20 เมษายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

หลายวันก่อน ผู้เขียนจัดการรื้อตู้หนังสือเก่าที่บ้าน เนื่องจากหนังสือในตู้นั้นเริ่มเยอะเกิน และต้องหาวิธีจัดวางหนังสือเสียใหม่ เพราะไม่อย่างนั้นต้องนำหนังสือออกมาวางไว้ข้างนอกตู้ทำให้ฝุ่นจับได้

                ผู้เขียนรื้อหนังสือออกมาวางหลายตั้ง หวังจะจัดใหม่จะได้มีที่เหลือพอ เพราะก่อนหน้านี้ได้แต่เอาหนังสือเข้าตู้ แต่ไม่ได้จัดให้ดีแต่อย่างใด จะรื้อจะหาจะค้นเลยยุ่งยากไปหมด ครั้นพอรื้อตั้งหนังสือออกมาก็พบหนังสือเก่าๆ หลายเล่ม ในที่นั้นมีหนังสือตำราเทวโลกรวมอยู่ด้วย หนังสือที่ว่านั้นเป็นหนังสือเก่า พิมพ์ไว้ราวปี พ.ศ. 2464 สมัยรัชกาลที่ 6 คุณตาของผู้เขียนคงได้มาเมื่อครั้งยังหนุ่ม ผู้เขียนหยิบมาเปิดๆ ดู พบว่าในนั้นมีเรื่องราวเกี่ยวกับเทวโลกที่น่าสนใจอยู่มากเลยทีเดียว โดยเฉพาะเทวโลกทั้ง 8 องค์ที่เป็นที่นับถือ และถือเป็นเทพประจำวันเกิดของผู้คนมานาน

                คนไทยนอกจะมีพระประจำวันเกิดแล้ว เรายังรับลัทธิธรรมเนียมพราหมณ์เข้ามา จึงทำให้มีเทพประจำวันเกิดในฐานที่เคารพไปอีกด้วย อย่างวันจันทร์ วันอาทิตย์ ก็มีเทพประจำวันนั้นๆ หรือวันพุธกลางคืนก็มีพระราหู อย่างนี้เป็นต้น หนังสือเล่มนั้นอธิบายเรื่องราวของเทพต่างๆ ไว้โดยละเอียด แต่พอจะคัดลอกอย่างย่อๆ มาให้อ่านกันได้ เพื่อต่ออายุหนังสือ โดยเทพองค์แรกนั้น หนังสือได้พูดไว้ถึงเรื่องราวของพระอาทิตย์

                1. พระอาทิตย์ เทพแห่งอรุโณทัย มีกายสีแดง รูปร่างเล็ก มีรัศมีสีแสดที่เปล่งแสงและความร้อน มีเรื่องเล่าว่าความร้อนของพระอาทิตย์ทำให้พระชายา คือนางสัญญาทนไม่ได้ ต้องหนีพระองค์ไป จนเมื่อพระองค์สามารถตามพระชายากลับมาได้ พระวิศวกรรมซึ่งเป็นพ่อตาของพระองค์ต้องขูดผิวของพระอาทิตย์ออกเพื่อลดทอนความร้อน โดยผิวส่วนที่ถูกขูดออกนี้ พระวิศวกรรมได้นำไปสร้างตรีศูลถวายพระศิวะ สร้างจักรถวายพระวิษณุ และสร้างอาวุธอื่นๆ ถวายแก่เหล่าเทพ

                พระอาทิตย์มีรถเทียมม้า 7 ตัว โดยมีอรุณเป็นนายสารถี บางตำราก็ว่าพระองค์มี 4 กร บางแห่งก็ทำเป็นรูปทรงมี 2 กร ถือดอกบัวทรง พัสตราภรณ์สีทับทิม ประดับแก้วปัทมราช ตำราไทยเดิมบอกว่าพระอาทิตย์ทรงเป็นเทพประจำทิศอีสานของเขาพระสุเมรุ

                2. พระจันทร์ เทพแห่งรัตติกาล กำเนิดพระจันทร์มีตำนานว่า พระโสม เป็นสิ่งของลำดับที่ 5 ที่ผุดขึ้นจากเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) มีเรื่องเล่าถึงความเป็นมาในวันข้างขึ้น ข้างแรมว่า…เนื่องจากพระจันทร์มีชายา 27 องค์ ซึ่งล้วนเป็นพี่น้องกัน แต่ทรงพอใจนางโรหิณี ชายาองค์ที่ 4 มากที่สุด ทำให้ชายาองค์อื่นไม่พอใจ ไปฟ้องบิดาของตน พระฤษีผู้เป็นบิดาพยายามหว่านล้อมให้พระจันทร์สนใจพระชายาองค์อื่นๆ บ้างแต่ก็ไม่เป็นผล ฤษีโมโหเลยสาปพระจันทร์ให้เป็นโรค ไม่สามารถมีบุตรและสืบตระกูลได้ ชายาทั้งหลายขอให้บิดาถอนคำสาป แต่เนื่องจากฤษีสาปไปแล้ว ไม่สามารถถอนคำได้ จึงผ่อนให้เป็นโรค 15 วัน และหายจากโรค 15 วันสลับกัน ด้วยเหตุนี้พระจันทร์จึงหม่นในวันข้างแรม และสุกสว่างในวันข้างขึ้น

                พระจันทร์ทรงรถเทียมม้า 10 ตัว แต่ละตัวสีขาวดังดอกมะลิ พระจันทร์มีกายสีขาว รัศมีสีขาว บางตำราก็ว่าประทับบนเขากวาง

                3. พระอังคาร เทพแห่งสงคราม พระอังคารเป็นที่รู้จักกันในนามของเทพแห่งการต่อสู้ พระอังคารมีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวดำแดง ทรงพัสตราภรณ์สีแดง ทัดดอกไม้แดง มีสี่กร ทรงอาวุธคือหอก กระบอง และศูล ทรงมีนิสัยฉุนเฉียวดุร้าย พาหนะของพระองค์บ้างว่าทรงแกะ หรือนกยูง แต่ในคติไทยเดิมทรงมหิงสะ (ควาย) เป็นพาหนะ ทรงประทับอยู่วิมานสีทับทิม พระชายานามว่า นางเกามารี ตามตำราโหราศาสตร์ไทยโบราณเชื่อว่าพระอังคารเป็นมิตรกับพระศุกร์ เป็นเทพประจำทิศอาคเนย์

                4. พระพุธ เทพแห่งปัญญา พระพุธถือว่าเป็นบุตรของพระจันทร์กับนางดารา ซึ่งเป็นชายาของพระพฤหัส แต่คราวหนึ่งพระจันทร์ได้ลักตัวนางมาและมีลูกด้วยกัน บางแห่งว่าพระพุธเป็นบุตรพระโสมกับนางโรหิณี พระพุธมีชายานามว่านางอิลา ทางโหราศาสตร์ถือว่าพระพุธกับพระจันทร์เป็นมิตรกัน ส่วนพระพุธกับพระราหูเป็นอริกัน พระพุธได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพแห่งวาจา เป็นผู้ทรงปัญญาด้านการประพันธ์ เป็นเทพประจำทิศทักษิณ

                ๕. พระพฤหัสบดี คุรุแห่งเทพ ในตำราเก่าแก่กล่าวถึงพระพฤหัสว่าทรงเป็นบุตรของฤษีอังคีรสกับนางสมฤดี มีชายาคือนางดารา พระองค์มีกายสีแก้วไพฑูรย์ (สีเหลืองอมส้ม, สีแสด) ตำราไทยว่าพระพฤหัสเป็นฤษีถือกระดานชนวน ตามตำราโหราศาสตร์ พระพฤหัสกับพระอาทิตย์เป็นมิตรกัน พาหนะของพระองค์คือกวาง ประทับนั่งบนหลังกวางอยู่เช่นนี้จนเป็นคติ พระพฤหัสบดีเป็นเทพประจำทิศประจิมของเขาพระสุเมรุ

                6. พระศุกร์ คุรุแห่งอสูร บางตำราว่าพระศุกร์เป็นฤษีเช่นเดียวกับพระพฤหัส แต่เป็นครูของฝ่ายยักษ์หรืออสูร และทรงมีมนต์มฤตสัญชีวินที่สามารถชุบชีวิตให้คนที่ตายฟื้นขึ้นมาได้ มีแต่พระศุกร์เท่านั้นที่รู้มนต์นี้ พระศุกร์มีกายสีประภัสสร (สีน้ำเงิน) มีวิมานทอง บางตำราว่ามี 2 กร แต่ตำราเก่าๆ ก็ว่าทรงมี 4 กร โดยถือแจกัน ไม้เท้า ลูกประคำ และคทา มีมุ่นชฎาบนพระเศียร มีพาหนะคือโคอุสุภราช (หมายถึงโคที่มีลักษณะใบโพธิ์สีขาวเหนือหน้าผาก เหนือโคนขาทั้ง 2 ข้าง) พระศุกร์เป็นเทพรักษาทิศอุดรของเขาพระสุเมรุ

                7. พระเสาร์ เทพประทานฝ่ายบาปเคราะห์ ทรงมีกายสีดำ อาภรณ์สีดำ มีรัศมี 7 แฉก ทรงเสือเป็นพาหนะ พระกรซ้ายถือตรีศูล ใบหน้าดุดันสมเป็นเทพประธานแห่งบาปเคราะห์ ตำราเก่าว่าพระเสาร์เป็นมิตรกับพระราหู นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าพระเสาร์เป็นเจ้าแห่งกสิกรรม ดูแลรักษาฤดูดอกไม้ผลิ ดังนั้น ก่อนจะหว่านเมล็ดพืชต้องบูชาพระองค์ก่อน พระเสาร์เป็นเทพผู้รักษาทิศหรดีให้แก่เขาพระสุเมรุ

                8. พระราหู พระเกตุ ในตำราเก่ากล่าวไว้ว่าพระราหูเป็นบุตรท้าวเวปปจิตติ กับนางสิงหิกา มีกายใหญ่โต มีสี่กร กายท่อนล่างเป็นเหมือนงูอยู่ในวิมาน สีนิล เหตุที่เหลือกายเพียงครึ่งท่อนบนมาจากในคราวที่มีการกวนเกษียรสมุทรทำน้ำอมฤต พระราหูปลอมตนเข้าร่วมพิธีโดยปลอมเป็นเทพนั่งระหว่างพระอาทิตย์กับพระจันทร์ แต่เทพทั้งสองสงสัยที่พระราหูไม่มีเงา จึงรู้ว่าเป็นอสูรปลอมตนมา และเรียกพระวิษณุโดยทันที พระวิษณุขว้างจักรตัดกายพระราหูขาดเป็นสองท่อน แต่พระราหูไม่ตาย กายท่อนล่างภายหลังกลายเป็นพระเกตุ

                และนับแต่นั้น พระราหูจึงแค้นพระอาทิตย์กับพระจันทร์มาโดยตลอด จึงกลั่นแกล้งโดยอมพระอาทิตย์และพระจันทร์ไว้ในปาก อันเป็นที่มาของสุริยุปราคาและจันทรุปราคา พระราหูเป็นเทพประจำทิศพายัพของเขาพระสุเมรุ

                ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นคือเรื่องราวของเทวโลกตามตำราเก่าแก่ที่ได้มีการจดบันทึกเอาไว้ แล้วนำมาเล่าอ้างและนับถือกันต่อๆ มา เรื่องราวของเหล่าเทพเป็นที่มาของเรื่องราวอีกร้อยแปดที่นำมาผนวกกันไว้ และสร้างเรื่องแปลงเรื่องให้สอดคล้องกับเรื่องราวและวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละยุคสมัย บ้างก็แปลงเรื่องให้สอดคล้องกับเหตุการณ์และเรื่องราวในวิถีชีวิตประจำวันและคติธรรมต่างๆ รวมไปถึงเรื่องราวและบันทึกในพยากรณ์โหราศาสตร์

                เรื่องราวของเหล่าเทวโลกและเหล่าเทพประจำวันมีหลากหลายตำรา หลากหลายเนื้อเรื่อง เพราะมีทั้งตำราของอินเดีย ของพราหมณ์ และของไทย ทั้งมีตำราแยกย่อยอีกหลายบทหลายความ แต่ที่นำมาให้อ่านกันนี้ เนื้อความเกี่ยวเนื่องกับตำราไทย และเป็นคติพจน์แบบไทย อธิบายถึงเรื่องราวและวิถีชีวิตของคนไทยในครั้งที่นับถือเทพเหล่านี้ควบคู่ไปกับพระประจำวันด้วย

                และอีกประการหนึ่งก็ถือเป็นการต่ออายุของงานเขียนเก่าแก่ เนื่องจากเป็นงานที่พิมพ์ไว้นานแล้ว หากไม่มีการต่ออายุงาน เรื่องราวเก่าๆ เหล่านี้อาจสูญหายไปหมด หากผู้เขียนพบเรื่องราวเก่าอะไรอีก และพอจะนำมาสานต่ออายุได้ จะนำมาลงไว้ให้อ่านกันเป็นระยะๆ ก็แล้วกันครับ

/

เรื่องโดย. สุชาติ สุทธิกาวิลกุล

ภาพโดย. th.wikipedia.org/wiki/นพเคราะห์


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •