24 เมษายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

                เรื่องนรสิงห์ เป็นพระนารายณ์อวตารปราบอสูรที่เป็นเภทภัยปางที่ 4 ในจำนวน 10 ปาง แต่ละปางพระนารายณ์ทรงรับงานยากๆ…อย่างงานนี้ทรงต้องใช้จินตนาการไม่น้อย แต่สุดท้ายทุกเรื่องที่ทรงอวตารก็ทรงปราบมารได้สำเร็จลุล่วง

                นรสิงห์เป็นภาคอวตารปางที่ 4 ของพระนารายณ์ ตามเนื้อเรื่องในคัมภีร์ปุราณะ อุปนิษัท และคัมภีร์อื่นๆ ของศาสนาฮินดู โดยมีร่างกายท่อนล่างเป็นมนุษย์ และร่างกายท่อนบนเป็นสิงโต สาเหตุที่พระนารายณ์ ต้องทรงแบ่งภาคอวตารลงมาเป็นนรสิงห์นี้เกิดจากยักษ์ตนหนึ่งนามว่า หิรัณยกศิปุ ก่อเหตุร้ายขึ้น

                เมื่อเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นทั้งบนโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ เนื่องจากเกิดมีอสูรตนหนึ่งก่อเหตุทำร้ายทั้งมนุษย์และเทพบนสรวงสวรรค์ แต่ไม่มีมนุษย์คนใดหรือเทพองค์ใดขัดขวางและปราบปรามได้ เนื่องจากอสูรตนนี้ ได้รับพรวิเศษว่าจะไม่ตายเด็ดขาด ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อเป็นดังนี้ก็ร้อนถึงพระอิศวร ทำให้พระอิศวรต้องเสด็จออกเทวสภาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ เมื่อทรงเห็นพระอินทร์ เทพบุตร คนธรรพ์ และวิทยาธรที่เฝ้าอยู่ด้วยท่าทีทุกข์ร้อนก็ตรัสถาม พระอินทร์ทูลว่าพระวิมานไพชยนต์ และวิมานเทวดาถูกอสูรหิรัณยกศิปุและบริวารชิงไปครองเสียแล้ว ถึงพระอินทร์และเทวดาจะมีฤทธิ์เดชมากมายแต่ฆ่าอย่างไรอสูรก็ไม่ตาย

                พระอิศวรทรงรู้แก่ใจ เหตุที่อสูรหิรัณยกศิปุกำเริบเสิบสานได้ก็เพราะพระองค์เป็นตัวการที่ประทานพรให้เอง

                เหตุเกิดขึ้นเมื่อหิรัณยกศิปุมีความปรารถนาจักเป็นใหญ่ จึงได้เริ่มต้นบำเพ็ญตบะทุกรกิริยาถวายต่อพระพรหมเพื่อขอพรให้ตนสมปรารถนา ซึ่งหลังจากที่หิรัณยกศิปุได้บำเพ็ญตบะมาเป็นเวลานาน ในที่สุดพระพรหมก็ทรงปรากฏองค์เพื่อประทานพรให้ โดยหิรัณยกศิปุได้ขอพรให้ตนเป็นผู้ที่ไม่อาจตายด้วยน้ำมือหรืออาวุธของมนุษย์, สัตว์, เทวดา ไม่ตายทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ไม่ตายทั้งในเรือนและนอกเรือน ไม่ตายบนพื้นดิน ท้องฟ้า หรือผืนน้ำ

                ครั้นเมื่อได้รับพรจากพระพรหมแล้ว หิรัณยกศิปุก็เริ่มต้นแผ่ความยิ่งใหญ่ของตนโดยทำสงครามกับทั้งเหล่าเทพและมนุษย์จนเกิดความวุ่นวายไปทั้งสามโลก จากนั้นหิรัณยกศิปุก็บังคับให้ชนทั้งปวงนับถือบูชาตนดุจดังพระเป็นเจ้า ผู้ใดขัดขืนก็ถูกเข่นฆ่าทรมานอย่างเหี้ยมโหด

                หากทว่าบุตรชายคนที่ห้าของหิรัณยกศิปุซึ่งมีนามว่า “ประหลาท” ผู้เป็นบุตรคนโปรด กลับปฏิเสธที่จะยอมรับว่าบิดาคือพระผู้เป็นเจ้า โดยประหลาทนั้นมีใจศรัทธาเลื่อมใสพระนารายณ์ หรืออีกพระนามหนึ่งคือพระวิษณุเป็นอย่างยิ่ง และได้สวดมนต์บูชาสรรเสริญพระองค์ โดยตลอด

                หิรัณยกศิปุพยายามเกลี้ยกล่อมให้ประหลาทเลิกนับถือพระนารายณ์ทว่าไร้ผล จอมอสูรโกรธจัดจนสั่งให้ทหารเอาตัวประหลาทไปกักขังและลงทัณฑ์ทรมานเพื่อให้เลิกศรัทธาในพระนารายณ์ ทว่าในยามที่ถูกลงทัณฑ์นั้น อำนาจเทวะแห่งพระนารายณ์ได้คอยคุ้มครองประหลาทให้รอดพ้นจากทัณฑ์ทรมานทั้งปวง

                เมื่อเวลาผ่านไปหิรัณยกศิปุก็หายโกรธบุตรชาย และให้นำตัวมาพบอีกครั้งที่ห้องโถงใหญ่ในปราสาทของเขาในเย็นวันหนึ่ง ทว่าเมื่อหิรัณยกศิปุพบว่าประหลาทยังคงมีศรัทธาในองค์วิษณุเจ้าก็เกิดความโกรธจึงได้ตะคอกถามบุตรชายว่า “เจ้าเคยพูดว่าพระนารายณ์มีอำนาจสูงสุดและสถิตอยู่ทุกหนทุกแห่ง ถ้าหากเป็นดังนั้นจริง แล้วเขาจักอยู่ในเสาหินต้นนี้ด้วยหรือไม่” ว่าแล้วก็ชี้ไปที่เสาหินที่อยู่เบื้องหน้าบัลลังก์ ประหลาทตอบว่า “พระวิษณุเจ้าทรงสถิตอยู่ทุกแห่งหนรวมทั้งเสาหินนี้ด้วย”

                เมื่อได้ฟังคำตอบดังนั้น หิรัณยกศิปุก็เลือดขึ้นหน้า จึงบอกว่า “ถ้าเช่นนั้น ข้าจะประหารองค์วิษณุของเจ้าให้ดู” ว่าแล้วก็เอากระบองฟาดเสาหินอย่างแรง ทันใดนั้นเสาหินก็แตกออกเป็นสองซีก พร้อมกับเกิดเสียงดังกึกก้อง จากนั้นพระนารายณ์ในร่างของนรสิงห์ก็ปรากฏตัวออกมา!

                นรสิงห์กำราบเหล่าไพร่พลของจอมอสูรที่อยู่ในห้องโถงนั้นอย่างรวดเร็ว และพุ่งเข้ากระชากตัวหิรัณยกศิปุลากไปยังธรณีประตู ก่อนจับตัวมาวางไว้บนตักแล้วกล่าวว่า “เจ้าอสูร เจ้าเคยขอพรไม่ให้ตายในเวลากลางวันหรือกลางคืน ไม่ให้ตายขณะอยู่ภายในหรือภายนอกเรือนที่อาศัย ไม่ให้ตายบนพื้นดิน ท้องฟ้า หรือผืนน้ำ ไม่ให้ตายด้วยน้ำมือหรืออาวุธของเทพ มนุษย์ หรือสัตว์ ใช่หรือไม่”

                “ใช่” จอมอสูรยอมรับ

                “เช่นนั้น ยามนี้เป็นเพลายามสนธยา ย่อมมิใช่ทั้งกลางวันแลกลางคืนใช่หรือไม่” นรสิงห์ถาม

                “ใช่” หิรัณยกศิปุพยักหน้ารับ

                 “ที่นี่คือธรณีประตู ย่อมมิใช่ในเรือนและนอกเรือนใช่หรือไม่”

                 “เอ่อ…ใช่”

                 “แลสุดท้าย เจ้าจงบอกมาทีว่า ตัวข้านี้คือมนุษย์ หรือสัตว์ หรือเทพเทวา”

                 “ท่านมิใช่ทั้งมนุษย์ ทั้งสัตว์ และเทพเทวา”

                เมื่อได้ฟังคำตอบจากหิรัณยกศิปุแล้ว นรสิงห์จึงยกกรงเล็บขึ้นพร้อมกับคำรามอย่างดุดัน “เช่นนั้น กรงเล็บของข้านี้ก็หาใช่อาวุธของมนุษย์ สัตว์ หรือเทพเทวาใด ๆ อีกทั้งยามนี้เจ้าอยู่บนตักของข้า ย่อมมิใช่บนผืนดิน ท้องฟ้า หรือผืนน้ำ เยี่ยงนี้แล้วพรแห่งองค์พระพรหมย่อมมิอาจคุ้มครองเจ้าได้อีกต่อไป” กล่าวจบ นรสิงห์ก็ใช้กรงเล็บฉีกร่างของหิรัณยกศิปุและกระชากหัวใจออกมาจนหิรัณยกศิปุขาดใจตาย

                ตำนานได้เล่าต่อไปว่า หลังจากนรสิงห์ประหารหิรัณยกศิปุแล้ว นรสิงห์ยังคงอยู่ในอารมณ์โกรธเกรี้ยวอย่างที่สุด ถึงขนาดที่ว่าพระศิวะหรือแม้แต่พระลักษมี ชายาขององค์พระวิษณุก็ยังมิอาจยับยั้งได้ พระพรหมจึงขอให้ประหลาทสวดภาวนาเพื่อแสดงความมั่นคงในศรัทธาต่อองค์นารายณ์ ทำให้นรสิงห์สงบลงด้วยพลานุภาพแห่งความภักดี จากนั้นนรสิงห์ก็เหาะกลับสู่สรวงสวรรค์เพื่อคืนร่างรวมสู่องค์พระวิษณุเจ้าดุจดังเดิม

                 พระศิวะนั้นได้ชื่อว่าเป็นพระประมุขแห่งสรวงสวรรค์ที่องค์เทพน้อยใหญ่ให้ความเคารพนับถือ และยอมรับฟังพระวินิจฉัยของพระองค์

                พระศิวะ (คนไทยเรียกว่า พระอิศวร) เป็นบิดาของพระพิฆเนศ มีชายาคือพระแม่อุมาเทวี พระศิวะทรงเป็นมหาเทพผู้เป็นใหญ่ในจักรวาล หนึ่งในตรีมูรติ หรือ 3 มหาเทพสูงสุดแห่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ)

                พระองค์ทรงประทานพรวิเศษให้แก่ผู้หมั่นกระทำความดีและยึดมั่นในศีลธรรม หากผู้ใดประพฤติเพื่ออุทิศถวายแก่พระองค์แล้วปรารถนาสิ่งวิเศษใดๆ พระองค์ก็จะประทานพรนั้นๆ ให้ แต่เมื่อได้พรสมปรารถนาแล้ว วันหน้าหากกระทำผิดไปจากความดีงาม ผู้นั้นจะเกิดวิบัติในชีวิต พระศิวะเทพจะเป็นผู้ทำลายทันที!!

                มีความเชื่อกันว่าพระศิวะนั้นสามารถช่วยปัดเป่ารักษาเยียวยาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ ได้อย่างมหัศจรรย์นัก หากผู้ใดที่เจ็บป่วยหรือต้องการขอพรให้คนในครอบครัวหายเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้ากระทำการบวงสรวงบูชาและขอพรจากพระศิวะก็มักปรากฏว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นถูกปัดเป่าให้หายไปได้โดยสิ้นในเร็ววัน

                พระองค์เป็นเทพที่จะคอยขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้ห่างไกล และทำให้เกิดความดีงามเป็นสิริมงคลเกิดขึ้น ผู้ที่มีความทุกข์ไม่ว่าจะเป็นในทางใด หากบวงสรวงบูชาขอพรให้พ้นทุกข์ พระศิวะก็จะประทานพรให้ผู้นั้นได้พ้นจากห้วงแห่งความทุกข์ด้วยเช่นกัน

                พระศิวะผู้เป็นบิดาแห่งพระพิฆเนศ และเป็นสวามีแห่งพระแม่อุมาเทวี เป็นเทพที่จะอำนวยพร ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงวัว เลี้ยงม้า หรือเลี้ยงแกะ และอาชีพที่เกี่ยวกับการเกษตรทั้งปวง ก็จะมีความสำเร็จและมีความสมบูรณ์พูนสุขหากบวงสรวงบูชาพระศิวะ…

                นอกจากบทบาทความสำคัญโดยรวมที่กล่าวมาแล้วนั้น อีกบทบาทหนึ่งที่เด่นชัดแยกออกไปจากบทบาทของการเป็นมหาเทพ ผู้ทรงมีพระมหากรุณา ประทานพรแก่มวลมนุษย์นั้น พระศิวะยังทรงเป็นเทพแห่งคีตา คือเป็นเทพเจ้าแห่งการดนตรีและการร่ายรำระบำฟ้อนอีกด้วย

                พระศิวะผู้เป็นพระเป็นเจ้าแห่งการทำลายล้าง พระองค์เปี่ยมไปด้วยอำนาจ พระพักตร์ของพระองค์ แสดงให้เห็นว่าเป็นทั้งชาย เป็นทั้งหญิง เป็นทั้งผู้ใจดี เป็นทั้งผู้ดุร้าย จากชิ้นฝุ่นธุลี ไปจนถึงภูเขาหิมาลัย จากมดตัวเล็กๆ ไปจนถึงช้างตัวใหญ่ จากมนุษย์ไปจนถึงพระเป็นเจ้า อะไรก็ตาม ที่เราสามารถเห็นได้นั้นเป็นรูปแบบของพระศิวะทั้งหมด

                ในคัมภีร์อุปนิษัทของฮินดูนั้น การท่องคำในพระคัมภีร์ส่วนมากมีคำว่า “ศิโวมฺสวหะ” (ข้าคือศิวะ) หมายความว่า บุคคลผู้มีสติปัญญาทุกๆ คนควรพิจารณาถึงตัวเองและสิ่งทั้งหลายของสากลโลกเป็นรูปแบบของพระศิวะทั้งสิ้น

            เมื่อคิดระลึกได้อย่างนี้แล้ว ผู้นั้นก็จะเข้าถึงความสุขความสงบตลอดไป

/

เรื่องโดย. โรเจอร์

ภาพโดย. www.lokmatnews.in, www.jagran.com, hindi.iskcondesiretree.com, www.deviantart.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •