29 มีนาคม 2024
แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

            เด็กที่กลับชาติมาเกิดชื่อเด็กชายบัวลอย แสงวงศ์ ขณะมีการไปพิสูจน์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ เขามีอายุ ๑๓ ปีแล้ว เขาเป็นลูกคนที่ ๘ ของนายดา แสงวงศ์ กับนางหนูพุก แสงวงศ์  ด.ช.บัวลอยจำอดีตชาติได้ ๒ ชาติ เขาเล่าแก่คณะพิสูจน์ว่าเขาจำได้แม่นยำในชาติก่อนที่เขาจะเกิดมาเป็นงูเหลือม เขาเคยเกิดเป็นกวางตัวเมีย ได้ถูกพรานป่ายิงตาย

                วิญญาณ (โอปปาติกะ) เขาออกจากร่างกวางไปพบเจ้าพ่อแห่งผีตนหนึ่งชื่อเจ้าศรีสงคราม เจ้าพ่อแห่งผีให้เขาไปเกิดเป็นงู ให้เฝ้าสมบัติ (พระพุทธรูป) ในถ้ำอ่างน้ำจางซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอเลิงนกทา ที่ถ้ำนี้มีงูเหลือมใหญ่เฝ้าสมบัติอยู่หลายตัว ชาวบ้านกลัวงูเหลือมเหล่านี้จึงไม่กล้าเข้าไปในถ้ำ ตัวเขาเอง (ตอนที่เป็นโอปปาติกะหรือวิญญาณกวาง) จึงได้ไปเกิดเป็นงูเหลือมตัวเมีย เมื่อตัวเขา (ตอนที่เป็นงูเหลือม) เติบโตเป็นงูสาวก็ได้สมสู่กับงูตัวผู้ในถ้ำจนมีลูกในท้อง

                คราวหนึ่ง นางงูเหลือมท้องแก่ไปหากินที่ห้วยน้ำจาง มีหมา ๒ ตัวมาเห่ากระโชก นางงูเหลือมไม่กลัวคิดจะจับหมากินเสีย แต่ยังไม่ทันมีโอกาสได้จับกินก็มีเจ้าของหมา ๒ ตัวนั้นมาพบ จึงเกิดต่อสู้กับงู  ส่วนงูเหลือมเมื่อได้โอกาสก็หนีไปได้ เมื่อไปถึงปากถ้ำอ่างน้ำจางอันเป็นถ้ำที่อยู่เฝ้าพระพุทธรูป ยังไม่ทันเข้าในถ้ำ นึกว่าปลอดภัยแล้วจึงได้นอนพักผึ่งแดดจนงีบหลับไป รู้สึกตัวอีกทีก็มีเชือกบ่วงรัดคอแน่น นางงูเหลือมเหลือบตาดูก็เห็นชายคนที่ต่อสู้กันที่ห้วยน้ำจางกับชายอีกคนหนึ่งช่วยกันรัดคองูเหลือม (คือตัวเขา) แล้วใช้ท่อนไม้ร่วมกันตีหัวงูจนความรู้สึกดับวูบไป รู้สึกตัวอีกทีก็เป็นโอปปาติกะงู (วิญญาณงู) เห็นชายทั้งสองร่วมกันตัดร่างงูเหลือม (คือร่างเดิมของเขา) เป็นท่อนไปแกงกินกัน

                เขาจำชายคนแรกที่ทำร้ายเขาได้ติดตาและโกรธเคืองไม่หายถึงขั้นพยาบาท ในบรรดาพวกที่กินเนื้องูกันอยู่ มีอยู่คนหนึ่งมาร่วมกินด้วย โอปปาติกะงูเห็นชายคนนั้นมีลักษณะท่าทางไม่ค่อยดุร้าย เมื่อพวกเขากินกันเสร็จก็พากันแยกย้ายกลับบ้าน โอปปาติกะงูตัดสินใจไปกับชายท่าทางใจดีคนนั้นโดยโดดเกาะไหล่เขาไปจนกระทั่งถึงบ้านของชายคนนั้น พอชายคนนั้นขึ้นบันไดบ้าน เขาจึงออกจากบ่าของชายคนนั้นไปเกาะอยู่บนเสารั้วใกล้ๆ บันไดบ้าน 

                ต่อมาเขาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งออกจากห้องมาดื่มน้ำ โอปปาติกะงูจึงโดดจากปลายเสารั้วไปหาหญิงนั้นแล้วตกลงไปในขันน้ำ ผู้หญิงคนนั้นดื่มน้ำเข้าไปก็ติดโอปปาติกะลงท้องไปด้วย ต่อมาเขา (โอปปาติกะงู) ก็รู้สึกตัวว่าเขาได้เกิดมาเป็นเด็กชายบัวลอย ชายคนนั้นที่เขา (โอปปาติกะงู) เกาะบ่ามา ก็คือนายดา แสงวงศ์ พ่อของเขาเอง และผู้หญิงที่ดื่มน้ำติดเขา (โอปปาติกะงู) ลงท้องไปด้วย ก็คือนางหนูพุก แสงวงศ์ แม่ในชาตินี้ของเขานั่นเอง

                เด็กชายบัวลอยเกิดมาจำอดีตชาติได้ และมีผิวหนังประหลาด มีลายเป็นเกล็ดคล้ายเกล็ดงูเหลือมในชาติก่อนของเขา หากทว่าเด็กชายบัวลอยรู้สึกนึกคิดเหมือนอย่างมนุษย์ธรรมดาทั่วไป แต่ความรู้สึกสะเทือนใจ เคียดแค้นเมื่อตอนที่เขาเป็นงูแล้วถูกคนฆ่าตายยังติดอยู่ในใจมาตลอดถึงชาตินี้

                เมื่อเขาเป็นเด็กโตพอจำความได้ คราวหนึ่งเขาไปเที่ยวงานที่บ้านหนองแซง เขาพบชายแก่คนที่ฆ่าเขา เมื่อตอนที่เขาเป็นงูเหลือม แล้วตัดร่างเขา (งูเหลือม) ออกเป็นท่อนๆ แล้วแกงกิน เขายังจำได้แม่นยำ เขาแสดงสีหน้าโกรธแค้น แต่เขายังเป็นเด็กทำอะไรชายแก่นั้นไม่ได้ เพียงแต่จับดึงโสร่งผ้านุ่งของชายแก่จนหลุดเท่านั้น

                ชายแก่ผู้นี้คือนายเหี่ยว กุมารสิทธิ์ ในตอนนั้นเขารู้สึกมึนงงสงสัยว่าเด็กที่ไหน ลูกเต้าเหล่าใคร มาดึงผ้านุ่งของเขาจนหลุด แล้วยังมาทำหน้าดุๆ ใส่เขาอีก ต่อมาเขาทราบจากครอบครัวของเด็กชายคนนั้นว่าเด็กชายบัวลอยคืองูเหลือมที่เขาเคยฆ่ามาแกงกินกลับชาติมาเกิด เขาจึงซื้อเสื้อผ้ามาให้ และด้ายผูกข้อมือรับขวัญเด็กชายบัวลอย อธิษฐานขอขมาลาโทษ อย่าได้จองเวรจองกรรมกันเลย ต่อมานายเหี่ยว กุมารสิทธิ์ ก็กลายเป็นคนจิตใจอ่อนโยน กลัวบาปกลัวกรรมมากขึ้น และนายเหี่ยวก็เป็นคนหนึ่งที่พาคณะพิสูจน์ไปสัมภาษณ์เด็กชายบัวลอย

                นายเหี่ยวเล่าถึงความหลังให้ฟังว่า เขาเป็นคนบ้านสีแก้วห่างจากบ้านห้องแซงบ้านเกิดของเด็กชายบัวลอย ประมาณ ๒๐ กม. คราวหนึ่ง (ประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๗) เขาตั้งใจไปจับเต่าที่ห้วยน้ำจางจึงพาหมาไปด้วย ๒ ตัว เมื่อไปถึงห้วยลำห้วยน้ำจาง ได้ยินหมาเห่ากระโชกอยู่ฝั่งตรงข้ามจึงข้ามลำน้ำไปดูก็พบงูเหลือมตัวโต นายเหี่ยวเห็นก็คิดจะฆ่าเอางูไปเป็นอาหาร แต่พอจะจับงูก็สู้ เกิดการต่อสู้กัน สุดท้ายงูเหลือมตัวนั้นหนีไปได้ เมื่องูตัวนั้นเลื้อยหนีไปเขาจึงรีบกลับไปบ้าน พาเพื่อนคนหนึ่งมาช่วยตามจับงูด้วย พวกเขาตามรอยงูเหลือมไปจนพบมันนอนนิ่งอยู่ (หลับ) ใกล้ปากถ้ำ พวกเขาจึงช่วยกันฆ่างูเหลือมตายแล้วตัดเป็นท่อนๆ แล้วแกงกินกัน (เหตุการณ์ที่นายเหี่ยวเล่ามาตรงกับคำบอกเล่าของเด็กชายบัวลอยชาติที่เป็นงูเหลือมถูกฆ่าทุกประการ)

                ต่อมาเมื่อนายเหี่ยวทราบเรื่องการจำอดีตชาติได้ของเด็กชายบัวลอย ก็เชื่อมโยงเรื่องราวได้ว่า วันนั้นที่เด็กชายบัวลอยแสดงสีหน้าโกรธเคืองถึงกับกระชากผ้านุ่งเขาหลุดในงานบ้านห้องแซง ทั้งที่เขาไม่เคยรู้จักหรือพบหน้ากันมาก่อนเลยนั้น ก็คืองูเหลือมที่เขาฆ่าตายกลับชาติมาเกิดนั่นเอง เด็กชายบัวลอยจำหน้าเขาได้ เมื่อครั้งที่เป็นงูเหลือมที่ต่อสู้กันและโดนเขาฆ่าตาย เอาเนื้อไปกินเมื่อครั้งกระโน้นนั่นเอง

                ปัจจุบันนายบัวลอย แสงวงศ์ อายุ 55 ปี

                ตอนตั้งท้องเด็กชายบัวลอย นางหนูพุกผู้เป็นแม่ฝันว่ามีงูตัวใหญ่มากเลื้อยมาหาเธอและขอมาอยู่ด้วย เด็กชายบัวลอย แสงวงศ์มีรอยแผลเป็นขนาดใหญ่ที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด 2 รอย ที่บริเวณหลังและบริเวณรักแร้ ซึ่งเป็นร่องรอยบาดแผลที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในอดีตชาติที่นางงูเหลือมถูกพรานเหี่ยวใช้มีดฟันจนตาย จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน

                อีกเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเหมือนกัน ที่เสียชีวิตไปแล้วกายทิพย์กลับเข้าบ้านไม่ได้ จึงไปเกิดกับครอบครัวใหม่ และเมื่อโตขึ้นได้มีโอกาสกลับมาพบกับพ่อแม่ในชาติก่อน เขาเป็นไข้ตายเมื่ออายุ ๙ ขวบ อยากกลับมาเกิดกับพ่อแม่เก่าแต่เข้าไม่ได้ เพราะหมาดุ หมาเห่าใส่จนต้องหนีไปพักอยู่ศาลาข้างทาง

                คุณพ่อสุพีร์ คุณแม่คำพอง นึกชัยภูมิ อยู่ครองเรือนอย่างสามีภรรยา สร้างฐานะมั่นคง มีอาชีพหลักคือ ค้าขาย ซื้อมาขายไป สินค้านั้นก็คือวัวควาย ในครอบครัวของสามีภรรยาคู่นี้มีลูกด้วยกัน ๕ คน ส่วนคนที่ ๒ เป็นชายชื่อว่า “หนูนา” เพราะไปเกิดที่ท้องนา ส่วนคนที่ ๕ สุดท้องชื่อ “สงวน สุพีรพงศ์” ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องนี้นั่นเอง

                เด็กชายหนูนาเป็นไข้ตายเมื่ออายุ ๙ ขวบ เมื่อตายแล้ว (กายทิพย์) เขาดูร่างกายของเขานอนหมดลมหายใจ ถูกนำไปฝังที่ป่าช้าใกล้วัด (กายทิพย์) ก็มองดูอยู่ตลอดเวลาและเรียกคนที่มาช่วยหรือเข้าไปทักทายก็ไม่มีใครเห็นและไม่มีใครพูดด้วย

                หลังจากเขาไปดูร่างถูกฝังดินแล้ว เขาก็ตามพ่อกลับมาที่บ้าน แต่พอมาถึงรั้วบ้านก็เข้าบ้านไม่ได้เพราะมีสุนัขเห่าและหอนอยู่ตลอดเวลา และคนในบ้านก็ออกมาไล่หมาด้วยจึงเข้าบ้านไม่ได้  ต้องยืนร้องเรียกพ่อแม่อยู่นาน ก็ไม่มีใครตอบรับ จึงเกิดความเสียใจแล้วออกจากบ้านมาพักอยู่ที่ศาลาข้างทาง พอแม่คำพองออกจากบ้านก็เดินตามแม่ไป  มีความรู้สึกว่าจะไปขอเกิดกับแม่คำพอง ( แม่เก่า ) แต่ก็เข้าบ้านไม่ได้อีก เพราะหมาไล่เห่า ก็เลยต้องหนีออกมาคอยนอกบ้านอีก

                คอยอยู่นานก็เกิดความท้อใจ พอดีนายโสภา (พ่อใหม่) ไปค้าขายเดินทางผ่านมาทางนั้นจึงเดินตามไปด้วย เมื่อไปถึงบ้านของพ่อใหม่แล้วก็เดินขึ้นไปบนบ้านได้สบาย พบนางพลอย (แม่ใหม่) นอนหลับอยู่ ก็ไปนั่งเอาหลังพิงท้องนางพลอย ม่อยหลับไปเมื่อใดไม่รู้ มารู้สึกตัวอีกครั้งก็เกิดใหม่แล้ว เมื่อคลอดออกมาจากท้องแม่พลอยก็กลายมาเป็นลูกของพ่อโสภา แม่พลอยเสียแล้ว

                เมื่อเกิดมาแล้วเป็นเพศชาย เขาให้ชื่อว่า “รำพึง” เป็นลูกคนที่ ๓ ในครอบครัวนี้ พ่อแม่มีอาชีพค้าวัวควาย พออายุได้ ๒ ขวบเศษก็เริ่มพูดได้ และมีความจำได้ว่าตายมาจากชาติที่แล้ว จำได้หมด จึงพูดกับพ่อแม่ปัจจุบันว่าคิดถึงพ่อแม่ อยากจะไปเยี่ยมพ่อแม่อย่างมาก พ่อแม่ปัจจุบันก็ไม่เชื่อ คิดว่าเด็กพูดเพ้อเจ้อไปเท่านั้น จึงไม่ได้สนใจอะไร ต่อมาเด็กพูดบ่อยเข้าว่าเขาไม่ได้ชื่อรำพึง เขาชื่อหนูนา พ่อชื่อสุพีร์ แม่ชื่อคำพอง อยู่ที่อำเภอบัวใหญ่ เขาตายเพราะเป็นไข้เมื่ออายุ ๙ ขวบ เขาอยากจะกลับไปเยี่ยมพ่อแม่พี่น้องมาก พ่อแม่ปัจจุบันเริ่มจะคิดได้บ้าง แต่ก็ยังไม่มีเวลาที่จะสอบถามให้เข้าใจ และให้ได้รายละเอียด

                นายโสภาซึ่งเป็นพ่อค้าหาซื้อวัวควายที่จะนำไปขายต่อ ได้ออกหาซื้อวัวควายมาถึงบ้านตะโก อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เป็นความบังเอิญ หรือด้วยความตั้งใจก็ไม่ทราบได้ ทำให้นายโสภาเดินทางมาที่บ้านของนายสุพีร์ (พ่อเก่า) ของรำพึง

                เมื่อนายโสภามาที่หน้าบ้าน เด็กชายรำพึงได้มองเห็นพ่อเมื่อชาติก่อนของเขา ก็ได้วิ่งเข้าไปหาแล้วส่งเสียงเรียกว่า “พ่อ พ่อ” แล้ววิ่งเข้าไปกอดที่ขา แล้วพูดว่าหนูคิดถึงพ่อมาก พ่อช่วยพาหนูไปหาแม่ด้วย นายสุพีร์ ตกใจนึกอะไรไม่ออก เด็กพูดว่า หนูคือ “หนูนา” ลูกของพ่อ เด็กได้บอกชื่อคนอื่นๆ ถูกต้องหมด บอกจนถึงว่าตายแล้ว เห็นนำศพของเขาไปฝังและจะขอกลับมาเกิดกับพ่อแม่ แต่เข้าบ้านไม่ได้จึงมาเกิดกับพ่อแม่ใหม่

                เมื่อทั้งหมดได้ฟังเรื่องราวของเด็กก็เริ่มมีความเชื่อ นายสุพีร์รู้สึกสงสารเด็กชายรำพึงเป็นอย่างมาก จะขอรับตัวกลับมาบ้านด้วย แต่นายโสภายังไม่ยอมให้ไปด้วย บอกให้นายสุพีร์กลับไปก่อน อีก ๑ เดือนหลังจากเสร็จงานรับจ้างแล้วจะพาเด็กไปที่บ้านด้วยตนเอง

                เมื่อถึงวันที่นายโสภาและนางพลอยจะพาเด็กชายรำพึงไปที่บ้านกุดเวียน บ้านเดิมของ “หนูนา” พอเด็กชายรำพึงรู้ว่าจะได้กลับไปบ้านเก่าเมื่อชาติก่อนก็แสดงอาการดีใจเป็นพิเศษกว่าทุกวัน แล้วทั้งหมดก็เดินทางไปยังบ้านของนายสุพีร์ ซึ่งทั้งหมดไม่เคยไปเลย ไม่รู้จักทาง ไม่รู้จักสถานที่ แต่เด็กชายรำพึงเป็นผู้นำทางไปจนถึงบ้านเก่าของเขา เขาเดินเข้าไปในบ้านอย่างคุ้นเคยคล่องแคล่วราวกับว่าเคยอยู่มาก่อนจนรู้จักของในบ้านทั้งหมด

                เมื่อไปถึงบ้านเขาเรียกนางคำพองว่าแม่อย่างสนิทปาก และเรียกพี่น้องออกชื่อได้ถูกต้องหมด นายสุพีร์ นางคำพองมีความเชื่อว่า เด็กชายรำพึงคือ “หนูนา” ลูกของเขากลับมาเกิดใหม่แน่นอน  จากนั้นจึงมีการตกลงกันว่าจะให้ “รำพึง” มาอยู่ที่บ้านของนายสุพีร์บ้างถ้าคิดถึง การไปมาหาสู่จึงมีการติดต่อกันจนกระทั่ง “รำพึง” เป็นหนุ่ม และเป็นทหารเกณฑ์ เมื่อออกจากทหารเกณฑ์แล้วก็ยังแวะเวียนมาอยู่บ่อยๆ นายรำพึงอายุ ๒๒ ปี ขณะนั้นก็ได้พูดกับนายสงวนน้องชายชาติก่อนว่า ถ้าพี่ไม่ตายก็คงได้เรียนสูง ๆ เหมือนกับน้องเหมือนกัน จากนั้นนายรำพึงก็ออกรับจ้างใช้แรงงาน และต่อมาเป็นไข้เสียชีวิตเมื่ออายุได้ประมาณ ๒๖ ปีที่อำเภอบัวใหญ่

                ผู้ที่ให้รายละเอียดเล่าเรื่องนี้ก็คือ นายสงวน สุพีรพงศ์ ผู้เป็นน้องของ “หนูนา” ที่ตายแล้วกลับชาติมาเกิดเป็น “รำพึง” นั่นเอง และยืนยันว่าเรื่องที่เล่ามานี้เป็นเรื่องจริงทั้งหมดที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วกับครอบครัวของเขาเอง

*โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

/

เรื่องโดย. ทิวากร สุวพานิช

ภาพโดย. hi.wikipedia.org, www.pxfuel.com, www.10000birds.com, www.timesnownews.com, www.tiqets.com, www.wallpaperflare.com


แชร์เรื่องนี้:
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •