์กรีกคนสำคัญ เช่น เอโรโดตุส และพลูตาร์ซ และนักปรัชญากรีก เพลโต้ และอริสโตเติล ต่างก็ได้ยกย่องศาสนาโซโรอัสเตอร์ไว้อย่างสูง จนใช้คำว่าโซโรอัสเตอร์กับคำว่าปัญญาในภาษากรีกแทนกัน เรียกได้ว่าปรัชญาของโซโรอัสเตอร์กับปรัชญาของเพลโต้มีแนวทางเดียวกัน

แต่สาเหตุที่ทำให้ศาสนาโซโรอัสเตอร์ค่อยอันตรธานหายไปจากประเทศอิหร่านก็เพราะเหตุ 2 ประการ คือ

ถูกพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งกรีกเข้ามารุกรานจนมีชัยเหนือดินแดนนี้ เมื่อประมาณ พ.ศ. 213 พระองค์สั่งให้เผาคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาโซโรอัสเตอร์ และศาสนิกถูกบังคับให้นับถือศาสนากรีกแทน

เมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้มีอำนาจในศาสนาอิสลามกำลังเอาชนะโลกในนามพระอัลลอฮ์ได้เข้ามายึดครองอิหร่าน สั่งให้เผาทำลายคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่หลงเหลืออยู่ทั้งหมด ทั้งบังคับศาสนิกของศาสนาโซโรอัสเตอร์ให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ใครขัดขืนจะถูกฆ่า ทำให้ศาสนิกของศาสนาโซโรอัสเตอร์ผู้ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา พากันหลบหนีไปอยู่เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย ศาสนาโซโรอัสเตอร์จึงแทบสูญสิ้นไปไม่ประจักษ์แก่ชาวโลกเป็นเวลานานหลายศตวรรษ จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวโลกเริ่มรู้จักศาสนานี้อีกครั้งหนึ่ง

โดยเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ชาวอังกฤษได้รับคัมภีร์เซนต์ อเวสตะ ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญของศาสนาโซโรอัสเตอร์มาคัมภีร์หนึ่ง แต่เนื่องจากอ่านไม่ออกจึงได้แขวนคัมภีร์นั้นไว้บนฝาผนังห้องสมุดโบดเลียน (Bodleian) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เสมือนสิ่งแปลกประหลาดสำหรับอวดแขก ต่อมาต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ออเกอตีส์ ดูแปร์รอง (Anquertil Euperron) นักศึกษาแห่งสถาบันภาษาตะวันออกในกรุงปารีสมาเห็นเข้า เขาตัดสินใจที่จะทำลายความลี้ลับให้ได้ จึงเดินทางไปยังเมืองบอมเบย์ ศึกษาอยู่กับชาวเปอร์เซียเป็นเวลา 10 ปี จึงได้กลับมายังกรุงปารีส และได้รับความอุปถัมภ์จากหอสมุดหลวงฝรั่งเศส ให้แปลคัมภีร์เซนต์ อเวสตะ ตั้งแต่ต้นจนจบบริบูรณ์ จนทำให้ความลี้ลับของศาสนาโซโรอัสเตอร์ถูกเปิดเผยแก่ชาวโลกอีกครั้ง

สิ่งหนึ่งที่แปลกประหลาดที่สุด สำหรับชีวิตของผู้คนที่นับถือศาสนานี้ก็คือ เมื่อมีคนตาย ชาวโซโรอัสเตอร์จะไม่เผาศพหรือฝังศพ จะไม่ทิ้งซากศพลงในน้ำเพราะโดยหลักการแล้ว ศาสนานี้ถือว่าไฟเป็นสัญลักษณ์แห่งพระเจ้า จึงมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า ดิน น้ำ ก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน

ดังนั้น พวกเขาจึงเชื่อกันว่า ถ้าเผาศพก็เกรงว่าจะทำให้ไฟหมดความศักดิ์สิทธิ์และแปดเปื้อนด้วยสิ่งสกปรก ถ้าจะฝังดิน ก็เกรงว่าดินจะหมดความศักดิ์สิทธิ์ หรือทิ้งซากศพลงในน้ำ ก็เกรงว่าน้ำจะสกปรกและหมดความศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน

หอคอยแห่งความเงียบ

เหตุนี้ชาวโซโรอัสเตอร์ จึงนำเอาศพไปวางไว้บนหอคอยที่สูงซึ่งสร้างไว้เป็นพิเศษเพื่อการนี้ เรียกชื่อว่า หอคอยแห่งความเงียบ (The Tower of Silence) ทิ้งไว้อย่างนั้นให้เป็นอาหารของสัตว์อื่นๆ ซึ่งหอคอยแห่งความเงียบ (The Tower of Silence) นี้  ตั้งอยู่ที่เมืองมุมไบ หรือบอมเบย์ของประเทศอินเดีย

หอคอยแห่งความเงียบนั้นถูกสร้างขึ้นเป็นวงกลมคล้ายอัฒจรรย์ สูงขึ้นจากพื้นราวๆ 5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางราว 92 เมตร มีทางเข้า-ออกทางเดียว และให้เข้าเฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ภายในแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 วงแหวน วงแหวนนอกสุดไว้วางศพผู้ชาย วงแหวนตรงกลางไว้วางศพผู้หญิง วงแหวนชั้นในสุดไว้วางศพเด็ก เมื่อนำศพไปไว้ในบริเวณนั้นแล้ว จะต้องถอดเสื้อผ้าศพออกแล้วนำไปทำลาย

เมื่อแร้งกาและหนอนแมลงจัดการศพจนเหลือเพียงกระดูกแล้ว กระดูกก็จะถูกนำมาทิ้งกองรวมกันในบริเวณพื้นที่ตรงกลางดัคมา ที่เรียกว่า “บันดาร์” ปล่อยให้ตากแดด และลมกระทั่งแห้งสนิท ก็จะถูกนำไปทิ้งลงในช่องที่มีอยู่ทั้ง 4 ด้านในดัคมา ในนั้นจะมีทรายหินละเอียดไว้กรองความสกปรก เมื่อฝนตกลงมากระดูกเหล่านี้ก็จะเน่าเปื่อย และถูกชะล้างผสมกับดินนอกหอคอยเป็นอันจบสิ้นกระบวนการ

โดยหอคอยแห่งความเงียบนี้จะถูกสร้างอยู่ห่างไกลจากชุมชน และเข้าได้เฉพาะบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น

เรื่องโดย. นายตำนาน

ภาพโดย. www.imgur.com, www.blogs.bl.uk/untoldlives, www.earth-chronicles.com, www.goldentriangletour.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •