29 มีนาคม 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

เบญจกูล คือจำนวนตระกูลยา (เครื่องยา) ที่มีรสร้อน ๕ อย่าง ประกอบด้วย

ดอกดีปลี
รากช้าพลู
เถาสะค้าน
รากเจตมูลเพลิง
เหง้าขิงแห้ง

สรรพคุณ กระจายกองลม และโลหิต แก้คูถเสมหะ แก้ลมพานไส้ บำรุงกองธาตุทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์

ประวัติเบญจกูล

โบราณจารย์ท่านกล่าวไว้สืบกันมาว่า มีดาบสอยู่ ๖ องค์ เป็นต้นตำรับแห่งยาเบญจกูลนี้คือ

  • องค์หนึ่งชื่อฤาษีปัพพะตัง บริโภคซึ่งผลดีปลี อาจระงับอชินโรคได้ (โรคที่รักษาหายยาก)
  • องค์หนึ่งชื่อฤาษีอุธา บริโภคซึ่งรากช้าพลู อาจระงับเมื่อยขบได้
  • องค์หนึ่งชื่อฤาษีบุพเทวา บริโภคซึ่งเถาสะค้าน อาจระงับเสมหะและวาโยได้
  • องค์หนึ่งชื่อฤาษีบุพพรต บริโภคซึ่งเจตมูลเพลิง อาจระงับโรคอันเกิดจากดี ซึ่งทำให้หนาวเย็นได้
  • องค์หนึ่งชื่อฤาษีมหิทธิกรรม บริโภคซึ่งขิงแห้ง อาจระงับตรีโทษได้ (วาตะปิตตะเสมหะ)
  • องค์หนึ่งชื่อฤาษีมุรทาธร องค์นี้เป็นผู้ประมวลสรรพยาเข้าด้วยกัน เรียกว่าเบญจสกูลเสมอภาค และยาเบญจกูลดังกล่าวนี้ ถ้าผู้ใดได้บริโภคแล้ว ธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟจะบริบูรณ์ ร่างกายแข็งแรง เป็นยาอายุวัฒนะมาตั้งแต่ครั้งโบราณก่อนพุทธกาลเสียอีก นับถึงปัจจุบันนี้เกินกว่า ๒,๖๐๐ ปีแล้ว และจนถึงทุกวันนี้เบญจกูลก็ยังเป็นยาหลัก ยาสำคัญ ใช้ผลได้ดี ไม่มีเปลี่ยนแปลง

ของดี…อยู่เมื่อไร ก็ต้องดีครับ คำว่าเสมอภาค หมายถึง มีน้ำหนักเท่ากันทุกอย่าง

ถ้าสมาชิกเปิดกรุยาไทยท่านใด ร่างกายไม่แข็งแรง อ่อนเพลีย อาหารไม่ย่อย มีอาการอืดแน่นเฟ้อ เป็นลมบ่อย แข้งขาไม่มีแรง ลุกโอย นั่งโอย ร่างกายทรุดโทรมเกินอายุ จะทดลองรับประทานยาเบญจกูลก็ได้ ราคาไม่กี่บาทหรอกครับ หาซื้อได้ตามร้านขายยาไทย ยาสมุนไพรได้ทั่วไป ให้เภสัชกรประจำร้านขายยาเขาจัดให้ ดังนี้

  • ดอกดีปลี หนัก ๑ บาท
  • รากช้าพลู หนัก ๑ บาท
  • เถาสะค้าน หนัก ๑ บาท
  • รากเจตมูลเพลิง หนัก ๑ บาท
  • เหง้าขิงแห้ง หนัก ๑ บาท

เอาสมุนไพรทั้ง ๕ อย่างนี้ใส่หม้อดิน เติมน้ำท่วมยา ตั้งไฟอ่อนๆ เคี่ยวจนเดือด อย่าให้ล้น เคี่ยวนานครึ่งชั่วโมง เอาน้ำยาขณะยังอุ่นๆ รับประทานครั้งละ ๑ ถ้วยชา ๓ เวลาก่อนอาหาร รับประทานทุกวันจนกว่ายาจะจืด และต้องอุ่นยาด้วยทุกวันเช้า-เย็น น้ำแห้งเติมได้

ดังที่กล่าวมาเป็นตำรับยาเก่าแก่ของแท้แน่นอน เป็นของดีมีมาแต่โบราณ เป็นยาดีมิใช่ยาผีลอก จะดีจริงหรือไม่ลองรับประทานดูครับ ไม่มีอันตราย

ของจริง สิ่งสัมผัสได้ เพื่อความแน่ใจ เราจะแยกแยะสรรพคุณสมุนไพรแต่ละอย่างออกมาให้ดูว่า แต่ละชนิดมีสรรพคุณทางใดบ้าง ดังนี้

  • ดอกดีปลี สรรพคุณแก้ปถวีธาตุ ๒๐ ประการ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร ขับผายลม แก้จุกเสียด
  • รากช้าพลู สรรพคุณขับผายลม แก้ลมจุกแน่นในท้อง แก้เสมหะในทรวงอก
  • เถาสะค้าน สรรพคุณขับลม แก้ท้องขึ้น อืดเฟ้อ จุกแน่น บำรุงธาตุ
  • รากเจตมูลเพลิง สรรพคุณบำรุงไฟธาตุ ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร ทำให้ร่างกายอบอุ่น แก้ปวดท้อง เกลื่อนหัวฝีให้ยุบ แก้ปอดบวม
  • เหง้าขิงแห้ง แก้ลมปั่นป่วนในท้อง แก้ลมป่วง แก้คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมแน่น แก้จุกเสียด แก้นอนไม่หลับ

สรรพคุณต่างๆ ดังที่กล่าวมา เห็นได้ว่าสำคัญและจำเป็นต่อร่างกาย เมื่อไม่มีอาการเหล่านี้ ถือว่าธาตุปกติ เมื่อธาตุปกติ ร่างกายก็จะปกติด้วย โรคภัยไข้เจ็บชนิดอื่นๆ ก็ไม่มารบกวน มีความสุขสบาย ไม่ต้องไปหาหมอ ไม่ต้องไปโรงพยาบาล หรือต้องไปซื้อยาอื่นๆ มารับประทานให้เปลืองเงินและเสียเวลา เมื่อไม่เป็นโรคถือว่าเป็นโชคลาภอย่างหนึ่ง พุทธภาษิตกล่าวไว้ว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา” ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐครับ!

เรื่องโดย. น.ท. มงคล ทัศมาลี

ภาพโดย. www.samunpri.com, www.jsppharma.com, www.maenoicurry.com, www.sites.google.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

เรื่องที่เกี่ยวข้อง