24 เมษายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ความตายอันเป็นอมตะของบุคคลระดับโลกล้วนแต่เป็นเรื่องไม่ปกติ ฉะนั้น คนระดับผู้นำต้องเตรียมทำใจไว้บ้างว่า นอกจากชีวิตจะไม่เป็นส่วนตัวแล้ว ยามเมื่อถึงแก่การดับจิตไปก็ยังไม่เป็นส่วนตัวอีกด้วย

คลีโอพัตรา ทรงกระทำอัตนิวิบาตกรรม, มหาตมะคานธีถูกจ่อยิงระยะเผาขนขณะกำลังเดินไปสวดมนต์, จอมพลคนสนิทของฮิตเลอร์ มีหลายคนกรอกยาพิษไซยาไนด์เข้าปากตัวเอง และยังอีกมากหลายท่านที่มีการตายแบบ “อปกติ”

จอมทัพท่านหนึ่งในยุคต้นศตวรรษที่ 19 ในยุโรป ก็มีการตายที่ไม่ปกติเช่นกัน แม้ในทางเปิดเผยจะพยายามบอกว่า ท่านถึงแก่อสัญกรรมตามธรรมชาติ แต่หลักฐานในทางลับกลับไม่เป็นเช่นนั้น จอมคนระดับตำนานท่านนั้นคือ “พระเจ้านโปเลียน”

นโปเลียน โบนาปาร์ต
(Napolean Bonaparte)

ผู้นำที่ได้ชื่อว่าอหังการที่สุดของโลกมีอยู่หลายท่าน นโปเลียนก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น ด้วยรูปร่างที่เล็กแต่ล่ำสัน ทำให้ท่านเป็นผู้ที่รู้สึกว่าจะต้องทำให้ได้มากกว่าตัวตนจริงๆ สิ่งนี้เป็นจิตวิทยาธรรมดาของสิ่งมีชีวิตใดๆที่รูปร่างเล็ก แรงขับดันนี้เองที่ทำให้นายทหารตัวจิ๋วจากเกาะคอร์ซิกานี้ก้าวขึ้นมาสู่บัลลังก์ประเทศที่เรืองอำนาจที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรปนั่นคือ “ฝรั่งเศส”

ชาวฝรั่งเศสต้อนรับผู้นำคนใหม่ของเขาเป็นอย่างดีหลังจากที่ชาติสิ้นสุดการปกครองแบบกษัตริย์ ด้วยกษัตริย์และราชินีพระองค์สุดท้ายได้ถูกนำองค์มาบั่นพระเศียรเสียที่กิโยตินแล้ว ฝรั่งเศสจึงมีความประหลาดใจ ที่นายพลนโปเลียนสถาปนาตนขึ้นมาเป็นกษัตริย์ พร้อมกับตั้งราชวงศ์ใหม่คือ “โบนาปาร์ต” แต่กระนั้นความสามารถของ นโปเลียนทำให้ประชาชนลืมสิ่งนั้นไปได้ เพราะถ้าไม่ใช่นโปเลียนแล้ว ฝรั่งเศสคงไม่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น

ดินแดนทางเหนือไปไกลจรดสแกนดิเนเวีย นโปเลียนส่งนายพลแบนาร์ด็อตไปครองสวีเดนจนเป็นต้นราชวงศ์แบนาร์ด็อตของกษัตริย์สวีเดนพระองค์ปัจจุบัน ส่วนทางใต้ฝรั่งเศสครอบครองไปถึงสเปน ส่วนทิศตะวันตกไปสุดถึงอเมริกาใต้อีกทั้งยังมีชาติพันธมิตร (ที่จำใจ) ร่วมกับจักรวรรดินโปเลียนอีกมากอย่าง ออสเตรเลียและปรัสเซีย

ดังนั้น การขนานนามว่ามหาราชสำหรับชาวฝรั่งเศสนั้นเห็นจะไม่ผิดนัก แม้คนชาติอื่นจะไม่รับไม่ยกย่องจักรพรรดิพระองค์นี้มากเท่าใดก็ตาม เพราะยามว่างนโปเลียนก็ทรงเหลือบพระเนตรดูแผนที่แล้วก็หาเรื่องบุกโจมตีเขาไปทั่ว  แม้ประเทศขนาดมโหฬารอย่างรัสเซียก็หวิดจะเสียเมืองไปแบบเส้นยาแดงผ่าแปด ถ้าไม่เป็นเพราะยุทธวิธีของนายพลคูตูซอฟผู้เลื่องชื่อ แต่ก็ถือได้ว่าแผนที่ยุโรปแทบจะเปลี่ยนเป็นคำว่า France

พระเจ้านโปเลียนยามยาตราทัพไปที่ใดไม่มีคำว่าถอย ด้วยพระองค์ทรงมีขุนทหารคู่ใจผู้มีความสามารถมาก ข้อใดเป็นคุณลักษณะพิเศษประการหนึ่งซึ่งมองไปก็คล้ายกับท่านฟือเรอร์ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ โดยทหารเอกพระเจ้านโปเลียนนี้มีอยู่ไม่กี่ท่าน แต่ละท่านก็ล้วนแต่เป็นระดับพระกาฬทั้งสิ้น หากท่านเป็นคอหนังสือเก่าคงเคยผ่านตาเรื่อง “เอเตียน เชรา ทหารเอกนโปเลียน” (Adventure of Brigadier Gerard) อันเป็นผลงานแปลชั้นครูของสันตสิริที่อ่านแล้วได้อรรถรสแห่งภาษามาจนทุกวันนี้

หนังสือ “เอเตียน เชราฯ”

เมื่อมีทหารเอกคู่ใจรู้ใจกันมากเช่นนี้  จึงไม่น่าแปลกใจที่พระเจ้านโปเลียนทรงได้ชัยชนะเอาเสียทุกครา เวลายกทัพไปตีเมืองใด มีการศึกอยู่ไม่กี่เมืองที่มีเหตุอันน่าตกใจ ที่พระจักรพรรดิทำท่าจะทรงเพลี่ยงพล้ำ อาทิ การศึกในอียิปต์ การรบที่ทราฟัลกรา โดยหนึ่งในเมืองที่เป็นสมรภูมินั้น คือ “เอาสเตลิตซ์” (Battle of Austerlitz) อันเป็นสมรภูมิที่ยากลำบากยิ่ง แต่ที่สุดแล้วก็เป็นมหาชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่ยิ่งช่วยเสริมพระเกียรติยศแห่งพระจักรพรรดิราช เป็นพระเกียรติยศใหญ่แห่งพระเจ้านโปเลียน

สำหรับการศึกครั้งสุดท้ายและเป็นการศึกอันเป็นที่สุดของมหาราชพระองค์นี้ก็ต้องเป็นที่ “วอเตอร์ลู” (Waterloo) ซึ่งเป็นการยุทธ์ขั้นแตกหักระหว่างขุนทัพที่มีความสามารถไม่แพ้กันกับนโปเลียน ซึ่งก็คือ “ดยุคแห่งเวลลิงตัน” การศึกสำคัญครั้งนี้ต่างฝ่ายผลัดกันแพ้ชนะจนถึงวันตัดสิน ยุทธวิธีขั้นเด็ดขาด พระเจ้านโปเลียนทรงขาดกองเสริมมาสนับสนุน

มีแต่ทหารรักษาพระองค์ คือเหล่าอิมพีเรียลการ์ดซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับเปรคอเรียนการ์ดสมัยพระจักรพรรดิโรมัน เข้ามาป้องกันองค์พระจักรพรรดิจากอริราชศัตรูจนที่สุด เหล่าการ์ดก็ถึงแก่พลีชีพหมดสิ้น  ก่อนพระเจ้านโปเลียนจะถูกจับกุมพระองค์โดยละม่อม นับเป็นการศึกที่สมศักดิ์ศรีเป็นที่สุด แม้บัดนี้ที่สมรภูมิวอเตอร์ลูในประเทศเบลเยียม ก็ยังมีการจัดยุทธศักดิ์กรีฑาเพื่อรำลึกถึงวันแห่งเกียรติยศครั้งนั้น

เมื่อพระเจ้านโปเลียนถูกจับองค์ในครั้งนี้แล้ว  ฝ่ายสัมพันธมิตรอันประกอบด้วยหลายชาติในยุโรป  ก็ไม่ปล่อยให้ลอยนวลตากอากาศตามชายหาดหมู่เกาะใกล้คอหอยอีกต่อไป หากแต่จับพระองค์ลงเรือส่งไปยังเกาะห่างไกลนามว่า เกาะนักบุญเฮเลน่าโดยเรือที่เป็นพระราชพาหนะนั้น เป็นของกองทัพเรืออังกฤษนามว่า “เบลเลอโรฟอน” ตั้งชื่อตามเทพบุตรกรีกในปกรณัม จากนั้น พระเจ้านโปเลียนก็ไม่ได้ทรงนิวัติพระนครอีกเลย

ในขณะที่ประทับอยู่บนพระตำหนักบนเกาะเซนต์เฮเลน่านี้ทางอังกฤษได้ส่งทหารมาเฝ้าประจำการองค์นักโทษกิตติมศักดิ์นี้อย่างแน่นหนาด้วยว่าเคยมีประสบการณ์ที่องค์นโปเลียนทรงหนีออกจากเกาะมาได้ด้วยฝีมือการช่วยเหลือของผู้จงรักภักดี

การหนีของพระเจ้านโปเลียนในครั้งนั้น  ยิ่งเสริมพระบุญญาธิการแห่งกษัตริย์พระองค์นี้มาก ดังนั้น การจับกุมพระองค์ในครั้งนี้จึงเป็นไปอย่างเข้มงวดที่สุด องค์จักรพรรดิผู้เคยกุมอำนาจเบ็ดเสร็จแทบจะทั้งโลกอยู่ในอุ้งหัตถ์ก็กลับต้องมาเป็นนักโทษอยู่บนเกาะเล็กๆที่มีห้องส่วนพระองค์เพียงไม่กี่ตารางฟุต พระพลานามัยจึงลดลงอย่างรวดเร็ว

มีข่าวลือหนาหูว่าทรงถูกวางยาพิษ แต่จะเป็นพิษหรือไม่ก็ตาม สำหรับคนที่เคยปกครองมหาอาณาจักรเกือบทั้งยุโรป แต่ต้องสยบกับการจำกัดทางอิสรภาพและพระราชอำนาจ ก็ไม่น่าแปลกที่กำลังพระทัยและกำลังพระวรกาย จะพลอยหายไปอย่างรวดเร็ว ทรงเป็นชายสูงวัย ด้วยความทุกข์ระทมที่ทรงได้รับ แล้วที่สุดก็ทรงล้มป่วยหนักลงจนเกินเยียวยา นายแพทย์ที่หามาก็ไม่อาจช่วยยื้อพระชนม์ชีพไว้ได้

ในวันที่เสด็จสวรรคตนั้น ได้มีการทำครอบพระพักตร์มรณะหรือว่า “เดธ แมสก์” (death mask) ไว้อันเป็นธรรมเนียมที่กระทำกันยามมีคนสำคัญถึงแก่กรรม โดยการทำหน้ากากมรณะนี้ มีกระบวนการคือใช้ขี้ผึ้งกับปูนปลาสเตอร์ประทับลงบนใบหน้าของผู้ตาย ทั้งนี้มักรวมถึงมือทั้งสองด้วย แล้วจากนั้นนำมาหล่อให้อยู่ทนขึ้นด้วยวัสดุอย่างบรอนซ์หรือปูนอย่างแข็ง จากนั้นก็นำไปเก็บไว้ถือเป็นของที่ระลึกถึงผู้วายชนม์เป็นครั้งสุดท้าย

ในบางครั้งจึงมีอนุกายของผู้ตายติดมาด้วย เช่น เส้นผม, ขนคิ้วหรือขนตา เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่อมาจะใช้เป็นเครื่องพิสูจน์บุคคลได้อย่างดียิ่ง

ในกรณีหน้ากากมรณะของพระเจ้านโปเลียนนี้  มีข้อมูลลับอยู่มากเพราะในปัจจุบัน ปรากฏหน้ากากมรณะนี้อยู่หลายอันและหลายรูปแบบ ด้วยมีข้ออ้างจากหลายกระแส โดยกระแสหนึ่งเล่าว่า นายแพทย์ฟรันเซสโก อันตอมมาคี ผู้ดูแลพระเจ้านโปเลียนในวาระสุดท้าย  ได้ทำการครอบพระพักตร์พระบรมศพไว้หลังจากสิ้นพระชนม์ไปแล้ว 1 วันครึ่ง จากนั้น ก็ลักลอบเอาหน้ากากประวัติศาสตร์นั้นติดไปกับตัวด้วย ส่วนอีกกระแสก็ว่ามีแม่บ้านแห่งพระตำหนักนั้นเป็นผู้เก็บแล้วจึงได้ส่งต่อๆ กันมา

ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร ครอบพระพักตร์ขององค์จักรพรรดิ ก็ได้เผยโฉมออกสู่สายตาสาธารณชนในปัจจุบัน ด้วยความพิศวงงงงวยเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีอยู่หลายรูปแบบ  หลายเวอร์ชั่นเหลือเกิน หลักๆ ที่ทราบก็มีอยู่ 4 อันทั่วโลก ทั้งในพิพิธภัณฑ์แห่งคิวบา, สกอตแลนด์, ฝรั่งเศส จนที่สุด เมื่อไม่นานมานี้ ทีวีช่องสารคดีชื่อดัง ก็ได้นำเอาหน้ากากมรณะที่อ้างว่าเป็นของพระเจ้านโปเลียนจากลูกหลานของผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกกระแสเอามาตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ โดยใช้ไฮเทคล่าสุดในปัจจุบัน

ที่สำคัญคือ การสแกนสามมิติด้วยแสงเลเซอร์ จากนั้นไม่พอยังต้องให้ผู้เชี่ยวชาญในการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลช่วยพิจารณาอีกที  ว่าเข้ากันได้กับใบหน้าของบุคคลนั้นๆหรือไม่  ด้วยสมัยพระเจ้านโปเลียน ยังไม่มีกล้องถ่ายรูปใช้ จึงจำเป็นต้องนำรูปวาดจากศิลปินผู้มีชื่อในยุคจักรวรรดิ อย่าง ฌาร์ค หลุยส์ ดาวิด มาเป็นเครื่องเทียบ ซึ่งก็ปรากฏออกมาว่ามีหน้ากากหลายอันเข้ากันไม่ได้

และที่สุดแล้ว ก็ปรากฏหน้ากากที่สำคัญออกมา ก็คือหน้ากากที่อยู่ในมือของ นายแพทย์ อันตอมมาคี ผู้ซึ่งต่อมาลี้ภัยไปยังเมืองฮาวานาในประเทศคิวบาในปี  1838  คือหลังจากพระเจ้านโปเลียนสิ้นพระชนม์ไปแล้วถึง 17 ปี จากนั้น หน้ากากก็ได้ถูกทำสำเนาซ้ำมากมาย จนกลายเป็นฮ็อต อ็อบเจ็กต์ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆทั่วโลก แต่ก็ไม่มีอันไหนเป็นของจริงแท้ที่ครอบมาจากพระบรมศพเหมือนกับชิ้นที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งคิวบา

พระพักตร์ของพระเจ้านโปเลียนในวาระสุดท้าย หลับฝันดีอย่างสงบอยู่ที่นั่น

เรื่องโดย. ทิวากร สุวพานิช

ภาพโดย. www.britannica.com, www.su-usedbook.com, www.theasiantelegraph.net, www.rarehistoricalphotos.com, www.foxnews.com, www.bbc.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •