29 มีนาคม 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

                   จะพาไปดูเสาโทริอิกัน มันแปลกประหลาดตรงไหนหรือ?…ต้องบอกว่ามันมีความแปลกและรูปแบบของเสามากกว่าที่เราเห็นและทราบกันอีกด้วย แท้จริงแล้วเสาโทริอิเขามีไว้เพื่ออะไรกันแน่ ระหว่างประตูข้ามแดนสวรรค์หรือไว้กักขังปีศาจอสูรกันแน่? เช่นนั้น เราบิดลัดฟ้าไปรู้จักกับเสาโทริอิที่เป็นแลนด์มาร์กอันหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นกันดีกว่า

                    ความเป็นมาของเสาโทริอิ     

                    โทริอิ (鳥居 Torii) คือซุ้มประตูแบบญี่ปุ่น ตามความเชื่อในครั้งอดีต เขาตั้งเสาโทริอินี้เพื่อแสดงให้ผู้คนได้รับรู้ว่าอาณาเขตเบื้องหลังเสาโทริอิเป็นอาณาเขตของเทพเจ้า เพื่อที่ผู้เข้าไปจะได้ไม่เผลอกระทำการอันเป็นการดูหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

                    เสาโทริอิ สามารถพบได้ตามศาลเจ้าชินโต ตลอดจนวัดพุทธบางแห่งในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในแผนที่ของญี่ปุ่นจะใช้สัญลักษณ์โทริอิเป็นเครื่องหมายบอกตำแหน่งศาลเจ้าต่างๆ นอกจากนี้อาจพบโทริอิได้ตามทางเดินและท้องถนนทั่วไป อาจเป็นเพราะญี่ปุ่นผูกพันกับเทพเจ้า เชื่อในเรื่องของภูตผีปีศาจ จึงต้องมีการสร้างเสาขึ้นมา การพบเห็นเสาโทริอิตามแหล่งต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่ประการใด

                    อาจพบได้ทั้งริมทะเล บนภูเขา ในป่าลึก ณ สถานที่ที่เขาเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพเจ้าสถิตอยู่ การทำไว้ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ผู้ผ่านทางสำรวมหรือเกิดความอุ่นอกอุ่นใจที่อยู่ใกล้ชิดกับเทพ จะได้ปลอดภัยจากอันตรายที่มาจากปีศาจ ยุคโบราณญี่ปุ่นขึ้นเชื่อว่ามีผีปีศาจออกมาเพ่นพ่านและทำร้ายคนมาก

                    บางตำนานกล่าวว่าเสาสองต้นแทนประตูยมโลก หรือทางผีผ่าน การสร้างเสาโทริอิขึ้นมาก็เพื่อให้พวกผีเดินผ่านกลับไปยังยมโลกได้สะดวก เขาจะมีเวลาเปิดปิดระหว่างโลกมนุษย์และยมโลกเพื่อปล่อยให้มาเยี่ยมบ้าน หรือใช้เป็นทางไปยมโลก

                    อีกหนึ่งความเชื่อคือ ที่ใดมีเสาโทริอิเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจะปลอดจากปีศาจร้าย โทริอิมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่รู้ได้ชัดเจนเสียทีเดียว มีก็แต่บันทึกที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้เขียนถึงโทริอิ ถูกเขียน เมื่อ ค.ศ. 922 หรือพ.ศ. 1465 ตรงกับช่วงกลางยุคเฮอัง โทริอิหินที่เก่าแก่ที่สุดในปัจจุบันสร้างในศตวรรษที่ 12 เป็นโทริอิของศาลเจ้าฮะชิมังในจังหวัดยะมะงะตะ

                    ขณะที่โทริอิไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในปัจจุบันสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1535 เป็นโทริอิของศาลเจ้าคุโบฮะชิมัง ในจังหวัดยะมะนะชิ โทริอิแบบดั้งเดิมจะถูกสร้างด้วยไม้หรือหิน แบบไม้น่าจะชำรุดและเสื่อมไปตามกาลเวลา รวมทั้งภัยจากสงครามครั้งสำคัญๆ เช่น สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา แต่ปัจจุบันโทริอิบางต้นอาจถูกสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งโทริอิมีทั้งแบบทาสีและไม่ทาสี หากทาสีจะทาสีชาดที่ลำต้น และคานด้านบนสุดจะทาด้วยสีดำ  ศาลเจ้าฟุชิมิ อินะริในนครเคียวโตะนั้น มีโทริอิมากกว่าพันต้น แต่ละต้นจะจารึกชื่อผู้บริจาคเอาไว้

                    เสาโทริอิมีความหมายว่าที่ของนก ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่านกถือเป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวข้องกับโลกหลังความตาย ซึ่งความเชื่อนี้อาจมาจากบันทึกโบราณโคะจิกิและนิฮงโชะกิ ที่กล่าวถึงพิธีศพของยะมะโตะ ทะเกะรุ โอรสในจักรพรรดิเคโก ในตำนานได้กล่าวว่า “เมื่อทะเกะรุสิ้นชีพตักษัยแล้ว ได้ปรากฏร่างนกสีขาวและบินไปเลือกสถานที่ฝังศพของตนเอง” หรืออาจเป็นด้วยเหตุนี้ สถานที่ฝังศพของเขาจึงถูกเรียกว่าชิระโทะริ มิซะซะงิ (สุสานนกสีขาว)

                    โทริอิมีอยู่หลายแบบ ซึ่งแบบที่ง่ายที่สุดคือแบบชิเมะโทริอิ หรือชูเร็นโทริอิ  โดยโทริอิสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ชิมเมและเมียวจิน  เราไปดูกันทีละแบบก่อน

ชิมเม โทริอิ

                    รูปแบบลักษณะของโทริอิ

                    1.ประเภทชิมเม เป็นแบบพื้นๆ ที่สามารถพบเห็นได้ ดังนี้ – ชิมเม โทริอิ แบบไม่มีคาน อาจใช้เชือกผูกโยงระหว่างต้น คล้ายเส้นเชือกกั้นหรือแสดงอาณาเขตไม่ให้สิ่งที่อยู่อีกฝั่งของโทริอิออกมาได้ หรือไม่ให้สิ่งใดก้าวเข้าไปได้ง่ายๆ เช่นกัน

                        – ชิมเม โทริอิ แบบมีคาน พบได้ทั่วไป (มีทั้งคานเดี่ยวและคานคู่) ส่วนแบบอื่น เช่นอิเซะโทริอิ, คะชิมะโทริอิ, คะซุงะโทริอิ, ฮะชิมะโทริอิ และมิฮะชิระโทริอิ พวกนี้ก็มีคานเหมือนกันหมด

เมียวจิน โทริอิ

                   2.ประเภทเมียวจิน จะมีรูปแบบที่สวยงามแปลกตาขึ้น คือไม่ใช้คานเรียบๆ ดังเช่น เมียวจิน โทริอิ , นะกะยะมะ โทริอิ, ไดวะโทริอิ หรือ อินะริ โทริอิ , เรียวบุ โทริอิ , อุซะ โทริอิ เป็นตัวอย่าง แล้วยังมีเสาโทริอิแบบ 3 ชั้นบ้าง 3 ช่องลดหลั่นกันคือมิวะ โทริอิ หรือเพิ่มหน้าจั่วบนคาน อย่างซันโน โทริอิ, รวมทั้งติดป้าย ตราสัญลักษณ์ให้เข้มขลัง เช่น นุเอะ โทริอิ และต่อมาคือเสาที่โคนใหญ่ปลายเรียวเล็กขึ้นอย่างฮิเซ็น โทริอิ      

                   ความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์

                   เสาโทริอิโดยทั่วไปจะประกอบด้วยเสาสูง 2 ต้น เชื่อมต่อกันด้วยไม้แนวนอนขนาดยาวระหว่างกลาง และไม้ครอบวางทับด้านบนอีกทีหนึ่ง โดยคนญี่ปุ่นนับเสาโทริอิกันเป็นต้นๆ ในกรณีที่มีเสาโทริอิจำนวนมากตั้งอยู่บนถนนศาลเจ้าแห่งเดียวกัน จะนับจากเสาโทริอิด้านนอกสุดว่าเสาโทริอิต้นที่ 1 ถัดไปก็เป็นเสาโทริอิต้นที่ 2 เข้ามาเรื่อยๆ

                   ศาลเจ้าเป็นสถานที่สิงสถิตของเทพเจ้าญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นเชื่อกันว่าเสาโทริอิเป็นสิ่งกั้นกลางระหว่างโลกมนุษย์และโลกแห่งเทพเจ้า กล่าวคือ

                   “เสาโทริอิเป็นประตูสู่ดินแดนแห่งเทพเจ้า”

                  ที่มาของเสาโทริอิมีทฤษฎีกล่าวเอาไว้มากมาย แต่ทฤษฎีที่น่าเชื่อถือที่สุดก็คือที่มาจากตำนานของเทพเจ้าญี่ปุ่น ซึ่งมีอยู่ตอนหนึ่งชื่อว่า อามาโนะอิวาโตะ โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพแห่งพระอาทิตย์ นาม “อามาเทราสึโอคามิ” ได้เก็บตัวอยู่แต่ในถ้ำหิน (อามาโนะอิวาโตะ) ทำให้โลกถูกปกคลุมไปด้วยความมืดมิด เดือดร้อนกันไปทั้ง 3 โลก และก็เดือดร้อนเทพองค์อื่นๆ ที่ต้องหาวิธีอัญเชิญให้เทพแห่งพระอาทิตย์ หรืออามาเทราสึโอคามิ ท่านออกมาจากการเก็บตัวตามลำพัง เรียกว่าสารพัดจะสรรหาวิธีทำให้ท่านออกมา กว่าจะสำเร็จก็เกือบแย่

                  วิธีที่สำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อก็คือ เอาไก่ตัวผู้มาผูกไว้ที่ต้นมิสเซิลด้านหน้าถ้ำ หรือหน้าทางเข้าอิวาโตะที่เทพพระอาทิตย์หลบหน้าหลบตานั่นแหละ ไก่มันก็ต้องขัน เพราะโดยสัญชาตญาณของสัตว์มันรู้เวลาว่า ควรจะสว่างเมื่อไร พ่อโต้งก็โก่งคอขันๆ เสียงดังเสียงดี ท่านเทพก็ทนไม่ได้ต้องออกมาทำหน้าที่ จากตำนานเรื่องนี้จึงกลายเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “โทริอิ” ขึ้นมา

                  ทีนี้เรามาดูเสาโทริที่เกิดเป็นเสน่ห์ให้กับประเทศญี่ปุ่นกันสักหน่อย โดยเฉพาะโทริอิสีแดงอมส้มเป็นพันๆ ต้น ตั้งเรียงรายที่ศาลเจ้าฟูชิมิ จังหวัดเกียวโต นาระ ตำนานบอกว่ามีจิ้งจอกขาวออกมาขอร้องให้มนุษย์สร้างเมื่อปี 2502 สร้างแล้วจะโชคดีให้ความคุ้มครองทางทะเลอีกด้วย

                  สีแดง หรือแดงอมส้ม เป็นการสกัดจากแร่ปรอท มันช่วยป้องกันไม่ให้ไม้ผุกร่อนก่อนเวลา อันนี้พบได้ตามวัดและศาลเจ้าของญี่ปุ่นเสียส่วนใหญ่ และมีความเชื่ออีกว่าสีแดงเป็นสีศักดิ์สิทธิ์ สามารถปัดเป่าความไม่ดีไม่งามออกไป คล้ายของจีนที่เชื่อว่าสีแดงปีศาจกลัว การพบสถาปัตยกรรมงานไม้ทาสีแดงประกอบด้วยเหตุผล 2 ประการคือ ทำให้ไม้อายุยืนยาวและป้องกันภูตผีปีศาจเข้ามาในเขตของมนุษย์ และสีแดงยังช่วยเพิ่มพลังให้กับเทพอีกด้วย

                  ดังนั้นการเดินลอดเสาโทริอิเหมือนเป็นการรับพลังและปัดเป่าสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากตัวคนได้ ยิ่งมีจำนวนมากเท่าไร พลังเทพก็ยิ่งทวีมากตาม มีหลายแห่งที่ผ่านกาลเวลามานานหลายร้อยปี พลังความซึมซับจากเทพก็จะยิ่งมาก คนก็จะยิ่งไปกัน เสาหินก็มีที่วัดชิเท็นโนจิ เขตเท็นโนจิ เมืองโอซาก้า จ.โอซาก้า เป็นหนึ่งในเสาโทริอิหินที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นซึ่งสร้างขึ้นในปี 1294 และสูงถึง 8.5 เมตรอีกด้วย

                   เราพอเข้าใจปริศนาที่มาของเสาโทริกันแล้ว ถ้าไม่มีโอกาสไปญี่ปุ่น ลองดูเสาชิงช้าสิครับ หน้าตาไม่ต่างกับโทริอิของญี่ปุ่นเหมือนกันเป๊ะ…สวัสดี

/

เรื่องโดย. กรุเก่า

ภาพโดย. gosunbody.com, zh-tw.zekkeijapan.com, wall.alphacoders.com, ja.wikipedia.org, kknews.cc, ishitoyokensetsu.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •