17 เมษายน 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

                   ชนเผ่าโลโล หรือมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อเช่น หมุ่นยี หม่านยี ลาลา โอมาน ลูหลกหม่าน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่จังหวัดห่ายางและกาวบั่งทางตอนบนของประเทศเวียดนาม แม้จะเป็นชนเผ่าที่มีประชากรน้อยและอาศัยอยู่ร่วมกับชนเผ่าอื่นมานาน แต่ปัจจุบันก็ยังคงรักษาคุณค่าเกียรติประวัติวัฒนธรรมของชนเผ่าตนไว้ได้

                   ชนเผ่าโลโล เป็นหนึ่งในหลายชนเผ่าที่มาบุกเบิกตั้งถิ่นฐานในอำเภอด่งวัน จังหวัดห่ายาง มีสองกลุ่มคือ ชาวโลโลแดน และชาวโลโลฮวา ชาวโลโลแดนอาศัยอยู่ในตำบลลุ้งกู๊ ส่วนชุมชนชาวโลโลฮวามีประชากรมากกว่า อาศัยอยู่ที่ตำบลลุ้งต๊าวสุงหล่า ในอำเภอด่งวันและแหม่วหวาก ความแตกต่างของสองชาวเผ่านี้อยู่ที่ชุดแต่งกายเท่านั้น ส่วนภาษาและขนบประเพณีเหมือนกัน

                   วิถีชีวิตของชนเผ่าโลโลจะอยู่แยกกันเป็นหมู่บ้าน มีอยู่สองแบบ คือบ้านเรือนไม้ยกพื้นหรือบ้านไม้ฝาผนังดินอัด มีรั้วก่อด้วยหินสูงหนึ่งเมตรล้อมรอบ หลังบ้านติดผาหิน หน้าบ้านหันไปทางหุบเขาหรือท้องทุ่ง นายหล่อซี้ป้าวชาวโลโลเล่าว่า มองดูข้างนอก บ้านของชนเผ่าโลโลก็เหมือนกับชนเผ่าอื่นๆ แต่เมื่อเดินเข้าไปในบ้านจะเห็นการตบแต่งบ้านที่ต่างกันมาก

                   การสร้างบ้านจะแบ่งเป็นสามห้อง ตรงกลางห้องใหญ่ สองข้างเป็นห้องเล็ก ขวามือเป็นห้องนอนของพ่อแม่ ห้องกลางเป็นห้องรับแขก หรือเป็นที่จัดพิธีแต่งงานหรืองานศพ ส่วนทางซ้ายมือเป็นห้องนอนของลูกๆ ชั้นบนของบ้านเป็นห้องพักของแขกที่มาค้าง และเป็นที่เก็บข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง

                   ห้องกลางเป็นห้องใหญ่ที่สุดในบ้าน จะมีแท่นบูชาบรรพบุรุษต้นตระกูลตั้งอยู่ตรงกลางหันหน้าออกทางประตูใหญ่เข้าบ้าน บนแท่นบูชามีตุ๊กตารูปคนทำจากไม้หรือกาบไผ่ สัญญลักษณ์ของบรรพบุรุษรุ่นต่างๆในตระกูลที่ได้รับการบูชา นอกจากนั้นชาวโลโลยังสักการบูชาประธานโฮจิมินห์ผู้ล่วงลับ ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ปัจจุบันคือประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

                   “ในช่วงวันตรุษเต๊ด หรือวันงานสำคัญของชาติ พวกเราจะจุดธูปเทียนรำลึกถึงประธานโฮจิมินห์ที่ชาวโลโลถือท่านเป็นบรรพบุรุษต้นตระกูลของครอบครัว เพราะถ้าไม่มีประธานโฮจิมินห์ก็จะไม่มีชาวโลโลทุกวันนี้”

                   ในเรื่องขนบประเพณีการแต่งงาน ชนเผ่าโลโลก็ให้หนุ่มๆ สาวๆ มีสิทธิเสรีในการเลือกคู่ครอง เมื่อคู่หนุ่มสาวตกลงปลงใจกันแล้ว ฝ่ายชายก็จะเลือกสองคู่สามีภรรยาที่มีครอบครัวผาสุกเป็นพ่อสื่อแม่สื่อไปสู่ขอโดยความเชื่อว่า เพื่อให้คู่สามีภรรยาใหม่จะมีความผาสุกและโชคดีในชีวิตคู่เช่นกัน

                   ในวันแต่งงาน ฝ่ายเจ้าบ่าวจะแห่ขันหมากแต่งประกอบด้วยสินสอดของหมั้นตามที่ฝ่ายเจ้าสาวเรียกร้อง ไปที่บ้านน้าชายของเจ้าสาว ชาวเผ่าโลโลให้ความสำคัญต่อบทบาทของน้องชายแม่เจ้าสาวมาก เพราะเป็นผู้ตัดสินทุกเรื่องในพิธีแต่งงานและการแบ่งทรัพย์สิน ถ้าพ่อแม่เสียชีวิต ลูกจะต้องไว้ทุกข์หนึ่งปี หลังจากนั้นจึงจะจัดงานแต่งได้

                   เอกลักษณ์วัฒนธรรมที่โดดเด่นของชาวเผ่าโลโลคือชุดกลองทองแดงที่ใช้ตีในเทศกาลงานประเพณีต่างๆ ของชนเผ่า โดยถือว่ากลองทองแดงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังชีวิตของชนเผ่าที่เชื่อมโยงกับจิตวิญญาณ

                   ในโอกาสฉลองวันขึ้นปีใหม่จันทรคติตามประเพณี ชาวเผ่าโลโลจะจัดงานเทศกาลพื้นบ้านและการละเล่นต่างๆ ที่น่าชม เช่น งานกระโดดไม้ งานเก็บข้าวโพด และโดดเด่นที่สุดคือพิธีบวงสรวงขอฝน นายหล่อซี้ป้าวชาวโลโลเล่าเสริมว่า

                   “พิธีบวงสรวงขอฝนจะจัดขึ้นในหน้าแล้งเดือน 3 ตามจันทรคติ โดยมีการเข้าร่วมของชาวบ้านอย่างพร้อมหน้า เพราะเป็นความปรารถนาของทุกคนในหมู่บ้าน มีบางปีงานจะจัดขึ้นพร้อมๆ กันทั้งชนเผ่าโลโลและชนเผ่าอื่นๆ เพื่อขอฝนให้ทั้งพื้นที่เขตเขา”

                   ชุดแต่งกายของชนเผ่าโลโลจะมีลวดลายประณีต และหลากหลายสีสัน ดูสวยสดงดงามเป็นพิเศษ ผู้ชายโลโลใส่กางเกงขายาวและเสื้อแขนยาวสีดำ ที่ชายกางเกงทับด้วยแถบผ้าปักลายสีแดง คาดเอวด้วยแถบผ้าสีฟ้า ที่สองปลายแถบผ้ามีลายปักสีแดงและสีชมพูปล่อยห้อยไว้ข้างหน้า ผ้าโพกหัวสีดำประดับแถบผ้าชิ้นเล็กๆ อย่างสวยงาม

                   ส่วนชุดแต่งกายของผู้หญิงมีสองแบบ ผู้หญิงโลโลแดนจะใส่เสื้อคอสี่เหลี่ยมไม่ผ่าอก รอบตัวเสื้อปักลายนก เสื้อแขนยาวปากกว้าง เย็บด้วยแถบผ้าหลายสีต่อกัน ใส่เป็นชุดกับกระโปรงสีดำ คลุมทับข้างหลังกระโปรงด้วยผ้าปักสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผู้หญิงโลโลฮวาใส่เสื้อคอกลมผ่าอก แขนเสื้อก็เย็บด้วยแถบผ้าหลายสีต่อกัน แต่งกับกางเกงขายาวปักลายล้วนๆ

                   นางสุ่งถิมิง อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านสางป๋าอา เขตเทศบาลอำเภอแหม่วหวาก กล่าวว่า แม้จะมีความแตกต่างกันบ้าง แต่ชุดแต่งกายของหญิงสองเผ่านี้สวยงามมาก การตัดเย็บและปักลายต้องทำอย่างประณีต ลายปักก็มีหลากหลายรูปแบบและสีสันจับตา เมื่อแต่งชุดประจำชนเผ่า ผู้หญิงโลโลจะเสริมความงามให้แก่ตนด้วยเครื่องประดับเงินและทอง

                   ชุดแต่งกายของชนเผ่าโลโลนั้นทำยากมาก ถ้าขยันก็ต้องสองถึงสามปีจึงจะเสร็จชุดหนึ่ง การปักลายก็ต้องปักสีแดงก่อนแล้วตามด้วยสีขาวและสีชมพู ส่วนกางเกงของทั้งชายและหญิงทรงเหมือนกัน จะต่างกันอยู่ที่ผู้ชายมีแถบผ้าคาดเอว ส่วนผู้หญิงมีผ้าปักคลุมทับข้างหลังกระโปรง

                   ในด้านภาษา แม้จะมีประชากรน้อย แต่ชนเผ่าโลโลก็มีภาษาพูดและเขียนของตนเอง ซึ่งสมัยก่อนจะเขียนบนหนังสัตว์หรือแผ่นไม้ วัฒนธรรมพื้นบ้านของชนเผ่าโลโลก็มีความหลากหลายทั้งในการร้องเพลงพื้นเมือง การฟ้อนรำ การละเล่น เป็นต้น ที่กำลังได้รับการอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นมรดกตกทอดให้ชนรุ่นหลังสืบไป

/

เรื่องและภาพโดย. ตะวัน สัญจร


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •